Skip to main content
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
รอมฎอน ปันจอร์
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)

 

 

เกริ่นนำ: ความรู้ในสถานการณ์ความไม่สงบ
            ในปลายเดือนมิถุนายน 2556 เหตุการณ์ความไม่สงบภาคใต้เดินมาเป็นเวลา 114 เดือนแล้ว เหตุการณ์กำลังเป็นไปอย่างที่นักวิชาการสันติภาพบางคนพูดไว้ว่า “การขยายตัวของความขัดแย้งและการลดระดับการขยายตัวของความขัดแย้งนั้นมักจะมีความซับซ้อนและยากที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าได้” แต่สิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ณ จุดนี้ก็ไม่ได้อยู่บนฐานของอวิชชาหรือความไม่รู้ หากกลับอยู่บนฐานของความรู้ที่เรามีมากขึ้นต่อปัญหาและวิธีการแก้ปัญหา อันถือเป็นมิติใหม่ที่มีความก้าวหน้าสำหรับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้
รายงานวิเคราะห์ชิ้นนี้เป็นการสรุปความรู้และความสำนึกรู้ที่เรามีต่อข้อมูลเชิงสถิติของเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ที่มีอยู่ ก่อนที่จะใช้ “ความรู้” มาตีค่าหาความหมายใหม่ๆ ของเหตุการณ์หรือสถานการณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงแนวโน้มที่จะมองเฉพาะเหตุการณ์เฉพาะหน้า และเห็นแต่มุมมองในแง่ลบเท่านั้น ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวจะช่วยให้เราประเมินสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งในภาพรวมและเข้าใจสถานการณ์เฉพาะหน้าที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการพูดคุยสันติภาพและการพยายาม “หยุด” ความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนนี้
เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 จนถึงสิ้น เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 ระยะเวลารวม 114 เดือน มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นรวม 13,434 เหตุการณ์ เป็นผลทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันทั้งสิ้น 15,956 คน โดยแยกออกได้เป็นผู้เสียชีวิต 5,755 ราย และบาดเจ็บ 10,201 ราย
            เมื่อแยกแยะผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บตามภูมิหลังการนับถือศาสนาในกลุ่มผู้เสียชีวิต 5,755 รายนั้น กลุ่มที่เป็นคนมุสลิมมีอยู่จำนวน 3,394 คน นับเป็นร้อยละ 58.97 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ในขณะที่ผู้เสียชีวิตจำนวน 2,213 คน เป็นพี่น้องชาวพุทธ นับเป็นร้อยละ 38.45 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ส่วนในกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บ 10,201 ราย มีจำนวน  6,024 คน เป็นพี่น้องชาวพุทธ หรือร้อยละ 59.05 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมด ส่วนคนมุสลิมที่บาดเจ็บกลับมีจำนวน 3,211 คนหรือประมาณร้อยละ 31.47 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมด ตัวเลขมีความหมายที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60 คือพี่น้องมุสลิม ส่วนในกลุ่มผู้บาดเจ็บนั้นส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวพุทธ
กล่าวในอีกแง่หนึ่ง ประชาชนทุกกลุ่มในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งการบาดเจ็บและเสียชีวิต การนำมาซึ่งข้อยุติปัญหาในทางการเมืองและนโยบายที่เน้นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย รวมถึงการใช้วิธีการอันสันตินั้น จึงมี “คุณค่า” ต่อการรักษาชีวิตของ ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ก่อนที่สถานการณ์จะถลำลึกไปสู่จุดสูงสุดของความรุนแรงที่ยากจะเดินย้อนกลับและก้าวไปสู่ความสิ้นหวัง
 

 

