Skip to main content


 


 

 

เหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลาบางส่วน ช่วงครึ่งหลังของเดือนกันยายน 2549 ( 16 – 30 ก.ย.) ท่ามกลางสถานการณ์การรัฐประหารยึดอำนาจการบริหารประเทศจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบราบคาบ ตามสถานการณ์การเมืองระดับชาติ

 

ซ้ำร้ายยังเกิดเหตุในลักษณะเดิม อีกทั้งมีความถี่ในการก่อเหตุ รวมถึงมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เพิ่มขึ้นมากกว่า 15 วันที่ผ่านมา อาทิ การลอบวางระเบิด ซุ่มโจมตีฐานที่ตั้งของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะการก่อเหตุได้ขยายวงกว้างไปยังพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของอำเภอหาดใหญ่เป็นอย่างมาก

เหตุการณ์ลอบวางระเบิดในพื้นที่ อำเภอหาดใหญ่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 21.15 น. ของวันที่ 16 กันยายน 2549 โดนได้เกิดระเบิดขึ้นทั้งหมดจำนวน 5 จุด คือ

 

จุดแรกที่ บริเวณประตูหน้าศูนย์การค้าโอเดียน 1 มุมถนนธรรมนูญวิถี ตัดถนนเสน่หานุสรณ์ หน้าดีฟวอนเดอร์มิวสิคบาร์ เป็นเหตุให้รถ 3 ล้อเครื่องเสียหาย 2 คัน รถจยย. 3 คัน มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

 

ในเวลาเดียวกันเกิดระเบิดจุดที่ 2 บริเวณหน้าศูนย์การค้าโอเดียน 2 ประตูออกของห้างฯ ถ.เสน่หานุสรณ์ มีแผงขายสินค้าหน้าห้างฯ ได้รับความเสียหายและมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

 

จุดที่ 3 ในเวลา 21.21 น.ระหว่างบริเวณหน้าร้านนิวเชอรี่นวดแผนโบราณ กับร้านบราวน์ซูการ์ ถ.ธรรมนูญวิถี มีผู้เสียชีวิต 4 ศพ คือ มร.เจสซี่ ลี แดเนียล อายุ 29 ปี สัญชาติแคนาดา เป็นครูสอนโรงเรียนพลวิทยา ,น.ส. จรณินทร์ สีพรม อายุ 34 ปี ,น.ส.นิชาภา เสหมี อายุ 31 ปี และนายธวัช เลาะหะตานนท์ อายุ 49 ปี ทั้งยังมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก รถจยย.ได้รับความเสียหาย 5 คัน ในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่พบหลักฐานหม้อแบตเตอรี่ รถจักรยานยนต์จำนวน 1 ลูก เศษเหล็กเส้นกลมยาวประมาณ 1 เซ็นติเมตร(ซ.ม.) จำนวน 8 ชิ้น

 

จุดที่ 4 ในเวลา 21.15 น.บริเวณศูนย์การค้าบิ๊กซี สาขาหาดใหญ่ ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เหตุเกิดระเบิดด้านทิศเหนือของห้างฯ ข้างตู้เอทีเอ็ม จำนวน 4 ตู้ เป็นของธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารไทยพานิชย์ โดยระเบิดตั้งอยู่บริเวณถังขยะ ซึ่งตั้งติดกับตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงเทพฯ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บเพียงแต่ทรัพย์สินเสียหายเป็นตู้เอทีเอ็มทั้ง 4 ตู้ กระจกของร้านเอ็มเคสุกี้ แตกละเอียด

 

ในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่พบหลักฐานขวดเครื่องดื่มพลาสติกใสพันด้วยผ้าพันแผลสีขาว มัดด้วยเทปกาวสีน้ำตาล และเศษเหล็กเส้นกลมยาวประมาณ 1 ซม.จำนวน 5 ชิ้น กรอบโทรศัพท์มือถือไม่มียี่ห้อลักษณะใสสีขาว จำนวน 1 อัน

 

ระเบิดจุดสุดท้าย ในเวลา 21.25 น.บริเวณหน้าห้องน้ำ ชั้น 5 โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้าไดอาน่า ถ.ศรีภูวนารถ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถใช้ปืนดันน้ำทำลายได้ รวมยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ จำนวน 4 คน บาดเจ็บ อีก 62 ราย ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

