Skip to main content

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

 

สรุปสถานการณ์ความรุนแรงในรอบ 45 เดือน
จังหวัดชายแดนภาคใต้
(ระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2547-กันยายน พ.ศ. 2550)

สถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 45 เดือนที่ผ่านมา ในภาพรวมยังมีแนวโน้มความรุนแรงที่ต่อเนื่อง สถานการณ์จึงยังมีความไม่มั่นคงและไม่แน่นอน เหตุการณ์นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงกันยายน 2550 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 7,587  ครั้ง เหตุการณ์ความไม่สงบในระยะเวลาดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันประมาณ 6,878 คน โดยมีผู้เสียชีวิตรวม 2,631 คนและมีผู้บาดเจ็บ 4,247 คน

น่าสังเกตว่าสถานการณ์ดูเหมือนจะลดลงในสองเดือนหลังนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมซึ่งเหตุการณ์ลดระดับลงเหลือ 147 ครั้ง มาตกลงมากอีกครั้งในเดือนกันยายน ซึ่งมีเหตุการณ์ลดลงเหลือ 114 ครั้ง เหตุการณ์มีผลทำให้ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงด้วยในเดือนกันยายนลดลงเหลือ 125 คน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 209 คน

น่าสังเกตอีกด้วยว่าเหตุการณ์ที่เกิดจากการระเบิดก็ลดลงเช่นกันนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ซึ่งในเดือนกรกฎาคมมีการวางระเบิด 29 ครั้ง เดือนสิงหาคม 37 ครั้ง และกันยายน 26 ครั้ง

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากที่สุดยังเป็นการยิง ซึ่งในเดือนกันยายนมีเหตุการณ์ที่เกิดจากการยิงสังหารสูงถึง 74 ครั้งลดลงจากเดือนสิงหาคม ซึ่งสูงถึง 95 ครั้ง

การที่เหตุการณ์ดูเหมือนจะลดลงอาจจะเป็นเพราะอยู่ในช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิมและอาจจะเป็นเพราะตัวประกอบทางนโยบายอื่นๆ ของรัฐในช่วงนี้

อาจจะกล่าวได้ว่า สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 45 เดือนที่ผ่านมามีแนวโน้มการเปลี่ยนระดับความรุนแรงแบบขึ้นๆ ลงๆ ในลักษณะคลื่นหรือกระแสที่เปลี่ยนแปลงสูงๆ ต่ำๆ อยู่ตลอดเวลา แต่แนวโน้มที่น่าสนใจก็คือ เมื่อมองในรายละเอียดโดยจับข้ามมิติเวลา นับตั้งแต่มกราคม 2547 เส้นแนวโน้ม trend line จะมีภาวะคงที่ กล่าวในอีกแง่หนึ่ง แนวโน้มเหตุการณ์แม้จะมีระดับความรุนแรงสูงซึ่งเป็นผลทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บค่อนข้างมากแต่ก็มีภาวะคงที่ในแนวระนาบ หรือแนวโน้มขึ้นสูงๆ ต่ำๆ ในระดับเดียวกันข้ามมิติของเวลา ไม่ใช่ความรุนแรงแบบไต่ขั้นบันไดสูงขึ้นโด่ง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่มีความโน้มเอียงลดต่ำลงเช่นกัน

สภาพดังกล่าวทำให้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับต่อเนื่องมาเกือบสี่ปี มีการใช้ความรุนแรงในระดับพื้นฐาน ในชีวิตประจำวัน หรือในชุมชน ความรุนแรงเป็นภาวะสถิต ต่อเนื่อง ไม่แน่นอนและยึดเยื้อเรื้อรัง รอวันปะทุขึ้นมาในทุกขณะเวลา ยังไม่มีใครและคนกลุ่มใดที่ปลอดภัยในพื้นที่แห่งนี้

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เราอาจจะอาจจะตีความได้ในสองแง่มุม คือ

