Skip to main content

รอมฎอน ปันจอร์

 

แม้ “ความรุนแรง” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือภูมิภาคปาตานีแห่งนี้จะลดน้อยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ภาพรวมความขัดแย้งทางการเมืองที่ปรากฎโฉมเป็นความรุนแรงนั้นยังคงต่อเนื่องและกำลังขยับเข้าสู่ปีที่ 15 โดยที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีทางออกหรือข้อตกลงใด ๆ ที่ลงตัวอย่างจริงจัง ในขณะที่ความรุนแรงอันยืดเยื้อยาวนานนั้นก็ได้ทิ้งผลสะสมรอการคลี่คลาย แต่ถึงกระนั้น ทางการไทยภายใต้การนำของรัฐบาลที่มาจากการก่อรัฐประหารก็ดูจะคาดหวังว่าสถานการณ์ “ความไม่สงบ” นั้นจะ “สงบ” ในเร็ววัน โดยคาดหมายเอาว่าหากไม่มีอะไรเกินคาด ในปลายปี 2562 การแก้ไข “ปัญหา” ในชายแดนใต้จะเคลื่อนเข้าสู่อีกลำดับขั้นหนึ่ง กอ.รมน. กำหนดเอาไว้ให้เป็นขั้นตอนที่ 3 หรือ “การเสริมสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” กล่าวอีกอย่างก็คือเป็นขั้นตอนในการจัดระเบียบใหม่หลังความขัดแย้งคลี่คลายนั่นเอง

 

คงต้องติดตามดูว่าแผนการดังกล่าวจะบรรลุผลหรือไม่ และที่สำคัญคือการพิจารณาว่าแนวทางของรัฐบาลและ กอ.รมน. ข้างต้นนั้นคลี่คลาย “ความขัดแย้ง” ได้จริงมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่พอประเมินได้ก็คือในสายตาของรัฐบาลไทยในเวลานี้ “ความไม่สงบ” นั้นอาจสยบได้โดยไม่จำเป็นต้องบรรลุข้อตกลงสันติภาพใด ๆ ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอื่นใด ๆ ที่สะท้อนการเผชิญกับความไม่เป็นธรรมอันเป็นประเด็นรากเหง้าของความขัดแย้ง ด้วยเหตุนี้การพูดคุยเพื่อ “สันติสุข” ที่ไม่ใคร่จะคืบหน้ามากนักในเวลานี้จึงอาจเป็นเพียงแค่งานในระดับยุทธวิธีของการต่อต้านการก่อความไม่สงบซึ่งมีไว้เพื่อไม่ใช่อะไรอื่น หากแต่มุ่งลดแรงเสียดทานในทางการเมืองเท่านั้น ในขณะที่มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลทุ่มเทมาก่อนหน้านี้ก็เดินหน้าต่อไปและดูเหมือนว่า “สันติสุข” นั้นจะก่อเกิดได้จากการกำกับควบคุมทิศทางของภาครัฐนั่นเอง

 

ความเป็นไปของกระบวนการสันติภาพใน “บ้านเรา” นั้นดูจะสวนทางกับของ “เพื่อนบ้าน” ในหลายที่ แม้ความชะงักงันจะปรากฏอยู่บ้างในกระบวนการสันติภาพปางโหลงแห่งศตรวรรษที่ 21 ในกรณีรัฐบาลเมียนมาร์และบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ แต่เมื่อไม่นานมานี้ กระบวนการสันติภาพในมินดาเนาของฟิลิปปินส์ได้เดินหน้ามาถึงหลักไมล์สำคัญอีกก้าว เมื่อทางการฟิลิปปินส์ได้บัญญัติกฎหมายลูกที่ส่งผลให้กระบวนการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษบังซาโมโรเดินหน้าอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะมีการลงประชามติในปลายปีนี้ ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลมะนิลากับกลุ่มติดอาวุธ MILF ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่ายี่สิบปี ในขณะที่สถานการณ์หลังความขัดแย้งในอาเจะห์ของอินโดนีเซียก็กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ในห้วงเวลานี้ เมื่อการเลือกตั้งรัฐบาลท้องถิ่นกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งเป็นรอบที่ 3 หลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงเฮลซิงกิเมื่อปี 2548 รอบปีที่ผ่านมากลไกในการแสวงหาความจริงและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งก็ถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการภายใต้การผลักดันอย่างจริงจังของเครือข่ายประชาสังคม

 

ความคืบหน้าของการคลี่คลาย “ความขัดแย้ง” ภายในประเทศของบรรดาเพื่อนบ้านเหล่านี้เตือนใจให้เราตระหนักถึงความยากลำบากและทุ่มเทจริงจังของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลซึ่งถืออำนาจรัฐที่เปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ประสบการณ์และบทเรียนเหล่านี้ควรค่าแก่การเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม ความชะงักงันของกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ ประกอบกับบรรยากาศทางการเมืองภายใต้ระบอบอำนาจนิยมที่จำกัดพื้นที่ทางการเมืองก็ยิ่งกระตุ้นให้ต้องทบทวนและใคร่ครวญถึงสิ่งที่เราเผชิญอยู่

 

งานเขียนชิ้นนี้เป็นหนึ่งในความพยายามทบทวนดังกล่าว แต่แทนที่จะพินิจพิเคราะห์ความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีโดยตรง ข้อเขียนข้างล่างนี้จะทำอีกอย่าง นั่นก็คือหันไปทบทวนกับความรู้ในแวดวงการวิจัยสันติภาพที่กำลังเป็นที่ถกเถียงอยู่ในขณะนี้ เสมือนเป็นบันทึกการอ่าน ถอดความ และย่อยความรู้ที่ได้จากบทความที่เป็นงานศึกษาวิจัยการสร้างสันติภาพเชิงเปรียบเทียบชิ้นหนึ่ง โดยคาดหวังว่าคำถามและข้อค้นพบในบทความชิ้นนั้นน่าจะฉายภาพให้เราทำความเข้าใจกระบวนการสร้าง “สันติสุข” ในมุมมองที่แตกต่างออกไปดียิ่งขึ้น ความเข้าใจที่ว่านี้สำคัญเพราะจะทำให้รับมือกับความขัดแย้งที่ควรจะเป็นได้อย่างสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

 

 

กระแสความรู้และโลกที่หันขวา

 

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แวดวงวิชาการเกี่ยวกับการวิจัยสันติภาพปรากฎบทความที่ชื่อ “Illiberal Peace? Authoritarian Modes of Conflict Management” เผยแพร่ออนไลน์ในวารสารที่ชื่อ Cooperation and Conflict เขียนโดย 3 นักวิชาการจากอังกฤษ ได้แก่ เดวิด ลิววิส จอห์น ฮีธเธอชอว์ และนิค เมโกราน สองคนแรกเป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่ที่มหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ ส่วนคนหลังเป็นนักวิจัยภูมิศาสตร์การเมืองที่มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล บทความของพวกเขาเป็นความพยายามจะก่อร่าง “ตัวแบบ” ในการวิเคราะห์แนวทางการสร้างสันติภาพในสังคมการเมืองที่ระบอบอำนาจนิยมยึดกุมอำนาจอย่างชัดเจนและโดดเด่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวทางศึกษาที่เพิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นในระยะหลังมานี้

 

กระแสที่ว่านี้เริ่มมีน้ำมีเนื้อขึ้นมาเมื่อพบว่าความเป็นจริงที่ปรากฎในความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธและกระบวนการสันติภาพในหลายที่นั้นมีแนวโน้มที่กำลังก่อร่างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมา จุดร่วมสำคัญก็คือเป็นแนวทางการสร้าง “สันติภาพ” ที่พบในระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยม ที่ซึ่ง “รัฐ” พยายามรวมศูนย์การจัดการกับความขัดแย้ง ผ่านวิธีการที่ไม่ใช่เพียงแค่เน้นหนักไปที่การใช้กำลังกดขี่ปราบปรามและการบังคับใช้กฎหมายแต่ถ่ายเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมุ่งควบคุมและสถาปนาอำนาจนำผ่านการต่อสู้ทางวาทกรรม การช่วงชิงพื้นที่ และการจัดการกับทรัพยากรในทางเศรษฐกิจ แทนที่จะยึดกรอบบรรทัดฐานที่เปิดพื้นที่ทางการเมือง มุ่งเน้นการสร้างการประนีประนอมระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้ง การเจรจาที่หวังผลเป็นข้อตกลงทางการเมือง ตลอดจนแนวทางการแบ่งสรรอำนาจ ซึ่งเดิมถือว่าเป็นแนวทางการคลี่คลายความขัดแย้งที่ทรงอิทธิพลมาตั้งแต่หลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา

 

ด้วยเหตุนี้ แทนที่บทความดังกล่าวจะมุ่งสนใจกรณีศึกษาอย่างอาเจะห์ในอินโดนีเซีย มินดาเนาในฟิลิปปินส์ ไอร์แลนด์เหนือในสหราชอาณาจักร หรือกรณีความขัดแย้งสีผิวในแอฟริกาใต้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกรณีศึกษาที่มักใช้อ้างอิงกันในบริบทของชายแดนใต้/ปาตานี งานของลิวอิสและคณะชิ้นนี้กลับสร้างตัวแบบการวิเคราะห์จากกรณีอย่างศรีลังกา จีน รัสเซีย อินเดีย ตุรกี เอธิโอเปีย รวันดา บุรุนดี อียิปต์ เมียนมาร์ ซูดาน อุซเบกิสถาน ทาจิกีสถาน เป็นต้น โดยพิจารณาทั้งในห้วงเวลาที่ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่และมาตรการฟื้นฟู “หลัง” ความขัดแย้งสิ้นสุดไปแล้ว น่าสนใจว่าส่วนหนึ่งของบรรดาประเทศเหล่านี้กำลังอยู่ในห้วงของการผงาดขึ้นมามีบทบาทในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจของโลก โดยกำลังท้าทายอำนาจนำของมหาอำนาจตะวันตก

