Skip to main content
มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

 

หากเปรียบเทียบในเชิงยุทธศาสตร์ ระหว่างรัฐไทยและขบวนการใต้ดินที่ก่อความรุนแรงชายแดนภาคใต้ ก็จะเห็นถึงความได้เปรียบในทุกด้านของรัฐไทย

ความเป็นรัฐไทยนั้นเหนือกว่าทั้งโครงสร้างกลไกอำนาจรัฐในพื้นที่ แสนยานุภาพทางทหาร สถานะในเวทีการเมืองโลก ด้านนโยบายต่อปัญหารัฐไทยก็มุ่งสู่การสร้างสันติภาพ การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ขณะที่ฝ่ายใต้ดินมุ่งก่อความรุนแรง

นี่คือความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐไทย ที่ขบวนการใต้ดินมิอาจเทียบได้ ภายใต้ความพรั่งพร้อมทางยุทธศาสตร์เช่นนี้ เหตุใดสถานการณ์จึงยืดเยื้อมานานกว่า 4 ปี และยังมิอาจคาดได้ถึงจุดสิ้นสุดยุติ

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ศึกษาก็คือ ภายใต้ความเสียเปรียบและอ่อนด้อยกว่าในเชิงยุทธศาสตร์ แต่ขบวนการใต้ดินสามารถดำเนินยุทธวิธี ก่อเหตุพลิกแพลงหลากหลาย ความตกตะลึงได้เสมอ แม้จะมิใช่การก่อเหตุที่มุ่งสู่การทำลายล้างกองกำลังฝ่ายตรงข้ามเพื่อนำไปสู่จุดแตกหักทางการทหาร

ดังนั้นเป้าหมายของความรุนแรงที่ขบวนการใต้ดินกระทำอยู่ในขณะนี้คืออะไร

หากใช้ความรุนแรงสร้างความกลัวเพื่อควบคุมมวลชน การควบคุมมวลชนเอาไว้ได้นั้น มีจุดมุ่งหมายอะไร

การสร้างสันติภาพภายใต้นโยบายการเมืองนำการทหารเพื่อสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่นศรัทธาต่ออำนาจรัฐ ด้วยการเข้าถึงมวลชนในพื้นที่ วันนี้ทำได้แค่ไหน ภายใต้ความรุนแรง ซึ่งทำให้คนทำงานการเมืองสร้างความเข้าใจกับประชาชนก็หวาดกลัว ประชาชนซึ่งอยู่ในพื้นที่ก็หวาดกลัว

วันนี้ความน่าสะพรึงกลัวจึงอยู่เหนือทุกสิ่ง การพัฒนาเครื่องมือสำคัญของการทำงานการเมืองพลิกฟื้นศรัทธาเชื่อมั่นต่อรัฐ เดินหน้าไปไม่ได้ก็เพราะความรุนแรง

วิธีการก่อความรุนแรงที่พัฒนารูปแบบใหม่อยู่เสมอ เป็นการทำให้รัฐตกเป็นฝ่ายตั้งรับทางยุทธวิธี  เพื่อสกัดกั้นและทำลายหนทางยุทธศาสตร์การสร้างสันติภาพ ความสงบสุขของรัฐหรือไม่ และภายใต้ภาวะเช่นนี้รัฐจะกำหนดยุทธวิธีเพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ได้อย่างไร

ยุทธศาสตร์การสร้างสันติภาพของรัฐไทยกำลังถูกท้าทายด้วยความรุนแรง

ที่กล่าวมานี้สะท้อนจากสิ่งที่ผ่านมา หน่วยงาน องค์กร คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดนภาคใต้ ต่างก็ได้ผลิตข้อเสนอ จัดทำนโยบายแผนแม่บทการแก้ไขปัญหามาแล้วเป็นจำนวนมาก แต่สถานการณ์ก็ยังอยู่ในวังวนของความรุนแรง ซึ่งปิดกั้นโอกาสให้แผนงานเหล่านี้ดำเนินไปได้อย่างเต็มที่ จึงยากที่จะประเมินผลได้ว่าแผนงานนโยบายที่กำหนดกันมานั้นถูกต้อง เหมาะสม หรือต้องปรับแก้กันอย่างไร

หากยุทธศาสตร์คือเป้าหมายว่าจะทำอะไร ยุทธวิธีก็คือคำอธิบายว่าจะทำเช่นนั้นอย่างไร

คำตอบของปัญหาชายแดนภาคใต้ ณ ขณะนี้มิใช่การบอกว่าจะทำอะไร เพราะหลายหน่วยงานก็มียุทธศาสตร์ มีแผนแม่บทเตรียมไว้แล้วทั้งนั้น เพียงแต่ทำได้แค่ไหนเท่านั้นเอง ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากขาดแคลนความรู้ที่จะสร้างวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม ทั้งระดับบุคคล โครงสร้างทางสังคม และพื้นที่

ฉะนั้นคำตอบที่ถูกเรียกหาในขณะนี้ก็คือ ‘อะไร' ที่จะทำนั้น จะทำกัน ‘อย่างไร' ภายใต้เงื่อนไขความรุนแรง

การเอาชนะทางความคิด การพัฒนาเพื่อแสดงความจริงใจ สลายอคติ ฟื้นฟูความศรัทธาต่อรัฐให้กลับคืนมา และแม้กระทั่งการเฝ้าระวังพื้นที่เพื่อรักษาความสงบสุขเรียบร้อย ปิดกั้นโอกาสการก่อเหตุ

การทำเช่นนี้ได้นั้น จะทำอย่างไร และใครที่จะต้องเข้ามาร่วมทำบ้าง  นี่คือคำถามที่กำลังรอตอบ

 

ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสถานการณ์ชายแดนภาคใต้
กับ
มูฮำมัดอายุบ ปาทาน ได้ที่ bangyub.multiply.com
หรือที่
www.oknation.net/blog/ayub