Skip to main content
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 
 
“เขาเรียกเราว่าพวกแม่ม่าย ไม่มีสามี พวกมีปัญหา
 
“ข้าราชการมองคนต่ำผู้หญิงคนไหนมีปัญหาก็คิดว่าเป็นแม่ม่ายหมดเวลาไปโรงพยาบาลถ้าแต่งตัวไม่ดีจะถูกถามว่าอ่านหนังสือได้ไหมถูกล้อเลียนเอาระเบิดมาไหมอะไรทำนองนี้...” คือความในใจที่ระบายออกมาจากผู้หญิงรายหนึ่งที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบซึ่งก้าวออกมาทำงานกับภาคประชาสังคมชายแดนภาคใต้องค์กรหนึ่งในเวทีเสวนากลุ่มผู้หญิง โดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 
“ทำให้รู้สึกว่ามีคนที่ไม่มีจิตสำนึกการแก้ปัญหามันต้องสร้างพื้นฐานความเป็นคนกันใหม่มาเยียวยาตอนสูญเสียแล้วจะมีประโยชน์อะไร”
 
ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า กว่า 7 ปีของสถานการณ์ความขัดแย้งและการใช้ความรุน แรงได้คร่าชีวิตผู้คนไม่แบ่งเพศและฝ่ายจำนวน 4,621 ราย บาดเจ็บ 7,505คน (ข้อมูลล่าสุด 86 เดือน ตั้งแต่มกราคม 2547-กุมภาพันธ์ 2554) หากแต่เมื่อแบ่งเฉพาะจำนวนผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยตรง เสียชีวิต 289 คน และได้รับบาดเจ็บอีกจำนวน 1,310 คน เป็นผู้หญิงที่ต้องสูญเสียสามีผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวกว่า 2,000 ครอบครัว มีลูกที่กำพร้าพ่อไม่น้อยกว่า 5,000 คนซึ่งต้องตกเป็นภาระของผู้เป็นแม่โดยปริยาย และยังมีผู้หญิงได้รับผลกระทบจากการที่สามี หรือสมาชิกในครอบครัว ต้องคดีความมั่นคงอีกกว่า 7,000 ครอบครัว
 
นับเป็นภาระอันหนักอึ้งของผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ท่ามกลางปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงต่อเนื่องที่น้อยคนจะรู้และเข้าใจชะตากรรมของพวกเธอ
 
จากการเปิดเผยในเวทีเสวนาทำให้ได้รับข้อมูลอีกว่า ผลกระทบของผู้หญิงบางคนที่ผู้ชายในบ้านติดคดีความมั่นคงหรือสามีติดคุกภรรยาต้องเลี้ยงลูกคนเดียวหลายคนจากเดิมไม่เคยทำงานทำให้ลำบากในการดำรงชีพและเลี้ยงดูลูกบางคนขอเลิกสามีไปมีคนใหม่ทั้งๆ ที่มีลูกสองสองคนแล้วส่วนหนึ่งเพราะทนไม่ไหว นอกจากนี้บางส่วนยังถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็น “ลูกโจร” หรือ “เมียโจร” เกิดความอึดอัดจากท่าทีของคนในสังคมที่ตัวเองอยู่ บางคนยังไปสมัครเป็น “ทหารพราน” เพื่อรับเงินเดือนหลักหมื่น ซึ่งเป็น “ทางเลือกใหม่” ที่น่าสนใจในขณะนี้ บางคนไม่ได้รับการยอมรับเพราะถูกมองว่าเอาตัวรอดจากความสงสัยของเจ้าหน้าที่รัฐและเรื่องการมองเห็นเงินเป็นใหญ่ ในขณะที่เสียงจากฝั่งผู้เลือกก็มีเหตุผลเรื่องการนำพาครอบครัวตัวเองให้รอด เรื่องนี้จึงควรแก่การวิเคราะห์ต่อถึงสาเหตุหรือมูลเหตุในการขับเคลื่อนตนเองภายใต้สภาวะ สิ่งแวดล้อมและสังคมที่ผู้หญิงเหล่านี้เผชิญ
 