 

ในตอนต้นบทความนั้น ผู้เขียนทั้งสามได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่าแนวทางการรับมือกับสงครามกลางเมืองและความรุนแรงระหว่างชุมชนที่ได้รับการยอมรับกันในระดับโลกนั้นกำลังประสบกับความล้มเหลว กลไกอย่างคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติต้องเจอกับทางตันแทบทุกครั้งเมื่อเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และการแทรกแซงจากต่างชาติ ในขณะเดียวกันรัฐบาลต่าง ๆ ก็หันเหทิศทางในการรับมือกับความขัดแย้งภายในประเทศของตนเข้าหาแนวปฏิบัติที่มีลักษณะอำนาจนิยมมากยิ่งขึ้น พร้อมกับการเลือกที่จะใช้กำลังของรัฐในการกดบังคับบรรดาเหล่ากบฏที่ติดอาวุธทั้งหลาย

 

ส่วนการหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยกรเจรจาสันติภาพที่มีส่วนร่วมจากประชาคมนานาชาติที่เรียกขานกันในแวดวงนักวิชาการและนักปฏิบัติการสันติภาพว่าเป็น “การสร้างสันติภาพที่เสรี” (liberal peacebuilding) นั้นก็กำลังถูกท้าทาย แนวคิดและปฏิบัติการที่เป็นแบบแผนหลักมาตั้งแต่หลังสงครามเย็นในห้วงทศวรรษที่ 1990 นั้นเริ่มใช้ไม่ได้ผลในบางกรณีตัวอย่างในช่วงปีทศวรรษที่ 2000 และในอีกสิบปีให้หลังก็ประสบกับความล้มเหลว กระทั่งว่ามีคนตั้งข้อสังเกตไว้ว่าแนวทางหลักในการเผชิญกับความขัดแย้งแบบนี้หาใช่แนวทางใหม่อี่นใดเลย หากแต่เป็นการเอาชนะทางการทหารที่เคยเป็นจารีตพื้นฐานแต่ดั้งเดิมนั่นเอง

 

ข้อสังเกตที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องเกินเลย หากพิจารณาจากกรณีของเชชเนียในรัสเซียและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในกรณีสงครามกลางเมืองในศรีลังกา ชัยชนะทางการทหารนั้นได้ยุติความขัดแย้งทางอาวุธที่ดำเนินมาต่อเนื่องหลายสิบปี เป็นสัญญาณเตือนให้เราตระหนักถึงแนวโน้มสำคัญในความขัดแย้งหลายแห่งที่กลไกของระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมมีบทบาทมากยิ่งขึ้น

 

เรื่องนี้สำคัญกับเรา เพราะดังที่เกริ่นไปแล้วข้างต้น สิ่งทีรัฐบาลไทยในปัจจุบันรับมือกับ “ปัญหา” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ “ปาตานี” นั้นอาจมีส่วนสะท้อนย้อนให้คิดทบทวนได้ด้วยเช่นกัน

 

บทความยังชี้ต่อไปว่างานวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอต่อการทำความรู้จักหรือเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภาคปฏิบัติการของการจัดการความขัดแย้งของหลายประเทศ หลายครั้งเป็นเพราะนักวิจัยสันติภาพพยายามจะหลีกเลี่ยงไม่พยายามจะเผชิญ จะนับ จะพิจารณาเอากรณีของ “สันติภาพที่ไร้เสรี” (illiberal peace) เหล่านี้เข้ามาอยู่ในสายตา หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือใช้กรอบวิเคราะห์ปกติที่เราตีความและประเมินกระบวนการสันติภาพที่ตนเห็น เข้าทำนองว่าตัดเท้าให้เข้ารูปกับเท้าที่เรายึดถือเชื่อมั่น ผลก็คือทำให้มีความเข้าใจที่จำกัดอย่างมากต่อลักษณะหรือธรรมชาติของการที่ระบอบอำนาจนิยมตอบสนองต่อความขัดแย้งทางอาวุธ ไม่นับรวมถึงความตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาข้อเสนอในทางนโยบายที่เหมาะสม

 

สิ่งที่พวกเขาทำในงานชิ้นนี้ก็คือการมุ่งพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า “แบบวิถีการจัดการความขัดแย้งของระบอบอำนาจนิยม” (Authoritarian Conflict Management) หรือ ACM ขึ้นมา โดยอาศัยข้อมูลของการรับมือของรัฐต่อความขัดแย้งในกรณีศึกษาที่กล่าวถึงข้างต้น เพื่อให้ง่ายในความเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แทนที่จะพิจารณากรณีที่โดดเด่นโด่งดังและมักอ้างอิงกันบ่อยครั้งในแวดวง พวกเขากำลังเสนอว่าเพื่อเผชิญและรับมือกับแนวโน้มในการจัดการความขัดแย้งในปัจจุบันของหลายประเทศ การให้ความสำคัญกับกรอบวิเคราะห์ของสันติภาพที่เสรี (liberal peace) นั้นคงไม่เพียงพอ แต่เราควรต้องทำความเข้าใจสันติภาพที่ไร้เสรี (illiberal peace) ด้วยเช่นกัน แนวทางแบบนี้น่าสนใจศึกษาและท้าทาย ควรค่าแก่การนำมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างลึกซึ้ง เพราะดูเหมือนว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับแนวทางอำนาจนิยมเช่นนี้ในบ้านเราเช่นกัน

 

เปิดกว้างและกดกัน

 

ถ้าเช่นนั้น สันติภาพที่เสรีกับที่ไม่เสรีแตกต่างกันอย่างไร? ผู้เขียนพาเรากลับมาตั้งหลักที่แนวความคิดก่อนที่จะก้าวไปสู่รายละเอียดของกรณีตัวอย่าง และก้าวเข้าไปสู่ “ทางเลือก” ของระบอบอำนาจนิยมที่สรรค์สร้างแนวทางของตนเองแยกตัวออกไปอย่างเป็นระบบแบบแผน โดยมีบางอย่างอาจซ้อนเหลื่อมกันอย่างชนิดที่แยกขาดกันไม่ชัดเจนนัก “กระแสไร้เสรี” ในการจัดการความขัดแย้งนั้นกำเนิดและแทรกตัวขึ้นมาได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่พบเจอกันในทางทฤษฎีและในทางการเมือง ดังที่กล่าวข้างต้น แนวทางสันติภาพที่เสรีทั้งในแง่แนวคิดและปฏิบัติการนั้นก่อตัวมาตั้งแต่หลังหมดยุคสงครามเย็นในช่วงแรก ๆ กรอบแนวคิดหลักวางอยู่บนลักษณะของกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งที่มี “ประชาคมระหว่างประเทศ” มีส่วนร่วมผลักดันอย่างแข็งขัน บ่อยครั้งปรากฎในรูปของการใช้กองกำลังรักษาสันติภาพหรือการแทรกแซงทางการทหารในนามของสันติภาพด้วยรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย แนวทางนี้ยังรวมไปถึงการติดตามและประเมินผลการเลือกตั้งในบางกรณี การลงน้ำหนักไปกับหลักการสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ และการปกป้องคุ้มครองชนกลุ่มน้อย รวมไปถึงการส่งเสริมหลักการนิติรัฐและการปฏิรูประบบงานความมั่นคง (Security Sector Reform, SSR) และระงับยับยั้งการใช้กำลังของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนั้น ๆ

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางสันติภาพที่เสรีเหล่านี้ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างได้น้ำได้เนื้อมาอยู่ก่อนแล้ว เช่นว่าถึงที่สุดแล้วกลไกหรือมาตรการที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นสามารถ “แก้ปัญหา” ได้จริงหรือ? เพราะในหลายกรณีการแทรกแซงเหล่านี้ก็ตอบสนองไม่เท่าทันกับสถานการณ์ ในขณะที่แนวทางของนโยบายที่เปิดเสรีนั้นโดยตัวมันเองอาจไม่สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทในท้องถิ่นมากนัก หรืออาจกล่าวได้ว่าข้อวิพากษ์ในมุมนี้วนเวียนอยู่กับคำถามที่ว่าแนวทางนี้มีประสิทธิผลในการคลี่คลายความขัดแย้งมากน้อยเพียงใด? ส่วนอีกแนววิพากษ์หนึ่งมุ่งไปที่กระบวนทัศน์อันเป็นรากฐานของแนวคิดที่เปิดเสรีเหล่านี้ว่านอกจากจะปฏิเสธตัวแสดงในท้องถิ่นในฐานะผู้กระทำการ (agency) แล้ว ในเชิงอุดมการณ์ยังเป็นบ่อเกิดของอุปสรรคที่ขัดขวางการแก้ไขปัญหาเสียเอง ผ่านแนวทางที่เดินตามระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ขูดรีดทรัพยากรในท้องถิ่น ไม่ต่างกับระบอบอาณานิคมใหม่หรือระเบียบเศรษฐกิจโลกที่ชี้นำด้วยประเทศตะวันตก

