Skip to main content

 

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
สถานวิจัยความจัดแย้งและความลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ. ปัตตานี
 
 
 
 
ประชาชนเห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ?
 
เมื่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างซึ่งเลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ (กลุ่มบีอาร์เอ็น) ปรากฎขึ้นอย่างเปิดเผย ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เกิดสันติภาพจริงๆ ได้มากน้อยเพียงใด? คำถามที่ว่านี้น่าสนใจและมีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (CSCD) จึงได้ดำเนินการศึกษาโดยสุ่มตัวอย่างจากตำบลทั้งหมดที่มีอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อพยายามค้นหาคำตอบดังกล่าวผ่านการสำรวจความคิดเห็น (Deep South Poll)[1]
 
สิ่งที่เราค้นพบก็คือประชาชนร้อยละ 67.17 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มบีอาร์เอ็น ส่วนอีกร้อยละ 32.83 ให้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ การยอมรับและเชื่อมั่นกระบวนการสันติภาพนี้มีตัวเลือกในการให้คะแนนโดยประเมินจาก 0-10 ซึ่งหากผู้ประเมินให้คะแนนตั้งแต่ 5-10 ถือว่าผ่านเกณฑ์หรือยอมรับ และให้ความเชื่อมั่นหรือเกณฑ์ผ่านมากกว่าร้อยละ 50 แต่ถ้าให้คะแนนต่ำกว่านี้ให้ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์หรือไม่ให้การยอมรับเชื่อมั่นกระบวนการสันติภาพ
 
            ประเด็นน่าสนใจก็คือว่า เมื่อพิจารณาจากคะแนนเฉลี่ยในการประเมินดังกล่าวโดยรวมแล้ว พบว่ามีระดับคะแนนที่ 5.16 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีคะแนนที่ให้ผ่านเกณฑ์ในระดับปานกลาง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพที่ “ริเริ่ม”การพูดคุยสันติภาพกัน จึงเป็นไปได้ที่จะยังคงมีปัจจัยความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนอยู่ไม่น้อย ขณะที่ในบางส่วนก็จำต้องได้รับการแก้ไขเพื่อที่จะให้ประชาชนมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
 
แผนภาพที่ 1 – ผลการให้คะแนนต่อการยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
 
 
            การวิจัยสำรวจในครั้งนี้ได้สุ่มตัวอย่างประชากรในระหว่างวันที่ 21-25 มีนาคม 2556 หรือหลังจากการลงนามในฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างสองฝ่ายเกือบหนึ่งเดือน และก่อนหน้าจะมีการพูดคุยอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 28 มีนาคม เพียงประมาณหนึ่งสัปดาห์ การสุ่มตัวอย่างดังกล่าวมาจากฐานตำบลทั้งหมดที่มีอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อให้ได้ตำบลจำนวน 187 ตำบล จากนั้นก็สุ่มตัวอย่างหมู่บ้านในตำบลดังกล่าว โดยได้กำหนดหมู่บ้านตัวอย่างจำนวน 374 หมู่บ้าน จากนั้นจึงได้เก็บตัวอย่างประชากรหมู่บ้านละ 5 คน รวมเป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดประมาณ 1,870 ตัวอย่าง จึงพอเชื่อได้ว่าได้มีการสุ่มตัวอย่างตามหลักวิชาการทางสถิติที่ค่อนข้างกระจายทั้งพื้นที่และสัดส่วนประชากร เพราะฉะนั้น ความเห็นของกลุ่มตัวอย่างจึงน่าจะสะท้อนใกล้เคียงความเป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมดได้
 
ปัญหาที่สำคัญที่สุดในชุมชนคืออะไร?
 
การสำรวจฯ ยังได้ตั้งคำถามให้ประชาชนระบุปัญหาที่สำคัญที่สุดในชุมชน แมัจะมีหลายประเด็นปัญหาแต่เมื่อลำดับความสำคัญแล้ว ปัญหายาเสพติดเป็นประเด็นที่สำคัญมากที่สุดเป็นลำดับแรก (ร้อยละ 70) ลำดับที่สองคือปัญหาการว่างงาน (ร้อยละ 49) ปัญหาสำคัญลำดับที่สามคือปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบ (ร้อยละ 30) ในขณะที่ปัญหาความยากจนตามมาเป็นลำดับที่สี่ (ร้อยละ 26) ส่วนปัญหาสำคัญในลำดับที่ห้าคือปัญหาการไม่มีที่ดินทำกิน (ร้อยละ 17) นอกจากนั้น ยังมีการกล่าวถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาความขัดแย้งส่วนตัวหรือระหว่างกลุ่มในชุมชน รวมไปถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ กล่าวโดยสรุปก็คือ ประชาชนระบุว่าปัญหาที่สำคัญในระดับชุมชนก็คือปัญหายาเสพติด การว่างงาน และปัญหาความไม่สงบ ตามลำดับ
 
เมื่อให้ลำดับความต้องการเร่งด่วนในการช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาจากภาครัฐ ความต้องการของประชาชนเรียงลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้ คือ การจ้างงานและอาชีพของเยาวชน (ร้อยละ 24.1) การแก้ปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 17.5) การเพิ่มรายได้ของครัวเรือน (ร้อยละ 16.4) และการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์ (ร้อยละ 10.8)
 
ประเด็นปัญหาเรื่องการก่อความไม่สงบ
 
แม้ว่าในระดับชุมชน ประชาชนจะกล่าวถึงปัญหายาเสพติดและปัญหาการว่างงาน แต่เมื่อกล่าวถึง ปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้ มีผู้ตอบถึงร้อยละ 43.1 ระบุว่าในหมู่บ้านหรือชุมชนของตนเองเคยเกิด เหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งถือได้ว่ามีอยู่ในระดับค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาจากกลุ่มตัวอย่างการศึกษาครั้งนี้ที่กระจายไปกว่า 50 อำเภอ และ 187 ตำบล ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ภาพจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อตั้งคำถามว่าเคยมีประสบการณ์ส่วนตัวต่อเหตุการณ์ความไม่สงบหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 71 บอกว่า “ไม่เคย” มีประสบการณ์โดยตรงกับปัญหาความไม่สงบ แต่ว่าในกลุ่มตัวอย่างของผู้ที่ระบุว่า เคยมี” ประสบการณ์กับเหตุการณ์ความไม่สงบนั้น ปรากฏว่ามีคนซึ่งมีเพื่อนหรือคนรู้จักเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บหรือหายตัวไปมีจำนวนสูงถึงร้อยละ 25 ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือว่ามีผู้ที่สมาชิกในครัวเรือนหรือญาติสนิทเสียชีวิตจากเหตุการณ์มีอยู่ประมาณร้อยละ 6 ส่วนผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ปราบปรามหรือปิดล้อมตรวจค้นก็พบว่ามีอยู่ประมาณร้อยละ 4 และเป็นผู้ที่มีสมาชิกในครัวเรือนหรือญาติสนิทถูกจับหรือถูกเชิญตัวไปสอบสวนอยู่ร้อยละ 4
 
