Skip to main content


 

 

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษาโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อศึกษาท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นกล่าวนำ เนื่องในโอกาสเสนอหัวข้อวิจัยเรื่อง ‘ไฟใต้ฤาจะดับ’ ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีผู้เข้าร่วมเสนอข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากหลายฝ่าย ได้แก่ ตัวแทนนักวิจัยท้องถิ่น (คนในพื้นที่) ตัวแทนพี่เลี้ยงนักวิจัยท้องถิ่นร่วมนำเสนอ ซึ่งพบข้อเท็จจริงพื้นฐานที่ทำให้น่าเป็นห่วงว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้เป็นสิ่งที่ยากที่จะยุติหรือบรรเทาลงได้
 
“ที่แล้วมา รัฐและสื่อมวลชน มักเสนอข่าวของความรุนแรงให้กับสังคมมหาชนทั้งประเทศเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพราะเนื่องมาจากปฏิบัติการของกลุ่มที่จะแบ่งแยกดินแดนจากประเทศไทย ซึ่งเท่ากับเป็นการขัดแย้งกันระหว่างคนในสังคมใหญ่ภายนอกที่นับถือพุทธศาสนากับคนในสังคมมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อย ทั้งๆที่งานวิจัยและความคิดเห็นของผู้รู้ที่มีประสบการณ์เป็นจำนวนมากได้แสดงออกอย่างต่อเนื่องว่า คนมุสลิมส่วนใหญ่หาได้มีความคิดที่จะแบ่งแยกดินแดนไม่ หากมีความรู้สึกว่า ทางรัฐและสังคมต่างหากที่ไม่เคยให้ความสนใจ ให้ความเป็นธรรมและความเสมอภาคแก่เขา ทั้งๆ ที่ในอดีต รัฐปัตตานีอันเป็นมาตุภูมิ เคยเป็นรัฐอิสระที่มีความเจริญทางอารยธรรมเป็นที่สุดรัฐหนึ่งในบรรดารัฐมุสลิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดสำนึกการเป็นประชาชนคนไทยชั้นที่สองอยู่ตลอดเวลา
 
“ความไม่เสมอภาคดังกล่าวนี้ นำไปสู่ความไม่เข้าใจในเรื่องสังคมและวัฒนธรรมของคนมุสลิมในกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองของรัฐ ตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นต้นมา เกิดความขัดแย้งในเรื่องการใช้ความรุนแรงและทัศนคติที่ไม่เป็นธรรมแก่คนมุสลิมเสมอ จึงเกิดการต่อต้านอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้นับว่าเป็นการโต้ตอบด้วยความรุนแรงถึงขนาดการฆ่าฟันกันมากมายอย่างในขณะนี้ เพราะดูเป็นการขัดขืนและต่อรองเสียมากกว่า หากแต่รัฐและบ้านเมืองไม่ให้ความสนใจเลย แถมยังเข้าใจผิดคิดไปว่าคนมุสลิมมีวัฒนธรรมที่บ้าวัตถุนิยมแบบคนไทยในปัจจุบันทั่วไป แล้วตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวจนทำให้สังคมมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปรับตัวไม่ทัน จนเกิดความล้าหลังทางวัฒนธรรม (Culture Lag) ทั้งที่จริงแล้ว “ความล้าหลังวัฒนธรรมแบบนี้หาได้เกิดขึ้นกับสังคมมุสลิมไม่”  รศ. ศรีศักร วัลลิโภดมกล่าว
 
