Skip to main content

 

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
หมายเหตุ: บทสนทนาดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างวงสนทนานานาชาติ "กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทของอาเซียน [PPP: PA(T)TANI PEACE PROCESS IN ASEAN CONTEXT]" ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 7 กันยายน 2555 ณ หอประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (กรุณาดูกำหนดการ ที่นี่) อันเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการนานาชาติรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และสันติศึกษาในบริบทอาเซียน โดยชัยวัฒน์กล่าวนำเสนอในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมอภิปรายเป็นภาษาอังกฤษและแลกเปลี่ยนเป็นภาษาไทย กองบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) ได้เก็บถ้อยความพร้อมกับแปลเนื้อหาบางส่วนเป็นภาษาไทยและเผยแพร่ไปก่อนหน้านี้แล้ว (กรุณาดู ที่นี่ และ ที่นี่) ข้อความข้างล่างนี้ได้รับการปรับปรุงและเพิ่มเติมแหล่งอ้างอิงโดยชัยวัฒน์เอง และอนุญาตให้เผยแพร่ซ้ำอีกครั้งในที่นี้
 
ผู้จัดได้ขอให้ผมพูดเรื่องสันติสนทนา ปกติผมไม่ค่อยจะตามใจผู้จัด ฉะนั้น สิ่งที่ผมจะทำคือการ “ทำ” การสันติสนทนา ประเด็นที่สอง ผมคิดว่า ผู้ที่เป็นผู้ฟังหลักของผมอาจจะไม่ได้อยู่ในห้องนี้ เพราะว่าผมต้องการที่จะพูดกับขบวนการต่อสู้แห่งปาตานี ฉะนั้น กลุ่มผู้ฟังหลักของผมคือกลุ่มขบวนการ
ผมจะพูดถึง 4 คำ คำแรกคือ ปัญหา คำที่สองคือ สมมุติฐาน คำที่สามคือ คำถาม และ คำสุดท้ายคือ ความรู้
จะขอเริ่มต้นด้วยปัญหา เรามีปัญหาอยู่ 2 ประเภท คือปัญหาของรัฐไทยและปัญหาของฝ่ายขบวนการ ปัญหาของรัฐไทยได้มีการพูดถึงมากและมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้นในงานของศ.ดร. ดันแคน แม็คคาร์โก ในหนังสือของเขา เรื่อง “ฉีกแผ่นดิน"[1] 
ในความเข้าใจของผม ในประเด็นเรื่องภาคใต้นี้ รัฐไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่เขา [ศ.แม็คคาร์โก] และผมเรียกว่า “โรคความชอบธรรมบกพร่อง” ไม่มีหนทางอื่นที่จะออกจากตรงนี้ได้ จะต้องจัดการกับปัญหา นั่นคือปัญหาของรัฐไทย เป็นโรคที่รัฐไทยได้เผชิญ แต่ปัญหาของฝ่ายขบวนการเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมคิดว่าพวกเขากำลังเผชิญกับ “สภาวะตาบอด” ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ความรุนแรง การตาบอดนี้เป็นเพราะเครื่องมือที่ใช้ ซึ่งก็คือความรุนแรง
ผลก็คือ มีคนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 5,000 คน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมดเป็นฝีมือของขบวนการ[2] เรายังคงจะต้องหาว่า มีจำนวนเท่าไหร่ที่เสียชีวิตจากการกระทำของขบวนการ จำนวนเท่าไหร่เสียชีวิตจากฝีมือของรัฐไทยหรือทหารพรานหรือว่าเกิดจากอาชญากรรมปกติ นี่คือปัญหาสองด้าน
สำหรับสมมุติฐาน ผมมีสมมุติฐานเกี่ยวกับขบวนการดังนี้ หนึ่ง ผมคิดว่าขบวนการเป็นคนที่มีเหตุมีผล พวกเขาไม่ใช่คนที่เสียสติ ถ้าพวกเขาเป็นคนที่ไม่มีเหตุผลหรือเสียสติ ผมจะไม่เสียเวลาพูดกับพวกเขา
สอง การใช้ความรุนแรงของพวกเขาเป็นสิ่งที่อธิบายได้ เพราะว่ามันเป็นเครื่องมือ และพวกเขาก็ใช้มันในฐานะเครื่องมือ