ความยอกย้อนและยืดเยื้อของสถานการณ์
            ความเปลี่ยนแปลง ยอกย้อน และยืดเยื้อของเหตุการณ์ความไม่สงบก็เป็นลักษณะพิเศษอีกด้านหนึ่งของสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้นักทฤษฏีความขัดแย้งบางคนเคยให้คำอธิบายไว้ว่าความขัดแย้งที่ซับซ้อนและหยั่งรากลึกหลายแห่งในโลกนั้นจะก้าวเข้าไปสู่สภาพที่เหมือนกับพื้นที่แบบที่ราบสูงในความสัมพันธ์ของความขัดแย้งที่ติดกับดักในปฏิสัมพันธ์แห่งความรุนแรงและมีการแลกเปลี่ยนตอบโต้ความรุนแรงระหว่างกัน กล่าวในแง่หนึ่งคือการเกิดพฤติกรรมการใช้กำลังต่อกันแบบซ้ำซากในสถานการณ์เช่นนี้ ความรุนแรงนั้นจะมีความเป็นพลวัตและภาวะเสถียรอย่างเห็นได้ชัด
            ความต่อเนื่องของเหตุการณ์ความรุนแรงในกรณีชายแดนใต้แสดงให้เห็นแบบแผนโดยสรุปก็ คือ ในช่วงปี พ.ศ. 2556 นี้เหตุการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่สถิติของการบาดเจ็บล้มตายยังอยู่ในระดับคงที่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เคยนำเสนอผลการวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า เหตุการณ์จะแบ่งออกได้เป็นสามช่วง อันได้แก่ ในช่วงระยะแรกนับตั้งแต่ปี พ.. 2547-2550 ระดับของความรุนแรงมีความเข้มข้นสูง โดยเฉลี่ยเหตุการณ์ต่อเดือนในช่วงนั้นมีจำนวนประมาณ 160.47 ครั้งต่อเดือน ต่อมาในช่วงระยะหลังคือระหว่างปี พ.ศ. 2551-2556 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 81.92 ครั้งต่อเดือน
ภาพของความรุนแรงในช่วงเวลาดังกล่าวดูเหมือนจะมีแนวโน้มลดลงในภาพรวม แต่ในช่วงหลังในระหว่างปี พ.. 2555-2556อันเป็นช่วงระยะปัจจุบัน ข้อมูลชี้ว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือค่าเฉลี่ยเหตุการณ์จำนวน 102.2 ครั้งต่อเดือน โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 ความถี่ของเหตุการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบกับช่วงระยะก่อนหน้านั้นในระหว่างปี 2551-2554
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อศึกษาสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในแง่ของผลกระทบต่อการบาดเจ็บล้มตายของผู้คนในพื้นที่ก็ถูกนำมาพิจารณาด้วย สิ่งที่น่าสนใจก็คือแม้จะมีการแปรผันในแง่สถิติความรุนแรงที่ขึ้นสูงต่ำในรอบ 9 ปีและ 6 เดือน แต่สถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบดูเหมือนจะอยู่ในระดับคงที่
 

 

สถานการณ์ใหม่ใน 6 เดือนแรกของปี 2556
สถานการณ์ที่ยอกย้อนดังกล่าวดังกล่าวยังชี้ให้เห็นลักษณะพิเศษของตัวแบบสถานการณ์ ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันซึ่งมีความน่าสนใจดังนี้

 

1. จำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบที่เคยลดลงกำลังกลับเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เป็นขั้นๆ
แบบจำลองสถานการณ์ความไม่สงบซึ่งพิจารณาดูที่ “จำนวนครั้งของการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ” โดยวิเคราะห์เป็นสมการเชิงเส้นแต่ไม่ใช่เป็นเส้นตรง (Non-Linear Regression Model) ต่อการคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์ในช่วงเวลา 9 ปี ได้สะท้อนให้เห็นว่าทิศทางของการก่อเหตุความรุนแรงมีแนวโน้มในลักษณะคล้ายๆ กับเส้นโค้งแนวหงายรูปตัวยู (U-Shape) แต่เป็นแนวแบบ “ตกท้องช้าง” (saging) เริ่มจากการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในระดับที่ค่อนข้างสูงในช่วง 4 ปีแรก (2547-2550) ประมาณการโดยเฉลี่ยเดือนละ 160 ครั้ง กลายเป็นในช่วง 4 ปีที่สอง (2551-2554) เกิดเหตุการณ์โดยเฉลี่ยเดือนละ 70-80 ครั้งต่อเดือน มาจนถึงช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2555-2556) ซึ่งเกิดเหตุการณ์ประมาณเดือนละ 100 ครั้ง
ทั้งนี้ แนวโน้มที่เหตุการณ์เพิ่มขึ้นดังกล่าวเกิดจากการก่อเหตุเพิ่มขึ้นในบางช่วงบางเดือนของปี 2555 และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 นี้ เช่นในช่วงระหว่างวันที่ 16-31 เดือนสิงหาคม 2555 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นถึง 328 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการก่อกวนปักธงและวางกับระเบิดไปทั่วทั้งพื้นที่ และในช่วงระหว่างวันที่ 1-15 มีนาคม 2556 มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 86 ครั้ง   
 

