Skip to main content

แปลและเรียบเรียงโดย : ตติกานต์ เดชชพงศ

 

"การล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดมารับโทษได้ เป็นการถ่างช่องว่างระหว่างชาวไทยพุทธและชาวมุสลิมมาลายู (Malay Muslim) ซึ่งอยู่ในชุมชนให้ขยายกว้างออกไป และทำให้การแก้ปัญหาเพื่อความสงบสุขอย่างยั่งยืนไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง"

            แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ (เอเชีย) ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ ในระหว่างการจัดแถลงข่าวรายงานวิเคราะห์สถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2550 โดยรายงานดังกล่าวใช้ชื่อว่า ไม่มีใครปลอดภัยสักคนเดียว : กองกำลังก่อความไม่สงบโจมตีพลเรือนในจังหวัดชายแดนใต้  No One Is Safe : Insurgent Attacks on Civilians in Thailand's Southern Border Provinces

รายงานดังกล่าวมีจำนวนถึง 104 หน้า และมีเนื้อหาค่อนข้างตรงกันข้ามกับบทสัมภาษณ์ของ พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งกล่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ระบุว่า สถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ของไทย มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายภายในเดือนธันวาคม 2550

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ทำการเก็บข้อมูลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2549 - กรกฎาคม 2550 โดยการสัมภาษณ์ประชาชนที่เป็นเหยื่อความรุนแรง, เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในเขตจังหวัดชายแดนใต้, เจ้าหน้าที่รัฐจากส่วนกลาง, นักวิชาการ, ทนายความ, สื่อมวลชนไทยและสื่อจากต่างประเทศ รวมถึงสมาชิกกองกำลังเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน (BRN-Coordinate) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ไม่สงบ  

บทสรุปของรายงานกล่าวระบุว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ปะทุขึ้นหลังจากวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งมีผู้บุกรุกเข้าไปในค่ายทหาร จังหวัดนราธิวาส และเจ้าหน้าที่รัฐตอบโต้กรณีดังกล่าวด้วยการจับกุมแนวร่วมและผู้ต้องสงสัย โดยใช้ความรุนแรง-ละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมีผู้ต่อต้านและนำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่ที่กรือเซะ (28 เม.ย. 2547) และกรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ (25 ต.ค.2547)

คำเตือนถึงภาครัฐ เรื่องการ ไม่ลงโทษ' เจ้าหน้าที่

รายงานกล่าวว่า เจ้าหน้าที่จับกุมตัวผู้ต้องสงสัยและใช้กำลังข่มขู่ทารุณระหว่างการสอบสวน มีการ อุ้มหาย' หรือการทำให้ผู้ต้องสงสัยสาบสูญไป รวมถึงการวิสามัญฆาตกรรม ไม่ต่างจากการราดน้ำมันลงบนกองไฟ ซึ่งกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวในรายงานประจำเดือนมีนาคม ชื่อว่า It Was Like Suddenly My Son No Longer Existed ระบุว่า ปฏิบัติการของภาครัฐเป็นอันตราย เพราะมีรูปแบบของการบังคับข่มขู่และอุ้มหาย รวมถึงการใช้มาตรการอื่นๆ ที่ละเมิดกฏหมายเสียเอง

เนื้อหาในรายงานอ้างถึงการงดเว้นบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า กองทัพหรือกรมตำรวจไม่ติดตามดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด เช่นเดียวกับที่กรมสืบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม (DSI: Justice Ministry's Department of Special Investigation) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่างก็ล้มเหลวในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรมต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำ

เหตุการณ์เหล่านี้ยืนยันความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างยุติธรรม และแนวคิดดังกล่าวถูกตอกย้ำอีกครั้งเมื่อรัฐบาล ตัดสินใจใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2549 ต่อไป ทำให้กองกำลังความมั่นคงของรัฐได้รับความคุ้มครอง ไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนใต้ที่กระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมาจึงเป็นตัวขัดขวางความพยายามของรัฐที่จะสร้างความสมานฉันท์ในหมู่ประชาชนชาวไทยเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนใต้

อย่างไรก็ตาม รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ได้กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกองกำลังก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า แม้กองกำลังจะหยิบยกประเด็นทางประวัติศาสตร์และความคับข้องใจในสถานการณ์ปัจจุบันมาเป็นเหตุผลในการต่อสู้ แต่กลยุทธ์ที่กองกำลังใช้อยู่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และมันทำให้ความชอบธรรมในการต่อสู้ของกองกำลังฯ ถูกทำลายลงไป