 

จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นการกระทำของกลุ่มคนร้ายกลุ่มเดียวกัน เป็นการสร้างสถานการณ์การก่อความไม่สงบเกี่ยวกับความมั่นคง เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยล่าสุดชุดสืบสวนศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า จ.ยะลา (ศปก.ตร.สน.ยะลา) ระบุว่า น่าจะเป็นฝีมือของนายไพศอล หะยีสะมะแอ และนายอับดุลพาเมล สาและ

 

โดยเฉพาะนายไพศอล อายุ 23 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดสงขลาที่ 373/2548 ลงวันที่ 12 เมษายน 2548 ข้อหาร่วมกันพยายามก่อให้เกิดการระเบิดจากเหตุการณ์วางระเบิดสนามบินนานาชาติหาดใหญ่และสถานที่ใกล้เคียงรวม 3 แห่ง ใน จ.สงขลา เมื่อวันที่ 3เมษายน 2548 ที่ผ่านมาเป็นเหตุในมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคนโดยนายไพศอลมีรางวัลนำจับสูงถึง 3 ล้านบาท

 

ส่วนนายอับดุลพาเมล สาและ หรือมีชื่อจัดตั้งว่า โคเบ อินโด อายุ 34 ปีอยู่บ้านเลขที่ 65 หมู่ 4 บ.กาโด๊ะ ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ผู้ต้องหาลอบวางระเบิดดักสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.อ.รือเสาะ ที่ ม.10 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาสทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 5นายและได้รับบาดเจ็บอีก 3 นาย เมื่อวันที่ 8มิถุนายนที่ผ่านมานั้น ซึ่งการสืบสวนพบว่านายอับดุลพาเมล เป็นแกนนำระดับเดียวกันกับนายไพศอล และมีความเชี่ยวชาญในการประกอบวัตถุระเบิด

 

 

ส่วนเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รับเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมนั้น ยังคงมีเหตุการบุกโจมตีฐานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคง โดยวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีคนร้ายกว่า 30 คน พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าโจมตี สภ.ต.ปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา จนเกิดการปะทะกันประมาณ 30 นาที ก่อนที่คนร้ายจะล่าถอยไป

 

ผลของการเข้าโจมตีพบว่า มีผู้เสียชีวิต 2 ราย คือ นางสุภาภรณ์ กิจสำเร็จ ภรรยาของตำรวจ สภ.ต.ปะแต และนายอับดุลเลาะ เจะฮะ ราษฎรที่บ้านพักอยู่ติดรั้วสภ.ต. นอกจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ อีก 1 ราย คือ ส.ต.ต.สรรพสิทธิ์ หิมะคุณ ตำรวจพลร่ม ที่เข้าไปสนับ สนุนกำลัง อาคารที่ทำการสภ.ต.และบ้านพัก รวมไปถึงรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ตงปะแต เสียหายหลายคัน

 

โดยในเวลาไล่เลี่ยนกันก็ได้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันกับ สภ.อ.รามัน แต่การปะทะเป็นไปด้วยเวลาที่สั้นกว่า เพียงไม่ถึง 10 นาที ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ อาคารเสียหายเล็กน้อย

 

สำหรับภาพรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 16-30 กันยายน มีทั้งหมด 49 ครั้ง เกิดเหตุการณ์มากที่สุดที่จังหวัดนราธิวาส จำนวน 31 ครั้ง รองลงมาเป็นจังหวัดปัตตานี จำนวน 8 ครั้ง จ.ยะลาและสงขลาในพื้นที่ อ.หาดใหญ่

 

ส่วนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์มีทั้งหมด 22 ราย เป็น ประชาชนทั้ง 21 ราย เจ้าหน้าที่ของรัฐ 1 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ มีทั้งหมด 84 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ 10 ราย ประชาชน 74 ราย

 

สรุปภาพรวมของจำนวนเหตุการณ์ จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ของครึ่งหลังเดือนกันยายนเปรียบเทียบกับช่วง 15 วันแรกของเดือน จำนวนเหตุการณ์และจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ สูงขึ้นเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว