Skip to main content
มูฮำมัดอายุบ ปาทาน
 
ในเวลานี้ ผมอยากแนะนำให้คนที่สนใจติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะคนทำงานในกลุ่มและเครือข่ายประชาสังคมได้ย้อนกลับไปอ่านรายงานวิจัยที่ผมและคณะมีส่วนจัดทำขึ้นเมื่อปี 2554 เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับบทบาทของกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่แห่งนี้ และที่สำคัญ “ตัวตน” ของพวกเขาในกระบวนการสันติภาพ
 
 
ที่จริงแล้วก่อนหน้านี้ ประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีจุดอ่อนอยู่บ้าง ซึ่งเกิดจากสภาพต่างคนต่างทำ แต่ละกลุ่มเปิดใจรับฟังความเห็นที่แตกต่างกันน้อยมาก ส่งผลให้การขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในชายแดนภาคใต้ขาดพลัง ผมคิดว่าคนทำงานในกลุ่มเหล่านี้ต้องถามตัวเองด้วยว่า ที่ผ่านมาทำงานอย่างไร เป็นนักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหว ทำงานเพื่อประชาชนหรือทำงานเพื่อรัฐ ทำงานเครือข่ายหรือขับเคลื่อนเครือข่าย คำถามเหล่านี้สำคัญต่อตัวผู้ขับเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็มีการพยายามปิดจุดอ่อนเหล่านี้ โดยมีการแลกเปลี่ยนถกเถียงกันมากยิ่งขึ้นระหว่างกลุ่มประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ รวมไปถึงกับองค์กรต่างประเทศอีกด้วย ขณะเดียวกันก็มีท่าทีในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างมากยิ่งขึ้น ตลอดจนมีเริ่มมีการทำงานเชื่อมต่อเครือข่ายมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน สัญญาณที่ว่านี้เป็นมุมบวกต่อกระบวนการสันติภาพโดยรวม
ในงานวิจัยชิ้นนั้น นอกจากจะเป็นการทำความเข้าใจว่าจริงๆ แล้ว กลุ่มประชาสังคมที่หลายคนกำลังพูดถึงอยู่ในขณะนี้คืออะไรกันแน่ อำนาจต่อรองของพวกเขามาจากไหน และพวกเขาจะเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร โดยเฉพาะบทบาทที่หนุนเสริมต่อกระบวนการสันติภาพ
ที่จริงแล้ว กลุ่มประชาสังคมที่พอสรุปได้ว่าคือกลุ่มอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่รัฐและไม่ถือปืนนี้ อำนาจต่อรองมาจากการรวมกลุ่มโดยสมัครใจและทำงานขับเคลื่อนด้วยเครือข่าย แต่ทั้งนี้ หากรวมกลุ่มกันเฉยๆ ก็คงไม่เกิดอำนาจต่อรองอะไรมาก แต่ต้องทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายและร่วมกันขับเคลื่อนกันเป็นขบวนการ ไม่ใช่เพียงแต่จัดกิจกรรมเป็นงานๆ ไป
ส่วนกระบวนการสันติภาพที่พูดเมื่อตอนต้นนั้น เรื่องนี้แม้จะยังไม่ชัดเจนเป็นก้อนๆ อะไรมาก แต่หากมองกลุ่มประชาสังคมทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการผลักดันกระบวนการสันติภาพจากการทำงานที่ตนเองทำอยู่แล้ว แต่ต้องเชื่อมโยงให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะสัมพันธ์กับสันติภาพในภาพใหญ่ได้อย่างไร สิ่งนี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อมุ่งทำงานที่ตนเองถนัด แต่ต้องมีจุดเชื่อมต่อในการทำงานเชิงยุทธศาสตร์
ที่สำคัญคือการสื่อสารระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง และการเปิดใจกว้างยอมรับความแตกต่างหลากหลายของผู้คน และต้องคิดให้ตกไปว่าเราไม่สามารถทำงานกลุ่มเดียวได้ เราจำเป็นต้องเกาะกันไว้เป็นเครือข่ายเท่านั้น สันติภาพจึงจะก่อตัวขึ้นจากสิ่งเหล่านี้