เป้าหมายกองกำลังแบ่งแยกดินแดน ไม่แยก พุทธ-มุสลิม'

ข้อมูลในรายงานกล่าวว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนกรกฏาคม 2550 ผลการโจมตีของกองกำลังฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,400 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกราว 4,000 ราย โดยที่ร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิต มีทั้งที่เป็นพลเรือนทั่วไป รวมถึงข้าราชการ และครู ส่วนใหญ่จะโดนระเบิดที่ลอบวางตามแหล่งชุมชนต่างๆ เช่น ธนาคาร ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม

ทั้งนี้ กองกำลังฯ ใช้วิธีสุ่มวางระเบิดไว้ตามสถานที่สาธารณะและไม่แยกแยะว่าจะโจมตีพลเรือนหรือกองกำลังของทหาร และไม่มีการป้องกันหลีกเลี่ยงหรือลดการสูญเสียของพลเรือนแต่อย่างใด

การโจมตีบางประเภทของกองกำลังก่อความไม่สงบมีความตั้งใจพื้นฐาน คือ การแผ่ขยายความหวาดกลัวไปยังประชาชน เหยื่อของกองกำลังฯ อย่างน้อย 29 รายถูกตัดศีรษะ และในช่วงเวลา 43 เดือนที่ผ่านมา ประชาชนกว่า 40 ราย ทั้งที่เป็นชาวไทยพุทธและมุสลิม ถูกฟันด้วยมีดดาบขนาดใหญ่จนเสียชีวิต เหยื่อรายหนึ่งเป็นทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ และผู้เสียชีวิตรายอื่นๆ เป็นพลเรือน หรือไม่ก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการ และผู้ที่เกษียณอายุแล้วก็มี

ฮิวแมนไรท์วอทช์แบ่งผู้ตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีของกองกำลังก่อความไม่สงบออกเป็น 4 ประเภท

ประเภทที่ 1 คือ พลเรือนชาวไทยพุทธที่ทำงานให้กับรัฐบาล เช่น ข้าราชการ ครู หรือเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยหรือสาธารณสุข

ประเภทที่ 2 คือ พลเรือนทั่วไปที่เป็นชาวไทยพุทธ และพระสงฆ์ เพราะในมุมมองของกองกำลังฯ การดำรงอยู่ของชาวไทยพุทธเป็นการตอกย้ำภาพของ พวกนอกรีต' (kafir) ที่เข้ามารุกรานยึดครองดินแดนปัตตานี ซึ่งนับวัน กองกำลังฯ ยิ่งทวีความเชื่อว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยของชาวไทยพุทธ แต่เป็นเขตความขัดแย้งทางศาสนา (religious conflict territory) โดยกองกำลังฯ จะทิ้งใบปลิวที่มีข้อความดังกล่าวไว้ใกล้ๆ ร่างของผู้เสียชีวิตเพื่อเป็นการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ประเภทที่ 3 คือ พลเรือนชาวไทยเชื้อสายมลายูที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐไทย ซึ่งอาจเป็นเพียงการให้ข้อมูลแก่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของหมู่บ้าน แต่กองกำลังแบ่งแยกดินแดนมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง ผู้ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐจะถูกเรียกว่า มูนาฟิก' (Munafig) หรือ คนหลอกลวง เพราะคนเหล่านี้ยอมรับการยึดครองของพวกนอกรีต การโจมตีคนกลุ่มนี้จึงหมายถึง การลงโทษ' หรือไม่ก็อาจใช้เป็นคำเตือนแก่ชาวมุสลิมคนอื่นๆ ไม่ให้เอาเยี่ยงอย่าง

ประเภทที่ 4 คือ ชาวไทยเชื้อสายมลายูที่ไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการของกองกำลังแบ่งแยกดินแดน มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำลายพันธกิจของกองกำลังฯ ผู้ที่อยู่ในประเภทนี้จะตกเป็นเป้าหมายการโจมตี และถูกมองว่าเป็นผู้ทรยศที่กระทำ บาปต้องห้าม' (Forbidden Sin) ไม่มีความซื่อสัตย์ต่ออัตลักษณ์ของชนชาติไทยเชื้อสายมลายูและศาสนาอิสลาม ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายในประเภทนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้นำศาสนา หรือไม่ก็เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองซึ่งขัดขวางการแสวงหาและการฝึกอบรมสมาชิกใหม่ในกองกำลังฯ รวมไปถึงผู้คนที่วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติภารกิจของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งรายงานฉบับนี้สรุปว่าการโจมตีกลุ่มพลเรือนในประเภทที่ 4 คือความพยายามที่จะประกาศอำนาจของกองกำลังฯ และใช้ความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือควบคุมผู้คนในชุมชน