ดังนั้น ข้อมูลการสำรวจชุดนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กระจายไปทั่วทั้งพื้นที่ในปัจจุบัน โดยหลังจากที่คลื่นความรุนแรงได้ผ่านมากว่า 9 ปี และมียังผลกระทบไม่น้อยต่อผู้คนในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในภาพรวม มีผู้ที่รายงานว่าเคยมีประสบการณ์โดยตรงต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในทุกประเภทรวมกันอยู่ประมาณร้อยละ 29 ซึ่งถ้าคิดย้อนกลับค่าความเป็นตัวแทนของประชากรจริงๆ ในพื้นที่ซึ่งมีประชากรมากกว่า 2 ล้านคนแล้ว ก็น่าจะเป็นตัวเลขที่สูงเป็นอย่างมาก โดยอาจเป็นจำนวนหลักแสนคนหรือมากกว่านั้น
 
            เมื่อถามว่าสถานการณ์ความไม่สงบมีผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจและการทำมาหากินของท่านเพียง ใด? ประชาชนมากถึงร้อยละ 78.2 เชื่อว่าเหตุการณ์ความไม่สงบมีผลอย่างมากถึงมากที่สุดต่อเศรษฐกิจ และ ชีวิตความเป็นอยู่ทำมาหากินของตนเอง แสดงว่าในรอบปีที่ผ่านมา ความรุนแรงมีผลกระทบต่อประชาชน ส่วนมาก โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ ในการนี้รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมากถึงกว่าสองแสนล้านบาท ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถาม ประมาณร้อยละ 50.7 พึงพอใจกับการแก้ปัญหาดังกล่าว ส่วนที่เหลืออีกด้านหนึ่งไม่พึงพอใจกับนโยบายการพัฒนาของรัฐ โดยมีอยู่ประมาณร้อยละ 49 ที่มีความพึงพอใจน้อย จึงกล่าวได้ว่าความพยายามของรัฐในการแก้ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุความไม่สงบได้ผลทั้งในด้านความพึงพอใจและไม่พึงพอใจมากพอๆ กัน ซึ่งอาจจะนับได้ว่าเป็นผลกระทบของนโยบายที่ก้ำกึ่งกันมาก
 
มุมมองด้านลึกต่อ ‘กระบวนการสันติภาพ’
 
            ในความเชื่อมั่นที่มีต่อกระบวนการสันติภาพดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น ผู้ให้คำตอบส่วนใหญ่มีระดับความเชื่อมั่นยอมรับกระบวนการสันติภาพถึงร้อยละ 67 และส่วนใหญ่มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยประมาณ 5 หรือ 6 จากคะแนนเต็ม 10 เพื่อให้เข้าใจภาพให้ละเอียดขึ้น คณะผู้วิจัยจึงเปรียบเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามสองกลุ่มใหญ่ที่เป็นองค์ประกอบหลักของประชากรในพื้นที่ อันประกอบด้วยคนมุสลิมและคนพุทธ ผลการวิจัยพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นคนมุสลิมมีแนวโน้มจะให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพสูงกว่ากลุ่มชาวไทยพุทธ กล่าวคือผู้ที่เป็นมุสลิมให้คะแนนความเชื่อมั่น “ผ่านเกณฑ์” ความเชื่อมั่นในระดับค่าเฉลี่ย 5.24 ส่วนผู้ตอบ ส่วนผู้ที่เป็นชาวพุทธให้คะแนนความเชื่อมั่นโดยเฉลี่ย 4.70 น่าสังเกตว่ากลุ่มหลังนี้ระดับความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ “ไม่ผ่านเกณฑ์” คะแนนความเชื่อมั่น ความแตกต่างกันระหว่างสองกลุ่มนี้มีนัยสำคัญทางสถิติ สะท้อนว่า พี่น้องชาวพุทธในพื้นที่อาจจะยังมีความลังเลใจอยู่บ้างต่อกระบวนการสันติภาพในระยะเริ่มต้น แต่ก็ควรสังเกตด้วยว่าคะแนนเฉลี่ยก็ไม่ต่ำมากนัก และยังอาจจะปรับสูงขึ้นได้ถ้ามีการชี้แจงทำความเข้าใจต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ตลอดจนมีสัญญาณที่พอจะให้หลักประกันต่อความมั่นคงปลอดภัยของชุมชนไทยพุทธมากขึ้นจากกระบวนการสันติภาพ
 
แผนภาพที่ 2 – ระดับคะแนนความเชื่อมั่นและยอมรับต่อการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐที่เลือกใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กับรัฐ
 
ตารางที่ 1 – เปรียบเทียบคะแนนความเชื่อมั่นกระบวนการสันติภาพกับภูมิหลังศาสนา
 
ศาสนา
Mean
N
Std. Deviation
อิสลาม
5.24
1480
1.945
พุทธ
4.70
325
2.200
Total
5.15
1805
2.004
 
ผลการวิจัยยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเคยมีประสบการณ์เหตุการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มจะให้ คะแนนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพสูงกว่ากลุ่มผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ กล่าวคือผู้ที่มีประสบการณ์ ให้คะแนนความเชื่อมั่น “ผ่านเกณฑ์” ในระดับค่าเฉลี่ย 5.38 ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่มีประสบการณ์ดังกล่าวให้คะแนนความเชื่อมั่นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.07 ซึ่งอยู่ในระดับ “ผ่านเกณฑ์” คะแนนความเชื่อมั่น ความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนี้มีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ายิ่งมีประสบการณ์เหตุการณ์ความไม่สงบด้วยตัวเองก็ยิ่งจะเห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ
 
ตารางที่ 2 – เปรียบเทียบกับผู้ตอบสองกลุ่มที่เป็นผู้เคยมีประสบการณ์ความรุนแรงจากความไม่สงบและไม่มีประสบการณ์ฯ
 