 

แม้จะสวนหมัดตรงเข้ากรามโอหังของแนวคิดสร้างสันติภาพแบบเสรีซึ่งหน้า แต่ในความเห็นของผู้เขียนกลุ่มนี้กลับมองว่าบรรดานักคิดที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างแหลมคมเหล่านี้ก็ขาดแคลนข้อเสนอทั้งในเชิงทฤษฎีและในทางนโยบายอย่างมีน้ำหนักน่าเชื่อถือและเป็นรูปธรรม แนวทางที่นิยมกันมากคือความพยายามเสนอแนะทางออกเป็นสันติภาพแบบผสมผสาน (hybrid peace) หรือการหลอมรับและพึ่งพากันและกันระหว่างการริเริ่มในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ แต่ก็อย่างที่เกริ่นเอาไว้ ผู้เขียนเห็นกันว่าก็ยังขาดความกระจ่างชัดในเชิงการวิเคราะห์ แม้สันติภาพในแบบนี้จะหมายถึงการลดลงของความรุนแรงที่มาจากกรใช้ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ แต่นักวิชาการบางคนชี้ให้เห็นเลยว่าด้านลบของสันติภาพแบบผสมผสานก็คือความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความไม่เท่าเทียมก็ยังคงดำรงอยู่

 

พอจะกล่าวได้ว่าเมื่อรากเหง้าของความขัดแย้งยังไม่ถูกหยิบยกและเผชิญหน้าหาทางคลายปม ก็ยากที่จะคงสภาวะอันสันติเอาไว้ในระยะยาว ไม่ช้านานความรุนแรงทางการเมืองจะยังปรากฎตัวขึ้นมาอีก

 

จากการทบทวนงานศึกษาก่อนหน้านั้น ผู้เขียนพบว่ายังคงมีข้อจำกัดในความพยายามจะเข้าใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในความขัดแย้งและการคลี่คลายความขัดแย้งในหลายกรณีอยู่ โดยเฉพาะในกรณีที่ยุติลงด้วยชัยชนะทางการทหารหรือการกำเนิดขึ้นของระเบียบทางการเมืองแบบอำนาจนิยมหลังสงครามกลางเมืองที่แม้ว่าจะผ่านการเจรจาสันติภาพก็ตาม ถึงจุดนี้มีสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้คือ

  • หลังสงครามเย็นยุติลงใหม่ ๆ ในทศวรรษที่ 1990 สงครามกลางเมืองยุติลงได้ด้วยกระบวนการสันติภาพผ่านการเจรจามีสูงถึงร้อยละ 41 ของบรรดาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในห้วงนั้น
  • ช่วงระหว่างปี 2552-2553 เริ่มปรากฎแนวทางยุติสงครามกลางเมืองด้วยการเอาชนะทางการทหารอันเป็นแบบวิถีเก่าแก่ แต่กระนั้น ตัวแบบของการทำสงครามเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยก็หาได้ยากอยู่
  • ในสงครามกลางเมือง 130 กรณี กระทั่งถึงปี 2553 พบแนวโน้มที่ว่ารัฐที่ผ่านกระบวนการสันติภาพมักจะมีกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยอยู่เพียงระยะหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปในช่วงตั้งแต่ 5 ถึง 20 ปี รัฐนั้น ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะวิวัฒน์ไปสู่ระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมมากขึ้น
  • ข้อตกลงสันติภาพที่เกี่ยวกับแนวทางการแบ่งสรรอำนาจ (เช่น การกระจายอำนาจหรือการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ เป็นต้น) มักกลายเป็นขั้นตอนชั่วคราวในห้วงสั้น ๆ และมีแนวโน้มที่จะหันเหเข้าสู่แนวทางอำนาจนิยมและสมประโยชน์ฝ่ายเดียว
  • ปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติก็มีหลักประกันน้อยมากว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะบังเกิดการก่อรูปสังคมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย
  • ในปฏิบัติการสร้างสันติภาพครั้งสำคัญ 19 กรณีตั้งแต่หลังสงครามเย็นเป็นต้นมา มีเพียง 9 กรณีเท่านั้นที่ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยถูกสถาปนาขึ้นหลังจากที่ริเริ่มปฏิบัติการไป 5 ปี

 

สิ่งที่เลวิสและคณะพยายามจะทำในงานชิ้นนี้ก็คือการระบุบ่งชี้แนวทางของกรณีศึกษาต่าง ๆ ที่เลื่อนเคลื่อนออกจากการใช้กลไกการแก้ไขความขัดแย้งตามแบบวิถีสันติภาพที่เสรีข้างต้นไปสู่แนวทางใหม่อย่างมีแบบแผน ซึ่งรวบรวมตั้งแต่กรณีศึกษาที่ผ่านการเอาชนะด้วยการใช้กำลังทหาร ไปจนถึงกรณีที่มีการบรรลุข้อตกลงผ่านการเจรจาต่อรอง รวมไปถึงกรณีที่ความขัดแย้งถูกแช่แข็งเอาไว้ (frozen conflicts) ตัวอย่างของกรณีศึกษาเหล่านี้คือ

  • ศรีลังกา: ถือเป็นกรณีที่เร้าใจมากที่สุด เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนจากกระบวนการสันติภาพที่ประชาคมระหว่างประเทศเข้าไปมีบทบาทเป็นฝ่ายที่สามในการไกล่เกลี่ยอยู่สูง แต่ก็ล่มลงไปในปี 2549 และถูกแทนที่ด้วยปฏิบัติการป้องกันและปราบปราการก่อความไม่สงบสุดโหดที่กำราบกลุ่มพยัฆทมิฬอีแลม (LTTE) เสียราบคาบในปี 2552
  • ตุรกี: เช่นเดียวกัน การปรับเปลี่ยนจากการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐตุรกีกับพรรคคนงานเคอร์ดิสถาน (PKK) ในช่วงหลังปี 2558
  • รัสเซีย: ทางการมอสโควยืนกรานกีดกันหนักแน่นไม่ให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาระหว่างห้วงสงครามเชเชนครั้งที่ 2 (2542  - 2546) พร้อมทั้งขับเคลื่อนการใช้กำลังกระทั่งเอาชนะด้วยกำลังทหารและสร้างระเบียบแบบแผนอำนาจนิยมขึ้นหลังความขัดแย้งในดินแดนเชชเนีย
  • จีน: ทางการปักกิ่งปราบปรามทุกความเคลื่อนไหวของขบวนการก่อความไม่สงบของชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเกียง โดยสถาปนากลไกอำนาจนิยมต่าง ๆ ขึ้นมาพร้อมกับมาตรการกดปราบนานัปการของรัฐ
  • อุซเบกิสถาน: รัฐบาลเปิดปฏิบัติการชิงโจมตีก่อน (pre-emption) เพื่อป้องกันการขยายตัวของความรุนแรงที่มีวางอยู่บนฐานชาติพันธุ์ที่ลุกลามมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
  • ปรากฎการณ์ทำนองเดียวกันนี้ยังปรากฏอยู่ในอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบุรุนดี เอธิโอเปีย อียิปต์ เมียนมาร์ รวันดา ซูดาน รวมไปถึงในอังโกลา กัมพูชา และทาจิกีสถานที่แม้จะผ่านการเจรจาสันติภาพที่มีประชาคมระหว่างประเทศเข้าไปมีบทบาทเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย แต่ก็พัฒนาระบอบการเมืองไปสู่แนวทางไม่เป็นประชาธิปไตยในเวลาไม่ช้า
  • จะมีกรณีที่สวนเทรนด์อยู่ที่เดียวนั่นก็คือกรณีกบฏกลุ่มฟาร์ค (FARC) กับรัฐบาลโคลอมเบีย

 

แนวโน้มข้างต้นนี้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาบทบาทที่ค่อย ๆ โดดเด่นมากยิ่งขึ้นของรัสเซียและจีนในระบบการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งสองมหาอำนาจนี้จัดหาการสนับสนุนทั้งด้านการทูต การเมือง และบางครั้งก็การทหารให้กับรัฐบาลที่มีปัญหาความรุนแรงโดยรัฐและการละเมิดสิทธิมนุษยชน แน่นอนว่าในจำนวนนั้นรวมไปถึงเมียนมาร์ เพื่อนบ้านของเรา ซูดาน ศรีลังกา ซิมบับเว และซีเรีย ส่วนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งสองมหาอำนาจยังพยายามจะบ่อนเซาะกลไกที่เป็นเสาหลักให้กับบรรทัดฐานของการสร้างสันติภาพในแนวทางเสรี โดยเฉพาะในคณะมนตรีความมั่นคงและสภาสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

 

กล่าวอย่างเป็นธรรม รัฐตะวันตกในอีกปีกหนึ่งก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ก็ล้มเหลวในการประณามและกดดันการละเมิดข้างต้นของบรรดารัฐต่าง ๆ เช่นเดียวกัน ดังที่เราจะเห็นในกรณีของอียิปต์และเยเมน แม้แต่ในบางกรณีที่บรรดานักสร้างสันติภาพในกลุ่มนี้มีบทบาทอย่างแข็งขัน แต่กลับโอนอ่อนผ่อนตามกับรัฐเจ้าบ้าน กระทั่งเรียกขานกันว่าเป็น “การสร้างสันติภาพแบบประนีประนอม” กล่าวคือยอมรับ “การปฏิรูป” ในเชิงสัญลักษณ์แบบพอไปที แต่ขาดแคลนการแปรไปสู่การปฏิบัติ นักวิจัยบางคนบอกว่า “การสร้างสันติภาพแบบเสมือนจริง” เช่นนี้จะเปิดทางให้กับการพัฒนาระบอบอำนาจนิยมอย่างไร้ขีดจำกัด (เหมือนในทาจิกกีสถาน) ในขณะที่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของตัวแบบนี้ช่วงระยะหลังความขัดแย้งก็เกื้อหนุนให้บรรดาองค์กรแหล่งทุนสนับสนุนมองข้ามประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิและอุปสรรคต่อประชาธิปไตยไปเสีย (เหมือนในเอธิโอเปียและรวันดา)