สาม จากมุมของพวกเขา สิ่งที่พวกเขาต่อสู้สามารถมองได้ว่ามีความชอบธรรม ผมพูดว่า จากมุมของพวกเขา สิ่งที่พวกเขากำลังต่อสู้สามารถมองได้ว่ามีความชอบธรรม จากมุมของคนอื่น แน่นอน มันไม่ชอบธรรม นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่า เรากำลังมีปัญหาเรื่อง”มุมมองที่แยกแย้งกัน” (discrepancy of perspectives) เรากำลังเผชิญกับปัญหาที่ ศ.ดร.แม็คคาร์โกพูดเกี่ยวกับเรื่องของความจริงเมื่อวานนี้ เรากำลังประสบกับปัญหาเดียวกัน
สี่ ผมไม่คิดว่ากลุ่มขบวนการเป็นกลุ่มก้อนเนื้อเดียวกัน ผมคิดว่าพวกเขามีความหลากหลาย ผมคิดว่าพวกเขาเองก็มีสภาวะที่แตกเป็นกลุ่มเล็กๆ และมีความแตกต่างกันในระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง ซึ่งประเด็นนี้ก็อาจจะไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของปาตานีเท่านั้น ผมคิดว่าที่อื่นๆ ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
สุดท้าย ผมคิดว่าขบวนการและการต่อสู้ของพวกเขานั้น ได้รับอิทธิพลจากความขัดแย้งใหญ่ในโลก เราสามารถที่จะวางการต่อสู้ของพวกเขาในบริบทของโลกได้ ถ้าเรามองย้อนกลับไป 40 – 50 ปี เราสามารถที่จะพูดถึงบริบทของขบวนการชาตินิยมต่อสู้เพื่อเอกราชเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว เราหมุนเวลาผ่านไป 30 ปี ก็จะเป็นช่วงของการปฏิวัติอิสลาม อีก 20 ปีต่อมา เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอีกในโลกคือการขยายตัวของการก่อการร้ายที่ถือกันว่าเกี่ยวข้องกับมุสลิมตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 และเมื่อปีที่แล้ว เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มประเทศอาหรับที่เรียกกันว่า Arab Spring จะเห็นได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงทั่วโลก
ซึ่งผมเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มีผลต่อความขัดแย้งในระดับท้องถิ่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ประเด็นในระดับท้องถิ่นนี้ สามารถที่จะวางไว้ในบริบทที่กว้างกว่าได้เช่นกัน ซึ่งในบางส่วนก็มีการใช้การก่อการร้ายด้วย
สำหรับคำถาม คำถามที่ผมต้องการจะถามสมาชิกขบวนการที่เป็นทั้งบุรุษและสตรีคือ เราจะช่วยขบวนการได้อย่างไร เพื่อที่ว่าพวกเขาจะไม่เห็นว่าความรุนแรงมีความจำเป็นอีกต่อไป
เมื่อวานนี้ ในการพูดของผม ผมพูดนิดหน่อยเกี่ยวกับเรื่องการใช้ความรุนแรง ซึ่งกล่าวโดยย่อ ผมบอกว่าความรุนแรงนั้นทำลายอำนาจ ศ.ดร.แม็คคาร์โกขอให้ผมอธิบาย ซึ่งผมก็พูดอะไรบางอย่างแต่ว่าอาจจะไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลมากนัก[3] ผมจะลองอีกที
ถ้าหากว่าคุณต้องการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงและอำนาจ ลองพยายามเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการข่มขืนกับการมีความสัมพันธ์ทางเพศ (sexuality) การข่มขืนฆ่าและทำลายความสัมพันธ์ทางเพศ ในความสัมพันธ์ทางเพศ คุณมีความรัก คุณมีความเข้าใจ คุณมีความใกล้ชิดสนิทสนม แต่ว่าเมื่อการข่มขืนเกิดขึ้น สิ่งเหล่านั้นก็หายไปหมด นั่นเป็นจุดจบของความสัมพันธ์ทางเพศ
ในลักษณะเดียวกัน เมื่อความรุนแรงเกิดขึ้น อำนาจก็มลายหายไป ดังนั้น การใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อคุณรู้สึกว่าคุณไม่มีอำนาจ นั่นคือความจริงพื้นฐานที่นักรัฐศาสตร์ในโลกส่วนใหญ่ไม่เข้าใจซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย พวกเขาสามารถที่จะถกเถียงอภิปรายเรื่องนี้ได้ตลอดเวลา