ผู้หญิงผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ยังระบุคล้ายกันว่าการเยียวยาจากรัฐยังคงมีปัญหาในการจัดการ และก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในระยะยาว เพราะบางส่วนไม่ยินยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐ บางกรณีได้น้อย บางกรณีได้มาก และบางกรณีที่กลับไม่ได้เลยเพราะรัฐไม่เชื่อว่าสาเหตุมาจากปัญหาสถานการณ์ในขณะที่ผู้สูญเสียกลับเชื่อมั่นในทางตรงกันข้าม แต่สิ่งที่เหมือนกันคือผู้หญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่มองว่าการเยียวยาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ สิ่งที่ควรทำคือการส่งเสริมให้ผู้ได้รับความสูญเสียยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง เช่น การส่งเสริมอาชีพ ขณะเดียวกันความช่วยเหลือจากทางการในเรื่องส่งเสริมอาชีพยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในพื้นที่เช่นโครงการสนับสนุนชาวบ้านเลี้ยงปลาเลี้ยงวัวเป็นต้นระยะหลังชาวบ้านเริ่มบอกชัดว่าทำไม่ได้เพราะไม่มีความรู้และยังไม่มีความสามารถในการจัดการกับการตลาดเพื่อขายของเหล่านั้นในขณะที่ต้นทุนในการสานต่อก็มากกว่าที่คิดเช่นเลี้ยงปลาต้องซื้ออาหารปลาหรือต้องหาทางขายปลาที่ได้มาหรือการสนับสนุนให้ทำร้านกาแฟสดซึ่งขายยากเพราะแพงกว่ากาแฟซองไม่สอดคล้องกับการตลาดและกำลังซื้อของคนในพื้นที่
 
ยังมีการสะท้อนถึงความลักลั่นในเรื่องความยุติธรรมหรือความเห็นอกเห็นใจที่เหยื่อความรุนแรงจะได้รับ ที่คนตายมักจะได้รับความเห็นใจจากหน่วยงานรัฐผู้มีอำนาจในการเยียวยาและสังคมมากกว่าเช่น ครอบครัวจะได้รับเงินทันทีหากว่าตรวจสอบพบว่าเกิดจากสถานการณ์ แต่คนถูกยกฟ้องจากกระบวนการยุติธรรมไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งๆ ที่ในทางกฎหมายระบุชัดว่าเป็นผู้ไม่มีความผิด แต่โอกาสที่จะเรียกร้องการชดเชยใดๆ มีน้อยกว่าและยากลำบากกว่ามาก
 
“ตอนขอชีวิตไม่ให้แต่พอตอนออกมาแล้วรีบมากลัวจะไปร้องตอนที่ไปขอให้ช่วยไม่ช่วยไปร้องแทบตายก็ได้รับการดูถูกแต่พอออกมาแล้วจะมาช่วยเอาอะไรที่ไม่ใช่ของเรามาเช่นเอาไก่มาเราเลี้ยงไม่เป็นเลี้ยงไปมันก็ตายเป็นบาปเปล่าๆให้เลี้ยงวัวเราเลี้ยงไม่เป็นวัวก็ตายตอนนี้ให้ไก่บอกเศรษฐกิจพอเพียงแต่มันไม่พอ”
 
“หรือถ้าเป็นแพะถูกยิงตายจะได้เงินลูกได้เรียนได้รับราชการแต่ถ้าถูกจับเป็นแพะแม้ออกมาก็ยังเป็นที่สงสัยไม่ไว้ใจสังคมรังเกียจบอกว่าเพราะหลักฐานไม่พอไม่ใช่บริสุทธิ์ถึงได้ออกมา” ผู้หญิงรายหนึ่งกล่าวในวงเสวนา ซึ่งแม้ว่าไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหา แต่ในฐานะ “ภรรยา” และ “แม่” ที่แบกรับครอบครัวอยู่เบื้องหลัง นับว่าได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่าผู้ชายที่โดนโดยตรง
แม้ว่าบางคนสามีจะพ้นคุกออกมาแล้วก็ยังมีปัญหาบางรายสามียังหวาดกลัวทำงานไม่ได้เพราะไม่กล้าออกไปไหนมีความพยายามแก้ปัญหาของบางฝ่ายด้วยการหางานไปให้ทำที่บ้านแต่ไม่ใช่ทุกรายที่ทำได้ หรือบางคนต้องต่อสู้ดิ้นรนมากมายในช่วงสามีอยู่ในคุกหรือสู้คดีพอออกมาพบสภาพปัญหาต้องรับมือความหวาดกลัวของสามีบางรายสามีหนีทำให้รู้สึกสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำอีกและรู้สึกความพยายามของตนไร้คุณค่า
 