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่งานความรู้ที่เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพและการแก้ไขความขัดแย้งก็พบว่ามีอยู่น้อยมากที่สนใจพัฒนาการของแนวคิดที่ระบอบอำนาจนิยมจัดการกับความขัดแย้ง กล่าวคือมีงานศึกษาจำนวนมากถึงร้อยละ 90 ที่ทุ่มเทให้กับการคลี่คลายความขัดแย้งผ่านการเจรจา ในขณะที่นักวิจัยในขอบข่ายงานทำนองนี้จะสนใจเพียงเล็กน้อยต่อการเอาชนะด้วยกำลังทหารหรือ “สันติภาพของผู้ชนะ” (victor’s peace) กระทั่งทำให้ขาด “ทฤษฎี” ที่จะทำความเข้าใจให้มากขึ้น งานที่พอจะสนใจอยู่บ้างก็เน้นไปที่การใช้ “กำลังทหาร” ในการบรรลุชัยชนะ โดยปราศจากการลงน้ำหนักไปที่ “การริเริ่มทางการเมือง” ที่อยู่บนฐานคิดแบบอำนาจนิยม ซึ่งบ่อยครั้ง “ไม้อ่อน” เช่นนี้ก็ดำเนินการควบคู่ไปกับ “ไม้แข็ง” ข้างต้น อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นก็เริ่มมีงานที่ให้ปิดช่องว่างดังกล่าวอยู่บ้างแล้ว แต่ก็นับว่าน้อยอยู่มาก

 

บทความของลิววิส ฮีทเธอชอว์ และเมโกราน ชิ้นนี้จึงพยายามเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปนี้ โดยพยายามสร้างกรอบวิเคราะห์การจัดการความขัดแย้งในระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมขึ้นมา แต่แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาในเชิงสถาบันหรือลักษณะทางจิตวิทยาอย่างที่งานเขียนคลาสสิคเกี่ยวกับระบอบอำนาจนิยมทำกัน ทั้งสามใช้กรอบวิเคราะห์ระบบอำนาจนิยมในฐานะที่เป็นระบบการเมืองกลุ่มคนเล็ก ๆ ใช้อำนาจภายใต้การตีกรอบข้อจำกัดที่ไม่ชัดเจนแน่นอน โดยเน้นไปที่ “ปฏิบัติการ” ที่ปรากฏอยู่ในเชิงวาทกรรม เชิงพื้นที่ และเศรษฐกิจการเมือง เพื่อพัฒนาเป็นกรอบการวิเคราะห์แบบวิถีการจัดการความขัดแย้งของระบอบอำนาจนิยม

 

การจัดการความขัดแย้งแบบอำนาจนิยม

 

กล่าวอย่างรวบยอดแล้ว แบบวิถีการจัดการความขัดแย้งแบบอำนาจนิยม (ACM) นั้นมีลักษณะที่หลีกเลี่ยงการเจรจาต่อรองที่จริงจังระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ปฏิเสธการเข้ามามีบทบาทของประชาคมระหว่างประเทศให้เข้ามาทำหน้าที่คนกลางไกล่เกลี่ย แต่ก็ยับยั้งชั่งใจในการใช้กำลังทางทหารในบางระดับ ในขณะเดียวกันก็ไม่พยายามจัดการกับความขัดแย้งผ่านการหยิบยกหรือเผชิญหน้ากับเงื่อนไขในเชิงโครงสร้างแต่จะมุ่งไปสู่การใช้บรรดาเครื่องมือต่าง ๆ ในการกดบังคับของรัฐและโครงสร้างอำนาจที่มีลำดับชั้นสูงต่ำ

 

ทั้งนี้ ควรต้องกล่าวได้ว่าแม้ ACM จะเน้นไปที่การใช้ความรุนแรงโดยรัฐ แต่ก็ไม่ใช่การโถมกำลังทางทหารเข้าจัดการอย่างถึงที่สุด เพราะการใช้กำลังเพียงถ่ายเดียวนั้นไม่เพียงพอในการจัดการความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ อีกทั้งยังไม่อาจถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ใช้ “จัดการ” ความขัดแย้งได้ในระยะยาว

 

แต่กรอบคิดในเชิงนโยบายของ ACM จะวางอยู่ที่ความพยายามจะลดโอกาสและทรัพยากรในการขับเคลื่อนกลุ่มต่อต้านหรือกบฏผ่านการควบคุมกำกับทิศทางในอาณาบริเวณทางสังคมที่แตกต่างกัน ทั้งที่เป็นวาทกรรมหรือบทสนทนาสาธารณะ พื้นที่หรืออาณาบริเวณ และทรัพยากรในทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ประยุกต์ใช้ในทุกระยะขั้นตอนของความขัดแย้ง ตั้งแต่ในช่วงการยุติความรุนแรงจากกำลังอาวุธ ไปสู่ช่วงหลังความขัดแย้งที่ได้ข้อตกลงบางอย่างแล้ว รวมไปถึงกระบวนการฟื้นฟูที่ตามมา และขั้นสร้างกลไกเพื่อป้องกันมิให้ความขัดแย้งฟื้นคืนตัวขึ้นมาอีก

 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าแบบวิถีดังกล่าวนี้จะปรากฎขึ้นเฉพาะในระบบการเมืองที่ภาพรวมเป็นเผด็จการหรืออำนาจนิยมเท่านั้น หากแต่ในทางทฤษฎีแล้วยังอาจปรากฏขึ้นในรัฐที่เป็นประชาธิปไตยหรือกึ่งประชาธิปไตยได้ด้วยเช่นกัน เพราะดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น กรอบวิเคราะห์ดังกล่าวมุ่งสนใจไปที่ “ปฏิบัติการ” หาใช่การประเมินและวิเคราะห์ตัวระบอบการเมืองในภาพใหญ่เท่านั้น จึงเป็นไปได้ที่ว่าแม้แต่ในรัฐที่ดูจะเป็นประชาธิปไตยเสียงข้างมากก็อาจพบว่าวิธีที่รัฐเผชิญและจัดการกับความขัดแย้งทางอาวุธภายในประเทศนั้นก็อาศัยวิธีการในแบบอำนาจนิยมได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่ง “สภาวะยกเว้น” ทำงานอย่างโดดเด่น นักวิจัยบางคนเรียกสิ่งนี้ว่า “การเมืองแบบผสมผสาน” (hybrid politics) หรือ “ระเบียบการเมืองแบผสมผสาน” (hybrid political order) ดังที่เราจะเห็นได้ในกรณีของศรีลังกา (ภาคตะวันออกและภาคเหนือ) รัสเซีย (เชชเนีย) ตุรกี (เคิร์ดิสถาน) และในอิสราเอล (เขตยึดครองเวสต์แบงค์และกาซ่า)

 

กระนั้นก็ตาม แบบวิถีในการจัดการความขัดแย้งที่ “ยกเว้น” ในเชิงพื้นที่เช่นนี้ก็มีศักยภาพจะบ่อนเซาะระเบียบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยของรัฐนั้น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเตือนด้วยว่ากรอบวิเคราะห์ ACM ที่พวกเขาเสนอนั้นไม่ได้เป็นการตัดสินว่าวิธีการที่รัฐตอบสนองต่อความขัดแย้งในลักษณะเช่นนี้เป็น “สันติภาพ” หรือไม่เป็นสันติภาพ แม้ว่าจะใช้ถ้อยคำอิงมโนทัศน์อย่าง “การจัดการความขัดแย้ง” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการให้ความชอบธรรมต่อปฏิบัติการในแบบอำนาจนิยมแต่อย่างใด พวกเขาเพียงแต่ต้องการเน้นย้ำขอบข่ายที่รัฐนั้น ๆ จะประกอบสร้างบรรทัดฐานและนโยบายที่มีความสอดประสานกันบางประการเท่านั้น

 

ถึงจุดนี้ ผู้เขียนพยายามจะไล่เรียงให้เห็นว่าปฏิบัติการของรัฐใน 3 ปริมณฑลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางสังคมของผู้คนในความขัดแย้งนั้น ๆ สะท้อนแบบวิถีของกรอบคิดอำนาจนิยมอย่างไร โดยเริ่มต้นที่ปฏิบัติการทางวาทกรรม การช่วงชิงจัดการกับพื้นที่ และมาตรการต่าง ๆ ในจัดการกับทรัพยากรทางเศรษฐกิจ

 

ปฏิบัติการเชิงวาทกรรม

 