ทีนี้ ผลก็คือ ขบวนการจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจในหลายๆ เรื่อง อย่างน้อย 3 ประเด็น ผมคิดว่าวาระทางการเมืองของพวกเขา ควรได้ริเริ่มและสร้างอย่างรอบคอบในพื้นที่สาธารณะ ทั้งในบริบทของท้องถิ่นและระดับชาติ ซึ่งบางทีพวกเขาอาจจะต้องการความช่วยเหลือ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน
สอง พวกเขาต้องเข้าใจผลกระทบของการใช้ความรุนแรงต่อสิ่งที่พวกเขาต้องการต่อสู้อย่างเป็นจริงมากขึ้น สาม พวกเขาต้องคิดถึงความเป็นไปได้ของการใช้สันติวิธีแทนความรุนแรง
มีงานศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มติดอาวุธในโลกนี้มากมายหลากหลาย บางชิ้นก็ศึกษากลุ่มติดอาวุธ 60 กลุ่มใน 4 ทวีป งานเหล่านี้ต่างก็ได้ข้อสรุปเดียวกัน[4] ซึ่งผมอยากจะอ่านอะไรบางอย่างให้ฟัง ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า นี่ไม่ใช่สำหรับพวกคุณที่อยู่ในห้องนี้ แต่สำหรับขบวนการ
นี่เป็นคำพูดของนายมูเซเนวี ซึ่งเป็นหัวหน้าของกองทัพต่อต้าน (Resistance Army) ในประเทศอูกานดา บุคคลคนนี้มีความสำคัญและเขากล่าวสิ่งนี้ เขากล่าวว่า พวกคุณจะต้องไม่ทำงานผิดพลาด ดังนั้น เวลาที่คุณเลือกเป้าหมาย คุณต้องเลือกเป้าหมายอย่างรอบคอบ สิ่งแรก คุณจะต้องไม่โจมตีคนที่ไม่ติดอาวุธ ต้องไม่ทำ...ไม่ทำ...ไม่ทำ...เด็ดขาด นี่คือคำแนะนำไม่ใช่จากบุคคลที่เป็นนักศีลธรรม แต่ว่ามาจากหัวหน้ากลุ่มติดอาวุธ นายมูเซเนวีมีความสำคัญเพราะว่าหลายปีต่อมาเขาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอูกานดา[5]
เรื่องราวนี้อยู่ที่ไหน มันอยู่ในวารสารที่ชื่อว่า Military Review ซึ่งเป็นวารสารด้านการทหาร มีงานศึกษาต่างๆ มากมายที่พวกคุณควรจะทำความเข้าใจ มันมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเข้าใจเกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรง อาจารย์อะหมัดสมบูรณ์ (บัวหลวง) พูดว่ามีการพูดคุยมากมายเกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรงและสันติภาพ แต่ผมคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้อีกมาก ว่ามันทำงานอย่างไรและมันคืออะไรกันแน่
ผมจะขอยกตัวอย่างอีกอันหนึ่ง มีบทสัมภาษณ์ในประเทศตูนีเซีย อาจกล่าวได้ว่า ตูนีเซียเป็นกรณีที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิด Arab Spring และมันเกิดขึ้นอย่างสันติวิธีและประสบความสำเร็จ
นักข่าวได้ไปถามหนึ่งในแกนนำการเคลื่อนไหวว่า พวกเขาได้ต่อสู้กับรัฐมานาน ถ้าหากว่าพวกเขามีปืน จะเกิดอะไรขึ้น นักเคลื่อนไหวคนนั้นตอบโดยไม่ลังเลว่าผู้คนเป็นเรือนพันจะต้องตาย หากว่าประชาชนมีปืน สำหรับพวกเขา การริเริ่มใช้ความรุนแรงก็คือจุดจบของอำนาจประชาชน นั่นคือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของตูนีเซียและอาจจะอียิปต์ด้วย[6]
ลองดูสิ่งที่เกิดขึ้นในซีเรีย เมื่อมหาอำนาจเข้าไปสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน การปะทะด้วยความรุนแรงยังไม่หยุด แม้กระทั่งในเวลาที่ผมกำลังพูดอยู่นี้