“ความโกรธแค้นมันฝังแน่นมันเหมือนคนที่กำลังมีชีวิตที่ดีแต่กลับถูกถีบลงเหวชีวิตพลิกทั้งชีวิตไหนจะเป็นหนี้สินพอกพูน....” เสียงสะท้อนอันสั่นเครือจากผู้หญิงคนหนึ่ง
 
ส่วนเหตุผลที่พวกเธอก้าวออกมาทำงานในภาคประชาสังคม ส่วนหนึ่งสะท้อนว่าการได้เจอคนที่ชะตากรรมเดียวกันแลกเปลี่ยนกันก็ช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้หญิงอย่างเธอลงได้บ้างการออกไปทำงานช่วยเหลือชาวบ้านช่วยลดทอนความรู้สึกทุกข์ของตัวเองลง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ได้ใกล้ชิดจะไว้ใจผู้หญิงเหล่านี้เนื่องจากเห็นว่าเป็นคนที่เจอชะตากรรมเดียวกันการถูกกระทำกลายเป็นช่องทางได้มาซึ่งความไว้วางใจจากชาวบ้าน แต่ไม่ใช่เฉพาะในงานเยียวยาหรือการช่วยเหลือคนประสบชะตากรรมเดียวกันในหมู่บ้านตำบลต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้หญิงเหล่านี้ยังต้องแบกรับการต่อสู้ในด้านสิทธิอื่นๆ อีกมาก เช่น การส่งเสริมการคลุมฮิญาบในที่ทำงานของผู้หญิงมุสลิม การต่อต้านและรณรงค์ให้ลดความรุนแรงในครอบครัว หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง ฯลฯ ซึ่งยังคงต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บทบาทเหล่านี้ถูกยอมรับและนำไปสู่การปฏิบัติมากที่สุด
 
แม้ว่าบทบาทของผู้หญิงในชีวิตประจำวันจะมากแต่การยอมรับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ถูกสะท้อนผ่านความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ในครอบครัวที่ผู้หญิงชายแดนใต้ต้องต่อสู้กับความคิด “ชายเป็นใหญ่” ไปจนถึงการจัดการกับปัญหาใหญ่ที่ครอบครัวเผชิญเช่นในกรณีที่บุคคลในครอบครัวเจอการจับกุมและถูกดำเนินคดีสิ่งที่จะต้องตกลงกันให้ได้ในครอบครัวแต่แรกก็คือจะสู้หรือจะยอมแพ้เสียงของผู้หญิงมักไม่ดังเท่าสมาชิกรายอื่นในครอบครัวเช่นผู้หญิงบางคนสามีเจอคดีเธออาจต้องการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์แต่สมาชิกอื่นในครอบครัวเช่นพ่อและแม่ฝ่ายสามีไม่ต้องการทำเช่นนั้นบางรายท้อแท้หวาดกลัวปล่อยให้เป็นไปตามยะถากรรมบ้างก็ใช้ทัศนะว่าทำอะไรก็ได้เพื่อให้เรื่องจบรวมทั้งสารภาพจนเกิดเป็นความขัดแย้งภายใน
 
สิ่งที่ผู้หญิงในวงเสวนาระบุเหมือนกัน คือคนในพื้นที่ชายแดนใต้ควรปรับปรุงตัวเองสู้เพื่อตัวเองและสู้ด้วยวิธีการที่ถูกเช่นการเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านการใช้สื่อเป็นต้น
 
ไม่ใช่ว่ามุสลิมต้องไปต่อสู้ใต้ดินไปวางระเบิดมันไม่ใช่มันมีวิธีที่จะต่อสู้” หญิงผู้ผ่านชะตากรรมเลวร้ายจากผลกระทบของปัญหาความรุนแรงรายหนึ่งระบุ
 
ซึ่งเธอรู้ดีว่ายังเป็นเสียงที่บางเบา และโดดเดี่ยวยิ่งนักท่ามกลางความรุนแรงในพื้นที่แห่งนี้.
 