มองจากกรอบคิดของแบบวิถีอำนาจนิยมแล้ว การสร้างสันติภาพหรือกระบวนการสันติภาพที่เอื้ออำนวยให้มีการสนทนา พูดคุย ถกเถียง หรือเจรจาต่อรองระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกัน พร้อมทั้ง “เปิดพื้นที่” และให้โอกาสกับบรรดาเรื่องเล่า เรื่องราว ประวัติศาสตร์ และ “ความจริง” ที่มีอยู่หลากหลายได้ปะทะสังสรรค์กันอย่างเปิดกว้างนั้นเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์และมีภัยอันตรายซ่อนอยู่ เพราะการเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงและสื่อสารกันในลักษณะนี้จะเท่ากับเป็นการเปิดประตูให้กับฝ่ายกบฎหรือ “ผู้เห็นต่าง” ได้ส่งเสียงสะท้อนความคับข้องหมองใจประดามีและนำโอกาสเหล่านี้ไปขับเคลื่อนเพื่อระดมแรงสนับสนุนทั้งจากภายในและพื้นที่ความขัดแย้ง

 

ด้วยเหตุนี้ กรอบคิดแบบอำนาจนิยมจึงพยายามสกัดกั้น “เสียงที่เห็นต่าง” จากรัฐ และส่งเสริมบทสนทนาหลักของตนเองให้เข้าไปครอบครองสำนึกและจิตใจของผู้คน ไปพร้อม ๆ กับการพยายามบ่อนทำลายความชอบธรรมของฝ่ายตรงกันข้ามรัฐ (ซึ่งบางครั้งก็ติดอาวุธ) หรือบรรดากลุ่มผู้เห็นต่าง ๆ ทั้งที่เป็นหรือกำลังจะกลายมาเป็นคู่เจรจากับรัฐในเวลาต่อมา

 

สภาพเงื่อนไขเช่นนี้ที่บทความนี้กล่าวถึงน่าสนใจและสำคัญมาก เพราะเมื่อรัฐดูเหมือนจะ “เปิดพื้นที่” ให้มีการสนทนา แต่พื้นที่ดังกล่าวก็มีเงื่อนไขที่จำกัดและกดดันมากมาย “พื้นที่กลาง” ที่ว่านี้จึงไม่อาจเป็น “พื้นที่ร่วม” (common space) ได้จริงในทางปฏิบัติ เพราะมีอำนาจครอบงำแฝงอยู่ในทุกอณูของพื้นที่ปฏิบัติการ

 

ลิววิสและคณะเห็นว่ารัฐที่ใช้กรอบคิดดังกล่าวนี้บรรลุผลสำเร็จข้างต้นด้วย 3 แนวทางด้วย ได้แก่

 

1) กดปราบข้อมูลและควบคุมความรู้

 

แทนที่จะเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้อภิปรายถึงชะตากรรมที่ตนเองประสบอย่างเปิดกว้าง รัฐจะพยายามกดดันและสกัดกั้นแหล่งข้อมูลข่าวสารและการตีความข้อมูลเหล่านั้นในทิศทางที่ “ต่าง” ไปจากรัฐ รวมทั้งแสวงหาหนทางในการควบคุมการแพร่กระจายของข่าวสารและการสร้าง “องค์ความรู้” วิธีการโบราณอย่างการเซ็นเซอร์สื่ออาจใช้ไม่ได้ผลนักในยุคเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารเช่นปัจจุบัน แต่รัฐที่ใช้กรอบคิดนี้ก็ปรับตัวและเหิมเกริมพอที่จะคิดวิธีการสกัดกั้นการเข้าถึงพื้นที่ความขัดแย้งของบรรดานักข่าวและนักวิจัย

 

กรณีตัวอย่างมีดังนี้

  • เอธิโอเปีย: นักข่าวที่ต้องการเข้าภูมิภาคโอกาเดนซึ่งเป็นพื้นที่ความขัดแย้งจะต้องขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ และการถูกปฏิเสธก็ถือเป็นเรื่องปกติ
  • ตุรกี: ในปี 2558 ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบได้ประกาศ “เขตความมั่นคง” กว่า 70 เขตในภูมิภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเขตเคลื่อนไหวของพรรค PKK ของชนชาติเคิร์ด โดยวางเงื่อนไขที่ยุ่งยากมากขึ้นสำหรับนักข่าวที่จะเดินทางไปยังพื้นที่เหล่านั้น
  • เมียนมาร์: ในปี 2559 กองทัพได้สกัดไม่ให้นักข่าว นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ในองค์กรการกุศลต่าง ๆ ได้เดินทางไปยังเมืองมองดอ ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งในรัฐยะไข่ที่มีรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเลวร้ายหนักหน่วงต่อชาวโรฮิงญา
  • ศรีลังกา: ในระหว่างปี 2542 - 2558  มีรายงานว่านักข่าว 19 ราย ถูกสังหารอันเนื่องมาจากการรายงานข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้ง
  • รัสเซีย; ในระหว่างปี 2535 - 2559  มีรายงานว่านักข่าวมากกว่า 56 คน ถูกสังหารอันเนื่องมาจากการรายงานข่าวความขัดแย้งในเชชเนีย (รวมถึงกรณีอันโด่งดังอย่างอันนา โปลิคอฟสกายา ซึ่งถูกสังหารในมอสโควเมื่อตุลาคม 2549)

 

2) ประดิษฐ์สร้างวาทกรรมที่เป็นทางการมาต่อสู้และครอบงำ

 

วาทกรรมของระบอบอำนาจนิยมในพื้นที่ความขัดแย้งนั้นมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน คือ การพยายามบ่อนเซาะความชอบธรรมของฝ่ายตรงกันข้ามและทำลายน้ำหนักของข้อกล่าวอ้างในการรณรงค์ของอีกฝ่ายเกี่ยวกับความคับข้องใจที่ชอบธรรม (legitimate grievances) ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในหลายที่ก็ถูกจัดวางให้อยู่ในวาทกรรมของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายเข้าไปด้วยเพื่อจะเสริมความชอบธรรมให้กับมาตรการความมั่นคงต่าง ๆ ที่ตามมา ดังเช่นในกรณีของรัสเซียที่มอสโควปฏิเสธข้อกล่าวอ้างความเป็นตัวแทนของกลุ่มเชเชน แต่กลับตีกรอบให้พวกเขาเป็น “กลุ่มก่อการร้ายอิสลาม” (islamist terrorism) ในกรณีของจีนก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลปักกิ่งพยายามเปลี่ยนภาพนักกิจกรรมชาตินิยมชาวอุยกูร์ให้ดูดุร้ายขึ้นด้วยการวาดให้เป็น “พวกสุดโต่งทางศาสนา” (religious extremists) ส่วนในกรณีศรีลังกานั้นหนักข้อมากขึ้นไปอีก เพราะทั้ง ๆ ที่รัฐบาลโคลอมโบและกลุ่มพยัฆทมิฬอีแลมกำลังอยู่ในระหว่างการพูดคุยสันติภาพในห้วงปี 2544 - 2547 ฝ่ายแรกก็ยังวาดภาพฝ่ายหลังให้เป็นองค์กรก่อการร้ายอย่างไม่ยั้งมือ

 

บางกรณีวาทกรรมที่แยกมิตรและศัตรูก็ถูกใช้งานเพื่อลดทอนและจำกัดบทบาทขององค์กรเอกชนนอกภาครัฐ โดยจัดวาง “เอ็นจีโอ” เหล่านี้ให้มีภาพของการเป็น “สายลับ” ของรัฐบาลต่างชาติหรือไม่ก็วาดภาพให้พวกเขากลายเป็นแนวร่วมหรือพันธมิตรกับกลุ่มกบฏ ซึ่งถือเป็นศัตรูของชาติ กระทั่งในบางแห่งองค์กรเหล่านี้ตั้งใจหลีกเลี่ยงที่จะระบุกิจกรรมของตนเองว่าเป็น “งานสร้างสันติภาพ” เพื่อไม่ให้ไปหลอมรวมเข้ากับงานของภาครัฐ รัฐอำนาจนิยมยังฉวยใช้วาทกรรมในทางประวัติศาสตร์บาดแผลมาเล่นงานฝ่ายตรงกันข้ามหรือให้ความชอบธรรมกับปฏิบัติการของฝ่ายตน ดังที่เห็นในกรณีรัฐบาลรวันดาที่โจมตีฝ่ายตรงกันข้ามว่าเป็นผู้ฝักใฝ่อุดมการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นต้น

 

3) ผลิตสร้างความคิดเห็นและทัศนคติของสังคม

 

แบบวิถีอำนาจนิยมพยายามเน้นการสร้างวาทกรรมเพื่อสร้างอำนาจนำ (hegemonic discourse) เหนือจิตใจของสาธารณชนซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของปฏิบัติการทางวาทกรรมของรัฐ สิ่งที่รัฐจะทำก็คือการสร้าง “สามัญสำนึก” หรือโลกทัศน์ที่แพร่หลายอยู่ในหมู่คนส่วนมากหรือผู้คนสามัญทั่วไป กลไกการครอบงำจะผ่านวิธีการผลิตซ้ำเนื้อหาผ่านรูปแบบที่ดูไม่มีอะไรมากหรือเป็นกิจวัตรปกติธรรมดาให้ปรากฎเป็นสิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” หรือ “พอรับได้” บางครั้งก็อ้างอิงกลับไปยังชุดวาทกรรมที่แพร่หลายซึ่งขีดคั่นรอยปริแยกระหว่างกลุ่มคนในสังคมอยู่ก่อนแล้ว

 