 

2. จำนวนการบาดเจ็บล้มตายมีค่าคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
แบบจำลองสถานการณ์ความไม่สงบในแบบที่สองจะดูที่จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการก่อเหตุความไม่สงบแสดงเป็นสมการแบบเดียวกัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ารูปแบบจะเป็นเส้นตรงและแนวขนานสะท้อนว่าความรุนแรงทำให้เกิดการตายและบาดเจ็บที่มีลักษณะต่อเนื่องแต่มีความเสถียรหรือผลของความรุนแรงทำให้จำนวนการตายและบาดเจ็บอยู่ในระดับคงที่
ควรสังเกตด้วยว่าระดับของความรุนแรงในสถานการณ์ความไม่สงบภาคใต้นั้นไม่อาจจะวัดประเมินค่าได้จากจำนวนครั้งการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่อย่างเดียว แต่ต้องดูที่ผลกระทบต่อชีวิตและร่างกายของคนในพื้นที่ความรุนแรงด้วย เมื่อดูระดับการสูญเสียรวมทั้งการบาดเจ็บ (casualties) จากเหตุการณ์เทียบเป็นรายเดือน ปรากฏว่าค่าประมาณการจากสมการเชิงเส้นแสดงให้เห็นภาพที่เป็น “เส้นตรงในแนวระนาบ” ชี้ให้เห็นผลพวงของความรุนแรง ซึ่งดำรงรักษาความเป็น "ค่าคงที่" ทำให้ผลของความรุนแรงมีลักษณะที่เราเรียกว่า “ความต่อเนื่อง ไม่สูงขึ้นและไม่ลดลง แต่ยังคงยืดเยื้อเรื้อรัง” ผลก็คือสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จึงก้าวเข้าสู่สภาพที่คล้ายกับติดกับดักในพื้นที่ราบสูง อันต่อเนื่องยาวนานดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น
ความหมายก็คือค่าคงที่ของความรุนแรงทำให้มีคนตายและบาดเจ็บประมาณ 68 คน ในทุกๆ 15 วัน กล่าวในอีกแง่หนึ่งก็คือในทุก 1 วันจะมีคนที่ทั้งบาดเจ็บและล้มตายจากเหตุการณ์ความไม่สงบรวมกันประมาณวันละ 5 คน หรือมีคนตายโดยประมาณวันละไม่เกิน 2 คน ค่าคงที่เช่นนี้ไม่เปลี่ยนไปเลยนับตั้งแต่ปี 2547-2556 ไม่ว่าจำนวนครั้งหรือความถี่ของการก่อเหตุจะมากน้อยเพียงใดก็ตาม
 

 

3. การปรับเปลี่ยนเป้าหมายการก่อเหตุไปสู่เป้าหมายที่แข็ง (Hard Targets)
            ข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2556 ยังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีการก่อเหตุโจมตีจากการมุ่งไปที่เป้าหมายอ่อน (Soft Targets) มาเป็นเป้าหมายที่เข้มแข็ง (Hard Targets) ซึ่งประกอบไปด้วยเป้าหมายที่เป็นทหาร ตำรวจ ทหารพราน และอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) โดยสลับกับการโจมตีเป้าหมายอ่อนแอที่เป็นชุมชนเมือง โดยใช้การโจมตีขนาดใหญ่ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน2556 ข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นแนวโน้มการเน้นการโจมตีหรือปฏิบัติการต่อเป้าหมายเข้มแข็ง เช่น ทหาร ตำรวจ ทหารพราน และ อส. โดยเฉพาะในเดือนเมษายนและมิถุนายนที่สัดส่วนการโจมตีต่อเป้าหมายแข็งสูงถึงร้อยละ 50-60
            สภาพการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่าเกิดขึ้นหลังจากริเริ่มมีการพูดคุยสันติภาพระหว่างคณะตัวแทนของรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่การลงนามในวันที่ 28กุมภาพันธ์2556 เนื่องจากข้อเรียกร้องของฝ่ายรัฐในการเจรจาในเรื่องการหลีกเลี่ยงการโจมตีเป้าหมายที่เป็นผู้บริสุทธิ์ และการโจมตีในเขตเมืองหรือเขตเศรษฐกิจซึ่งทำให้มีผู้เสียหายที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ผลก็คือในรอบครึ่งปีแรกของปี 2556ความสูญเสียของฝ่ายทหารมีจำนวนมากอย่างเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2550  เป็นต้นมา
จากการวิเคราะห์เส้นแนวโน้มของเหตุการณ์ ทิศทางดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัดในครึ่งหลังของปี 2556 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงจาก “ปัจจัย” ด้านอื่นหรือไม่มีเหตุแทรกซ้อน

