Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

 

สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินไปตามปกติ ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความหวาดกลัวของคนในพื้นที่ และความชินชาของคนในสังคมไทยส่วนใหญ่

ความรุนแรงคือสิ่งที่ขบวนการก่อความไม่สงบใช้สร้างความหวาดกลัว เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมมวลชน เพราะยุทธศาสตร์ของขบวนการมิได้เน้นที่การเข้าร่วมของมวลชน แต่เป็นการควบคุมมวลชน

ดังนั้นไม่ว่ารัฐจะทุ่มเทแสดงถึงความตั้งใจแก้ปัญหาอย่างไร ทุ่มงบประมาณ ผลิตโครงการเพื่อการพัฒนาอย่างไร สถานการณ์ความรุนแรงก็ยังไม่อาจยุติ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นได้ชัด ภายหลังยุทธการตรวจค้นจับกุมตั้งแต่เดือนกรกฏาคมปีที่ผ่านมา แม้รัฐจะกวาดจับ ควบคุมตัวแนวร่วม ผู้ต้องสงสัยไปเป็นจำนวนมาก โดยมั่นใจว่านี่คือการสลายโครงสร้างขบวนการ แต่ถึงวันนี้ก็คงเห็นแล้วว่าสถานการณ์ยังมิได้บรรเทาลง

การกวาดจับครั้งใหญ่ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า รัฐโดยเฉพาะทหารอาจทำลายได้แต่โครงสร้างทางการเมืองของขบวนการใต้ดิน ทำลายการจัดตั้งมวลชนในพื้นที่ แต่ยังไม่อาจสลายกองกำลัง ที่ปฏิบัติการก่อเหตุได้ เชื้อแห่งความรุนแรงจึงยังปะทุขึ้นอย่างไม่อาจดับลงได้

ปฏิบัติการทางทหารซึ่งแม้จะรุกหนักมาระยะหนึ่ง แต่จนถึงขณะนี้เมื่อเผชิญกับการที่ขบวนการก่อความไม่สงบ ก่อความรุนแรงแบบโต้กลับ เรียกได้ว่าฝ่ายทหารกลับมาอยู่ในฐานะตั้งรับอีกครั้ง

ยิ่งภายใต้ปฏิบัติการทางทหารยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นความรุนแรงชายแดนภาคใต้จึงยิ่งขยายวงออกไปอย่างไม่น่าจะเป็น

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มี 2 เหตุการณ์ที่น่าสนใจ แม้จะเป็นข่าวที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร หากเทียบกับข่าวความรุนแรงอย่างเช่นการฆ่าตัดคอทหาร หรือการวางระเบิดถล่มโรงแรมที่ จ.ปัตตานี แต่ทั้งสองเหตุการณ์ก็สะท้อนให้เห็นถึงความอิหลักอิเหลื่อของยุทธศาสตร์ การเมืองนำการทหาร

เหตุการณ์แรก คือ การที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ยอมรับว่า การเสียชีวิตของนายยะผา กาเซ็ง อิหม่ามบ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ขณะควบคุมตัว

อีกเหตุการณ์หนึ่ง คือ อาสาสมัครทหารพรานจาก อ.รือเสาะ ลักลอบนำอาวุธสงครามประจำกายออกจากที่ตั้ง เพื่อนำกลับไปถล่มคู่อริ เมื่อถูกตำรวจตั้งด่านสกัดเกิดการยิงต่อสู้กันปรากฎว่าตำรวจเสียชีวิต 1 นาย และทหารพรานรายนี้ก็ถูกวิสามัญฆาตกรรม

ทั้งสองกรณีสะท้อนถึงภาวะการดำเนินงานการเมืองของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหา ซึ่งนอกจากจะไม่คืบหน้าแล้ว ยังถดถอยจนไม่เหลือความเชื่อมั่น

กรณีโต๊ะอิหม่าม ทำให้ข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐยิ่งกระหึ่มขึ้น ส่วนกรณีทหารพราน ก็ตอกย้ำข้อกล่าวหาเดิมเรื่อง การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมของหน่วยทหารพรานกว่า 30 กองร้อยที่กระจายกันอยู่ในหลายๆ พื้นที่

หากปฏิบัติการทหารคือการลดประสิทธิภาพการรบของฝ่ายตรงข้าม ส่วนงานการเมืองคือการสร้างความเชื่อมั่นศรัทธา ก็อาจกล่าวได้ว่า ภาวะการเมืองและการทหารของฝ่ายรัฐในขณะนี้ ไม่เพียงไม่อาจรุกคืบได้ แต่กำลังเผชิญกับความถดถอยของยุทธศาสตร์นี้อีกด้วย

สถานการณ์ก่อนจะมีการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เรียกได้ว่าอยู่ในภาวะคุมเชิงกันระหว่างกองทัพ ซึ่งก่อการยึดอำนาจการเมือง กับนักการเมืองกลุ่มเดิมในชื่อใหม่ ซึ่งถูกยึดอำนาจไป ภาวะในขณะนั้นเรียกได้ว่าอึมครึมอย่างยิ่ง กระทั่งต่างฝ่ายต้องประกาศออกมาว่าจะไม่แทรกแซงกันและกัน

ภาวะดังกล่าวจนถึงขณะนี้กำลังส่งผลเสียต่อสถานการณ์ในภาพรวม ภาวะที่แกนนำรัฐบาลอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกปากว่าจะให้ทหารรับผิดชอบในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ต่อไป สะท้อนถึงความไร้ทิศทาง มาตรการของรัฐบาล

แต่หากมองอีกนัยหนึ่ง นี่อาจเป็นภาวะที่รัฐบาลปฏิเสธที่จะเข้ามารับผิดชอบ มีบทบาทนำในการแก้ปัญหาโดยตรง หากนี่คือเหตุผลเบื้องลึก จึงไม่น่าแปลกใจอย่างใด ที่จนถึงวันนี้ ยังไม่เห็นแนวทางมาตรการออกมาจากฝ่ายรัฐบาลเลย

ขณะที่ฝ่ายกองทัพเองก็อาจเรียกได้ว่ารุกจนล้า วันนี้ปฏิบัติการทางทหารจึงแทบจะหยุดนิ่งเช่นกัน ในภาวะเช่นนี้ สิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งคือ การรุกกลับทั้งยุทธวิธีโดยการก่อเหตุ และยุทธศาสตร์การขยายปัญหาสู่สังคมโลกของขบวนการก่อความไม่สงบ

นี่คือความท้าทายที่กำลังก้าวเข้ามา

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสถานการณ์ชายแดนภาคใต้
กับ มูฮำมัดอายุบ ปาทาน ได้ที่ bangyub.multiply.com
หรือที่
www.oknation.net/blog/ayub