 
Mean
N
Std. Deviation
มีประสบการณ์
5.38
540
2.062
ไม่มีประสบการณ์
5.07
1305
1.992
Total
5.16
1845
2.017
 
นอกจากนี้ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามยังมีข้อเสนอประเด็นการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐกับกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐ โดยเรียงตามลำดับความสำคัญหกอันดับแรกได้ดังต่อไปนี้ อันดับแรก เรื่องการหยุดยิงและยุติความรุนแรงโดยทันทีของทุกฝ่าย (ร้อยละ 67) อันดับที่สอง เรื่องการถอนทหารออกจากพื้นที่ (ร้อยละ 35) อันดับที่สาม คือการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เจริญรุ่งเรือง (ร้อยละ 30) อันดับที่สี่ ควรมีการแก้ ปัญหายาเสพติดร่วมกัน (ร้อยละ 23) อันดับที่ห้า ควรมีการการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ร้อยละ 20) และอันดับหก ให้มีการอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างศาสนาและวัฒนธรรม (ร้อยละ 17)
 
แผนภาพที่ 3 – กราฟแสดงการให้น้ำหนักต่อประเด็นในการพูดคุยเจรจาที่ควรจะเป็นในมุมมองของประชาชนชายแดนใต้
 
 
ประเด็นสำคัญจากการสำรวจครั้งนี้อีกประการก็คือ ประชาชนยังเห็นด้วยและสนับสนุนบทบาทของการสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อให้เป็นตาข่ายนิรภัยเสริมกระบวนการสันติภาพในระหว่างการพูดคุยกับกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ (Safety Net)[2] เมื่อถูกถามในเรื่องนี้มีผู้ที่เห็นด้วยหรือสนับสนุนสูงมากถึงร้อยละ 86.2
 
แผนภาพที่ 4 – ความคิดเห็นของประชาชนชายแดนใต้ต่อการสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ
 
 
ความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคนหรือองค์กรต่างๆ ในพื้นที่
 
            การสร้างบรรยากาศที่ดีในกระบวนการสันติภาพเป็นกระบวนการของการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ ของผู้คนในสังคม การสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจนี้ควรจะต้องเกิดขึ้นในทุกระดับ เพื่อที่จะให้เกิดบรรยากาศการพูดคุยหรือสานเสวนาระหว่างคนในสังคมที่มีความขัดแย้ง ซึ่งไม่เพียงเฉพาะเป็นการพูดคุยของผู้คนในระดับสูงหรือผู้กำหนดทิศทางของคู่ขัดแย้งหลักเท่านั้น หากแต่ยังต้องสร้างกระบวนการพูดคุยในระดับของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและระหว่างผู้คนในระดับรากหญ้าด้วยเช่นกัน ดังนั้น การทดสอบระดับของความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อบุคคล กลุ่มและองค์กรต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงมีความสำคัญ
 
            การสำรวจในที่นี้จะเป็นการประเมินความเชื่อมั่นไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อกลุ่มบุคคลและกลุ่มองค์กรทั้งเอกชนและรัฐ โดยการสำรวจความเชื่อมั่นไว้วางใจจะพิจารณาจากภารกิจงานในสองประเภท คือในงานด้านการพัฒนาและในงานด้านกระบวนการสันติภาพ เมื่อถามเกี่ยวกับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคนหรือองค์กรในด้านการพัฒนา ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามวางลำดับความเชื่อมั่นไว้วางใจลำดับที่ 1 ให้กับกลุ่มหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารสุข เจ้าหน้าที่อนามัย ลำดับที่ 2 คือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและผู้นำศาสนา (อิหม่ามหรือพระ) ลำดับที่ 3 คือ ครูโรงเรียนรัฐบาล ลำดับที่ 4 คือ ศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต). และลำดับ ที่ 5 คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มที่มีคะแนนต่ำสุดในด้านความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อการพัฒนา คือ กองกำลัง อส. และทหารพราน ทั้งสองกลุ่มนี้มีค่าระดับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่ำที่สุด
 
แผนภาพที่ 5 – ลำดับความเชื่อมั่นไว้วางใจกลุ่มคนหรือองค์กรเกี่ยวกับการพัฒนา
 
 
            เมื่อถามความเชื่อมั่นไว้วางใจเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยและการสร้างสันติภาพ กลุ่มที่ประชาชน ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจลำดับที่ 1 คือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ลำดับที่ 2 คือครูโรงเรียนรัฐบาล ลำดับที่ 3 คือ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่อนามัย ลำดับที่ 4 คือ ศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) และ ลำดับที่ 5 คือ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนกลุ่มที่มีคะแนนต่ำมากคือ เจ้าหน้าที่ทหารและทหารพราน ซึ่งมีระดับค่าความเชื่อมั่นไว้วางใจต่ำสุด
 
แผนภาพที่ 6 - ลำดับความเชื่อมั่นไว้วางใจกลุ่มคน หรือองค์กรเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยและการสร้างสันติภาพ
 
 
            ความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อผู้นำศาสนาที่มีอยู่สูง รวมทั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่ในด้านสาธารณสุข และกลุ่มครู แสดงให้เห็นว่า ผู้นำศาสนามักจะได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจมาก ซึ่งเป็นแบบแผนที่มักปรากฎขึ้นทุกครั้งเมื่อมี การศึกษาสำรวจความเชื่อมั่นไว้วางใจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนหน้านี้ (กรุณาดูผลสำรวจในปี 2552, 2553 และ 2554)[3] แต่เมื่อพิจารณาในส่วนของกลุ่มบุคคลหรือ องค์กรของรัฐ จะเห็นได้ชัดว่างานบริการที่ใกล้ชิดชุมชน เช่น งานสาธารณสุขและการศึกษา ก็ยังได้รับการยอมรับค่อนข้างสูง แม้ว่ากลุ่มครูซึ่งมักเป็นเป้าหมายของการทำร้ายในบางครั้ง แต่ในระยะหลังผลจากการสำรวจความคิดเห็นก็แสดงให้เห็นว่าครูอาจจะมีระดับความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น อาจจะเป็นผลสะท้อนจากการที่มีการปรับตัวในองค์ประกอบของครูน้อยหรือผู้ที่มีตำแหน่งในระดับล่าง ซึ่งมีบุคลากรท้องถิ่นเข้าไปทำงานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
 