ในด้านหนึ่ง ปัจจัยภายใน หรือตัวแปรที่ก่อความรุนแรง การก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดส่วนมากที่สุดจะเป็นความรุนแรงแบบมีการจัดตั้งรวมกลุ่มหรือ organized violence ดังนั้น จึงเกิดการโจมตีเป้าหมายอย่างชัดเจน มีการร่วมกันลงมือปฏิบัติการต่อพลเรือนและต่อเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งต่อสถานที่สาธารณะ ในลักษณะสงครามขนาดเล็ก (small wars) ความรุนแรงแบบมีการจัดตั้งเช่นนี้ จะมีศักยภาพการก่อความไม่สงบทางการเมืองสูงมาก และสามารถสร้างความหวาดกลัว หวาดระแวง รวมทั้งส่งผลต่อความรู้สึกกลัวและเกลียดชัง (fear and hatred) ในความสัมพันธ์ทางสังคมและชุมชนในวงกว้าง

ความรุนแรงได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมทุกฝ่าย ไม่ว่าระหว่างรัฐกับประชาชน ระหว่างประชาชนด้วยกันเองคือชุมชนไทยพุทธและมุสลิม หรือแม้แต่ในคนแต่ละกลุ่มเอง ต่างก็มีแนวโน้มเอียงความรู้สึกไม่ไว้ใจกันและไม่เชื่อมั่นต่อกัน

ในอีกด้านหนึ่ง ต้องยอมรับว่าตัวแปรสำคัญของความรุนแรงก็คือ กลไกอำนาจรัฐ ปฏิบัติการของความรุนแรงในสงครามแบบใหม่เป็นสิ่งที่เกิดจากลักษณะอำนาจรัฐ "ในพื้นที่ชายขอบ" หรือจุดที่มีความเปราะบางอ่อนแอของการใช้อำนาจรัฐ ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงที่เป็นกองกำลังนอกแบบ (insurgencies) อาชญากรรมที่มีการจัดตั้ง (organized crimes) ซึ่งท้าทายการใช้อำนาจรัฐที่มีความชอบธรรม รวมทั้งสามารถท้าทายอำนาจการควบคุมทางสังคมในชุมชน แต่การที่รัฐอ่อน (weak state) ก็มีผลทำให้อำนาจรัฐเองก็ไม่สามารถควบคุมความรุนแรง ความโปร่งใสที่เกิดจากการจัดการของฝ่ายตนเองได้ด้วย

ดังนั้น ในห้วงเวลาที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามโดยตลอดในการปรับปรุงแก้ปัญหานโยบายและมาตรการการจัดการความขัดแย้งโดยเน้นวิธีการที่อ่อนลง มีความพยายามสร้างสมานฉันท์และเน้นการแก้ปัญหาโดยมาตรการทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา แต่การที่ความรุนแรงและการก่อเหตุความไม่สงบไม่ลดลงในระยะเวลาอันสั้น ทำให้เกิดความกดดัน สภาวะระส่ำระสายในบางพื้นที่ซึ่งแม้จะมีความสงบราบคาบ ในบางครั้ง (หรืออาจจะหลายๆ ครั้ง) ความรุนแรงก็อาจจะเกิดจากอำนาจรัฐเองที่ก่อให้เกิดความสับสน

จะต้องเข้าใจว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ "บางส่วน" ที่ปฏิบัติการอย่างผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน และใช้วิธีการแก้แค้นที่ไร้ความชอบธรรม เป็นตัวเร่งความรุนแรงอย่างน่ากลัวด้วย และก่อให้เกิดความต่อเนื่องของห่วงโซ่แห่งการก่อความรุนแรงอีกมากมายที่จะตามมาในอนาคต

ดังนั้น ภาวการณ์ขึ้นๆ ลงๆ สูงต่ำของความรุนแรงในรอบ 45 เดือนที่ผ่านมา เป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งสองตัว คือ อำนาจของฝ่ายก่อการต่อต้านรัฐ และปฏิบัติการของฝ่ายรัฐเองบางส่วน การมีภาวะเสถียรหรือคงที่ของความรุนแรง ในลักษณะไม่ไต่ระดับสูงขึ้นโด่งมากเกินไปในช่วงหลังอาจจะเป็นผลมาจากการควบคุมการใช้ความรุนแรงให้อยู่ในกรอบของกฎหมายหรืออำนาจของรัฐ โดยใช้กองกำลังจำนวนมากเข้าปิดล้อมจับกุมตามอำนาจของพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งทำให้สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายก่อความสงบชั้นนำในหมู่บ้านได้บางส่วน

