Skip to main content

ปกรณ์ พึ่งเนตร

          ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า "ยุทธการพิทักษ์แดนใต้" ที่กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ใช้เป็นยุทธการเบิกร่องและเปิดปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบนับพันคนในพื้นที่สีแดงรายอำเภอ เพื่อ "ถอนแกน" กลุ่มก่อความไม่สงบออกจากประชาชนผู้บริสุทธิ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ประสบความสำเร็จจริงหรือไม่

          เพราะแม้แต่อดีตผู้นำทางทหารเจ้าของฉายา "ขงเบ้งแห่งกองทัพ" อย่าง พล..ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ยังกระตุกเตือนด้วยประสบการณ์ว่า ถ้าคิดว่าการจับกุมผู้ต้องสงสัยได้จำนวนมากคือชัยชนะ...ก็ผิดตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว!

          ขงเบ้งจิ๋ว ยังแสดงทัศนะในทำนองเดียวกับนักวิชาการและผู้รู้หลายคนว่า การจะเป็นผู้ชนะที่แท้จริงในสงครามสามจังหวัดใต้ รัฐต้องเปิดแนวรุกทางการเมือง และเอาชนะทางความคิดให้ได้เท่านั้น

          อย่างไรก็ดี หากหันไปฟังมุมมองของฝ่ายทหารที่รับผิดชอบสถานการณ์อยู่ในปัจจุบันบ้าง ก็จะพบร่องรอยความคิดซึ่งพอจะเป็นความหวังได้ไม่น้อยเหมือนกัน

            พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร เล่าให้ฟังว่า ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ พล.ต.สำเร็จ ศรีหร่าย ผู้บัญชาการ พตท. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน "ยุทธการพิทักษ์แดนใต้" และได้รับคำยืนยันว่า การเปิดยุทธการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และสอบสวนผู้ก่อการในระดับต่างๆ ตั้งแต่แกนนำจนถึงแนวร่วมนั้น ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่สงบมากขึ้น และสถิติการเกิดเหตุร้ายลดลงในระดับที่น่าพอใจ

          แต่คำถามที่ดูจะติดค้างในใจใครหลายๆ คนก็คือ เหตุใดทหารถึงเพิ่งเปิดยุทธการลักษณะนี้ ทั้งๆ ที่น่าจะทำมาเนิ่นนาน เนื่องจากเป็นแนวทางถนัดอยู่แล้ว ประเด็นนี้ พล.ท.นิพัทธ์ อธิบายว่า เป็นเพราะฝ่ายความมั่นคงต้องเฝ้าดูและติดตามสังเกตพฤติการณ์ของกลุ่มเป้าหมายจนแน่ใจ  กระทั่งได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงให้เปิดยุทธการได้

             "ผมคิดว่าตั้งแต่เปิดยุทธการมา ถือว่าเราประสบความสำเร็จ พี่น้องประชาชนพึงพอใจ และทหารก็คลายความอึดอัดลงบ้าง หลังจากเฝ้าดูมานานจนเกือบจะเพลี่ยงพล้ำ" เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร ระบุ

          ส่วนการตอบโต้ของกลุ่มก่อความไม่สงบด้วยการใช้ความรุนแรงนั้น พล.ท.นิพัทธ์ บอกว่า เป็นเรื่องธรรมดาของการรบ เมื่อเปิดยุทธการไปแล้วก็อาจจะถูกโต้กลับมาบ้าง แต่ระดับของความรุนแรงยังอยู่ในขั้นปกติและยอมรับได้

            "เวลารบกันก็ต้องมีสาดกระสุนกลับมาบ้าง แต่กระสุนของเราเข้าเป้ากว่า" พล.ท.นิพัทธ์ กล่าว

          ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ฝ่ายทหารยืนยันว่าได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเปิดยุทธการพิทักษ์แดนใต้ ก็คือการรับรู้แก่นของปัญหา และโครงสร้างของขบวนการก่อความไม่สงบ

          "สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสงครามระหว่างชาติพันธุ์แท้ๆ โดยชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ล้วนมีบาดแผลในใจ พวกเขาถูกสอนว่าเป็นชาวมลายู และถูกพวกซือแย หรือสยาม (ไทย) เข้ามาปกครองอย่างไม่ชอบธรรม" พล.ท.นิพัทธ์ อธิบาย