อีกอย่างหนึ่งที่พวกคุณจะต้องเข้าใจคือ คุณควรจะดูถึงความสำเร็จของกระบวนการต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรงในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ.1940 – 2006 เปรียบเทียบกับการต่อสู้ด้วยความรุนแรง คุณจะเห็นว่าความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยความรุนแรงลดลงจาก 40 เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงว่าในช่วงทศวรรษ 1960 ความสำเร็จนั้นสูงสำหรับการใช้ความรุนแรง แต่ในช่วงปี 2006 มันได้ลดลง
เมื่อคุณมองดูความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยสันติวิธี มันเพิ่มขึ้นจาก 40 เป็น 70 เปอร์เซ็นต์ กราฟของผมง่ายมาก ความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยรุนแรงลดลงจาก 40 เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงในโลกเพิ่มขึ้นจาก 40 เป็น 70 เปอร์เซ็นต์
ประเด็นที่สองที่คุณจะต้องรู้คือ เราควรที่จะตั้งคำถามว่าเราควรจะใช้ความรุนแรงต่อไปไหม แล้วเราจะได้อะไร ผมขอพูดสิ่งนี้ 5 ปีหลังจากการต่อสู้ด้วยความรุนแรงจบ โอกาสที่สังคมนั้นจะเป็นประชาธิปไตยมีเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าใช้สันติวิธี โอกาสมี 41 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น 5 ปีหลังความขัดแย้งจบลง เราก็คงจะไม่ได้เห็นประชาธิปไตย คุณจะมีโอกาสเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ โอกาสของคุณจะเพิ่มขึ้น 10 เท่า หากว่าคุณใช้สันติวิธี
ประเด็นสุดท้าย โอกาสของการเผชิญกับสภาวะสงครามกลางเมืองเมื่อความขัดแย้งจบลง 10 ปีหลังจากความขัดแย้งจบลง โอกาสในการเกิดสงครามกลางเมืองคือ 43 เปอร์เซ็นต์ หากว่าคุณใช้ความรุนแรง และ 28 เปอร์เซ็นต์ หากว่าคุณใช้การต่อสู้อย่างสันติวิธี[7]
ผมอยากจะกลับไปที่ประเด็นเรื่องสมมุติฐาน ถึงขบวนการที่รักทุกท่าน ผมเข้าใจว่าพวกคุณเป็นคนที่มีเหตุมีผล ผมเข้าใจว่าพวกคุณไม่ใช่คนที่เสียสติ ผมเข้าใจว่าพวกคุณต่อสู้เพื่อเป้าหมายที่ดี ผมคิดว่ามันมีความจำเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ที่จะต้องร่วมกันค้นหาทางเลือกทางการเมืองอย่างจริงจัง ศ.ดร.แม็คคาร์โกได้กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นปัญหาทางการเมืองซึ่งต้องการทางออกทางการเมือง และทางออกทางการเมืองจำเป็นจะต้องมาจากทุกๆ ฝ่ายของความขัดแย้ง สิ่งที่จำเป็นมากกว่าคือ ความเข้าใจถึงผลของความรุนแรงต่อการต่อสู้ของพวกคุณ มันจะทำให้พวกคุณอ่อนแอลง
ผมเลือกที่จะพูดกับฝ่ายขบวนการในวันนี้ เพราะว่าผมได้ใช้เวลาหลายปีในการพูดกับรัฐและผมจะยังคงทำต่อไป แต่ผมหวังว่าเวทีนี้จะทำให้เกิดกระบวนการสันติภาพในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง มันไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องมานั่งเผชิญหน้า และก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องหลบซ่อนอยู่ในตู้ นี่เป็นการสนทนาในรูปแบบหนึ่ง และเป็นการสนทนาแบบเปิด
นี่คือสิ่งที่ผมต้องการที่จะยื่นให้กับคุณ ผมเป็นคนมุสลิม แต่ผมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ปาตานี ผมตระหนักในสิ่งนี้ดี แต่ว่าในฐานะของนักวิจัยเรื่องสันติภาพและนักทฤษฎีด้านการไม่ใช้ความรุนแรง ผมคิดว่าพวกคุณจำเป็นอย่างมากที่จะเข้าใจถึงพลวัตของการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งจะทำให้กระบวนการสันติภาพนั้นเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประโยชน์และทำลายสังคมใหญ่น้อยลง
Photo by Meen Photograher
 