นอกจากนี้องค์กรที่มีบทบาทสูงเด่นจนได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในระยะหลังคือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งได้รับการยอมรับมากในลำดับที่สี่ ทั้งในด้านการพัฒนาและในด้านความมั่นคงปลอดภัยกับในด้านการผลักดันสันติภาพ บทบาทในกระบวนการสันติภาพของ ศอ.บต. จึงได้รับการยอมรับมากและสอดคล้องกับนโยบายในปัจจุบัน ส่วนองค์กรที่ได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่ำสุด ยังคง เป็น อส. เจ้าหน้าที่ทหาร และทหารพราน ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาในด้านความมั่นคงของรัฐที่ยังคงแก้ไม่ตก โดยเฉพาะทหารพรานซึ่งได้รับความไว้วางใจต่ำสุดตลอดมา
 
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสนใจที่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งในอดีตเคยได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่ำมากในระดับที่ใกล้เคียงกับทหารและทหารพราน จากการสำรวจในครั้งนี้ได้คะแนนความเชื่อมั่นไว้วางใจในระดับกลางๆ ไม่ต่ำมาก แสดงให้เห็นว่าตำรวจได้รับการปรับปรุงบทบาทและพฤติกรรมมากขึ้น ทำให้มีความคาดหวังในแง่บวก ซึ่งแสดงให้เห็นศักยภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกระบวนการสันติภาพ หากได้รับการยกระดับให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นต่อไป
 
การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ?
 
หนึ่งในข้อเสนอทางออกในการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือการกระจายอำนาจหรือการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการสนองตอบจากประชาชนในรอบปีที่ผ่านมา ในการสำรวจครั้งเดียวกันนี้ เมื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับความคิดเห็นว่าควรใช้การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มประชาชนที่ตอบแบบสอบถามร้อยละ 17.2บอกว่าเห็นด้วยอย่างยิ่ง อีกร้อยละ 37.9บอกว่าเห็นด้วย ในจำนวนนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 30.4ตอบว่ามีความเห็นกลางๆ ส่วนผู้ที่บอกว่าไม่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งมีจำนวนรวมกันเพียงแค่ร้อยละ 14เท่านั้น
 
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือหากรวมเอาจำนวนผู้ที่ตอบว่าเห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่งจะอยู่ในจำนวนถึงร้อยละ 55 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนผู้ตอบมากกว่าครึ่งเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ มีเพียงแค่ร้อยละ14เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย นี่เป็นแนวโน้มที่ดีที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นด้วยกับข้อเสนอในการปฎิรูปการปกครองท้องถิ่นเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในวิธีการสันติ
 
 
แผนภาพที่ 7 - ควรใช้การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 
 
ความรุนแรงยังคงดำรงความยืดเยื้อเรื้อรังและซับซ้อน
 
            อีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อสถานการณ์ที่มีการพูดคุยสันติภาพ สิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วยก็คือ ในปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีความคลี่คลายไปอย่างไร? ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) แสดงว่า ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 9 ปี นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนมีนาคม 2556 มีจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นแล้ว 12,946 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันเป็นจำนวน 15,578 คน ในจำนวนความสูญเสียดังกล่าวประกอบไปด้วยผู้เสียชีวิต 5,617 ราย และบาดเจ็บ 9,961 ราย เวลากว่า 9 ปีจนถึง ณ เวลานี้ ความรุนแรงที่เกิดจากขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กลายเป็นหนี่งในเหตุการณ์ทางการเมืองภายในที่นำมาซึ่งความสูญเสียและความบาดเจ็บล้มตายกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ในรอบ 80 ปี นับตั้งแต่มีการเลี่ยนแปลงทางการเมือง พ.ศ. 2475 โดยการประมาณการณ์ดังกล่าวนั้นจะมีก็แต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2508-2523 จากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เท่านั้นที่มีความสูญเสียมากกว่า[4]
 
แผนภาพที่ 8 - สถิติจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 - มีนาคม 2556
 
 
            ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2550 มีระดับที่สูงมาก จึงเรียกได้ว่าเป็นสงครามขนาดเล็ก (small war) ในลักษณะความขัดแย้งที่มีความเข้มข้นทางการทหารต่ำ (low-intensity conflict) สถานการณ์ก่อรูปเป็นสงครามการก่อความไม่สงบอย่างค่อนข้างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในห้วงเวลา 4 ปีแรก ซึ่งในบางห้วงเวลามีการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบสูงถึง 300 ครั้งต่อเดือน กล่าวโดยรวมแล้ว เหตุการณ์ ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2550 จะเกิดความรุนแรงมากถึง 160.47 ครั้งต่อเดือนโดยเฉลี่ย แต่ถ้านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมาจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 นี้ จำนวนครั้งของความรุนแรงจะลดลงอย่างชัดเจนจนถึง ประมาณเดือนละ 81.92 ครั้งต่อเดือน แต่แบบแผนความต่อเนื่องของความรุนแรงพัฒนาไปเป็นลักษณะ “ยืดเยื้อเรื้อรัง” ซึ่งเริ่มเห็นภาพชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2556 เมื่อมีการใช้กำลังทหารและกองกำลังของรัฐมากกว่า 60,000 นาย ลงมากดดันในพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งการจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหารและอาสาสมัคร พลเรือนติดอาวุธป้องกันตนเอง รวมทั้งหมดแล้วกองกำลังของฝ่ายรัฐในทุกชนิดจะสูงถึงกว่า 150,000 นาย ลักษณะความยืดเยื้อเรื้อรังของความรุนแรงและการใช้มาตรการทางทหารและกฏหมายพิเศษทำให้ความรุนแรงดูเหมือนจะลดลงในทางปริมาณ แต่มีความซับซ้อนและยอกย้อนมากขึ้น ในแง่ที่ว่า ด้านหนึ่ง มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในเชิงคุณภาพ กล่าวคือ จำนวนความถี่ของความรุนแรงลดลงแต่การสูญเสียทั้งจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บไม่ลดลง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เกิดความรุนแรงที่สูงขึ้นบางครั้ง บางช่วงขึ้นสูงต่ำสลับกันไปตลอดเวลา แนวโน้มความรุนแรงต่อเนื่องแบบนี้ไม่เคยยุติลงเลย
 
แผนภาพที่ 9 – กราฟแสดงแนวโน้มของเหตุการณ์ก่อความไม่สงบตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 - มีนาคม 2556โดยเปรียบเทียบเป็นรายเดือน
 