กรณีที่โดดเด่นยังคงเป็นศรีลังกา เมื่อ “สงคราม” ยุติลง รัฐบาลก็สร้างโครงเรื่องเล่าใหม่ที่สนับสนุนการเอาชนะด้วยกำลังทหาร ซึ่งสอดรับกับสำนึกชาตินิยมที่มีอยู่แต่เดิมของสังคมสิงหลที่เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ แทนที่จะเป็นวาทกรรมของประชาคมระหว่างประเทศที่หนุนเสริมการหาทางออกด้วยการประนีประนอม การแพร่หลายขยายเรื่องราว คำอุปมา เรื่องเล่าเปรียบเทียบเหล่านี้ส่งผลอย่างยิ่งต่อบทสนทนาในชีวิตประจำวันของผู้คนและสถาปนาสิ่งที่เรียกว่า “การครอบครองจิตใจเชิงลึก” ที่คงสถานะให้วาทกรรมของทางการอยู่เหนือทางเลือกอื่น ๆ ทั้งมวล

 

พอจะกล่าวได้ว่าการใช้กำลังหรือความรุนแรงเข้ากำราบ “ฝ่ายตรงกันข้าม” นั้นไม่เพียงพอต่อการคงอำนาจนำของรัฐที่ใช้แบบวิถีอำนาจนิยมจัดการกับความขัดแย้ง หากแต่ยังต้องทำให้เรื่องเล่าในมุมของตนนั้นไหลเวียนไปในสังคมผ่านรูปแบบที่อาจดูจืดชืดไร้พิษภัยใด ๆ หากแต่ทำให้ความคิดของทางราชการถูกตีความและกลายเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาประจำวันของผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศในที่สุด กระบวนการที่ว่านี้นำพาเรื่องที่ดูจริงจังจากพรมแดนที่เป็นปริมณฑลทางการเมืองและข้อถกเถียงอันร้อนแรงในหน้าสื่อมวลชนไปยังพื้นที่ซึ่งมีลักษณะกึ่งสาธารณะและกี่งส่วนตัว กระทั่งผู้คนตอบสนองในทางบวกอย่างไม่รู้ตัว

 

ปฏิบัติการเชิงพื้นที่

 

ปริมณฑลแห่งที่สองที่แนวทางการจัดการความขัดแย้งแบบอำนาจนิยมให้ความสนใจก็คือการครอบงำพื้นที่ทางการเมือง ทางกายภาพ และในทางสัญลักษณ์ สิ่งนี้อาจต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจแนวทางการศึกษา “พื้นที่” ซึ่งถูกพัฒนามาในช่วงทศวรรษที่ 1970 แต่ในแวดวงการวิจัยสันติภาพและความขัดแย้งเพิ่งจะมาให้ความสำคัญจริงจังเมื่อไม่นานมานี้ “พื้นที่” ในทางสังคมศาสตร์นั้นไม่ได้หมายถึงสิ่งที่หยุดนิ่งตายตัว หากแต่เป็นสิ่งที่อยู่ท่ามกลางการประชันขันแข่งกันของปัจจัยต่าง ๆ ถูกขัดเกลาจากพลังทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ปะทะกัน ในทางกลับกันพื้นที่ในแง่นี้ยังส่งผลสะเทือนต่อกระบวนการทางสังคม หากคิดตามไปในทางนี้ ตัวแสดงต่าง ๆ ในความขัดแย้งล้วนต้องปรับเปลี่ยนและกำหนดพื้นที่ให้ตนได้แสวงหาประโยชน์ได้มากที่สุด หรืออย่างน้อยก็สอดรับกับความเข้าใจต่อระเบียบทางการเมืองตามมุมมองของตนเอง

 

หากเราสวมแว่นตาของการสร้างสันติภาพในแบบเสรี เราจะเห็น “พื้นที่” ในฐานะที่เป็น “ปริมณฑลสาธารณะ” (public sphere) ที่ซึ่งการคลี่คลายความขัดแย้งนั้นเป็นไปได้ผ่านการสนทนา (dialogue) ที่จะนำไปสู่การสร้างช่องทางในการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ทางออกที่เห็นร่วมกัน นักสร้างสันติภาพที่สวมแว่นตานี้จึงมักสนับสนุนแนวทางขยายพื้นที่ทางการเมือง ทั้งในแง่หนทางที่หยิบยกประเด็นใจกลางที่ผู้คนคับข้องหมองใจและถูกกดทับมาอภิปรายและหาทางออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทัศนะของบรรดาชนกลุ่มน้อย ไปจนถึงการสถาปนากลไกใหม่อย่างเขตปกครองตนเอง หรือในบางครั้งก็ไปไกลถึงขั้นสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระด้วยซ้ำไป (เช่นในกรณีโคโซโว ติมอร์เลสเต และซูดานใต้) จึงไม่แปลกที่บรรดารัฐที่ไม่ใช่ตะวันตกจำนวนไม่น้อยจะมองทางออกตามแนวทางนี้ด้วยสายตาระแวดระวัง เพราะจะกังวลว่าการจัดการพื้นที่เช่นนั้นจะเท่ากับเป็นการบ่อนทำลายรัฐนั่นเอง

 

มุมมองต่อพื้นที่จะต่างออกไปหากสวมแว่นตาของแบบวิถีอำนาจนิยม นั่นก็คือ “พื้นที่” จะกลายเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะถูกฉวยใช้เอาจากกลุ่มกบฏ ทั้งในแง่ของการจัดตั้งองค์กร การระดมสมาชิกใหม่ ๆ และทรัพยากรต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้ “พื้นที่” ซึ่งเปิดกว้างเหล่านี้ในการกำหนดระเบียบแบบแผนและบรรทัดฐานทางสังคมในมวลหมู่ประชากรบางส่วน อีกทั้งยังเสริมความแข็งแกร่งให้ข้อเรียกร้องของพวกเขาให้กระจายไปยังประชาคมอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น

 

ด้วยเหตุนี้ ระบอบอำนาจนิยมจึงต้องเฟ้นหาหนทางในการแทรกซึม ปิดกั้น และครอบงำ “พื้นที่” ดังกล่าวผ่านการวางกำลังทหาร การยึดครองพื้นที่ ซึ่งอาจกระทำด้วยการจัดตั้งนิคมที่อยู่อาศัยใหม่ หรือแม้แต่การสถาปนาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการปรับปรุงผังเมืองใหม่

 

อาจกล่าวได้ว่าหัวใจของการจัดการความขัดแย้งตามแบบวิถีนี้ก็คือ “ปรับศูนย์กลาง” ใหม่ของการจัดการพื้นที่ทางการเมืองให้สอดคล้องกับทิศทางที่ตนปรารถนา แต่กระนั้น แนวทางนี้ก็มีถูกท้าทายอยู่บ้างจากขอบข่ายที่เกินการควบคุมของรัฐ เช่น การแบ่งปันข้อมูลข่าวสารใน “พื้นที่ออนไลน์” หรือปฏิบัติการทางการเมืองที่มีลักษณะข้ามพรมแดน เป็นต้น

 

การจัดการกับ “พื้นที่” ยังอาศัยการใช้กำลังด้วยเช่นกัน กล่าวคือ มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบนั้นจะส่งผลอย่างสำคัญต่อการสถาปนาพื้นที่ซึ่งดำรง “สภาวะยกเว้น” ในขณะที่ผลของมาตรการเหล่านี้ที่ต้องการจำกัดบทบาทหรือการเคลื่อนไหวของฝ่ายกบฏ แต่ก็ได้ส่งผลต่อการสร้างความไม่มั่นคงปลอดภัยในหมู่ประชาชนไปพร้อมกันด้วย ในพื้นที่ซึ่ง “ยกเว้น” ดังกล่าว กฎหมายปกตินั้นต้องถูกแขวนเอาไว้ ไม่ว่าจะมีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงหรือกฎอัยการศึกหรือไม่ก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ได้ทำให้ “พื้นที่” แห่งนี้มีบรรทัดฐานและปฏิบัติการแตกต่างไปจากพื้นที่อื่น ๆ ในรัฐ

 

ไม่น่าแปลกใจว่า “พื้นที่” ซึ่งถูกจัดการให้มี “สภาวะยกเว้น” ด้วยมาตรการที่กดกันเช่นนั้น รัฐที่ตอบรับแนวทางแบบอำนาจนิยมจะกังวลใจและคัดค้านข้อเสนอในการกระจายอำนาจหรือการสถาปนาการปกครองตนเองทางการเมืองให้กับกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มน้อย ด้วยการพิจารณาว่าแนวทางดังกล่าวนี้จะกัดเซาะเสถียรภาพทางการเมืองและอาจจะเป็นการเติมเชื้อให้กับความขัดแย้งมากขึ้น แทนที่จะเป็นการคลี่คลายปัญหาในแบบของรัฐเองฝ่ายเดียว สำหรับมุมมองเช่นนี้ รัฐจึงมักจะมองว่าการมีเขตปกครองพิเศษหรือรัฐสภาในระดับภูมิภาคจะเป็นการเอื้ออำนวย “พื้นที่” ให้พัฒนาข้อเรียกร้องในการแยกตัวเป็นอิสระให้แข็งแกร่งขึ้น หรืออาจเปิดโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์สร้างพรรคการเมืองที่ในที่สุดแล้วก็ไปหนุนเสริมการรณรงค์เพื่อแบ่งแยกดินแดนในเวลาต่อมา

 

