Skip to main content

ปกรณ์ พึ่งเนตร
ศูนย์เฝ้าระวังเชิงความรู้สถานการณ์ภาคใต้

          การบุกยิงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเสียชีวิตถึง 2 ศพ ที่สถานีอนามัยประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อวันพุธที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความหวาดผวาไม่เฉพาะกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ยังสร้างความตื่นตะลึงให้กับข้าราชการหน่วยงานอื่นๆ และพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่อย่างรุนแรงอีกด้วย

          เพราะนี่เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปีของความรุนแรงในดินแดนปลายสุดด้ามขวานที่บุคลากรทางสาธารณสุขต้องสังเวยชีวิต !

          อย่าลืมว่าแม้แต่ในสงครามเต็มรูปแบบยังมี "กฎ" ห้ามโจมตีหน่วยกาชาด โรงพยาบาล ตลอดจนแพทย์ และพยาบาล แต่ "ความขัดแย้ง" ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นักวิชาการยังไม่ยกระดับให้เป็น "สงคราม" นั้น กลับมีบางฝ่ายกำลังละเมิด "กฎ" ดังกล่าวอย่างเลือดเย็น


ป้ายไว้อาลัย2เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อ 8ส.ค.50 ซึ่งวิเคราะห์กันว่า นี่เป็นการโต้กลับ
ของฝ่ายตรงข้าม โดยเจาะจงเลือกเป้าหมายที่อ่อนแอและโจมตีง่ายที่สุด (ภาพ:จรูญ ทองนวล)

วิถีแห่งการปรับตัว

          หากย้อนไปดูบทบาทของบุคลากรทางสาธารณสุขท่ามกลางไฟใต้ที่คุโชน จะพบว่าไม่ใช่แต่เฉพาะ "ความเป็นกลางของสาธารณสุข" อันหมายถึงการให้การรักษาทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกว่าเป็นใคร ฝ่ายไหน ซึ่งเป็นหัวใจในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้นที่ทำให้บุคลากรกลุ่มนี้อยู่รอดปลอดภัยมาได้โดยไม่ตกเป็นเป้าของความรุนแรง แต่แวดวงแพทย์ พยาบาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมี "การปรับตัว" ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพี่น้องมุสลิมในท้องถิ่นด้วย และนั่นน่าจะเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขสามารถทำงานได้พื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูงเยี่ยงนี้ได้อย่างปลอดภัย

          ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การอนุญาตให้ทำพิธี "อาซาน" เด็กแรกเกิดได้ที่โรงพยาบาล เพื่อขอพรให้เด็กเป็นมุสลิมที่ดีตามความเชื่อทางศาสนา

          แต่เดิมนั้นโรงพยาบาลทุกแห่งจะไม่อนุญาตให้ทำพิธีอาซานเด็กแรกเกิด เพราะเกรงปัญหาเรื่องความสะอาด และเด็กอาจยังไม่แข็งแรงพอ ทำให้หญิงมุสลิมนิยมคลอดบุตรที่บ้าน โดยใช้บริการ "โต๊ะบิดัน" หรือหมอตำแยพื้นบ้านเป็นผู้ทำคลอด ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องกำลังใจแล้ว ยังสามารถประกอบพิธีอาซานได้อย่างเต็มที่ ทว่าผลข้างเคียงในด้านลบที่ตามมาก็คือ อัตราการเสียชีวิตจากการคลอดบุตรในพื้นที่นี้พุ่งสูงมาก อีกทั้งเด็กยังเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีนไม่ครบตามมาตรฐานของสาธารณสุข

          แต่ปัจจุบันนี้ โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อนุญาตให้ทำพิธีอาซานเด็กหลังคลอดออกจากท้องมารดาและพยาบาลอาบน้ำทำความสะอาดให้เรียบร้อยได้แล้ว

สู่การสร้างภูมิคุ้มกัน

          อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เวลาคนไข้ใกล้จะเสียชีวิต โดยปกติแพทย์ พยาบาล จะกันญาติหรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกห่างจากเตียงคนไข้ เพื่อความสะดวกในการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องปั๊มหัวใจ แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลในสามจังหวัดภาคใต้อนุญาตให้ญาติอยู่ด้วยได้ เพื่ออ่าน "อัลกุรอาน" ให้คนไข้ฟัง เมื่อคนไข้เสียชีวิตจะได้กลับคืนสู่พระเจ้าตามความเชื่อทางศาสนา

          นอกจากนั้น การที่แพทย์และพยาบาลส่วนใหญ่พูดภาษายาวีเบื้องต้นได้ เนื่องจากต้องสื่อสารโดยตรงกับคนไข้ทุกวัน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขอยู่ร่วมกับพี่น้องมุสลิมได้อย่างกลมกลืน

          ทั้งหมดนี้เองจึงกลายเป็น "ภูมิคุ้มกัน" ให้บุคลากรทางสาธารณสุขอยู่รอดปลอดภัย และได้รับมิตรจิตมิตรใจที่ดีกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยสามารถก้าวข้ามเส้นแบ่งทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม

เมื่อ"จุดแข็ง"ถูกบั่นทอน

          กระนั้นก็ตาม การเปิดยุทธการเชิงรุกด้านการทหารของหน่วยงานด้านความมั่นคง ภายใต้การกำกับของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) กำลังมีส่วนบั่นทอน "จุดแข็ง" ของบุคลากรทางการแพทย์ลง โดยเฉพาะหลักการเรื่อง "ความเป็นกลางของสาธารณสุข" จนส่งผลให้ "คนสาธารณสุข" ตกเป็นเป้าของความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

          จริงๆ แล้วปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนั้น มิได้รอดพ้นสายตาของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพราะก่อนหน้านี้ น.พ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข ก็ได้ตั้งคณะกรรมการคณะที่ 2 ขึ้น โดยมี น.พ.ธาดา ยิบอินซอย เป็นประธาน โดยมอบหมายหน้าที่ให้ออกตรวจเยี่ยมสถานพยาบาลทุกแห่ง ทุกระดับ เพื่อรับฟังปัญหาจากบุคลากรทางการแพทย์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

          และจากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องนี้เอง ทำให้พบปัจจัยที่กระทบต่อความเป็นกลางของสาธารณสุข สรุปได้ 5 ประการ ประกอบด้วย

1.กรณีทหารมักเข้าไปตั้งค่ายในสถานีอนามัย เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องน้ำ-ไฟ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ก็พยายามคัดค้านมาตลอด แต่ทหารบางหน่วยจะใช้วิธีแอบเข้าไปตั้งแคมป์ช่วงเย็นวันศุกร์ซึ่งเจ้าหน้าที่กลับบ้าน  พอถึงเช้าวันจันทร์ เมื่อเจ้าหน้าที่กลับมา ก็ไม่สามารถห้ามปรามอะไรได้แล้ว

 ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวทำให้เกิดภาพที่ไม่ดี และเมื่อทหารถอนกำลังออกไป ก็มีความเสี่ยงที่อนามัยจะถูกเผา หรืออาจจะถูกยิงเข้ามาในอนามัยเพื่อหวังทำร้ายทหารได้ ที่ผ่านมามีสถานีอนามัยที่ถูกวางเพลิงจากกลุ่มก่อความไม่สงบไปแล้วอย่างน้อย 12 แห่ง

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่คณะกรรมการรวบรวมได้ พบว่าในปัจจุบันที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส มีสถานีอนามัยอย่างน้อย 2 แห่งที่ทหารเข้าไปตั้งค่ายอยู่ภายใน คือ สถานีอนามัยกาลีซา กับ สถานีอนามัยบองอ

2.กรณีที่ทหารหรือตำรวจชอบเดินคุยกับเจ้าหน้าที่อนามัย ซึ่งแม้จะเข้าใจว่าหลายๆ ครั้งเป็นการทักทายกันธรรมดา แต่ภาพที่ออกมาทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่อนามัยแอบให้ข้อมูลกับทหารหรือไม่

3.กรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงชอบขอข้อมูลประชากรในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลและสถานีอนามัย เพราะสถานพยาบาลทุกแห่งจะมี "แผนที่" ในพื้นที่รับผิดชอบของตน ไม่ว่าจะเป็นระดับตำบล อำเภอ หรือจังหวัด มีเลขที่บ้าน สถานที่ตั้ง และประวัติของบุคคลในบ้านทุกคน

กรณีนี้หน่วยสาธารณสุขในพื้นที่มีแนวปฏิบัติชัดเจนว่า ไม่ว่าเจ้าหน้าที่หน่วยไหนมาขอ ก็จะไม่ให้ข้อมูล แต่เมื่อไม่ให้ ฝ่ายความมั่นคงก็ไม่พอใจ และมีคำถามประชดประชันในลักษณะว่า "เป็นข้าราชการหรือเปล่า" หรือไม่ก็กล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมของฝ่ายขบวนการไปเลย

4.กรณีเจ้าหน้าที่รัฐปะทะกับกลุ่มก่อความไม่สงบ และฝ่ายคนร้ายถูกยิงได้รับบาดเจ็บ ก็เข้ามารักษาตัวที่อนามัย แต่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามจะให้เจ้าหน้าที่อนามัย หรือแพทย์ พยาบาล แจ้งความกับตำรวจ ทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขตกอยู่ในสภาวะไม่ปลอดภัย

เรื่องนี้ที่ผ่านมาเคยมีกรณีตัวอย่างมาแล้ว คือมีแนวร่วมก่อความไม่สงบถูกยิงที่ข้อเท้า กระสุนฝังใน จึงเข้ามารักษาที่สถานีอนามัย แต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าอาการหนัก ก็แนะนำว่าจะส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ผู้บาดเจ็บก็ถามทันทีว่า ถ้าส่งตัวไปจะถูกจับหรือไม่ เจ้าหน้าที่อนามัยตอบว่าหมอคงไม่แจ้งตำรวจ

ทว่าเมื่อส่งตัวไปจริงๆ ผู้บาดเจ็บรายนี้กลับถูกตำรวจมารอจับกุมถึงหน้าห้องรับยา วันรุ่งขึ้นญาติของเขาจึงบุกไปที่สถานีอนามัย และข่มขู่ว่า ถ้าช่วยให้ผู้บาดเจ็บออกมาจากคุกไม่ได้ จะต้องตาย