 
ในช่วงท้าย ชัยวัฒน์ได้ตอบคำถามจากผู้ฟังในเวที ซึ่งมีความเห็นเพิ่มเติมที่น่าสนใจ ดังนี้
 
คำถาม: ดิฉันชื่อรุ่งรวี เป็นนักข่าว เป็นคนกรุงเทพฯ เป็นคนพุทธ เป็นลูกศิษย์อาจารย์ชัยวัฒน์ ต้องอธิบายหลายอย่างหน่อยก่อนที่จะพูดนะคะ อยากจะส่งเสียงแทน เพราะคิดว่าการเป็นคนพุทธและคนกรุงเทพฯ อาจจะทำให้พูดอะไรบางอย่างได้มากกว่าคนในพื้นที่ที่เป็นคนมลายูมุสลิมที่มีโอกาสได้ไปสัมผัสและพูดคุยด้วย จริงๆ ชอบสิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์อธิบายมากและคิดว่ามันมีพลังมาก
 
อยากจะลองท้าทายสิ่งที่อาจารย์พูดจากสิ่งที่ไปได้ยินได้ฟังมาจากคนที่อยู่ในขบวนการบางคน เขาเล่าว่าที่อาจารย์พูดว่า ความรุนแรงทำให้อำนาจเขาน้อยลงและควรจะที่จะใช้สันติวิธีในการต่อสู้ แต่ในมุมของคนที่เขาต่อสู้ เขาอาจจะบอกว่าหะยีสุหลงหายตัวไปหลังจากเสนอข้อเสนอ 7 ข้อ ซึ่งนั่นเป็นการเรียกร้องอย่างสันติวิธีที่เคยเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์ แต่เมื่อมีการเรียกร้องเช่นนั้นแล้ว สิ่งที่ได้รับก็คือ เขาหายตัวไป จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น
 
หลังจากนั้นก็มีการก่อตัวของขบวนการติดอาวุธตั้งแต่ปี 1960 มาและไม่เคยจบจนถึงขณะนี้ คนที่อยู่ในขบวนการบางคนก็พูดว่า เขาไม่เชื่อมั่นในหนทางการต่อสู้ในหนทางรัฐสภาหรือการต่อสู้ในระบบ เพราะมันไม่เคยทำให้เขาได้ในสิ่งที่เขาเรียกร้องอย่างแท้จริง กลุ่มวะดะห์อยู่ในอำนาจก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้มากนัก แล้วถ้าหากว่าเขาไม่มีกองกำลังทหารอยู่ ทุกวันนี้ รัฐบาลก็คงไม่ฟังเขา ภาษาที่รัฐใช้จากปี พ.ศ. 2547 มาจนถึงตอนนี้ เราก็เห็นได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงมาระดับหนึ่ง นั่นเป็นผลจากการที่พวกเขาได้ต่อสู้ในหนทางแบบนี้หรือเปล่า แล้วถ้าจะพูดคุย รัฐบาลจะหลอกเขาหรือเปล่าให้ออกมา เพื่อที่จะทำลายขบวนการ นี่เป็นประเด็นที่อยากจะลองถามอาจารย์ว่าอาจารย์จะตอบพวกเขาอย่างไรบ้างคะ
 
ชัยวัฒน์: คำถามที่ 1 เรื่องของหะยีสุหลง ผมคิดว่ามีการพูดกันเยอะว่าท่านหะยีสุหลงจากไปแล้ว หายไป ผมคิดว่าเป็นการเข้าใจผิดอย่างสาหัส ผมไม่เคยรู้สึกเลยว่าหะยีสุหลง มีชีวิตเลื่องลือ เป็นที่ชื่นชมมากเท่ากับในหลายปีที่ผ่านมา ในทุกวงที่ผมไป ข้อเสนอของหะยีสุหลง come alive (กลับมามีชีวิต) ทั้ง 7 ข้อ ผมคิดว่าถอยไป 30 ปี 1 อาทิตย์ 2 เดือน หลังจากท่านหะยีสุหลงหายไป   ผมคิดว่าชื่อเสียงของท่านไม่ขจรขจาย ไม่ได้มีชีวิต ไม่ได้โด่งดังเหมือนกับสมัยนี้เลย เพราะฉะนั้นผมคิดว่า message ของหะยีสุหลงคืออะไร หะยีสุหลงเป็นตัวแทนของการเรียกร้องที่ชอบธรรม เป็นตัวแทนของการเรียกร้องที่เป็นสันติวิธี ข้อเสนอทั้ง 7 ข้อ ไม่ได้เสนอให้แม้กระทั่ง British Malaya แต่เสนอให้กับฝ่ายสยาม ฝ่ายไทยในสมัยนั้น กำลังจะบอกว่ามีวิธีการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร วันนี้ก็มีความพยายามที่นำข้อเสนอของหะยีสุหลงมาพูดในเวทีเกือบทุกเวที แปลว่าอะไร แปลว่าความคิดนี้ยังมีชีวิตอยู่
 