ดังเช่นทางการจีนนั้นแขวนป้ายให้ “แนวคิดแบ่งแยกดินแดน” (separatism) เป็นหนึ่งใน “ไตรปีศาจ” หรือ “three evils” (อีกสองแนวทางคือการก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่งทางศาสนา) ส่วนรัสเซียก็เพิ่งออกกฎหมายใหม่ในปลายปี 2556 ที่ระบุโทษฐานหนักหน่วงขึ้นสำหรับการเรียกร้องในทางสาธารณะให้มีการการกระทำที่ละเมิด “บูรณภาพแห่งดินแดนของสหพันธรัฐรัสเซีย”

 

มุมมองในแบบระบอบอำนาจนิยมยังสนใจไปที่การวางผังเมืองและสถาปัตยกรรมใหม่ในฐานะที่เป็นวิถีทางในการผนึกตรึกตรึงลำดับชั้นใหม่ของอำนาจในสถานที่หรือพื้นที่ต่าง ๆ ในขณะที่ตัวแบบการสร้างสันติภาพแบบเสรีจะให้ความสำคัญกับการที่ผู้คนในท้องถิ่นจัดการ “พื้นที่” กันเองและมีส่วนร่วมในการวางแผนหรือวางผังเมืองที่สะท้อนความต้องการของพวกเขา แต่ตัวแบบของอำนาจนิยมจะมุ่งจัดการกับ “พื้นที่” เหล่านี้เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งควบคุมวิถีชีวิตของพลเมืองและจำกัดบทบาทของฝ่ายตรงกันข้าม

 

กรณีตัวอย่างมีดังนี้

  • เมืองโคลอมโบ ศรีลังกา: รัฐบาลผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่ในเมืองโคลอมโบใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่มุ่งหวังผลสำเร็จทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังหวังผลทางการเมืองที่ผังเมืองใหม่นั้นมุ่งสร้าง สื่อสาร และทำให้ความรู้สึกถึงอัตลักษณ์ของผู้คนอันเฉพาะเจาะจงนั้นคลี่คลายกลายร่างเป็นความรู้สึกพลเมือง “แบบปกติธรรมดา”
  • เมืองกรอสนีในเขตเชชเนีย รัสเซีย: รัฐบาลมอสโควทุ่มงบประมาณอย่างหนักในโครงการที่ชื่อว่า “No Traces of War” หรือ “ไร้ร่องรอยแห่งสงคราม” เพื่อขจัดลบล้างสิ่งเตือนใจในทางกายภาพใด ๆ ก็ตามที่ปรากฎเชื่อมโยงถึง “ความขัดแย้ง” พร้อมทั้งสถาปนาเรื่องเล่าใหม่ที่สร้างความเป็นเชเชนสมัยใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ความชอบธรรมกับภาวะการนำแบบอำนาจนิยมในห้วงระยะเวลาหลังความขัดแย้ง
  • เมืองโอช คีร์กีซสถาน: เมืองทางตอนใต้ของประเทศแห่งนี้ผ่านความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2553 รัฐบาลคีร์กีซก็ดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ควบคุมพื้นที่และสร้างสัญลักษณ์เพื่อเจือจางวัฒนธรรมอุซเบก รวมไปถึงการสร้างอนุสาวรีย์และส่งเสริมการสร้างเมืองใหม่ที่ลดการปรากฎของบ้านในสไตล์อุซเบกดั้งเดิม
  • เมืองคัชการ์ในมณฑลซินเกียง: เมืองเก่าในเส้นทางสายไหมโบราณแห่งนี้ถูกรัฐบาลจีนผลักดันโครงการที่เรียกว่า “Kashgar Dangerous House Reform” หรือ “การปฏิรูปบ้านอันตรายในคัชการ์” ที่รื้อย่านชุมชนชาวอุยกูร์ดั้งเดิมและก่อสร้างตึกอพาร์ทเมนท์สมัยใหม่ขึ้นแทน รวมไปถึงการสร้างตึกดั้งเดิมแบบเทียม ๆ เพื่อใช้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ผลที่ตามมาอีกอย่างก็คือการย้ายชาวอุยกูร์ออกจาก “พื้นที่” แห่งนั้นและทดแทนชาวฮั่นที่เข้ามาใหม่

 

ปฏิบัติการทางเศรษฐกิจ

 

ปริมณฑลที่สามของแบบวิถีอำนาจนิยมในการจัดการความขัดแย้งคือแบบแผนในการแทรกแซงของรัฐต่อธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีลักษณะที่โดดเด่นคือการมุ่งเป้าประสงค์หลักไปที่การสร้างเสถียรภาพทางการเมืองเป็นสำคัญ แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นสิ่งที่มุ่งหวัง แต่ก็เป็นความสำคัญลำดับรองลงมา ซึ่งแตกต่างไปจากแนวทางการสร้างสันติภาพแบบเสรีที่มักจะผลักดันโครงการลดความยากจนที่ตอบสนองกับความคับข้องหมองใจในมิติต่าง ๆ ของประชากรในฐานะที่เป็น “เงื่อนไข” ของความขัดแย้ง ในขณะเดียวกันก็มุ่งสร้างเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่เสริมกำลังภาคธุรกิจเอกชนและการเติบโตของเศรษฐกิจมหัพภาค

 

แต่แบบวิธีแบบอำนาจนิยมมีจุดเน้นที่ต่างออกไป เป้าหมายหลัก ๆ จึงวางอยู่ที่ประการแรก สกัดกั้นการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินและเศรษฐกิจของกลุ่มกบฏ และประการที่สอง คือทำให้แน่ใจได้ว่าบรรดาการอุปถัมภ์ต่าง ๆ ที่รัฐลงทุนไปจะจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มที่สวามิภักดิ์ในพื้นที่ความขัดแย้งเท่านั้น

 

ในระเบียบการเมืองท่ามกลางความรุนแรงจากการสู้รบนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์กับผู้รับอุปถัมภ์มีลักษณะที่สลับซับซ้อนและซ้อนเหลื่อมกัน คล้ายปีรามิดที่ซ้อนทับกันหลายภาพ สถานการณ์ความขัดแย้งจึงอาจเปรียบได้เป็น “ตลาดการเมือง” ที่มีการแข่งขันกันจัดหาปัจจัยให้กับผู้รับการอุปถัมภ์ที่มี “มูลค่า” สูง เพื่อแลกกับการสวามิภักดิ์และการสนับสนุน ด้วยเหตุนี้ มาตรการในการควบคุมทางเศรษฐกิจและการอุดหนุนเพื่อเปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตร (Co-optation) จึงกลายเป็นปฏิบัติการที่สำคัญอย่างยิ่งในการจัดการความขัดแย้ง มาตรการเหล่านี้ยังกลายเป็นหัวใจสำคัญของระบอบอำนาจนิยมที่เปลี่ยนความสัมพันธ์ที่มีการประชันขันแข่งกันเหมือนปิรามิดซ้อนเหลื่อมหลายยอดมาสู่ปิรามิดที่มีระบบอุปถัมภ์ยอดเดียว หรือในที่นี้ก็คือตลาดที่ถูกผูกขาดโดยผู้ค้าเจ้าเดียว ซึ่งก็คือรัฐอำนาจนิยมนั่นเอง

 

ระเบียบทางเศรษฐกิจในพื้นที่ความขัดแย้งเช่นนี้จะทำงานได้ด้วยการแทรกแซงของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเสนอ “ราคา” ที่สูงพอที่จะทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามล้มเลิกการต่อต้าน บางครั้งหน่วยงานของรัฐอาจให้แนวทางกดบังคับเพื่อ “จัดการ” กับตลาด ในขณะที่การจัดการกับช่องทางไหลเวียนของเงินงบประมาณ รายได้จากภาษีน้ำมัน หรือความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศก็มีส่วนในการผนึกสายสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายอุปถัมภ์ให้เหนียวแน่นได้ด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ ในช่วงระยะหลังความขัดแย้งก็จะพบว่ามีโครงสร้างทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการในกระบวนการฟื้นฟูสังคมที่กระจายผลประโยชน์และทรัพยากรไปยังเครือข่ายที่มีความภักดีเป็นหลัก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองหลังความขัดแย้งอาจเป็นเรื่องพื้นผิวที่จับต้องได้ยาก แต่ระบบอุปถัมภ์ผ่านสายสัมพันธ์ข้างต้นจะเติบโตและขยายตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้น ดังกรณีกรณีศึกษาเกี่ยวกับการฟื้นฟูหลังความขัดแย้งในกัมพูชาและอังโกลา

 

อีกมิติที่น่าสนใจคือประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการคอรัปชั่นที่มักถูกมองได้ว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างสันติภาพในระยะยาว แต่งานศึกษาในระยะหลังพบว่าการคอรัปชั่นในบางรูปแบบได้กลายมาเป็นจุดคลี่คลายความขัดแย้งและเป็น “กาว” ที่ผนึกเชื่อมต่อให้ข้อตกลงที่เกิดขึ้นคงทนอยู่ได้ หรือได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างระบบที่จำกัดความเป็นไปได้ของ “ความรุนแรง” ดังในกรณีของเชชเนียที่รัฐบาลมอสโควลงทุนในโครงการฟื้นฟูหลังความขัดแย้งไปอย่างน้อย 14 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 462,000 ล้านบาท) ถึงแม้ว่าเงินเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไหลตรงไปยังหน่วยงานภาครัฐ แต่ก็ถูกควบคุมจัดการโดยเครือข่ายอุปถัมภ์ของชนชั้นนำในท้องถิ่นที่สถาปนาและดำรงไว้ซึ่งระเบียบทางเศรษฐกิจแบบปิรามิดยอดเดียวเอาไว้อย่างแข็งแกร่ง แม้ในก้อนงบประมาณเหล่านี้จะมีรายงานว่าพบ “การละเมิดกฎเกณฑ์ทางการเงิน” (“financial violation”) ถึง 1,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 42,900 ล้านบาท) ในช่วงระหว่างปี 2546-2547 แต่ก็ถือว่าเป็นวิธีที่จะ “ให้รางวัล” เพื่อแลกกับความภักดีในทางการเมืองเพื่อเสริมโครงสร้างอำนาจแบบลำดับชั้นสูงต่ำในพื้นที่ความขัดแย้งแห่งนี้ นักวิจัยบางคนเรียกขานว่านี่คือวิธีการสำคัญของ “สันติภาพที่ซื้อขาย” กัน