รายงานกล่าวถึงการโจมตีของกองกำลังก่อความไม่สงบว่า เป็นการกระทำที่สร้างผลกระทบใหญ่หลวงแก่ชุมชนท้องถิ่น โรงเรียนในหลายๆ อำเภอ หรือแม้แต่ทั่วจังหวัดถูกสั่งปิด เพื่อความปลอดภัย หลังจากที่ครูจำนวนมากถูกฆ่าตายและโรงเรียนหลายแห่งถูกเผา และสถานการณ์ดังกล่าวเลวร้ายลงไปอีก เมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ในวันที่ 18 มิถุนายน 2550 โดยระบุว่า รัฐบาลไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้กับทุกโรงเรียนได้ และโรงเรียนบางแห่งอาจต้องปิดไปเลยเป็นการถาวร และนักเรียนจะถูกย้ายไปยังพื้นที่อื่นที่ปลอดภัยกว่า

กองกำลังแบ่งแยกดินแดนเผาสถานีอนามัยอีกหลายแห่ง และฆาตกรรมเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงแก่บางพื้นที่ เพราะไม่อาจเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้เลย

นอกจากนี้ในรายงานยังระบุว่า การคมนาคมขนส่งสาธารณะในบางพื้นที่หยุดชะงัก เพราะกองกำลังก่อเหตุให้รถไฟตกราง หรือไม่ก็ดักซุ่มโจมตีรถโดยสารหรือรถตู้ขนส่ง การติดต่อสื่อสารระหว่างพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และโลกภายนอกก็ถูกรบกวนจนหยุดชะงักอยู่บ่อยๆ เพราะกองกำลังฯ โจมตีชุมสายโทรศัพท์หรือไม่ก็ทำลายหม้อแปลงไฟฟ้า ทำให้เกิดปัญหาการสื่อสารขัดข้องและไฟดับเป็นบริเวณกว้าง

ขบวนการบีอาร์เอ็น - แกนนำกองกำลังก่อความไม่สงบ

แม้จะมีผู้ร่วมอุดมการณ์ต่างๆ มากมาย แต่ ขบวนการบีอาร์เอ็น หรือ BRN-Coordinate (Barisan Revolusi Nasional-Koordinas) เป็นดังกระดูกสันหลังของกองกำลังแบ่งแยกดินแดนยุคใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จในการนำประเด็นความคับแค้นใจที่หยั่งรากลึกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยอ้างถึงการที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้โดนเจ้าหน้าที่จากรัฐไทยกดขี่ ทารุณ เอารัดเอาเปรียบ ฉ้อโกง และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยมุ่งเน้นที่มาตรการของรัฐบาลอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้เกิดการจลาจลประท้วงเกิดขึ้นหลายครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นการผสมผสานของอิทธิพลระหว่างกลุ่มชาตินิยมเชื้อสายมลายู และแนวคิดนิยมอิสลามแบบสุดโต่ง ทำให้ขบวนการมุ่งสร้างความเข้มแข้งของแนวคิด อุดมการณ์ เครือข่ายทางการเมือง รวมถึงสถาบันทางการทหาร โดยส่งผ่านไปยังครูสอนศาสนา, โรงเรียน และนักเรียน เพื่อจะนำไปสู่การติดอาวุธต่อสู้ปลดปล่อย ปัตตานี ดารุสซาลาม' ให้มีอิสรภาพ

แนวร่วมของขบวนการบีอาร์เอ็นซึ่งกระจายตัวอย่างหลวมๆ ในพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ เรียกตัวเองว่า นักสู้เพื่ออิสรภาพปัตตานี' Patani Freedom Fighters หรือ Pejuang Kemerdekaan Patani

เจ้าหน้าที่รัฐของไทยประเมินการณ์ว่า กองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีได้จัดตั้งกลุ่มย่อยกระจายไปยังหมู่บ้านต่างๆ โดยแต่ละกลุ่มจะมีสมาชิกประมาณ 5-8 คน ซึ่งกลุ่มย่อยของกองกำลังได้แฝงตัวอยู่ตามพื้นที่ 2 ใน 3 ของหมู่บ้านทั้งหมด 1,574 แห่ง ทั่วทั้งเขตจังหวัดชายแดนใต้