การปรับเปลี่ยนเป้าหมายโจมตีไปสู่เป้าหมายเข้มแข็งในระยะหลังอาจจะเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดผลลัพธ์ที่มีต่อจำนวนการตายและบาดเจ็บโดยรวมจึงไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก หรืออาจเรียกได้ว่ามี “ค่าคงที่” นั่นก็เพราะว่าสัดส่วนของการสูญเสียทั้งการตายและบาดเจ็บยังอยู่ในกรอบเพดานเดิมอย่างต่อเนื่อง กำลังฝ่ายความมั่นคงสูญเสียเพิ่มขึ้น ในขณะที่สัดส่วนของพลเรือน หรือประชาชนทั่วไปลดลงในสัดส่วนที่กลับกัน
สิ่งที่ตามมาก็คือผลรวมของการเสียชีวิตและบาดเจ็บในแต่ละช่วงไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ที่ผ่านมาไม่ได้มีลักษณะที่เรียกว่าการเร่งขยายตัวของความรุนแรง (Escalation of Violence) ที่น่ากลัวอย่างที่เกิดในพื้นที่ความรุนแรงที่อื่นในโลก เช่นที่เกิดในประเทศ อัฟกานิสถาน อิรัก หรือซีเรีย แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ในกระบวนการดังกล่าวนี้มีแรงเหนี่ยวรั้งหรือพลังทางสังคมการเมืองที่เป็นแรงดึงที่มีความสำคัญอย่างมาก อันทำให้ความรุนแรงไม่มีอัตราการ ขยายตัวในระดับที่มากไปกว่านี้

 