 

เมื่อช่องทางทางเศรษฐกิจถูกควบคุมจัดการโดยรัฐ บรรดาฝ่ายกบฏก็มักต้องหาทางเลือกในการจัดหาเงินทุนสนับสนุน ซึ่งอาจรวมไปถึงการระดมทุนจากผู้สนับสนุนที่พลัดถิ่นในต่างแดน การทำธุรกิจผิดกฎหมาย หรือการรับเงินสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศผ่านโครงการต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ กลไกของรัฐจึงพยายามจะสกัดกั้นและควบคุมช่องทางต่าง ๆ ไม่เฉพาะแต่ธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงธุรกิจสีเทาต่าง ๆ อีกด้วย ในที่นี้ยังรวมไปถึงความพยายามที่จะทำ “สัญญา” ในบางกิจกรรมกับกลุ่มอาชญากรรมที่ภักดีกับรัฐหรือไม่ก็ควบคุมสั่งการโดยตรงหากจำเป็น ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือการจัดการกับความขัดแย้งเกี่ยวกับช่องทางค้ายาเสพติดจากอัฟกานิสถานมายังทาจิกีสถานได้กลายเป็นส่วนที่สำคัญในกระบวนการสร้างเป็นปึกแผ่นให้กับระเบียบทางการเมืองหลังความขัดแย้ง

 

นอกจากนี้ ช่องทางที่สำคัญอีกประการคือการสนับสนุนจากองค์กรด้านมนุษยธรรมที่ต้องการเข้าถึงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง แต่รัฐก็กลับเชื่อว่าเงินช่วยเหลือเหล่านั้นกลายมาเป็นช่องทางในการรับการสนับสนุนของกลุ่มติดอาวุธด้วยเช่นกัน รัฐที่ใช้กรอบคิดแบบอำนาจนิยมจะมองกิจกรรมเหล่านี้สายตาที่ไม่วางใจและตอบสนองต่อการริเริ่มเหล่านี้ด้วยการเลือกสรรบางองค์กรช่วยเหลือที่พิจารณาแล้วว่าเป็นเอื้อประโยชน์ต่อรัฐมากพอ ในขณะเดียวกันก็ขับไสหรือปิดปากบางบางกลุ่มที่ไม่โอนอ่อนตาม ดังที่มีงานศึกษากรณีของศรีลังกาและรวันดา อย่างไรก็ตาม ช่องทางไหลเวียนเงินที่รัฐประสบข้อจำกัดคือการควบคุมการสนับสนุนจากชุมชนคนพลัดถิ่นในต่างแดน เพราะฝ่ายต่อต้านมักจะปรับเปลี่ยนและประยุกต์ใช้วิธีการใหม่ ๆ ในการระดมเงินและส่งผ่านเข้าไปในพื้นที่อยู่เสมอ แม้ว่าจะมีการควบคุม ตรวจสอบ และสอดส่องช่องทางของสถาบันการเงินอยู่แล้วก็ตาม

 

ทิ้งท้ายและคิดต่อ

         

การจัดการกับความขัดแย้งในแบบวิถีแบบอำนาจนิยมนั้นกำลังจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ควรจับตามองและตั้งคำถาม บทความของลิววิสและคณะมีคุณูปการอย่างยิ่งในการประกอบสร้าง “แว่นตา” ขึ้นมาเพื่อพินิจพิเคราะห์ความเป็นจริงเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพในหลายที่ แน่นอนว่ารวมไปถึงกรณีของประเทศไทยด้วยเช่นกัน พวกเขาเตือนเราให้สังเกตเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐตอบรับแบบวิถีในการจัดการความขัดแย้งแบบอำนาจนิยมและอ้าแขนรับบรรทัดฐานที่ไร้เสรีเหล่านี้อย่างเป็นระบบ มองให้เห็นว่าปฏิบัติการเหล่านี้หาใช่เพียงแต่มุ่งเน้นการใช้กำลังเข้ากดปราบเท่านั้น แต่ยังสนใจการครอบงำทางความคิดผ่านปฏิบัติการทางวาทกรรม การควบคุมพื้นที่ทั้งในทางการเมือง ทางกายภาพ และในทางสัญลักษณ์ รวมไปถึงให้ความสำคัญกับการผูกขาดการจัดการกับทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อเป้าหมายทางการเมืองของรัฐเป็นสำคัญ

 

อย่างไรก็ดี แบบวิถีดังกล่าวยังรอการพิสูจน์และประเมินอยู่ว่าจะมีประสิทธิผลในการคลี่คลายความขัดแย้งได้มากน้อยเพียงใด นั่นหมายความว่ายังจำเป็นที่ต้องมีการศึกษาวิจัยและติดตามอย่างจริงจังในแต่ละกรณี เพราะต้องไม่ลืมว่าวิธีการแบบกดกันของการสร้างสันติภาพแบบไร้เสรีนั้นไม่ได้มุ่งปะทะกับรากเหง้าของความขัดแย้งอย่างซึ่งหน้า เพียงแต่ “บัง” ไม่ให้เห็นร่องรอยของ “ความขัดแย้ง” และจัดการโดยการสยบความแตกต่างและแรงต่อต้านเท่านั้น

 

การมองเห็นแนวทางที่รัฐอำนาจนิยมจัดการกับความขัดแย้งดังกล่าวนี้สำคัญ เพราะนอกจากจะทำให้เข้าใจนโยบายและปฏิบัติการที่เป็นจริงแล้ว ยังท้าทายให้คิดถึงวิธีการที่จะรับมือกับ “ความขัดแย้ง” อย่างเท่าทันและสร้างสรรค์มากขึ้น

 

แต่การที่รัฐเชื่อว่าวิธีการแก้ปัญหาความไม่สงบหรือแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงก็คือการปราบปราม การใช้อำนาจกดดัน และการหลอกให้เชื่อว่าจะบรรลุถึงซึ่ง “สันติสุข” ได้โดยผ่านการปิดกั้นและกีดกันไม่ให้คนพูดถึงการแก้ปัญหาจากรากเหง้าความขัดแย้งอาจจะใช้ได้ผลเฉพาะหน้าบางห้วงขณะ แต่หาได้เป็นการคลี่คลายปมความขัดแย้งอย่างจริงจังในระยะยาวไม่ เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าหากปิดบังและไม่เผชิญหน้ากับ “ความขัดแย้ง” อย่างตรงไปตรงมา “ปัญหา” ที่ถูกซ่อนเร้นเหล่านี้อาจกลายเป็นระเบิดเวลาที่รอปะทุขึ้นอีกครั้งในวันข้างหน้า ดังประสบการณ์ของ “ความรุนแรงระลอกนี้” ที่เราล้วนเผชิญมาตลอดเกือบ 15 ปีที่ผ่านมา

 

ความขัดแย้งในชายแดนใต้หรือ “ปาตานี” นั้นไม่ได้เป็นกรณีศึกษาในงานของลิววิสและคณะ แต่ก็น่าคิดต่อไปว่าหากเราใช้แว่นตาของพวกเขาในการมองกลับมายังกรณีนี้ เราจะมองเห็นอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมหรือไม่และอย่างไร คำถามที่น่าสนใจก็คือว่าเหตุใดความกังวลใจของบรรดาผู้นำกองทัพต่อแนวทางการพูดคุยและเจรจาสันติภาพ (หรือ “พูดคุยกับโจร”) ที่มีมาตลอดหลายปีก่อนหน้านี้ เมื่อเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในปี 2557 จึงผ่อนคลายและเดินหน้าสานต่อจนกระทั่งถึงปัจจุบัน? การปรับเปลี่ยนถ้อยคำเรียกขานอย่างเป็นทางการของการพูดคุย “สันติภาพ” ไปเป็นการพูดคุยเพื่อ “สันติสุข” นั้นสะท้อนปฏิบัติการในเชิงวาทกรรมที่มุ่งตีกรอบความคิดและควบคุมกระบวนการแก้ไข “ปัญหา” หรือไม่อย่างไร? คำถามเหล่านี้เชื่อมโยงสู่ภาคปฏิบัติการอื่น ๆ ทั้งในแง่การบริหารจัดการ “พื้นที่” ในมิติต่าง ๆ และการผูกขาดกระบวนการใช้จ่าย “งบประมาณ” ตามแผนบูรณาการฯ อย่างไร?

 

เรื่องนี้น่าคิดทบทวนและใคร่ครวญอย่างยิ่ง

 

 

 

อ่านเพิ่มเติม

 

David Lewis, John Heathershaw and Nick Megoran, “Illiberal Peace? Authoritarian Modes of Conflict Management,” Cooperation and Conflict, https://doi.org/10.1177/0010836718765902