ขณะเดียวกัน ในรายงานยืนยันว่า กองกำลังที่เป็นเยาวชน หรือ เปอร์มูดอ' Pemuda ของขบวนการบีอาร์เอ็น มีมากกว่า 7,000 คนแล้ว นอกจากนี้ ผู้นำกลุ่มย่อยในแต่ละหมู่บ้านสามารถสั่งการได้เองโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากใคร และตัดสินใจได้ทันทีว่าจะโจมตีใคร ที่ไหน เมื่อไหร่

แม้กระบวนการศึกษาเกี่ยวกับขบวนการบีอาร์เอ็นจะเกิดขึ้นบ้างแล้ว แต่บีอาร์เอ็นก็ยังเป็นกลุ่มที่คาดเดาอะไรได้ยาก ด้วยเป้าหมายที่จะ ปลดปล่อย' จังหวัดชายแดนใต้จากประเทศไทย สมาชิกระดับสูงคนหนึ่งของบีอาร์เอ็นกล่าวกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า ทุกวันนี้ทางขบวนการไม่สนใจที่จะเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐไทยหรือเจ้าหน้าที่รัฐมาเลเซีย รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย มหาธีร์ โมฮัมเหม็ด' ซึ่งพยายามใช้วิธีทางการฑูตอย่างเงียบๆ แต่ก็ไม่คืบหน้าไปถึงไหน

สมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นบางรายกล่าวเพิ่มเติมกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า พวกเขาไม่มีแผนจะวางอาวุธหรือหยุดการต่อสู้ปลดปล่อยปัตตานีดารุสซาลาม พวกเขาเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด ในเวลา 3-5 ปี จะทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ปรากฏชัดเจนต่อสาธารณชน จนกลายเป็นความแข็งแกร่งพอที่จะยกระดับให้การต่อสู้ของขบวนการกลายเป็นกระบวนการทางการเมืองได้

การตั้งเป้าโจมตีพลเรือนและการใช้ความรุนแรงโดยไม่พิจารณาแยกแยะ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในหมู่นักต่อสู้แบ่งแยกดินแดนยุคเก่าและยุคใหม่ สมาชิกระดับสูงจากกองกำลังฯ สมัยเก่า เช่น พูโล (PULO: Pattani United Liberation Organization) ให้สัมภาษณ์ในรายงานโดยระบุว่า การใช้ความรุนแรงที่เพิ่มระดับขึ้นมา รวมถึงการมุ่งโจมตีพลเรือน เช่น พระสงฆ์ ประชาชน ทั้งชาวพุทธ และชาวไทยเชื้อสายมลายู เป็นเรื่องน่าตกใจ ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือความพร้อมใจและความรวดเร็วของขบวนการที่สามารถออกคำสั่งให้ปฏิบัติการฆ่าคนได้

ความคืบหน้าปัญหาชายแดนใต้หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ในการตอบโต้การก่อเหตุท้าทายด้านความปลอดภัยของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ชายแดนใต้ ออกกฏหมายพิเศษมาบังคับใช้ ระดมกองกำลังความมั่นคงเข้าไปในพื้นที่ วางแผนยุทธศาสตร์การทหารเพื่อต่อสู้รับมือฝ่ายตรงข้าม ทั้งยังส่งทหารพรานและตำรวจตระเวณชายแดนเข้าประจำการ และก่อตั้ง กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้' หรือ กอ.สสส.จชต.(Southern Border Provinces Peace-Building Command: SBPPC) เพื่อประสานงานส่งเสริมนโยบายต่อต้านการก่อความไม่สงบ

ทั้งยังมีการรณรงค์วิธีแก้ปัญหาในแนวทางสมานฉันท์ แต่ทักษิณ ชินวัตร และเจ้าหน้าที่รัฐมักจะใช้กำลังโดยไม่ใส่ใจความปลอดภัยหรือการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน กองกำลังของรัฐส่วนใหญ่ถูกฝึกอบรมให้ใช้ยุทธวิธีทางการทหารหรือไม่ก็การดำเนินการทางกฎหมายกับฝ่ายตรงข้ามรัฐ แต่รัฐก็ยังปราศจากความเข้าใจในกลยุทธ์ที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้ และไม่เข้าใจบริบททางสังคมที่อาจเป็นชนวนให้เกิดการจลาจลด้วยเช่นกัน

รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้ให้เห็นว่า ข้อปฏิบัติหรือกฎเกณฑ์ในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทำให้เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าตนได้รับมอบหมายให้สามารถกระทำวิสามัญฆาตกรรมได้ หรืออาจใช้อำนาจเกินขอบเขตกับสถานการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังเข้าปราบปราม และแผนปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ก็ล้มเหลว ไม่สามารถจัดการกับกองกำลังกลุ่มย่อยที่อยู่ตามหมู่บ้าน ซึ่งกองทัพไทยวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของทักษิณอย่างรุนแรงในกรณีที่ให้ตำรวจทำหน้าที่แทนทหาร รวมถึงการแต่งตั้งให้พวกพ้องของตนมาดำรงตำแหน่งระดับสูง ทั้งที่ความรู้ความเข้าใจเรื่องการทหารมีน้อยมาก

การทำรัฐประหารต่อต้านทักษิณเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นเรื่องผิดกฏหมายและทำให้ประเทศถูกมองว่าถอยหลังกลับไป แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีจัดการกับปัญหาจังหวัดชายแดนใต้

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 และมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อเอาชนะใจชาวไทยเชื้อสายมลายู รวมทั้งปรับเปลี่ยนแนวทางของรัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวขอโทษต่อสาธารณชน โดยพูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ว่าเป็น ความผิดพลาดของรัฐ' ที่มีต่อชาวไทยเชื้อสายมลายู ซึ่งคำขอโทษดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ นอกจากนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ได้ประกาศให้มีการนำแผน ศอ.บต.หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (Southern Border Provinces Administrative Center: SBPAC) ซึ่งทักษิณยุบโครงการไปแล้ว กลับมาใช้ใหม่ เพื่อช่วยสืบสวนสอบสวนและดำเนินการเรื่องข้อร้องเรียนจากชาวไทยเชื้อสายมลายูที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการใช้อำนาจในทางที่ผิด ฉ้อฉลและกดขี่ประชาชน รวมถึงร้องเรียนเจ้าหน้าที่ที่ไร้ความสามารถในการปฏิบัติงานได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม พล.อ.สุรยุทธ์ไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญได้ กองทัพไทยในปัจจุบันถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทนายความและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากรัฐบาลไม่ทำอย่างที่เคยพูดเอาไว้ ศอ.บต.ยังล้มลุกคลุกคลานที่จะเข้าถึงคนในชุมชน เพราะขาดแหล่งข้อมูลและไม่สามารถจัดการกับปัญหาความไม่เป็นธรรมและการข่มเหงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ พล.อ.สุรยุทธ์เคยกล่าวถึงมาก่อนแล้วเมื่อครั้งที่พูดถึงปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้

ส่วนหนึ่งของบทสรุปในรายงานฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า แผนการสร้างความยุติธรรมและสมานฉันท์ด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ไม่อาจสกัดกั้นความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มกองกำลังได้ง่ายๆ ขณะเดียวกัน ความล้มเหลวของนโยบายทางการเมืองในยุครัฐบาลทักษิณทำให้ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น ข้อตกลงร่วมของกองกำลังแบ่งแยกดินแดนซึ่งมีหลายกลุ่มแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่กรือเซะและตากใบ

ไม่ว่ารัฐบาลไทยจะเลือกใช้วิธีการอย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่า การปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจกดขี่ประชาชนต่อไป มีแต่จะทำให้เรื่องต่างๆ เลวร้ายกว่าเดิม สิ่งที่ควรทำ คือ การรับมือกับปัญหาด้วยความยุติธรรมและจะต้องมีแรงสนับสนุนจากระบบการปกครองส่วนกลาง ต้องจริงจังกับการใช้มาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิด รวมถึงการเจรจาเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในหมู่ชาวไทยเชื้อสายมลายูที่ไม่ได้มีแนวคิดรุนแรงสุดโต่ง ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะเห็นผล แต่ก็เป็นนโยบายที่เหมาะสมในการสร้างความตระหนักรู้อย่างจริงจัง


