Skip to main content

หลังใช้เวลาอยู่ค่อนปีในการนำรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) “เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์” ให้นักวิชาการ ผู้นำศาสนา เจ้าหน้าที่ความมั่นคง ผู้สนใจติดตามและศึกษาปัญหาภาคใต้ ฯลฯ ได้ร่วมกันวิพากษ์รายงานฉบับดังกล่าว เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ยังขาดตกบกพร่องในรายงาน บัดนี้ คณะทำงานสื่อสารกับสังคม กอส.ได้นำบทวิพากษ์ดังกล่าวมารวมเล่มเป็นหนังสือเรียบร้อยแล้ว เป็นหนังสือฉบับ “เวทีสาธารณะ” ที่เติมเต็มให้รายงาน กอส.สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

มิติทางมุมมองอันหลากหลาย จากการจัดเวทีสาธารณะของคณะทำงานสื่อสารกับสังคม กอส. การสัมภาษณ์พิเศษนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้เรื่องภาคใต้หลายท่านที่ไม่ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ อาทิ คุณหญิงอัมพร มีศุข  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พระมหาชรัช อุชุจาโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดช้างไห้ สหายโชติ อดีตคอมมิวนิสต์ที่เคยเป็นมิตรกับอดีตแนวร่วมนักต่อสู้ชาวไทยมุสลิมชายแดนภาคใต้ ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม อดีตสมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการด้านอิสลามศึกษา ฯลฯ หลากหลายท่านที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์รายงาน กอส.ฉบับนี้กันอย่างเต็มที่ จนก่อเกิดมุมมองใหม่ต่อปัญหาภาคใต้ที่ไม่มีในรายงาน กอส. 

 

 ‘พิภพ ธงไชย’ ประธานคณะทำงานสื่อสารกับสังคม กอส. บอกว่าบทวิพากษ์รายงาน กอส.คือตัวตั้งที่ดีในการเชื่อมร้อยความรู้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั้งประชาชนทั่วไป นักวิชาการนักกิจกรรมสังคมคาดหวังให้เกิดและมุมมองที่จะมาร่วมกันเติมเต็มให้กลายเป็น “รายงานภาคประชาชน”

 

ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ปัญหาภาคใต้ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนตระหนักดี การก่อเกิดกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในปี 2548 คือดัชนีชี้วัดระดับความรุนแรงของปัญหาว่าสุดกำลังที่รัฐบาลในขณะนั้นจะแก้ไขได้ ปรากฎการณ์พิเศษในการตั้งคณะกรรมการอิสระ นำเอาผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ นักวิชาการ ปราชญ์ทางสังคมและผู้นำศาสนามานั่งขบคิดหาทางออก รื้อฟื้นบ่อเกิดปัญหาภาคใต้มาสังเคราะห์

 

การอธิบายปัญหาซึ่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่มานานร่วมศตวรรษ ให้ผู้คนในสังคมได้เข้าใจในเวลาอันสั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังที่ผู้วิพากษ์รายงานกอส.หลายท่านได้ แสดงความเห็นเอาไว้

 

แนวทางของกอส.ซึ่งนำเสนอปัญหาภาคใต้ในเชิงองค์ความรู้ให้คนไทยได้เรียนรู้การแก้ไขความขัดแย้งไม่ใช่การอธิบายที่ตรงจุด ตรงใจ

 

ไม่มีผู้วิจารณ์รายใดปฏิเสธความสำคัญของรายงานฉบับนี้ แม้หลายคำถามจะไม่มีคำอธิบาย แต่อย่างน้อย รายงานของกอส.ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหา เพื่อยุติความรุนแรง และสถาปนาสันติสุขอย่างยั่งยืน

 

 “ไม่ใช่ข้อเสนอที่ดีที่สุด แต่เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก” นี่คือความเห็นหนึ่งต่อรายงานกอส.