 
นอกจากนี้ ภาวะดังกล่าวได้ก่อตัวขึ้นเป็นลักษณะความซับซ้อนยอกย้อนของความรุนแรง ความหมาย ก็คือรัฐใช้กำลังในการปราบปรามการก่อความไม่สงบอย่างค่อนข้างรุนแรงเข้มข้นด้วยการส่งกำลังและจัดตั้ง กองกำลังติดอาวุธเพื่อต่อสู้กับการก่อความไม่สงบ และยังใช้มาตรการบังคับใช้กฏหมายพิเศษในการต่อสู้กับ สถานการณ์ เช่น การประกาศกฏอัยการศึกในทั่วทั้งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของจังหวัด สงขลา ซึ่งได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 นอกจากนี้ ยังประกาศบังคับใช้กฏหมายพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เพื่อยับยั้งการขยายตัวของการก่อความไม่สงบ การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวมีผลทำให้ระดับความรุนแรงในแง่ความถี่ของการเกิดเหตุการณ์ลดลงก็จริง แต่ในทางกลับกันก็มีแรงต้านอย่างเป็นระบบของอีกฝ่าย ทำให้ความรุนแรงได้ก่อเกิดสภาพของความยืดเยื้อเรื้อรังที่มีลักษณะต่อเนื่องและมีแบบแผนกระโดดขึ้นสูงต่ำอยู่ตลอดเวลา ภาพที่สะท้อนให้เห็นก็คือ นี่เป็นการต่อสู้ระหว่างพลังของสองฝ่ายอย่างชัดเจน
 
แผนภาพที่ 10 – กราฟแสดงแนวโน้มและสัดส่วนของจำนวนครั้งของเหตุการณ์และจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายที่บ่งชี้ให้เห็นความรุนแรงเชิงคุณภาพ
 
 
            ความต่อเนื่องของเหตุการณ์อาจจะมาถึงจุดเปลี่ยนของการพัฒนาการความขัดแย้งในจังหวัดชายแดน ภาคใต้ ซึ่งเริ่มเห็นได้ชัดในช่วงปี พ.ศ. 2555-2556 ดังจะเห็นได้ว่าในปี พ.ศ. 2555 ความรุนแรงในพื้นที่เริ่ม ขยับสูงหรือเพิ่มระดับขึ้น จากที่มีเหตุการณ์ครั้งใหญ่ประมาณ 8 ครั้ง(ดูรายละเอียดใน "9 เดือนของปีที่ 9: ในสถานการณ์ความรุนแรงอันยอกย้อน กระบวนการสันติภาพปาตานียังคงก้าวเดินไปข้างหน้า”)[5]โดยครั้งที่สำคัญคือการระเบิดที่เมืองหาดใหญ่และยะลาในวันที่ 31 มีนาคม ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากถึงประมาณ 600 คน นอกจากนี้ ในเดือนกรกฏาคมยังมีการโจมตีชุดลาดตระเวณของตำรวจที่ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และการโจมตีชุดปฏิบัติเคลื่อนที่ของทหารที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่สูญเสียรวม 9 นาย ทั้งสองกรณีเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่กลายเป็นข่าวดัง ต่อมาในเดือนสิงหาคมมีการก่อเหตุก่อกวนทั่วทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอในสงขลารวมประมาณ 300 กว่าจุด และในเดือนกันยายนปีเดียวกันก็มีเหตุการณ์ระเบิดอีกครั้งที่ตลาดในอำเภอสายบุรีทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 รายและบาดเจ็บอีก 44 ราย
 
ดังนั้น ภาพรวมของสถานการณ์ในปี พ.ศ. 2555 จึงดูเหมือนว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้น และเมื่อขึ้นต้นปี พ.ศ. 2556 ก็มีแนวโน้มของสถานการณ์ที่น่าสนใจ เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคมที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นถึง 117 ครั้ง ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์ก็เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง 101 ครั้ง และเดือนมีนาคมสูงถึง 131 ครั้ง นับเป็นการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบที่ “สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อเดือน” ของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ถ้านับจากเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นมาจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 81.92 ครั้ง ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งสำคัญที่กลายเป็นข่าวใหญ่ก็คือเหตุการณ์ในวันที่ 13 กุมพาพันธ์ที่มีการโจมตีฐานปฏิบัติการของกองกำลังนาวิกโยธินที่บ้านยือลอ ตำบลบาเระเหนือ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยกองกำลังของขบวนการบีอาร์เอ็นจำนวนประมาณ 30 คน ผลจากการสู้รบดังกล่าว ทำให้ฝ่ายที่เข้าโจมตีเสียชีวิตถึง 16 คน
 
แผนภาพที่ 11 – กราฟแสดงแนวโน้มของระดับความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะหลัง
 
 
แผนภาพที่ 12 – กราฟแสดงพัฒนาการและช่วงเวลาของความรุนแรงซึ่งพิจารณาจากค่าเฉลี่ยต่อเดือน
 
 
            พลวัตและพัฒนาการของสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ชี้ให้เห็นแรงเหวี่ยง (momentum) ของความรุนแรงที่เคลื่อนตัวสลับพลิกไปมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในช่วงระยะแรกนับตั้งแต่ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2547-2550ที่ความรุนแรงมีความเข้มข้นสูง โดยเฉลี่ยเหตุการณ์ต่อเดือนในช่วงนี้มีจำนวนประมาณ 160.47 ครั้งต่อเดือน ต่อมาในช่วงระยะหลังคือในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2551-2556 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 81.92 ครั้งต่อเดือน ซึ่งดูเหมือนจะลดลงในภาพรวม แต่ไม่ควรมองข้ามการเปลี่ยนแปลงระดับความรุนแรงในเชิงคุณภาพและความซับซ้อนยอกย้อนของสถานการณ์ซึ่งทำให้ในช่วงเวลานี้บังเกิดพลวัตหรือการไหวตัวของความรุนแรงและความขัดแย้งที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงย่อยๆ คือ
 
1) ช่วงแรกระหว่างปี พ.ศ. 2551-2554 อันเป็นช่วงระยะแรกที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยเฉลี่ย77.29 ครั้งต่อเดือน ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวทางนโยบายการทหารหรือวิธีการจัดการของกองกำลังแห่งรัฐที่มีความเข้นข้นและนูนขึ้น รวมทั้งมาตรการการใช้กฏหมายพิเศษซึ่งได้ “กด” ความรุนแรงลงไปได้ระดับหนึ่ง
 