แต่การที่ฝ่ายก่อเหตุไม่สามารถสร้างความรุนแรงที่ไต่ระดับสูงขึ้นได้ ก็อาจจะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าฝ่ายนี้ยังมีขีดจำกัดอยู่ภายในตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นด้วยศักยภาพองค์การ แนวทางการทหารที่สุ่มเสี่ยง ขีดจำกัดในการขยายกำลังแนวร่วม และอาจจะเป็นผลมาจากการดำเนินการทางนโยบายของฝ่ายความมั่นคงของรัฐในระยะหลังที่ประสบความสำเร็จ จนทำให้มีอุปสรรคในการทำงานทางการเมืองเพื่อขยายกำลังมากกว่าเดิม

ในขณะเดียวกัน การไม่สามารถควบคุมความรุนแรงของรัฐหรือเจ้าหน้าที่บางส่วนให้อยู่ในกรอบของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งไม่สามารถแก้ปัญหาในการเมือง การปกครอง การบริหาร และการพัฒนาในระยะยาว ก็เป็นเหตุให้ความรุนแรงไม่อาจจะลดลงได้อย่างแท้จริง

สิ่งที่น่ากลัวก็คือ การแก้ปัญหาด้วยการดับไฟ จะต้องไม่ใช้การสร้างไฟกองใหม่ขึ้นมาอีกเพราะไฟกองใหม่จะลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ตามมาในอนาคต หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาความรุนแรงที่มาจากการเมืองแห่งอัตลักษณ์และความเป็นชายขอบก็คือการฟื้นคืนอำนาจอันชอบธรรม การสร้างอำนาจอันชอบธรรมหรือการสร้างอำนาจการควบคุมความรุนแรงที่มีการจัดตั้งโดยอำนาจสาธารณะ (public authorities) ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระหว่างประเทศ

          การแก้ปัญหาอำนาจทางการเมืองที่มีความชอบธรรมจะทำได้ในสองทางคือ กระบวนการทางการเมือง ในกระบวนการทางการเมืองที่ชอบธรรมจะสร้างความรู้สึกที่ดี ความเชื่อมั่นไว้วางใจ (trust) ที่ประชาชนท้องถิ่นมีต่ออำนาจหรือผู้นำและทำให้เกิดความสนับสนุนที่ประชาชนมีต่ออำนาจสาธารณะ และการควบคุมทางสังคม และ กระบวนการทางกฎหมาย เพื่อสถาปนาหลักการแห่งนิติธรรม (rule of law) ซึ่งเป็นฐานที่จะทำให้สถาบันที่มีความชอบธรรมทำงานได้  

          การแก้ปัญหาทั้งหมดต้องเน้นที่ความชอบธรรมและกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ความรุนแรงทั้งหมดลดลงได้อย่างยั่งยืน 

แผนภูมิแสดงจำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ช่วงระยะเวลา 45 เดือน
(1 มกราคม 2547 - 30 กันยายน 2550)

  แผนภูมิแสดงจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในรอบ 45 เดือน
(มกราคม 2547 - กันยายน 2550)


 
แผนภูมิแสดงจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เปรียบเทียบรายเดือน
(มกราคม 2547 - กันยายน 2550)


 

ความถี่ในการก่อเหตุแยกประเภทเหตุการณ์รายเดือน
(มกราคม 2547 - กันยายน 2550)


 

แผนภูมิแสดงจำนวนเหตุการณ์ของ 7 อำเภอที่มีเหตุการณ์สูงสุดในรอบ 45 เดือน
(มกราคม 2547 - กันยายน 2550) จำแนกเป็นรายเดือน

 

คลิกที่ภาพเพื่อดูแผนภูมิขนาดใหญ่ขึ้น 

แผนภูมิเปรียบเทียบจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา
(มกราคม 2547 - กันยายน 2550)