 
 
 
 
 
แถลงการณ์: เครือข่ายสตรีภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
ในโอกาสครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล
 
          สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 7 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์กว่า 4,000 คน บาดเจ็บกว่า 7,000 คน เป็นสตรีที่ต้องสูญเสียสามี ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวกว่า 2,000 ครอบครัว    ซึ่งต้องดูแลบุตรที่กำพร้าพ่อ ไม่น้อยกว่า 5,000 คน และยังมีสตรีที่ได้รับผลกระทบจากการที่สามี หรือสมาชิกในครอบครัว ต้องคดีความมั่นคงอีกกว่า 7,000 ครอบครัว สภาพดังกล่าวนี้ นับเป็นภาระที่สตรีต้องเผชิญ ซึ่งหนักหน่วงกว่าสตรีในพื้นที่ใดๆของประเทศนี้  
 
          ในวาระครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล สตรีจากทั่วทุกแห่ง ได้มีโอกาสเฉลิมฉลอง พร้อมกับส่งเสียงแห่งความ      ทุกข์ยาก และเสนอข้อเรียกร้องที่ต้องการมีชีวิตที่ดีกว่า ให้คนทั้งประเทศ และทั่วทุกมุมโลกได้รับฟังและสนับสนุนมา ตั้งแต่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา และตลอดต่อเนื่องในดือน อันเป็นวาระโอกาส ที่มีความหมายสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ในครั้งนี้
 
          พวกเรา เครือข่ายสตรีภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งเป็นสตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ และสตรีที่ร่วมขับเคลื่อนงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพในพื้นที่ ขอร่วมเสนอข้อเรียกร้อง ดังนี้
 
ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคง
 
1.           รีบแก้ไขและควบคุมสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในขณะนี้ ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีพได้อย่างปลอดภัย ไม่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว และหวาดระแวง
 
2.           ปกป้อง และคุ้มครองทุกชีวิต ไม่ให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะการสูญเสีย ทำให้สตรี โดยเฉพาะผู้เป็นแม่และเมีย ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบาก  และกลายเป็นผู้ต้องแบกรับภาระและผลกระทบอันหนักหน่วงตามมาเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และรัฐบาลเองก็ต้องแบกรับภาระทางงบประมาณในการเยียวยาเช่นที่ดำเนินการมาหลายปี
 
3.           เพิ่มมาตรการพิเศษในการปกป้องคุ้มครองสตรี ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ที่นับวันได้กลายเป็นเหยื่อโดยตรงของสถานการณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีสตรีที่เสียชีวิตโดยตรงจากสถานการณ์รวม 289 คน และได้รับบาดเจ็บอีกจำนวน 1,310 คน
 
4.           มาตรการด้านความมั่นคงใดๆที่ใช้ต่อบุรุษ ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเยาวชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของสตรี ขอให้ยึดหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อสตรีและครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ข้อเรียกร้องต่อสื่อมวลชนและสื่อทางเลือก
 
1.           คำนึงถึงผลกระทบในการนำเสนอข่าวสาร ที่จะทำให้เกิดความบาดหมางและแตกแยกระหว่างประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ และอิสลาม เพราะปัจจุบัน ประชาชนทั้งสองศาสนา ล้วนเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความรุนแรง
 
2.           นำเสนอข่าวสารที่จะช่วยทำให้คนในประเทศ เข้าใจรากเหง้าและความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ มากกว่าปรากฏการณ์รายวัน รวมทั้งเพิ่มพื้นที่การนำเสนอข่าวสาร ความเคลื่อนไหว มุมมองของสตรีและภาคประชาสังคมในการคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรง
 
ข้อเรียกร้องต่อสตรีและชุมชนสังคมชายแดนใต้
 
1.           ขอให้เท่าทันต่อสถานการณ์ความรุนแรง ไม่ส่งเสริม ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจากฝ่ายใด
 
2.       ใช้แนวทางสันติวิธีในการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้องที่ต้องการ หรือเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม
 
เครือข่ายสตรีภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
วันที่ 13 มีนาคม 2554