Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

ความรุนแรงที่ชายแดนภาคใต้กลับมาให้เห็นถี่ขึ้นมาก สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุยิงเจ้าหน้าที่อนามัยอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีเสียชีวิต 2 คน มาสัปดาห์นี้ เกิดเหตุขึ้นหลายจุดพร้อมๆ กัน เริ่มที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดสงขลา (อ.สะบ้าย้อย) ร่วม 20 จุด และตามมาด้วยพื้นที่จังหวัดยะลากับจังหวัดนราธิวาสอีกร่วม 50 จุดในวันถัดมา

ทั้งเผาล้อยาง เผาตู้โทรศัพท์ ตัดต้นไม้ขวางถนน ลอบยิงฐานปฏิบัติการเจ้าหน้าที่

แม้จะเป็นการมุ่งก่อกวน มากกว่าทำลายล้าง แต่นัยสำคัญที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ การรุกทางทหารด้วยการปิดล้อมพื้นที่ กวาดจับผู้ต้องสงสัยไปเป็นจำนวนมาก แต่กลุ่มก่อความไม่สงบก็ยังมีกำลังพอที่จะก่อเหตุได้

การตัดต้นไม้ขวางถนน เผาทำลายสาธารณสมบัติ การก่อเหตุพร้อมๆ กันหลายสิบจุดเช่นนี้ ต้องใช้กำลังคนเป็นจำนวนมาก ในขณะที่การก่อเหตุรุนแรงเช่นลอบวางระเบิดนั้น อาจใช้คนเพียงไม่มากนัก

ที่สำคัญ เป็นการก่อเหตุในช่วงก่อนการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสังคมโลกกำลังเพ่งมองความเคลื่อนไหวในประเทศไทยอยู่

ก่อนหน้านี้ เหตุการณ์ลอบวางระเบิดกลางเมืองหาดใหญ่ครั้งล่าสุดช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็เกิดขึ้นในช่วงก่อนศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์และไทยรักไทยไม่กี่วัน

พิจารณาถึงเหตุการณ์ช่วงนั้น จะเห็นว่าเกิดขึ้นภายหลังการประกาศภาวะเคอร์ฟิวในพื้นที่อำเภอยะหา และอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อกลางเดือนมีนาคม ตามมาด้วยข่าวลือเจ้าหน้าที่ก่อเหตุสร้างสถานการณ์ และสารพัดม็อบปิดถนนเรียกร้องความเป็นธรรมและให้ถอนทหารพรานออกนอกพื้นที่ กระทั่งเกิดเหตุระเบิดที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก่อนตัดสินคดียุบพรรค 3 วัน

ประเด็นน่าสนใจ คือ นี่เป็นการวางแผนก่อเหตุต่อเนื่องเป็นลำดับ และเลือกช่วงเวลาสำคัญซึ่งสังคมโลกจับตาอยู่ก่อเหตุใหญ่ เพื่อดิสเครดิตรัฐไทยหรือไม่

ครั้งนี้ก็เป็นการก่อเหตุช่วงก่อนวันลงประชามติ ซึ่งสถานการณ์ในพื้นที่ก่อนหน้านี้ ขบวนการใต้ดินถูกรุกหนักจากยุทธการปิดล้อมตรวจค้น ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบสวน

การก่อเหตุครั้งนี้แม้จะไม่รุนแรง แต่ผลทางจิตวิทยานั้นใหญ่หลวง เพราะเป็นการตอกย้ำความรู้สึกว่า นโยบายการแก้ปัญหาของรัฐนั้นล้าหลัง ตามไม่ทันกลุ่มก่อความไม่สงบ รุกทางการทหารแล้วก็ยังยุติความรุนแรงไม่ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นคงต้องขอให้สังคมไทยคงต้องใจเย็นให้มาก การกดดันรัฐเพื่อแก้ปัญหาให้ยุติโดยเร็ว เท่ากับร่นยะเวลาของสงครามโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยที่แท้จริง สุ่มเสี่ยงต่อความผิดพลาด ซึ่งจะกลายเป็นเชื้อไฟเงื่อนไขให้สถานการณ์ขยายตัวออกไปอีก

ชัยชนะในสงครามครั้งนี้มิได้ชี้ขาดด้วยการยึดพื้นที่ เพราะปัญหาที่ถูกสื่อสารออกไปภายนอก ทำให้สมรภูมิมิได้ถูกจำกัดแค่ชายแดนภาคใต้หรือภายในประเทศเท่านั้น แต่ขยายออกไปสู่สังคมโลก ความได้เปรียบในสงครามมิใช่การแย่งยึดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นการแย่งยึดพื้นที่ทางความคิดและความรู้สึกของผู้คน ใครควบคุมความคิด ใครสร้างกระแสความรู้สึก ก็ชนะ

"Globalization" ทำให้พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ลดความสำคัญลง ขณะเดียวกันพื้นที่ทางความรู้สึกกลับมีความสำคัญเพิ่มขึ้น

4 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบ ขบวนการใต้ดินไร้ฐานที่มั่น ไม่มีแม้แต่การประกาศเขตปลดปล่อยปลอดพ้นจากอำนาจรัฐไทย

ยุทธศาสตร์ของขบวนการใต้ดินรุ่นใหม่ มิใช่การยึดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นการดิสเครดิต สร้างความรู้สึกแง่ลบต่อรัฐไทย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ความสำเร็จในการสกัดปัญหามิให้ขยายออกสู่สากล และการสร้างความสงบสุขร่มเย็นในพื้นที่จะคงอยู่ไปอีกแค่ไหน หากรัฐสูญเสียพื้นที่ทางความรู้สึกไปเรื่อยๆ เช่นนี้

นี่คือสงครามความคิด การต่อสู้เพื่อกำชัยในฐานะผู้สร้างกระแสความรู้สึก ยังต้องยืดเยื้อไปอีกนาน หากรัฐยังไม่มียุทธศาสตร์การรุกเพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางความคิดและความรู้สึก