 
4. ความรุนแรงในระดับท้องถิ่นมีลักษณะหลากหลายในความขัดแย้งเดียวกัน
นอกจากจากความรุนแรงในภาพใหญ่ (Macro-level Violence) อันมีแนวโน้มที่เป็นพลวัตแล้ว สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าก็คือระดับความรุนแรงในภาพย่อยหรือในระดับจุลภาค  (Micro-level Violence) ปรากฏการณ์เป็นดังที่นักรัฐศาสตร์บางคนมองว่า “ความรุนแรงเป็นปรากฏการณ์ในตัวของมันเอง” ซึ่งบางครั้งก็แยกตัวออกจาก “สาเหตุ” เบื้องต้นของการก่อความรุนแรง สงครามมักเป็นสาเหตุของความรุนแรง แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสงครามการก่อความไม่สงบ ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็น “สงครามกลางเมือง” นั้นไม่มีลักษณะการรบแบบทหารประจำการ (Conventional military utility) และความรุนแรงอาจจะไม่เกิดขึ้นในแบบสนามรบที่เป็นทางการด้วย
ดังนั้น พื้นที่ที่อยู่ใน “ความขัดแย้ง” แบบเดียวกัน จึงอาจจะมี “ความรุนแรง” ในลักษณะที่แตกต่างกันด้วย ในที่นี้สิ่งที่ควรสังเกตก็คือพลวัต/กลไก หรือกระบวนการภายในแต่ละพื้นที่ (Endogenous Mechanisms) ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงที่อาจจะมีความแตกต่างกันด้วย ในขณะที่ความรุนแรงในแต่ละพื้นที่หรือในแต่ละท้องถิ่นอาจจะมีความเป็นมาและสาเหตุที่แตกต่างกัน กล่าวในอีกแง่หนึ่ง สาเหตุหลักของความขัดแย้งยังคงมีอยู่ แต่ความรุนแรงจริงๆ ในแต่ละพื้นที่ก็อาจจะมีเงื่อนไขต่างกันเพราะฉะนั้นการพิจารณาแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงเป็นเรื่องที่จะต้องวิเคราะห์ลักษณะและพลวัตของแต่ละท้องถิ่นด้วย
            ภาพรวมในระหว่างปี 2547-2556 พื้นที่ความรุนแรงสูงสุดแยกตามลำดับ 10 อำเภอก็คือเมืองยะลา อำเภอรามัน อำเภอระแงะ อำเภอยะรัง อำเภอรือเสาะ อำเภอบันนังสตา อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอสายบุรี อำเภอหนองจิก และอำเภอสุไหงปาดี แต่ข้อมูลเฉพาะ 1 ปี 6 เดือนล่าสุด นับตั้งแต่มกราคม 2555 - มิถุนายน 2556 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ความถี่ของความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงหลังนี้ ปรากฏว่าพลวัตความรุนแรงในแต่ละพื้นที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ อำเภอรามันของจังหวัดยะลาได้กลายเป็นพื้นที่อันดับ 1 ตามมาด้วยอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ที่มีความรุนแรงอันดับ 2 อำเภอสายบุรีของจังหวัดปัตตานีมีความรุนแรงอันดับ 3 ในขณะที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสและ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีเป็นลำดับที่ 4 และ 5 ตามลำดับ
            การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ความรุนแรงในรอบเกือบสองปีที่ผ่านมามีลักษณะที่น่าสนใจ เพราะ เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการคุมกำลังของแต่ละฝ่ายในพื้นที่และลักษณะเฉพาะของความ ขัดแย้งในท้องถิ่นอีกด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่าใน 5 อันดับแรกของพื้นที่อำเภอที่มีความชุกของความรุนแรง หรือความหนาแน่นของการก่อเหตุความไม่สงบ 3 อำเภอในนี้อยู่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีซึ่งต่างจากภาพรวมใน 9 ปี 6 เดือน ที่จะมีก็เพียงแต่อำเภอยะรังเท่านั้นที่ติดอยู่ในหนึ่งใน 5 อันดับแรก
โครงสร้างอำนาจและกองกำลังในท้องถิ่นทุกฝ่ายรวมทั้งความขัดแย้งเฉพาะพื้นที่ อาจจะนำมาซึ่งการปฏิบัติการแก้แค้น ตอบโต้หรือไล่ล่ากันของแต่ละฝ่ายในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสภาพเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามห้วงเวลาและสถานการณ์เฉพาะ
            การวิเคราะห์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการตรวจสอบความรุนแรงในพื้นที่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงต้อง พิจารณาดูที่การเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ความขัดแย้งและปัญหาเฉพาะในแต่ละพื้นที่ด้วย ความรุนแรงจากความไม่สงบภายในประเทศจะมีสภาพคล้ายกับสงครามกลางเมืองในอีกแบบหนึ่งที่เหมือนกับ “การเปิดกล่องมหัศจรรย์” ซึ่งเมื่อเปิดขึ้นก็จะปรากฎสิ่งแปลกๆ ที่เราคาดไม่ถึงตามมา สิ่งนี้ก็เป็นดังที่ Carl von Clausewitz นักทฤษฏีสงครามชาวเยอรมัน เคยให้ความหมายของผลลัพธ์ที่เกิดจากสงครามว่า
 

 

“ .... (สิ่งที่เกิดขึ้น) จะไม่มีเป้าหมาย มันจะขัดแย้งกับผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของคน มันจะหลีกหนีจากการคิดใคร่ครวญพิจารณา เพราะว่าความน่าสะพรึงกลัวในปัจจัย (ของความรุนแรง) จะสร้างความตื่นเต้นเร้าใจต่อความรู้สึกเกลียดชังที่รุนแรง..”

 

 