คุณสมชาย นีละไพจิตร หายไป แต่ว่างานที่คุณสมชายทำ มรดกที่คุณสมชายมี การต่อสู้เพื่อความยุติธรรม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมก็ใช้คุณสมชายเป็นแรงบันดาลใจ ...ในแง่นี้เวลาบอกว่าใครเป็นตาย ไม่ใช่ดูแค่ว่าชีวิตจากไปไหม จะพูดในทางศาสนาก็ได้ ทางการเมืองก็ได้ ความตายของบุคคลเหล่านี้มีความหมายมหาศาล แต่มันปลูกอะไร มันปลูกความหวัง มันปลูกการต่อสู้ใช่ไหม
 
คำถามต่อไปคือต่อสู้อะไร ต่อสู้ด้วยวิธีไหน คุณสมชายต่อสู้ด้วยการใช้กฎหมาย ด้วยความเชื่อในระบบกฎหมายของรัฐ และด้วยความกล้าหาญ อันนี้ไม่ใช่เหรอเป็นแนวทางของสันติวิธีตลอดมา
 
คำถามที่สอง ...สันติวิธีไม่ใช่เรื่องของรัฐสภานะครับ รัฐสภาเป็นส่วนนิดเดียวของสันติวิธี ...ผมไม่ได้หมายความว่าให้นั่งเฉยๆ เขียนจดหมาย การต่อสู้ด้วยสันติวิธี มีนับไม่ถ้วนวิธีเลย สันติวิธีไม่ใช่แค่เดินขบวนบนถนนแล้วบอกว่านี้เป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี อยู่ที่บ้านก็เป็นได้ หลังเหตุการณ์พฤษภา’35 ผมเสนอว่าวิธีการหนึ่งที่จะต่อสู้กับเผด็จการทหารในสมัยนั้น ผมพูดกับนักหนังสือพิมพ์ว่า ลองถอนเงินจากธนาคารในสมัยนั้นดูซิ สะเทือนเลย การถอนเงินเป็นสิทธิโดยชอบของประชาชนทุกคน เงินเป็นของคุณ แต่ถามว่าถอนแล้วเกิดอะไรขึ้น ผมว่าสะเทือนเลย ไม่กี่วันหลังจากนั้น กรรมการผู้จัดการธนาคารแห่งหนึ่งออกมาพูดว่า ธนาคารของเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายที่ยึดอำนาจหรือฝ่ายทหาร
 
สันติวิธีมีเยอะ ที่จะทำการต่อสู้แบบนี้ได้ สภาก็เป็นส่วนหนึ่งแต่มันเล็ก เจรจาส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ในสิ่งเหล่านี้ ที่นี้ถามว่าใช้ความรุนแรงแล้วเป็นอย่างนี้ คุณนาตยาถามว่า แล้วชาวบ้านในหมู่บ้านเป็นยังไง ผมว่าน่าสนใจนะครับ ทุกเวทีทุกสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งชนิดที่ถึงตาย ระหว่างฝ่ายหนึ่งเป็นภาครัฐและอีกฝ่ายหนึ่งเป็นอะไรก็แล้วแต่ คนที่เดือดร้อนลำบากคือใคร ผมว่าชาวบ้านธรรมดาที่เดือดร้อน คนธรรมดาๆ ตอนนี้ ติดกับในสิ่งเหล่านี้ แล้วจะให้เขาพูดอะไร เวลานี้เขาทำอะไร เขาก็ทน ถามเขา เขาก็ไม่พูด นี่คืออันตรายไม่ใช่เหรอ ผมคิดว่าสิ่งที่เรียกร้องก็คือว่า วันนี้พูดกับผู้ก่อการ เพราะว่าพูดกับภาครัฐมาเยอะแล้ว จนเขารำคาญแล้ว แต่ในสถานการณ์อย่างนี้คนที่ตกเป็นเหยื่อก็คือชาวบ้านธรรมดา ฉะนั้นเวลาบอกว่าจะต้องฟังเสียงของชาวบ้าน ผมว่าความปลอดภัยชีวิตปกติสำคัญ
 
