Skip to main content

 

บันทึกสาระสำคัญ
จากการประชุมร่วมระหว่าง
กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้กับผู้แทนหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ 
ครั้งที่ 1/2554 
วันที่ 4 พฤศจิกายน  2554
 เวลา 09.00 - 12.00 น.
ณ ห้องประชุม 1 ศอ.บต.
....................
 
1. การวิเคราะห์สถานการณ์จากเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง
 
1.1 นับตั้งแต่ ปี 2547 – 31 สิงหาคม 2554 เกิดเหตุรุนแรง จำนวน 12,198 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 4,822 คน บาดเจ็บ 5,861 คน รวม ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสิ้น 13,383 คน
 
1.2 การก่อความไม่สงบที่ยืดเยื้อมาประมาณ 8 ปี เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นปฏิบัติการของขบวนการแบ่งแยกดินแดน และปัจจุบันกองกำลังติดอาวุธของขบวนการฯ มีความเข้มแข็ง การปฏิบัติการยังคงมีต่อไป และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
 
1.3 หน่วยงานความมั่นคงของรัฐไม่ปฏิเสธการต่อสู้ไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม แต่ปฏิเสธและคัดค้านการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งอยากเห็นทุกฝ่ายหันมาต่อสู้ในแนวทางสันติวิธี
 
2.  ประเด็นที่ทุกฝ่ายซึ่งมีส่วนในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรพิจารณาดำเนินการให้เหมาะสมต่อไป
 
2.1 เงื่อนไขที่เกี่ยวกับศาสนาและชาติพันธ์
 
2.2 การไม่นำเสนอข้อเท็จจริงที่ชัดเจนต่อสาธารณะ และไม่นำความจริงเหล่านั้นมาเป็นฐานในการแก้ปัญหา
 
2.3 ระบบและกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ยังต้องปรับปรุงและพัฒนาให้เหมาะสมสถานการณ์ความเป็นจริงอีกมาก
    
2.4 ปัจจุบันผู้หญิงและเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้บาดเจ็บและเสียชีวิตค่อนข้างมาก ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าแทรกแซงความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในอนาคต
 
2.5 การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทำอย่างไรจึงจะนำไปสู่การลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดอง
 
2.6 ทุกฝ่าย ควรตระหนักถึงช่องว่างที่กำลังห่างมากขึ้นระหว่างคนไทยพุทธ กับคนไทยมุสลิม
 
2.7 ควรมีการจัดวงเสวนาร่วม ระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กับคณะกรรมการสภาฯ เรื่อง พ.ร.ก.บ ริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ต่างๆ เพื่อหาจุดลงตัวว่าควรยกเลิก หรือควรใช้ต่อไป เนื่องจากความเห็นของฝ่ายความมั่นคงเห็นว่า พ.ร.ก.ฯ และ พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการระงับเหตุร้ายเฉพาะหน้า ปกป้องผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ถูกทำร้าย ทั้งยังเป็นช่องทางสำคัญที่สามารถช่วยผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกจับกุมไม่ให้เข้าสู่กระบวนการของกฎหมายอาญาเร็วเกินไป และหากไม่มีกฎหมายเหล่านี้ผู้ต้องหาก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการของ ป.วิอาญา ซึ่งจะใช้วิธีการทางรัฐศาสตร์ช่วยเหลือยากลำบากขึ้น แต่ทางฝ่ายภาคประชาสังคมเห็นว่าการใช้ พ.ร.ก.ฯ และ พ.ร.บ.ฯ นี้เป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรู้สึกกระทำต่อผู้ต้องหาตามอำเภอใจ เป็นการเปิดโอกาสให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบต่างๆ มากขึ้นและเป็นการสร้างเงื่อนไขสงครามในพื้นที่ มากกว่าการแก้ปัญหา จึงควรยกเลิกกฎหมายเหล่านี้เสีย
 
เลิกประชุม เวลา 12.00 น.