และจากการทำวิจัย ยังได้มีการลงสำรวจพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง โดยนักวิจัยได้พบข้อเท็จจริงปัญหาพื้นฐานที่ว่า บรรดาพื้นที่ทำกินของชาวบ้านเหล่านั้นรวมทั้งพื้นที่สาธารณะเป็นจำนวนมากได้ถูกยึดครองโดยบรรดานายทุนทั้งจากภายนอกและภายในเรียบร้อยแล้ว ทำให้ชาวบ้านไม่มีพื้นที่ทำมาหากิน ต้องอพยพตัวเองออกนอกพื้นที่เพื่อที่จะสามารถหารายได้มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จึงได้ขยับขยายไปทำงานที่ต่างประเทศคือประเทศมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่ มีค่าแรงที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับทำงานในไทย ซึ่งถูกปิดพื้นที่ทำงานเพราะขาดการศึกษาหรือมีการศึกษาต่ำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้รัฐบาลไทยมักละเลยและมองข้ามไป
 
นอกจากนี้รัฐมักเชื่อมโยงประเด็นการออกไปทำงานนอกพื้นที่ว่าเป็นความจงใจที่จะรวมกลุ่มกันเพื่อวางแผนการก่อการร้ายและก่อความไม่สงบขึ้น ซึ่งหากรัฐและบ้านเมืองไม่คิดแก้ไข และยังคงมีแนวคิดเช่นที่ว่านี้ ก็อย่าหวังเลยว่าไฟใต้จะดับ อีกทั้งยังลุกลามไปทั้งแผ่นดินไทย
 
หลังจากนั้น มีการนำเสนอข้อมูลวิจัยเพิ่มเติมจากตัวแทนนักวิจัยท้องถิ่นและตัวแทนจากพี่เลี้ยงนักวิจัย โดยนางสาววลัยลักษณ์ ทรงศิริ ตัวแทนพี่เลี้ยงนักวิจัย ได้นำเสนอบทความเรื่อง “คนตานี: มลายูมุสลิมที่ถูกลืม” ซึ่งบทความนี้พยายามสะท้อนภาพความเป็นมลายูมุสลิมในประเทศไทยว่า เป็นอัตลักษณ์ที่ถูกแช่แข็งไว้ยาวนานนับศตวรรษ
 
ในท่ามกลางความเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรมทั้งในกระแสโลก การก้าวไปสู่ความทันสมัยของมาเลเซียประเทศเพื่อนบ้าน กระแสการฟื้นฟูศาสนา และสภาพการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ภาพของคนตานีในต้นแบบทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นกลุ่มที่สร้างแต่ปัญหาก็ยังถูกกักขังหรือมองอย่างเป็นภาพนิ่งและไม่คุ้มในการเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย   
 
ส่วนข้อมูลงานวิจัยชิ้นแรกถูกเสนอโดยกลุ่มนักวิจัยท้องถิ่น เรื่อง ‘จากยาลอเป็นยะลาการเปลี่ยนแปลงในรอบศตวรรษ’ เสนอโดย ทรัยนุง มะเด็ง และอับดุลเร๊าะมัน บาดา
 
ทรัยนุง มะเด็ง กล่าวว่าจุดเริ่มต้นในการทำรายงานเรื่องนี้ คือตนเป็นคนในพื้นที่ ไม่มีใครที่จะรู้เรื่องทั้งหมดได้ดีกว่า เมื่องยาลอ หรือเมืองยะลาเป็นเมืองหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองหลังจากปัตตานีถูกตีพ่ายในสมัยต้นแผ่นดินกรุงเทพฯ
 
ในพื้นที่ยาลอมีความสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ คือ มีคนมุสลิม 90% ที่เหลือเป็นคนพุทธและคนจีน กลุ่มคนทั้งหมดนี้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น ลงแขกร่วมกัน วันขึ้นปีใหม่ก็มีการกินเลี้ยงร่วมกันไม่ว่าจะเป็นคนมุสลิม พุทธ และคนจีน บทบาทของผู้หญิงเปลี่ยนไปเมื่อเศรษฐกิจทุนนิยมเข้ามา จากเมื่อก่อนที่ผู้หญิงทำงานอยู่กับบ้าน เลี้ยงลูก เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ผู้หญิงก็ต้องออกมาทำงานนอกบ้านด้วยทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ถูกมองว่าไม่ดี เพราะศาสนาอิสลามผู้หญิงต้องอยู่กับบ้าน
 