5. จุดเปลี่ยนผันของสถานการณ์: เมื่อพลังสันติภาพทางการเมืองถ่วงดุลความรุนแรง
จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะยาว ระดับความถี่ของเหตุความไม่สงบมีแนวโน้มเป็นพลวัตและอ่อนไหวตัวอยู่ตลอดเวลา เริ่มจากระดับเหตุการณ์ความรุนแรงที่สูงมากในระยะแรก ต่อมาก็ลดลง ในช่วงปี 2551 และตามมาด้วยการเพิ่มระดับขึ้นอย่างเป็นขั้นๆ ในระยะหลังตั้งแต่ปี 2555 ถึงแม้จะไม่ถึงกับจะกล่าวได้ว่าความรุนแรงกลับมามีอัตราเพิ่มสูงมากเหมือนเมื่อก่อน แต่มีจุดที่น่าสังเกตอยู่สองด้านคือ
 ด้านหนึ่ง เมื่อดูผลลัพธ์ของความรุนแรงในแง่ของความสูญเสีย/การบาดเจ็บล้มตายมีค่าคงที่อยู่ตลอดเวลาในช่วง 9 ปี 6 เดือนที่ผ่านมาซึ่งอาจจะหมายความว่าฝ่ายที่ก่อความรุนแรง มีพลังหรือศักยภาพมากพอในการดำรงรักษาจุดมุ่งหมายทางการเมืองของตนเองโดยผ่านการใช้กำลังเพื่อก่อเหตุหรือปฎิบัติการของฝ่ายตน ในขณะที่การปฏิบัติการตอบโต้ก็มีแนวโน้มรุนแรงเช่นกันโดยเฉพาะ “ในระดับท้องถิ่น” ลักษณะเช่นว่านี้ได้กลายเป็นสถานการณ์ "ความรุนแรงเชิงคุณภาพที่มีค่าคงที่และมีความยืดเยื้อเรื้อรัง"
แต่ในอีกด้านหนึ่ง สถานการณ์ก็ได้สะท้อนให้เห็นพลังของการถ่วงดุลความรุนแรงของฝ่ายอื่นๆ ใน “สนามการต่อสู้” ในทางการเมืองและในบริบทอื่นๆ ด้วย พลังถ่วงดุลหรือต่อต้านเช่นว่านี้มีทั้งพลังที่ใช้ความรุนแรงเร่งเร้าให้มีการใช้ความรุนแรงโต้ตอบ การแก้แค้น การกดดัน/ปราบปราม เพื่อยืนยันและเสริมให้เหตุผลรองรับของฝ่ายตนมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น สันติภาพในแง่มุมนี้จึงเป็นเป้าหมายอันสูงส่งที่ใช้รองรับวิธีการใช้ความรุนแรงของฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อเอกราช ความเป็นเจ้าของดินแดนของชาติพันธุ์ สิทธิการกำหนดตนเอง หรือการปกป้องอำนาจอธิปไตยและบูรณาการเหนือดินแดนซึ่งพอจะเรียกได้ว่าเป็นสันติภาพที่ใช้ความรุนแรงอย่างย้อนแย้งนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การถ่วงดุลดังกล่าวข้างต้นก็ยังปรากฎว่ามีพลังทางการเมืองที่ไม่ได้ใช้ความ รุนแรงเผยให้เห็นอยู่เช่นกันอันได้แก่พลังอำนาจของกลุ่มและเครือข่ายประชาสังคม ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำฝ่ายศาสนาที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย แน่นอนว่า ไม่ว่าพวกเขาจะมีเป้าหมายทางการเมืองเช่นใดก็ตาม แต่การรวมตัวกันขับเคลื่อนและโน้มน้าวผู้คน ตลอดจนเรียกร้องให้แสวงหาทางออกอื่นนอกเหนือจากวิธีการใช้กำลังและกฎหมายบังคับก็มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นในระยะหลัง นอกจากนี้ พลังด้านบวกเหล่านี้ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐในการมุ่งสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ซึ่งนำไปสู่การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับขบวนการบีอาร์เอ็นและฝ่ายอื่นๆ การพูดคุยสันติภาพได้ดำเนินมา 4 รอบแล้ว จนกระทั่งได้นำไปสู่การประกาศ “ความเข้าใจร่วมกัน” ระหว่างสองฝ่ายในการทำให้รอมฎอนปี 2556 เป็นช่วงเวลาที่ปราศจากความรุนแรง (ซึ่งจะได้อภิปรายถึงประเด็นนี้ในตอนท้าย)
อีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ในระยะยาว แม้ความรุนแรงจะมีลักษณะที่ยืดเยื้อ เรื้อรังโดยเมื่อพิจารณาจากข้อมูลเฉลี่ยต่อเดือนทั้งในด้านจำนวนครั้งของการก่อเหตุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ และจำนวนการเสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันจะมีลักษณะคงที่ดังที่กล่าวไปแล้ว แต่พลังถ่วงดุลในการสร้างสันติภาพในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันก็น่าจะเกิดผลพวงเป็นการลดระดับความรุนแรงได้บางส่วนด้วยเช่นกัน
สัญญานในทางบวกเห็นได้จากการประมาณค่าทางสถิติการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในวงรอบทุก 15 วัน ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2547- มิถุนายน 2556 แนวโน้มการเสียชีวิตจะมีค่าลดลงจากประมาณ 30 คน ในรอบ 15 วันมาเป็นประมาณ 20 คนในรอบ 15 วัน หรือจากประมาณ 2 คนต่อวันมาเป็นวันละประมาณ 1.3 คนในช่วงหลัง ดังนั้น จากการประมาณการค่า “ในทางสถิติ” ก็พบว่าถึงแม้ความถี่ของความรุนแรงมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นและสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตโดยรวมจะมีค่าคงที่ แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะผลต่อการเสียชีวิตในสถานการณ์ความไม่สงบอย่างเดียว ทิศทางกลับมีแนวโน้มที่จะลดต่ำลง