 

หากการสื่อสารของกอส.เพื่อให้สังคมไทยได้เข้าใจต่อปัญหาอย่างแท้จริง ยังมิอาจทำได้กระจ่างชัด  กระบวนการสร้างความตระหนัก และเห็นพ้องต้องกันในการนำข้อเสนอไปขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติจริงก็คงเกิดขึ้นได้ยาก

 

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่กระบวนการแก้ไขปัญหาจะเกิดเป็นรูปธรรม การนำรายงานที่ได้จากการศึกษาของคณะกรรมการไปเผยแพร่ต่อสังคมเพื่อก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ส่งผลดีในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องขบคิด กอส.เองก็ตระหนักในข้อนี้ดี จึงมีการตั้งคณะทำงานสื่อสารกับสังคมขึ้นมา เพื่อผลักดันให้มีการนำรายงานกอส. “เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์”ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการวิพากษ์ แสดงความคิดเห็นจากหลากหลายภาคส่วนในสังคม

 

การปลุกกระแสการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีทางออกการแก้ไขปัญหาภาคใต้ในห้วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาถือเป็นปรากฎการณ์ที่น่าพอใจเช่นเดียวกัน การนำเอาหลายภาคส่วนของสังคมมานั่งพูดคุย นำเสนอ วิพากษณ์วิจารณ์ จนนำไปสู่การกลั่นกรองเป็นข้อสรุปที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ปัจจัยด้านระยะเวลา บุคคล ฯลฯ จะเอื้ออำนวย ถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งของ กอส.

 

การใช้องค์ความรู้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหา คือกระบวนการที่ทาง กอส.มั่นใจว่าหากจะแก้ไขปัญหาภาคใต้สำเร็จต้องใช้รูปแบบนี้ ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่กระตุ้นสำนึกให้หลายฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาภาคใต้ต้องตื่นตัว ตระหนักรู้ว่าหากจะมองปัญหาภาคใต้ต้องมี ‘แว่น’ พิเศษ ที่ต้องหามา 

 

ปัจจุบันนี้มีหลายภาคส่วนที่พยายามสร้างองค์ความรู้เรื่องภาคใต้ซึ่งสามารถไปหยิบจับมาศึกษาได้ แต่มุมมองแบบ กอส. ยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากที่สุด อย่างน้อยรายงาน กอส.ที่พยายามทำกันมาเป็นขวบปี รวมทั้งปรากฏการณ์เปิดเวทีให้วิพากษ์ ช่วยยื่นยันได้เป็นอย่างดีถึงความรอบด้านของข้อมูล แม้จะยังมีคนเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา และยังเป็นสิ่งที่ต้องการ เนื่องจากกระบวนการเรียนรู้แลกเปลี่ยนจะไม่มีจบสิ้น

 

หนังสือวิพากษ์รายงาน กอส.เล่มนี้ นอกจากเป็นหนังสือเชิงองค์ความรู้ที่เกิดจากการสร้างความมีส่วนร่วมมากที่สุดแล้ว ยังเป็นบทเรียนกับสังคมเพื่อการวิพากษ์ แลกเปลี่ยน และแสวงหาความรู้ร่วมกัน เป็น ‘แผนที่’ ทางความคิดที่หลายฝ่ายช่วยกันต่อเติมจนเสร็จสมบูรณ์  เนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือบทวิพากษ์จากบุคคลหลากหลายอาชีพ นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน ได้มองเข้าไปในจิตวิญญาณของสังคมไทย ส่วนที่สองคือการรวบรวมเวทีสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมในหลายภูมิภาคและหลายพื้นที่

 

หนังสือเล่มนี้ไม่มีวางขาย และผู้สนใจอาจหาอ่านยากสักหน่อย เนื่องจากคณะทำงานสื่อสารกับสังคม กอส.ไม่ได้ผลิตขึ้นมาเพื่อจำหน่าย ยอดพิมพ์เพียง 3,000 เล่มพร้อมซีดีรายงาน กอส.ทำขึ้นเพื่อแจกจ่ายไปยังภาคประชาสังคมในหลายภูมิภาคเพื่อกระจายไปให้ผู้ที่สนใจจริงๆ หรือสามารถติดต่อไปที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.02-849-6365

 

คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ คือการเติมเต็ม ส่วนที่กอส.มิได้พูดถึง  และจะทรงคุณค่ายิ่งขึ้นหากจะมีการพัฒนาแนวคิดต่อยอดขึ้นไปอีก เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยได้ร่วมคิด ร่วมหาทางสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยื่นถาวร

 

ณรรธราวุธ เมืองสุข
สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

หนังสือวิพากษ์รายงาน กอส. ‘แผนที่’ ความคิดดับไฟใต้