2) ช่วงหลังระหว่างปี พ.ศ. 2555-2556 อันเป็นช่วงระยะปัจจุบัน ซึ่งพบว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ค่าเฉลี่ยเหตุการณ์จำนวน 102.2 ครั้งต่อเดือน ในแง่นี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าอีกฝ่าย” ก็มีการปรับตัวด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการเพิ่มระดับของความรุนแรงในช่วงหลังนี้มีนัยความหมายที่จะต้องพิจารณาในแง่พัฒนาการของสถานการณ์อันเกิดจากตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นการปรับตัวของพลังจากหลายฝ่ายในพื้นที่ความรุนแรงแห่งนี้นั่นเอง
 
จุดเปลี่ยนสถานการณ์: การทหารยัน พื้นที่ทางการเมืองเปิด
 
              ข้อสังเกตที่น่าพิจารณาก็คือการปรับตัวทางการทหารไม่ใช่เกิดกับฝ่ายรัฐเท่านั้น ฝ่าย “ขบวนการ” ก็ดูเหมือนมีการปรับตัวด้วย การดำรงรักษาระดับความรุนแรงและความมุ่งหมายของตนเองแสดงให้เห็นจาก การที่มีการใช้ความรุนแรงที่เน้นเป้าหมายการโจมตีชัดเจนยิ่งขึ้น ดังที่อธิบายไปแล้วว่าได้ปรากฎสภาวะของความรุนแรงเชิงคุณภาพขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยในความหมายนี้ก็คือระดับความถี่ของความรุนแรงลดลงแต่การบาดเจ็บและเสียชีวิตของเหยื่อหรือเป้าหมายของความรุนแรงไม่ลดลง แต่กลับมีแนวโน้มคงที่และแกว่งไกวสูงต่ำในระดับที่เหมือนเดิม
 
นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ความยืดเยื้อเรื้อรังของความรุนแรงและยอดของผู้บาดเจ็บล้มตายสะสมส่งผลสร้างแรงกดดันที่ทำให้เราได้เห็นแนวโน้มของการยอมรับและการเปิดเผยตัวออกมาอย่างชัดเจนและอย่างเป็นทางการของ “ตัวแสดงหลัก” ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐซึ่งก่อความรุนแรงนั่นคือขบวนการ BRN (Barisan Revolusi Nasional – National Liberation Front) นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งที่สำคัญ หลังจากที่คู่ต่อสู้ของรัฐดังกล่าวนี้ถูกปิดบังจากฝ่ายรัฐมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยที่ก่อนหน้านี้มีความพยายามหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงอย่างเฉพาะเจาะจง แต่กลับใช้คำกว้างๆ ว่าเป็น “ผู้ก่อความไม่สงบ” หรือ “ผู้ก่อความรุนแรง” เท่านั้น
 
การเปิดตัวแสดงหลักดังกล่าวทำให้การอธิบายถึงสาเหตุแห่งความรุนแรงที่พาดพิงถึงขบวนการค้ายาเสพติดหรือน้ำมันเถื่อนอ่อนตัวลง เพราะถึงแม้ว่าจะมีความพยายามอธิบายว่าเหตุการณ์ความไม่สงบภาคใต้ที่วุ่นวายสับสนอย่างมากเพราะมี “เงื่อนไขที่ซับซ้อนไม่ได้จำกัดวงอยู่ที่อุดมการณ์ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน” แต่ยังมีเรื่องของขบวนการค้ายาเสพติดและพวกค้าของเถื่อนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ทุกวันนี้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่พบหลักฐานรูปธรรมที่โยงใยอย่างชัดเจนและอย่างเป็นระบบระหว่างขบวนการบีอาร์เอ็น พูโล เครือข่ายต่างๆ ของขบวนการเหล่านี้กับการค้ายาเสพติดและค้าน้ำมันเถื่อน เท่าที่พบก็มีแต่เป็นบางส่วนที่เป็น จุดย่อยๆ ในระดับล่างเท่านั้น จึงไม่มีหลักฐานมารองรับคำอธิบายเชื่อมโยงโดยตรงของสมมติฐานดังกล่าว
 
ในขณะที่ภาพที่เราสามารถเห็นได้ชัดเจนกว่าก็คือความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการต่อสู้ที่เรียกว่าความขัดแย้งที่ใช้กำลังอาวุธ (armed conflict) ระหว่างรัฐกับองค์กรต่อต้านรัฐที่มีฐานการสนับสนุนจากองค์กรเครือข่ายและมีกองกำลังอาวุธเพื่อปฏิบัติการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองและอุดมการณ์เพื่อแบ่งแยกดินแดนหรือมุ่งต่อสู้ในประเด็นทางการเมืองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนา
 
ทิศทางในทางการเมืองปัจจุบันจะพบว่าจากการที่สถานการณ์ความรุนแรงมีการปรับตัวในการใช้กำลังของสองฝ่ายก็คือจากการที่รัฐใช้การปรับตัวและระดมกำลังเข้ากดสถานการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึงปี พ.ศ. 2554 สถานการณ์การสู้รบได้เปลี่ยนไปเป็นภาวะตรึงกำลังในทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ลักษณะของการตรึงกำลังกันดังกล่าวทำให้สถานการณ์เริ่มมีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.. 2555 ด้วยพลังของแรงกดและแรงดึงกำลังสู้กันระหว่างสองฝ่าย
 
ในสถานการณ์เช่นนี้เราจึงเห็นภาพของการสร้างดุลกำลังของสองฝ่าย เริ่มจากการปรับตัวทางการทหารของฝ่ายรัฐในการใช้กำลังอย่างหนักควบกับงานการเมืองในแนวทางสานใจสู่สันติ และอีกด้านหนึ่งการปรับตัวทางยุทธวิธีของบีอาร์เอ็น โดยมีการเปิดเผยการใช้กำลังอย่างโจ่งแจ้ง เช่น การโจมตีอย่างเปิดเผยและหนักหน่วง โดยมุ่งเน้นไปที่การโจมตีเป้าหมายเข้มแข็งแข็ง (hard targets) ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือกองกำลังของฝ่ายรัฐอื่นๆ สลับกับการโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ (soft targets) ที่เป็นชุมชนเมือง โดยใช้การโจมตีใหญ่ ข้อมูลในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2556 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนของการโน้มเอียงไปในทางการโจมตี เป้าหมายเข้มแข็ง เช่น ทหาร ตำรวจ ทหารพราน และ อส.
 