อับดุลเร๊าะมัน บาดา กล่าว เมื่อความรุ่งเรื่องได้เข้าในพื้นที่เมืองยะลา ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็ได้เกิดขึ้น เช่นมีคนต่างถิ่นอพยพเข้ามาในพื้นที่เมืองยะลา ยะลากลายเป็นเมืองแห่งการศึกษา ทำให้มีการสร้างถนน 4 เลนตัดทำให้ชาวบ้านขายที่ดิน เพราะที่ดินมีราคาแพง
 
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการนำเสนอ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษาโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อศึกษาท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวสรุปว่า หัวข้อ จากยาลอเป็นยะลาการเปลี่ยนแปลงในรอบศตวรรษ ว่าวิถีชีวิตของคนยาลอเปลี่ยนแปลงไปเมื่อความเจริญเข้ามา จากเมื่อก่อนที่ทุกอย่างเป็นของอัลเลาะห์ ทุกคนสามารถทำกินร่วมกัน แต่เมื่อนายทุนเข้ามา กรรรมสิทธ์ในที่ดินต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน ดังนั้นจึงง่ายแก่พวกนายทุนที่จะโกงเอาพื้นที่ชาวบ้านไป
 
เมื่อมีทุนเข้ามาก็มีการแข่งขันกันในบางท้องถิ่น บางเครือญาติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการเมืองท้องถิ่น หลังจากนั้นคนในท้องถิ่นก็อพยพไปยังประเทศมาเลเซียเพราะว่าที่นั้นค่าแรงแพงกว่า แต่คนต่างพื้นที่มักมองว่ากลุ่มเหล่านี้กำลังจะไปสร้างเครือข่ายการก่อการร้าย
 
หัวข้องานวิจัยต่อไป คือเรื่อง ‘การจัดการทรัพยากรและนิเวศวัฒนธรรมของคนเชิงเขาลุ่มสายบุรี’ โดย มะอีซอ โซมะดะ และงามพล จะปะกิยา
 
มะอีซอ โซมะดะ กล่าวว่าปัญหาในพื้นที่แม่น้ำสายบุรีตอนกลางในเขตบ้านตะโหนด คือ การประกาศอุทยาน ทำให้ชาวบ้านไม่มีที่ทำมาหากิน เพราะโฉนดที่ดินไม่ถูกต้อง
 
มะรอนิง สาและ กล่าวในเรื่องเสียงสะท้อนจากหมู่บ้านประมงอ่าวปัตตานีว่า อ่าวปัตตานีตอนนี้กำลังเดือดร้อน เพราะมีโรงงานมากมายมาตั้งในบริเวณอ่าว นอกจากนี้มีการถมที่ดินเพิ่มมากขึ้น และมีการกั้นเขื่อนด้วย ที่อ่าวปัตตานีมีอวนลากมากกว่า 300 ลำ จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทำให้ที่ดินไม่เพียงพอกับการทำกิน นอกจากนี้น้ำก็เสีย เพราะมีการตั้งโรงงานบริเวณอ่าว มะรอนิง สาและ กล่าวว่าปัญหาดังกล่าวอย่าหวังเลยที่จะดึงมวลชนเข้ามาช่วยเหลือ เพราะว่ามวลชนไม่ใช่ของเรา และเขากล่าวอีกว่า ถ้าเราไม่รู้จักพื้นที่จริงก็อย่าหวังจะแก้ไขปัญหาในเขต 3 จังหวัดได้
 
ทั้งนี้ หลังจากการนำเสนองานวิจัย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้กล่าวย้ำถึงจุดประสงค์การทำวิจัยนี้ว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้พยายามเข้าถึงพื้นที่ความขัดแย้งทั้งหมด จะได้ทราบสภาพปัญหาที่แท้จริง และรัฐจะได้ไม่เหมาว่าปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นการต้องการแบ่งแยกดินแดน
 
ที่มา: ประชาไท