Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

เหตุการณ์คาร์บอมบ์โรงแรมซีเอสปัตตานี เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา แม้รูปแบบวิธีการก่อเหตุจะมิใช่สิ่งใหม่ แต่เรื่องนี้อาจกลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสถานการณ์ความรุนแรงชายแดนภาคใต้

การก่อเหตุครั้งนี้กล่าวได้ว่าเป็นการยกระดับความรุนแรงในเชิงจิตวิทยา เพราะเป็นการทำลายพื้นที่ปลอดภัยซึ่งแทบจะไม่เหลืออยู่เลยในขณะนี้

แต่ท่าทีของผู้บริหารประเทศซึ่งรับผิดชอบในการแก้ปัญหา กลับขาดความอ่อนไหวต่อผลสะเทือนในเชิงจิตวิทยาดังกล่าว ส่งผลต่อการแสดงออกถึงแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งไม่เพียงไม่ปรากฏความจริงจังให้เห็นแล้วยังออกอาการลนลานเสียด้วยซ้ำ ทั้งการปัดภาระหน้าที่ให้กองทัพรับผิดชอบเป็นหลัก และการที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเกี่ยงงอนการลงพื้นที่ จนสุดท้ายต้องมาตั้งวงประชุมกันที่หาดใหญ่

ความไม่จริงจังและออกอาการลนลานนี้ สะท้อนถึงความอ่อนแอ ทั้งความคิดในเชิงแนวทางนโยบายและกระบวนการจัดการ ซึ่งทำให้ยากที่จะเกิดความหวังถึงนโยบายแก้ปัญหาที่เข้มแข็ง

แม้จะยังไม่อาจระบุได้ถึงเป้าหมายเพื่อยกระดับสถานการณ์สู่สากล เพราะการใช้ความรุนแรงแบบไม่เลือกเช่นนี้ คือ การก่อการร้าย ซึ่งทำลายความชอบธรรมการต่อสู้ ดังนั้นมองอย่างหยาบที่สุด การก่อเหตุครั้งนี้คือการแสดงศักยภาพ ปลุกเร้าความฮึกเหิมของขบวนการขึ้นอีกครั้ง หลังถูกรุกจนถอยร่น

ขณะเดียวกันการทำลายพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งทุกฝ่ายใช้เป็นพื้นที่พบปะ จัดกิจกรรม เพื่อหาแนวทางการสร้างสันติก็ชวนให้น่าคิดว่า นี่คือการส่งสัญญาณไม่เอาทุกฝ่าย ทุกแนวทาง ที่จะสถาปนาสันติสุขหรือไม่ เป็นการใช้ความรุนแรงเพื่อสลายพลังการยุติความรุนแรงของทุกฝ่ายทั้งรัฐ และภาคประชาสังคมหรือไม่

ถึงกระนั้นไม่ว่าเป้าหมายการก่อเหตุของขบวนการก่อความไม่สงบจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า หลังจากนี้สังคมไทยในทุกองคาพยพจะคิดกับเรื่องนี้อย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นจะผลักให้เกิดจุดเปลี่ยนของปัญหานี้หรือไม่

เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ย้อนกลับไปทบทวนเหตุการณ์ ลอบวางระเบิดสนามบินหาดใหญ่' เมื่อเดือนเมษายน 2548 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ปัญหาความไม่สงบขยายลุกลามออกนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

หลังจากนั้นไม่นาน ในเดือนกรกฏาคม ปีเดียวกัน เกิดเหตุ ดับไฟเผาเมืองยะลา' ซึ่งอีกไม่กี่วันต่อมารัฐบาลก็ออก พรก.ฉุกเฉิน' มาใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาทันที ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้เตรียมการออกกฎหมายฉบับนี้มาระยะหนึ่งแล้ว

กฎหมายดังกล่าวถูกต่อต้านอย่างหนักหน่วงในประเด็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันขบวนการก่อความไม่สงบก็ใช้กระแสต่อต้านนี้เป็นเครื่องมือปลุกระดมให้ประชาชนในพื้นที่หวาดกลัวกฎหมายฉบับนี้ กระทั่งเกิดกรณีชาวบ้านในพื้นที่หลายอำเภอของ จ.นราธิวาสจำนวน 131 คน หลบหนีเข้าไปในพื้นที่ประเทศมาเลเซีย สื่อมวลชนต่างประเทศเผยแพร่ตีแผ่ข่าวนี้ไปทั่วโลก ผลที่ตามมาคือภาพลบด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทย ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานในการกู้คืนกลับมา

ขณะที่ภาวะการณ์ในขณะนี้ วาทกรรมของกองทัพที่ได้ยินบ่อยครั้งก็คือ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ ภัยคุกคามรูปแบบใหม่' ซึ่งกองทัพได้ผลักดัน พรบ.ความมั่นคง' ไว้เพื่อรับมือกับปัญหานี้ แต่ก็ถูกต่อต้านอย่างหนักจากหลายฝ่าย

น่าติดตามกันต่อว่า ภายใต้ภาวะที่รัฐบาลโยนเผือกร้อนการแก้ปัญหาชายแดนใต้ให้กองทัพ จะมีการหยิบประเด็นกฎหมายความมั่นคงขึ้นมาพูดถึงกันหรือไม่ และหากมีการหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูดกันจริง ท่าทีของแต่ละฝ่ายจะเป็นอย่างไร

เผือกร้อนที่สุดจึงอาจไม่ได้อยู่ที่กองทัพหรือรัฐบาล แต่เป็นสังคมไทยนั่นเอง

สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ เป็นการช่วงชิง พื้นที่ความรู้สึก' กลุ่มผู้ก่อเหตุถูกบ่มเพาะปลูกฝังในเรื่องประวัติศาสตร์ของชนชาติผู้ถูกกดขี่ สร้างความรู้สึกเกลียดชังสยาม ซึ่งวันนี้แปรมาเป็นรัฐไทย ประชาชนมุสลิมทั่วไป ถูกเพาะสร้างความรู้สึกให้เป็นพลเมืองชั้นสอง ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ

ขณะที่ผลพวงสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นทุกขณะทำให้กลุ่มไทยพุทธเกิดความรู้สึกหวาดกลัว หวาดระแวง ประชาชนในสังคมไทยส่วนใหญ่รู้สึกถึงความโหดเหี้ยมและรัฐไร้ประสิทธิภาพ ในขณะที่ความรู้สึกของสังคมโลกคือสิ่งที่น่าเป็นห่วงและยังวางใจไม่ได้ ภายใต้สภาพเช่นนี้ ไทยพุทธย่อมเรียกร้องถึงความมั่นคงปลอดภัย มุสลิมเรียกร้องถึงการปฏิบัติด้วยความยุติธรรมจากรัฐ

แนวทางการแก้ปัญหาในขณะนี้จึงต้องให้ความสำคัญในประเด็นความรู้สึกอย่างจริงจัง

เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะถือเป็นโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ตั้งสติว่า ถึงเวลาหรือยังที่ทุกฝ่าย ทุกองคาพยพในสังคมไทย จะต้องร่วมกันคิดอย่างจริงจัง เพื่อสร้างเอกภาพในแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อมิให้การแก้ปัญหา กลายเป็นปัญหาใหม่ตามมาในภายหลัง

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา คนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกในแง่ลบว่าภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ พากันเข้าข้างโจร ขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่โดยเฉพาะมุสลิมก็รู้สึกแง่ลบเช่นกันว่า รัฐโดยเฉพาะทหารนั้นกดขี่และไม่มีความเป็นธรรม

โจทย์ในวันนี้จึงไม่ใช่แค่การปราบโจรหรือสมานฉันท์กับโจร ตามที่สังคมไทยส่วนใหญ่กำลังรู้สึก เพราะไม่ว่าจะปราบปรามหรือสมานฉันท์ก็ส่งผลเลวร้ายทางความรู้สึกพอๆ กัน โจทย์ที่ท้าทายในขณะนี้คือ จะสร้างความรู้สึกใหม่ให้สังคมไทยได้อย่างไร

หากยังรวมหัวตั้งหลักคิดกันไม่ได้ ความรุนแรงนี้ก็จะยังคงอยู่ไปอีกนาน และความสูญเสียจะมิใช่เกิดขึ้นเฉพาะคนในพื้นที่ มิใช่แค่คนพุทธหรือคนมุสลิม แต่เป็นความสูญเสียของสังคมไทยทั้งหมด

ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสถานการณ์ชายแดนภาคใต้
กับ มูฮำมัดอายุบ ปาทาน ได้ที่ bangyub.multiply.com
หรือที่
oknation.net/blog/ayub