ดังสามารถพิจารณาจากสัดส่วนผู้เสียชีวิตที่เป็นฝ่ายกองกำลังของรัฐต่อผู้เสียชีวิตทั้งหมด ในเดือนมกราคมเท่ากับร้อยละ 21.88 ต่อมาในเดือนมีนาคมก็สูงขึ้น ถึงร้อยละ 36.84 ถ้ารวมทั้งผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่เป็นกองกำลังทหาร ตำรวจ ทหารพราน และ อส. ในเดือนมกราคม จะพบว่ามีถึงประมาณร้อยละ 46.84 แต่ในเดือนมีนาคมกลับสูงขึ้นถึงร้อยละ 54.56 สภาพเช่นนี้ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ดูเหมือนยกระดับความเข้มข้นมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันปฏิบัติการของฝ่ายขบวนการก็ถูกตรึงไว้ด้วยกำลังของฝ่ายรัฐที่กระจายตัวไปทั่วทั้งพื้นที่ ในทางยุทธศาสตร์จึงกล่าวได้ว่าเป็นการยันกันทั้งในทางการทหารและในทางการเมือง
 
แผนภาพที่ 13 – สัดส่วนของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เป็นหมายเข้มแข็ง (กลุ่มทหาร ตำรวจ ทหารพราน และ อส.) โดยเปรียบเทียบกับผู้สูญเสียทั้งหมดในช่วงเดือนมกราคม, กุมภาพันธ์ และมีนาคม 2556
 
 
            อย่างไรก็ตาม แรงถ่วงดุลที่มีสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์การยันกันในทางการทหารก็คือการปรับตัวทางนโยบายสันติภาพของรัฐด้วยการออก “นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557” โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายดังกล่าวประกาศชัดเจนว่าจะต้องมุ่งสร้างสภาวะแวดล้อม ที่เอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ ทางฝ่ายทหารก็มีการเดินนโยบายสันติภาพ ผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) ที่ได้ประกาศนโยบาย “สานใจสู่สันติ” ซึ่งเน้นการเปิดโอกาสให้ผู้มีความเห็นต่างจากรัฐได้มีช่องทางสามารถแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ในขณะที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็เดินหน้านโยบายเปิดพื้นที่จัดการ “พูดคุยสันติภาพ” ตามแนวนโยบายดังกล่าว
 
ในอีกด้านหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เองก็เกิดการตื่นตัวของภาคประชาสังคมและ นักวิชาการเพื่อสร้างพื้นที่กลางเพื่อสันติภาพตามแนวทางที่เรียกว่า “กระบวนการสันติภาพปาตานี” หรือ “Pa(t)tani Peace Process, PPP” และแนวทางการสร้าง “พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน” หรือ “Insider Peacebuilders Platform, IPP” ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน
 
            กระบวนการสันติภาพเป็นพลังที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งในการถ่วงดุลการใช้ความรุนแรงในสถานการณ์ที่มีการยันกันในทางการทหาร เพราะเป็นการการสร้างพื้นที่กลางและสร้างพื้นที่การสื่อสารสาธารณะ กล่าวในอีก แง่หนึ่ง สันติภาพเป็นการเปิดพื้นที่และสนามในทางการเมืองให้กับทุกฝ่ายให้เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาความ ขัดแย้งด้วยวิธีการสันติ ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือสนามแห่งสันติภาพถูกสร้างขึ้นและพื้นที่ทางการเมืองที่ไม่ใช้ ความรุนแรงก็จะถูกเปิดออก กล่าวโดยสรุปก็คือการยันกันทางการทหารและการเปิดพื้นที่ทางการเมืองที่ตาม มาในปัจจุบันจะนำมาซึ่ง “จุดเปลี่ยนของสถานการณ์” (turning point) ที่นำไปสู่แนวทางสันติภาพที่กำลังเดินหน้าอยู่ในปัจจุบัน
 
การแก้ปัญหาภาใต้ร่มเงาของสันติภาพที่ยั่งยืน
 
แม้กระบวนการสันติภาพในปัจจุบันจะมีความเสี่ยงแฝงอยู่ด้วย กระนั้นก็ตาม จากการสำรวจความคิด เห็นของประชาชนในพื้นที่ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นก็สอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในโพลสำนักอื่นที่ประชาชนประมาณสองในสามสนับสนุนกระบวนการสันติภาพที่ริเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา(กรุณาดูรายละเอียดในนิด้าโพล และสวนดุสิตโพล)[6] นี่เป็นฐานที่เข้มแข็งสำหรับฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมกระบวนการอันจะถือได้ว่าเป็นอาณัติสัญญานโดยปริยายที่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพและพยายามสนับสนุนซึ่งกันและกันในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการสันติภาพ แต่เราก็ต้องตระหนักว่าจากประสบการณ์ของที่อื่น ความสนับสนุนต่อกระบวนการนี้อาจจะลดลงได้เมื่อกระบวนการสันติภาพไปพบกับอุปสรรคที่เป็นวิกฤติ สิ่งท้าทายที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือกระบวนสันติภาพที่จะสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยการยินยอมและผ่อนปรนประนีประนอมจากทุกฝ่าย การประนีประนอมดังกล่าวอาจทำให้คนของแต่ละฝ่ายผิดหวังที่ตั้งตารอคอยผลลัพท์ที่วาดหวังมานานและคาดหวังจะได้รับการตอบแทนเยียวยาจากความเจ็บปวดและขมขื่นในอดีตของฝ่ายตน
 
            ปัญหาอีกประการหนึ่งของกระบวนการสันติภาพทุกแห่งก็คือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะยังคงตกอยู่ภายใต้ความเชื่อหรือทัศนคติที่ถูกสร้างสมมานานในเรื่อง “ความไม่เชื่อมั่นไว้วางใจ ความระแวงสงสัย และความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์”ต่อฝ่ายอื่น สันติภาพสำหรับพวกเขาแต่ละฝ่ายอาจจะมีความหมายต่างกัน รัฐบาลและฝ่ายสนับสนุนรัฐต้องการให้ฝ่ายขบวนการผู้ก่อการยุติความรุนแรงก่อนเป็นลำดับแรก “เมื่อใดที่ยุติความรุนแรงได้สำเร็จ เราจึงจะพูดเรื่องอื่นกันได้ เช่นการประนีประนอมทางการเมืองอื่นๆ” ส่วนฝ่ายขบวนการและแนวร่วมก็ต้องการ “ความยุติธรรม ความเสมอภาค และรูปแบบการปกครองร่วมกันบางประเภทในดินแดนของตนเอง” เมื่อใดที่พวกเขามองเห็นความก้าวหน้าที่มีความหมายสำคัญและน่าเชื่อถือในเรื่องดังกล่าว พวกเขาจึงจะยอมยุติความรุนแรง เป็นต้น
 