ข้อเสนอ
10 ประการ ของฮิวแมนไรท์วอทช์ เอเชีย

1.กองกำลังแบ่งแยกดินแดนควรหยุดการโจมตีพลเรือน ทั้งที่เป็นบุคคล ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด เชื้อชาติใด หรือเป้าหมายที่เป็นกลุ่ม ไม่โจมตีที่มั่นหรือสาธารณูปโภคของประชาชน ซึ่งรวมถึง โรงเรียน สถานที่สำคัญทางศาสนา และสถานีอนามัย

2.กองกำลังแบ่งแยกดินแดนควรหยุดการโจมตีที่ไม่มีการแยกแยะว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่กองกำลังของรัฐหรือผู้ใดเป็นพลเรือน และควรจะมีการเตือนล่วงหน้าหรือใช้กลยุทธ์โจมตีเป้าหมายที่เป็นฝ่ายทหาร เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับพลเรือนและสาธารณูปโภคของประชาชน

3.กองกำลังแบ่งแยกดินแดนควรสร้างความเข้าใจโดยทั่วกันในหมู่สมาชิกกองกำลังว่า จะต้องเคารพและรักษาความปลอดภัยของพลเรือน ควรกำหนดบทลงโทษหรือขับไล่สมาชิกกองกำลังฯ ที่ก่อเหตุโจมตีฝ่ายพลเรือน หรือใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุจนเป็นอันตรายต่อพลเรือน รวมถึงการกักขังหน่วงเหนี่ยวบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยปราศจากการดูแลที่เหมาะสม

4.กองกำลังแบ่งแยกดินแดนควรต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะมาตราสามัญ 3 ของอนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ.1949 และพิธีสารที่ 2 ค.ศ.1977 กองกำลังฯ ควรขอความช่วยเหลือจากตัวแทนด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เพื่อรับรู้รับฟังหรือปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ

5.กองกำลังแบ่งแยกดินแดนควรหยุดการคุกคาม ขู่เข็ญ ทำร้าย หรือทำลายชื่อเสียงของบุคคลใดก็ตามที่พยายามปฏิบัติหน้าที่หรือรายงานข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการกดขี่ข่มเหงที่เกิดขึ้น เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน, ผู้สื่อข่าว รวมถึงบุคลอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการยืนยันว่าว่ามีกรณีกดขี่ข่มเหงเกิดขึ้นจริง

6.รัฐบาลไทยควรปรับเปลี่ยนและแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาความมั่นคงด้วยวิธีการที่มีความเข้าอกเข้าใจ เคารพและปฏิบัติตามข้อตกลงหรือกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนสากล ขณะเดียวกันก็ต้องประสานความร่วมมือไปยังชุมชนท้องถิ่น เพื่อการสำรวจตรวจตรา ป้องกัน และรับมือการโจมตีของกองกำลังอย่างมีประสิทธิภาพ

7.รัฐบาลไทยควรจัดตั้งมาตรการสำคัญๆ เช่น ก่อตั้งกองทุนฉุกเฉิน เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีของกองกำลังฯ จะยังสามารถเข้าถึงการศึกษา, สาธารณสุข และสาธารณูปโภคต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยต่อไป

8.รัฐบาลไทยควรดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำทารุณ โดยไม่คำนึงถึงยศหรือตำแหน่ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนรู้เห็นในการกระทำทารุณ แต่ไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อดำรงความยุติธรรม ควรจัดให้มีการชดเชยแก่ผู้เสียหาย หรือครอบครัวของผู้เสียหายจากการกระทำทารุณของเจ้าหน้าที่ อย่างทันท่วงที เหมาะสม และเป็นธรรม  

   ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยควรเพิ่มความเข้มแข็งและเป็นอิสระให้กับกระทรวงยุติธรรม, สำนักงานทนายความ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อประสิทธิภาพในการสืบสวนสอบสวนและรายงานกรณีที่มีผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และประเด็นสำคัญคือองค์กรและหน่วยงานต่างๆ จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างอิสระ มีทรัพยากรที่จำเป็นและมีความมั่นคงปลอดภัย

9.ประชาคมสากลควรประณามการกระทำของกลุ่มหรือกองกำลังใดๆ ก็ตามที่โจมตีเป้าหมายพลเรือนหรือทรัพย์สินของพลเรือน รวมถึงการก่อให้เกิดอันตราย และการเสียชีวิตของประชาชนพลเรือนด้วย

10.ประชาคมสากลควรสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เพื่อการติดตามดูแล สืบสวน และรายงานความเคลื่อนไหวเรื่องข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นโดยการกระทำของทุกกลุ่มหรือไม่

 

ข้อมูลอ้างอิง