คิดดูนะครับว่าเด็กวันนี้ที่อายุ 10 ขวบในหมู่บ้านเล็กๆ ในยี่งอ (จังหวัดนราธิวาส) โตมาโดยที่ไม่ได้เห็นเลยว่าพื้นที่ตรงนี้มีความปลอดภัยขนาดไหน 10 ขวบแล้วนะ แล้วเราอยากจะเห็น generation ต่อไปเป็นอย่างนี้หรือ แล้วหน้าที่ของ peace research หน้าที่ของการทำงานเพื่อสันติภาพคืออะไร ถ้าไม่คิดถึง generation ต่อไป ผมว่านี่คือโจทย์สำคัญและสันติวิธีพยายามที่จะพูดถึงปัญหาตรงนี้ ไม่ใช่แค่บอกว่ามี autonomy หรือ peace process นี่เป็นส่วนหนึ่งของมัน แต่ความรุนแรงก็เป็นเงื่อนไขเบื้องต้น ถ้าไม่ทำเช่นนี้ เรื่องอื่นก็จะตามมาไม่ได้
 
ผมคิดว่าเป็นเวลาที่ดีที่จะต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจังสักที และทำความเข้าใจการใช้สันติวิธีทั้งภาครัฐและใครก็ได้ที่ใช้ความรุนแรงในเวลานี้ ผมคิดว่าดูเบาอำนาจของมันมากเกินไป แล้วหลงอยู่ในกับดักของความรุนแรงทั้งสองฝ่าย ได้เวลาเปิดตาหรือยัง!?
 
 
Remark: Please see the English version on DSJ’s website:http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3528

Photo by Sufian Alee [PPS: Photo Peace of South]

 

[1] Duncan McCargo, Tearing Apart the Land: Islam and Legitimacy in Southern Thailand (New York: Cornell University Press, 2008) โครงการจัดพิมพ์คบไฟกำลังจะตีพิมพ์หนังสือสำคัญเล่มนี้เป็นภาษาไทยภายในปีนี้ (2555)
[2] โปรดพิจารณาความเห็นต่อตัวเลขคนเจ็บคนตายในกรณีความรุนแรงภาคใต้ว่าทั้งหมดอาจมิได้เกิดจากปัญหาทางการเมืองได้ใน Mark Askew, “Insurgency and the Market for Violence in Southern Thailand: ‘Neither War nor Peace’,” Asian Survey Vol.50 No.6 (2010), pp.1115-1116
[3] โปรดพิจารณาการพิเคราะห์ปัญหานี้โดยพิสดารใน Chaiwat Satha-Anand, “Violence as Anti-Politics: A Political Philosophy Perspective”. A Paper Presented at the 21st World Congress of Political Science in Santiago, Chile, 12-16 July, 2009 published in Global Nonkilling Working Papers # 3 • 2010, pp. 69-82
 
[4] Olivier Bangerter, “Reasons why armed groups choose to respect international humanitarian law or not,” International Review of the Red Cross Vol. 93 No. 882 (June 2011), pp. 353-384. [กรุณาดู http://www.icrc.org/eng/assets/files/review/2011/irrc-882-bangerter.pdf]
[5] Yoweri Kaguta Museveni, “The strategy of protracted people’s war: Uganda”, Military Review (November-December, 2008), p.7. [กรุณาดู http://usacac.army.mil/CAC2/MilitaryReview/Archives/English/MilitaryReview_20081231_art005.pdf]
[6]Ahmed E. Souaiaia, “Can non-violent resistance and armed rebellion co-exist?” August 14, 2012 (www.opendemocracy.net) [กรุณาดู http://www.opendemocracy.net/ahmed-e-souaiaia/can-non-violent-resistance-and-armed-rebellion-co-exist]
 
[7]Erica Chenoweth, “Confronting the myth of the rational insurgent” (February 2, 2012) (http://www.nakedcapitalism.com) [กรุณาดู http://www.nakedcapitalism.com/2012/02/erica-chenoweth-confronting-the-myth-of-the-rational-insurgent-2.html] โปรดพิจารณาตัวอย่างข้อมูลที่ละเอียดกว่านี้ได้ใน Erica Chenoweth & Maria J. Stephan, Why Civil Resistance Works: The Strategic Logic of Nonviolent Conflict  (New York: Columbia University Press, 2011), Ch.8, pp. 201-219.