          และนั่นได้นำมาสู่ทฤษฎี "เม็ดเงาะ"

            "พอเราสู้เข้าสู่ปีที่ 4 เราเริ่มเห็นเม็ดเงาะ คือความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ เป็นบาดแผลของชาติพันธุ์มลายู และเป็นแก่นที่แท้จริงของปัญหา ส่วนเนื้อเงาะที่ห่อหุ้มเม็ดอยู่ก็คือศาสนา หมายถึงแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการทำงาน และทำให้สังคมโลกเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือสงครามศาสนา  ทั้งๆ ที่แก่นแท้คือความรู้สึกชิงชังของกลุ่มชาติพันธุ์"

            "ส่วนการก่ออาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นรายวัน และสร้างความหวาดผวาไปทั่ว เป็นเปลือกเงาะที่หุ้มเนื้อเงาะเอาอีกชั้นหนึ่ง ขณะที่แนวร่วมเปรียบเสมือนขนเงาะ และทั้งหมดประกอบกันเข้าเป็นผลเงาะในองค์รวม  ก็คือสถานการณ์ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้"

          แต่ปัญหาที่ต้องขบคิดกันต่อก็คือ เมื่อรู้แก่นของปัญหาแล้ว รัฐจะทำอย่างไรต่อไป และสถานการณ์เลวร้ายเฉกเช่นปัจจุบันจะจบลงเมื่อไร

            "จบลงเมื่อไหร่ตอบไม่ได้ ตอบได้แต่เพียงว่า แต่เดิมเรานับ 0 ถึง 1 ตลอดเวลา แต่วันนี้เรานับ 3-4 แล้ว" พล.ท.นิพัทธ์ บอก และว่า สิ่งที่ต้องทำคู่ขนานไปกับยุทธการก็คืองานการเมือง และการต่อสู้เอาชนะทางความคิด โดยหน่วยงานที่สำคัญที่สุดคือกระทรวงศึกษาธิการ

          อย่างไรก็ดี การต่อสู้ทางความคิดนั้น ดูจะยังมีอุปสรรคในการขับเคลื่อนอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

          แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพภาคที่ 4 ให้ข้อมูลว่า การทำงานของหน่วยงานรัฐอื่นๆ ในขณะนี้ ต้องเรียกว่า "ออกแรงน้อยมาก" ทุกคนยังซ่อนตัวอยู่ในที่เงียบเพื่อประคองตัว

          "โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการที่ควรจะเข้มที่สุด ทั้งเรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาในพื้นที่และการจัดฝึกอบรมต่างๆ เพื่อถอนแกนความคิดของผู้ก่อความไม่สงบ แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนยังไม่มีความพยายามเท่าที่ควร ภาระส่วนใหญ่ยังตกอยู่กับหน่วยงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะทหาร"

          แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าวต่อว่า อุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การใช้อำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ยังมีปัญหาติดขัดในเรื่องการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่ให้ระยะเวลาน้อยเกินไป ทำให้ทหารต้องพลิกแพลง ด้วยการประสานกับกระทรวงแรงงานให้รับผู้ต้องสงสัย "กลุ่มเสี่ยง" ที่อาจจะถูกดึงไปเป็นแนวร่วม ไปฝึกอาชีพนอกพื้นที่สามจังหวัด

          "ชาวบ้านบอกกับทหารเองว่า อยากให้คุมตัวพวกอาร์เคเคไว้นานๆ  แต่เราไม่มีเครื่องมือในการดำเนินการ ก็ต้องพลิกแพลงเอาแบบนี้" แหล่งข่าว กล่าว  และว่า ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการให้ทหารช่วยเหลือ ฉะนั้นรัฐบาลต้องให้เครื่องมือกับคนทำงานให้มากกว่าที่เป็นอยู่ หากให้แบบ "ไม่สุด" เหมือนปัจจุบัน อาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว

          ทั้งหมดนี้คือความเห็นของฝ่ายทหารที่รับผิดชอบสถานการณ์จริงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งในท้ายที่สุดก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาอีกหลายประการที่รัฐบาลยังต้องเร่งสะสาง...หากต้องการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน