Skip to main content
 
หมายเหตุ: แถลงการณ์ทั้ง 3 ฉบับดังต่อไปนี้ ประธานและสมาชิกสภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้ร่วมกันแถลงในเวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 4 – 5 มกราคม 2555 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
 
 
 
 
 
 
 
 
แถลงการณ์สภาประชาสังคมชายแดนใต้
ฉบับที่ 1/2555
เรื่อง การเยียวยาเพื่อความเป็นธรรมและสมานฉันท์
 
สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานาน 8 ปีเต็ม (2547-2554) ได้ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไปแล้วกว่า 13,000 คน นอกจากนี้ยังมีคนที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกจำนวนนับแสนคน ความรุนแรงที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะยุติลงเมื่อใดนี้ ได้สร้างความโกรธแค้น หวาดระแวง และเกลียดชังกันมากขึ้นระหว่างประชาชนบางกลุ่มในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
เพื่อเป็นการบรรเทาความรู้สึกดังกล่าวในหมู่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบและเสริมสร้างความรู้สึกว่ารัฐและสังคมใหญ่ไม่ได้ทอดทิ้งทั้งยังรักและห่วงใยพวกเขาเสมอมา สภาประชาสังคมชายแดนใต้จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาดำเนินการ ดังนี้
 
1.     ให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในหลักเกณฑ์ของรัฐอย่างรวดเร็วทั่วถึงและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและประโยชน์สูงสุดของผู้ได้รับผลกระทบนั้น
 
2.     ผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการเยียวยาจากรัฐ เนื่องจากไม่ได้รับการรับรองจาก 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายตำรวจ ทหาร และปกครอง ให้ดำเนินการดังนี้
 
2.1 ภายใน 6 เดือน หากไม่มีข้อสรุปถึงสาเหตุการเกิดคดีที่ชัดเจนจากเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้ถือว่ากรณีดังกล่าวเสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ และให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับสิทธิ์การเยียวยาได้ทันที
 
2.2 ให้ตั้งผู้แทนจากองค์กรประชาสังคมในพื้นที่เป็นคณะกรรมการร่วมติดตามสอบหาข้อเท็จจริงในคดีที่มีข้อสงสัยและเป็นคดีสำคัญ
 
 
3.     สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษในคดีความมั่นคง
 
3.1 ผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามหมาย พ.ร.ก.ฯ แต่ไม่เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีทางอาญา ให้ได้รับการชดเชยค่าเสียหายจากการถูกควบคุมตัวนั้นด้วย
 
3.2 บุคคลที่รออัยการสั่งฟ้องให้มีสิทธิ์ในการร้องขอให้สอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ส่วนกรณีที่สั่งไม่ฟ้องให้ได้รับค่าชดเชยการถูกคุมขัง 84 วันด้วย ส่วนกรณีที่มีหลายคดีไม่ฟ้องในคราวเดียวกันให้คิดค่าเสียหายชดเชยเป็นคดี ๆ ไป
 
3.3 บุคคลที่อยู่ระหว่างรอการตัดสินในชั้นศาล ควรเร่งรัดกระบวนการพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
 
3.4 ควรลดมูลค่าหลักทรัพย์ในการประกันตัวให้เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่และไม่ควรสร้างเงื่อนไขค้ำประกันพิเศษที่นอกเหนือจากกรอบของกฎหมายอาญาทั่วไป
 
3.5 บุคคลที่มีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุด ต้องได้รับการชดเชยค่าเสียหายตามกฎหมายและควรมีการทบทวนอัตราค่าชดเชยให้มีความเหาะสมมากยิ่งขึ้น
 
อนึ่งเพื่อเห็นแก่ความสงบสุขในระยะยาว สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ใคร่ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดการใช้ความรุนแรงและให้ใช้ประโยชน์จากกระบวนการเยียวยาเชิงสมานฉันท์สร้างความปรองดองและใช้การแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสันติวิธี    
 
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ
ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้
4 มกราคม 2555
 
 
 
 
 
 
 
 
แถลงการณ์สภาประชาสังคมชายแดนใต้
ฉบับที่ 2/2555
เรื่อง การยกเลิก พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ในพื้นที่ จชต.
 
สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบขั้นวิกฤตในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในปี 2547-2554 ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นได้ประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อเป็นเครื่องมือในการเข้าระงับยับยั้งความรุน แรงและปกป้องผู้บริสุทธิ์ให้ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ซึ่งเป็นความจำเป็นที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ในขณะนั้น
 
          ต่อมาสถานการณ์ความรุนแรง แม้จะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าได้ลดระดับความถี่ลงโดยลำดับ แต่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฯ ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
 
          การประกาศใช้กฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฯ แม้จะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีความสะดวกและรวดเร็วในการเข้าแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงเฉพาะหน้า แต่ก็เป็นช่องว่างสำคัญ ที่ทำให้การปฏิบัติในบางครั้ง กลายเป็นเงื่อนไขความรุนแรงเสียเอง ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ มวลชนจะขาดความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมปกติลงไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อกลไกยุติธรรมของรัฐในอนาคตอย่างแน่นอน
 
          เพื่อเป็นการเร่งขจัดเงื่อนไขความรุนแรงที่เกิดจากกลไกของรัฐ และการสร้างความเชื่อมั่นแก่ระบบยุติธรรมปกติให้กลับคืนมาโดยเร็ว สภาประชาสังคมชายแดนใต้จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้พิจารณาความเป็นไปได้ถึงการยกเลิก พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ อย่างเป็นขั้นตอนดังนี้
 
1. ให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดำเนินการเป็นรายอำเภอ ภายใต้เงื่อนไขความเห็นชอบร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายชุมชน ฝ่าย กอ.รมน. ภาค 4 และองค์กรประชาสังคมในพื้นที่ โดยความเห็นให้ยกเลิกนั้น มีฝ่ายที่เห็นด้วยอย่างน้อย 2 ใน 3
 
2. การดำเนินการเพื่อพิจารณายกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฯ ดังกล่าว ให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ เดือน มกราคม ปี 2555 เป็นต้นไป
 
3. พื้นที่ใดประกาศยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฯ ให้กลไกของรัฐทุกภาคส่วน เร่งดำเนินการสร้างบรรยากาศสมานฉันท์ในพื้นที่นั้นโดยเร็ว          
 
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ
ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้
4 มกราคม 2555
 
 
 
 
 
  
 
แถลงการณ์สภาประชาสังคมชายแดนใต้
ฉบับที่ 3/2555
เรื่อง การกระจายอำนาจเพื่อท้องถิ่นจัดการตนเอง
 
เนื่องจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ของส่วนกลางกับการไร้อำนาจบริหารจัดการตนเองอย่างแท้จริงของท้องถิ่น
 
          เพื่อเป็นการลดปัญหาดังกล่าว สภาประชาสังคมชายแดนใต้มีความเห็นว่า ควรลดอำนาจที่รวมศูนย์จากส่วนกลางลง และเพิ่มอำนาจการบริหารจัดการตนเองของท้องถิ่นให้มากขึ้น โดยวิธีการกระจายอำนาจ ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการและข้อเรียกร้องต่อทุกฝ่าย ดังนี้
 
1. ตลอดปี 2555 เครือข่ายองค์กรภาคีของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ จะจัดเวทีสาธารณะรวม 200 เวทีให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
 
2. ขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกเพศ ทุกวัย และกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐ โปรดให้ความสนใจและเข้าร่วมเวทีสาธารณะให้กว้างขวาง
 
3. ขอแสดงเจตจำนงที่หนักแน่นในความมุ่งมั่นของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ต่อรัฐบาล รัฐสภา พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภท ทุกระดับว่า นี่คือ กระบวนการแก้ปัญหาไฟใต้ด้วยแนวทางสันติวิธี ขอให้ทุกคน ทุกองค์กรได้เข้ามาร่วมกันเปิดเวทีสาธารณะให้เป็นพื้นที่กลางในการระดมความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อคิดใคร่ครวญและใช้วิจารณญาณร่วมกันอย่างสันติสมานฉันท์ เพื่อค้นหาแนวคิด รูปแบบการกระจายอำนาจที่ยั่งยืน และนำไปสู่การสร้างสันติสุขร่วมกัน
 
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
 
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ
ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้
5 มกราคม 2555