            เพื่อจัดการกับปัญหาที่ยอกย้อนดังกล่าว ความก้าวหน้าไปสู่สันติภาพเชิงลบ (negative peace, การยุติความรุนแรง) และสันติภาพเชิงบวก (positive peace, ความยุติธรรม ความเสมอภาค และการจัดการตามเจตนารมณ์ของตนเอง) จึงไม่อาจจะแก้ไขได้ด้วยเพียงแค่มีกลุ่มผู้สร้างสันติภาพ (peacebuilders) เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการเท่านั้น (หรือที่เรียกกันว่าเส้นทางสายที่ 1) กระบวนการสันติภาพจักต้องมีการระดมการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้างเพื่อสร้างพลังสันติภาพทั้งในแง่มุมของสันติภาพเชิงบวกและสันติภาพเชิงลบ
 
อันที่จริง การสร้างสันติภาพได้เดินมาสองสามปีก่อนหน้านี้แล้วจาก “คนใน” หลายฝ่ายที่ประกอบด้วยองค์กรภาคประชาสังคมและขบวนการเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้า (ที่เรียกกันว่าเส้นทางสายที่ 2 และเส้นทางสายที่ 3) ในขณะนี้ จึงเป็นห้วงเวลาอันเหมาะสมที่กระบวนการสันติภาพจากคนในดังกล่าวจะสร้างสะพานเชื่อมกับกระบวนการสันติภาพในเส้นทางสายที่ 1 หรือการพูดคุยเจรจรสันติภาพอย่างเป็นทางการ
 
            กล่าวโดยสรุปก็คือการจะทำให้กระบวนการสันติภาพยั่งยืนในขณะนี้ กระบวนการสันติภาพจำต้องแผ่ร่มเงาออกไปให้มากที่สุด จะต้องให้ความสำคัญกับความต้องการและความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งสร้างสันติภาพก้าวเล็กๆ ในจำนวนที่มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในหมู่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ช่วยกันสร้าง เครือข่ายความปลอดภัยที่สนับสนุนการพูดคุยสันติภาพโดยภาคประชาสังคมให้เข้มแข็ง รวบรวมและขยายการ สนับสนุนกระบวนการสันติภาพจากทุกฝ่าย สร้างแรงหมุนหรือแรงเหวี่ยงที่ดึงดูดใจเพื่อสนับสนุนการเปิดเผย กระบวนการสันติภาพไปสู่สาธารณะ กระบวนการสันติภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องศึกษาบทเรียน จากประเทศอื่น เช่น ในกรณีไอร์แลนด์เหนือที่กลุ่มผู้สนุบสนุนสันติภาพจากหลายฝ่ายร่วมมือกันกับองค์กรภาค ประชาสังคมและสื่อมวลชนที่มีจิตใจเปิดกว้างเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะและการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้าง เพื่อหนุนช่วยกระบวนการเจรจาสันติภาพให้ยั่งยืนในที่สุด
 
 
 
 
 
หมายเหตุ: ภาพประกอบในหน้าแรกถ่ายโดย KrooWinai JaiDee
 

[1] การสำรวจความคิดเห็นหรือ “โพล” ครั้งนี้จัดทำขึ้นโดยคณะผู้วิจัยซึ่งประกอบด้วย ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, เชาวเลิศ ล้อมลิ้ม, ดุษณ์ดาว เลิศพิพัฒน์ และวารุณี ณ นคร สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
[2] Safety Net ในที่นี้หมายถึงเครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพที่เป็นเหมือนตาข่ายนิรภัยที่คอยเสริมให้กระบวนการพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพซึ่งดำเนินการในระดับบนระหว่างฝ่ายรัฐกับขบวนการเดินหน้าต่อไปได้ แต่การหนุนเสริมที่ว่านี้จะพัฒนาจากภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาชนในระดับรากหญ้า เครือข่ายหนุนเสริมดังกล่าวยังทำหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมป้องกันความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในกรณีที่การพูดคุยสันติภาพเกิดความล้มเหลวหรือพบกับอุปสรรค(กรุณาดูรายละเอียดใน คณะทำงานพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน, “ริเริ่มพูดคุย: บทประเมินกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีหลังการลงนามในฉันทามติทั่วไปฯ,” http://www.deepsouthwatch.org/node/4014)
 
[3] กรุณาพิจารณาผลการสำรวจก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวข้องกับระดับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคนและองค์กรต่างๆ โดย CSCD ได้แก่ ปี 2554 (ดูใน “เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในท่ามกลาง 8 ปีของความรุนแรง” http://www.deepsouthwatch.org/node/2871); ปี 2553 (ดูใน “เมื่อก้าวข้ามหนึ่งร้อยเดือนของสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้: เรากำลังจะไปทางไหน?” http://www.deepsouthwatch.org/node/3354); และปี 2552 (ดูใน “ห้าปีห้าเดือน : รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 65 เดือน” http://www.deepsouthwatch.org/node/343)
 
[4] International Crisis Group (ICG), Thailand: The Evolving Conflict in the South, 11 December 2012, http://www.crisisgroup.org/~/media/Files/asia/south-east-asia/thailand/241-thailand-the-evolving-conflict-in-the-south.pdf [accessed 10 April 2013]
 
[5] กรุณาดูรายละเอียดใน ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, 9 เดือนของปีที่ 9: ในสถานการณ์ความรุนแรงอันยอกย้อน กระบวนการสันติภาพปาตานียังคงก้าวเดินไปข้างหน้า, 2 พฤศจิกายน 2555, http://www.deepsouthwatch.org/node/3670
 
[6] กรุณาดูผลสำรวจความคิดเห็นในบางสำนัก อาทิเช่น นิด้าโพล (ดูใน “รัฐบาลไทยกับการนั่งโต๊ะเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น (BRN),” http://nidapoll.nida.ac.th/main/index.php/en/2012-08-06-13-57-45/400-28-1-56) และสวนดุสิตโพล (ดูใน “ ‘การแก้ปัญหาภัยใต้’ ในสายตาประชาชน,” http://dusitpoll.dusit.ac.th/polldata/2556/25561363485254.pdf
 

 

 

File attachment
Attachment Size
dsw_analysis_-_mummngkhngprachaachnchaayaednait_th.pdf (1.11 MB) 1.11 MB