และ 5.กรณีผู้ต้องสงสัยเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบถูกกระสุนปืนเสียชีวิต และกระสุนฝังอยู่ในศพ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพยายามเร่งให้แพทย์ผ่าศพเพื่อนำหัวกระสุนออกมาตรวจพิสูจน์ ขณะที่ฝ่ายญาติผู้ตายก็จะไม่ยินยอม เพราะตามหลักศาสนาอิสลามจะต้องนำศพไปฝังทันที และไม่ต้องการให้ใครทำอะไรกับศพอีก

ปัจจุบันจุดยืนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคือ ถ้าเป็นผู้ป่วย ก็จะให้ผู้ป่วยตัดสินใจเอง แต่ถ้าเป็นคนตาย ก็จะให้ญาติตัดสินใจ แต่นั่นก็ทำให้ฝ่ายตำรวจไม่ค่อยจะพอใจเช่นเดียวกัน

 นี่คือความยากลำบากของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์และพยาบาลว่าจะอยู่ในพื้นที่อย่างไรให้ปลอดภัย เพราะแม้หลายครั้งจะพยายามรักษาความเป็นกลางอย่างเต็มที่ แต่กลับถูกตีความจากหน่วยงานรัฐด้วยกันว่าอยู่ฝ่ายโจร อยู่ฝ่ายขบวนการ เหล่านี้คือความเจ็บปวดของบุคลากรทางสาธารณสุข

ยุทธการไม่ล้มเหลว?

          เมื่อหันไปมองการขับเคลื่อนทางยุทธการของ กอ.รมน.ภาค 4 และ พตท. จะพบว่าแม้ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา แทบทุกฝ่ายจะขานรับกับ "ยุทธการพิทักษ์แดนใต้" ที่เปิดปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมเป้าหมายในพื้นที่สีแดงเรียงอำเภอ กระทั่งสามารถควบคุมตัวกลุ่มก่อความไม่สงบ กลุ่มเสี่ยง และผู้ต้องสงสัยได้กว่าครึ่งพันคนนั้น

          ทว่าเหตุการณ์บุกยิงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเสียชีวิต 2 ศพคาสถานีอนามัยประจัน กำลังถูกตั้งคำถามว่า ยุทธการของฝ่ายความมั่นคงเริ่มจะถูกตอบโต้จากฝ่ายตรงข้ามแล้วใช่หรือไม่

          และเป็นการตอบโต้ที่มุ่งไปยัง "เป้าหมายอ่อนแอ" หรือ Soft Target อันเป็นยุทธวิธีที่กลุ่มผู้ไม่หวังดีถนัดเป็นอย่างยิ่ง!

          หลายคนคาดหมายว่าอีกไม่นานนี้ จะเกิดการไล่ฆ่าแบบไม่เลือกอย่างมโหฬารอีกครั้ง ซึ่งผู้ที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อย่อมหนีไม่พ้นประชาชนผู้บริสุทธิ์ ตำรวจ ทหาร ครู แต่คราวนี้อาจเพิ่มบุคลากรทางสาธารณสุขขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นได้

          อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษา กอ.รมน. ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาที่น่าหวั่นกลัวเหมือนกับที่หลายฝ่ายกำลังหวาดวิตก

          "ยุทธการไม่ได้ล้มเหลว เพียงแต่ที่ผ่านมาเราปล่อยมานาน กระทั่งโจรเข้ามาอยู่ในชุมชน ในหมู่บ้าน ทำให้ป้องกันเหตุรุนแรงได้ยาก แม้ที่ผ่านมาเราจะจับกุมผู้ต้องสงสัยมาหลายร้อยคน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวร่วมของฝ่ายก่อความไม่สงบยังมีอีกเยอะ ฉะนั้นการเปิดยุทธการเพื่อกดฝ่ายตรงข้ามให้หยุดจึงต้องใช้เวลา จะให้จบเร็วคงเป็นไปไม่ได้"

          พล.อ.พัลลภ กล่าวต่อว่า ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดในวันนี้ และถือเป็นความสำเร็จทางยุทธการก็คือ ไม่มีม็อบมุสลิมออกมาชุมนุมกดดันเจ้าหน้าที่รัฐอีกแล้ว ซึ่งเขาแย้มว่าเป็นเทคนิคทางทหารที่เขาลงไปกำกับดูแลด้วยตัวเอง แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

          "ผมบอกได้อย่างเดียวว่า หลังจากนี้ปัญหาในพื้นที่จะค่อยๆ ดีขึ้น และสงบในที่สุด" พล.อ.พัลลภ กล่าวทิ้งท้าย

          แต่ดูจะเป็นคำทิ้งท้ายที่สวนทางกับความรู้สึกของคนสาธารณสุขในยามนี้อย่างสิ้นเชิง!
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- "ความเป็นกลางสาธารณสุข" โจทย์ใหม่ในสงคราม 3 จชต.
- ผ่าแผนยุทธการ "พิทักษ์แดนใต้"