ในที่นี้พลังถ่วงดุลความรุนแรงที่มีความสำคัญก็คือกระบวนการสันติภาพซึ่งเป็นระบบทางสังคมและการเคลื่อนไหวทางสังคมในทุกระดับ มีพลวัตหลายขั้นตอนและมีองค์ประกอบย่อยๆ ที่เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังทางสังคมในพื้นที่ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และการสื่อสารสาธารณะ ในกระบวนการนี้มีโครงสร้างผู้นำที่เป็นจุดเชื่อมโยงและมีการผลักดันขับเคลื่อนประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างผู้นำทั้งในระดับสูง ระดับกลาง และในระดับรากหญ้า เช่นโครงสร้างผู้นำในระดับสูงในเส้นทางสายที่ 1 (Track I) ผู้นำในภาคประชาสังคมในเส้นทางสายที่ 2 (Track II) และผู้นำในระดับรากหญ้าสายที่ 3 (Track III) ในห้วงเวลาที่ผ่านมามีการสร้างพื้นที่สาธารณะและพลังสนับสนุนการสร้างสันติภาพในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้จากเครือข่ายภาคประชาสังคมและผู้นำชุมชนหลายฝ่ายพลังเหล่านี้เป็นการสร้างสันติภาพในทางบวกและช่วยลดทอนเงื่อนไขแห่งความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่

 

อนาคตของรอมฎอนแห่งสันติภาพ 2556: ความแน่นอนหรือไม่แน่นอน?

 

            “ความเข้าใจร่วมกันว่าด้วยการริเริ่มสันติภาพในเดือนรอมฎอน 2013” ระหว่างรัฐบาลไทย โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นตัวแทนกับตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นการ “แสดงเจตนา รมณ์ร่วมกัน” ระหว่างสองฝ่ายในการร่วมมือกันทำให้เดือนรอมฏอนปี 2556 เป็นเดือนที่ปราศจาก ความรุนแรง ในระยะเวลา 40 วัน ระหว่างวันที่ 10 กรกฏาคม  2013 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2013 (1 Ramadan 1434 – 10 Syawal 1434) “ทั้งสองฝ่าย” จะพยายามลดปฏิบัติการเชิงรุกต่อกัน สาระ สำคัญและความหมายของการสร้างความเข้าใจร่วมกันดังกล่าวก็เพื่อจะ “… แสดงให้เห็นความจริงใจ พันธะผูกพัน และความจริงจังของทั้งสองฝ่ายในการแสวงหาทางออกต่อปัญหาร่วมกันในเวทีการพูดคุยสันติภาพ
บนพื้นฐานของการวิเคราะห์สถานการณ์ที่มองว่าแนวโน้มความยืดเยื้อเรื้อรังของสถานการณ์ความรุนแรงจะยังคงมีอยู่ ในขณะที่พลังและกระบวนการทางการเมืองในการสร้างสันติภาพยังคงมี ศักยภาพพอสมควรที่จะเป็นปัจจัยถ่วงดุล การเข้าใจสถานการณ์ในช่วงเดือนรอมฎอนจึงต้องอาศัยความ เข้าใจต่อ “ฐานความคิดเบื้องต้น” ในการทำข้อตกลงดังกล่าวมาวิเคราะห์ ประกอบกับข้อมูลและสภาพที่เป็นจริงในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะความเข้าใจต่อสถานการณ์เฉพาะในแต่ละพื้นที่
เรื่องสำคัญประการแรกคือสถานะของข้อตกลงดังกล่าวในกระบวนการสันติภาพในภาพรวม แม้ว่าในคำแถลงจะไม่ระบุชัดว่านี่คือ “การหยุดยิง (ceasefire)” แต่ก็พอจะเป็นที่เข้าใจว่าเป็นการวางเงื่อนไขที่จำกัดปฏิบัติการใช้กำลังของ “ทั้งสองฝ่าย” ในห้วงเวลาและพื้นที่ซึ่งกำหนดแน่นอน สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือกระบวนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของห้วงเวลาสำคัญของ “ช่วงก่อนการเจรจาสันติภาพ (pre-negotiation)” ที่จำเป็นต้องสร้างมาตรการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน (Confidential-Building Measures: CBMs) เพื่อลดและผ่อนคลายความตึงเครียดให้เห็นโอกาสในการเจรจาต่อรองกันในอนาคต
            ในแง่นี้ การยุติหรือลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างคู่สนทนาเพื่อที่จะขยายความเป็นไปได้ในการเจรจาต่อรองในอนาคต และไม่ใช่ “การวางอาวุธ” หรือ “การยอมจำนน” หากแต่ยังเรียกได้ว่าเป็นวิธีการที่คู่ขัดแย้งจะต่อรองกันในทางการเมือง การทำให้รอมฎอนปลอดความรุนแรงจึงเป็นหนึ่งในขั้นตอนหรือกระบวนการ หาใช่ “เป้าหมายสุดท้าย” ของสันติภาพใดๆ ไม่
            อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์และความเป็นจริงในกรณีความขัดแย้งในที่อื่นๆ ก็เตือนว่าการยุติหรือลดความรุนแรงในลักษณะเช่นนี้นั้นเปราะบางและพร้อมจะถูกทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ความขัดแย้งนั้นๆ ได้มีการใช้ความรุนแรงหล่อเลี้ยงมาเป็นระยะเวลายาวนาน ในขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวก็สามารถเกิดขึ้นและล้มเลิกอยู่หลายครั้งสลับกันไปขึ้นอยู่กับข้อตกลงในขณะนั้น
            ข้อความในเอกสารความเข้าใจร่วมกันที่แถลงโดยผู้อำนวยความสะดวกทางรัฐบาลมาเลเซียนี้ยังได้แสดงให้เห็นทั้งความตั้งใจร่วมกันในการทำงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ความจริงใจที่มีต่อกัน แม้จะไม่ใช่สัญญาที่มีผลผูกพันในทางกฎหมาย แต่ก็สะท้อนความไม่มั่นใจในกระบวนการที่นำไปสู่การปฏิบัติจริงๆ จากทั้งสองฝ่ายดูเหมือนว่ามีการประเมินความเสี่ยงว่าจะมีการ “ละเมิด, ขัดขวาง และบ่อนทำลาย” อยู่บ้างแล้วดังที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าว นัยยะของการประกาศกระบวนการดังกล่าวต่อสาธารณะจึงมีความเปราะบางแฝงอยู่ไม่น้อยเพราะเสี่ยงต่อการทำลายกระบวนการได้โดยง่าย
            เหตุการณ์ความรุนแรงในหลายกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของ “ห้วงเวลา” ที่ตกลงกัน หรือ 20 วันแรกของเดือนรอมฎอนได้นำมาซึ่งข้อกังขาของผู้คนไม่น้อยว่ากระบวนการที่ริเริ่มยุติหรือลดความรุนแรงจะล้มเหลวและไร้ความหมายหรือไม่ กระทั่งมีการยื่นหนังสือประท้วงจากฝ่ายบีอาร์เอ็นต่อผู้อำนวยความสะดวกที่ทวงถามถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงของเจ้าหน้าที่ ในขณะที่ฝ่ายทางการไทยก็รับมือกับปรากฎการณ์เหล่านี้โดยการจัดตั้ง"ศูนย์ประสานงานและส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนจังหวัดชายแดนภาคใต้" คณะทำงานนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่ามีต้นสายปลายเหตุอย่างไร ด้วยหวังว่าจะสามารถสร้างความกระจ่างและเชื่อมั่นให้กับผู้คนที่เฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่

            การพิสูจน์ความเชื่อมั่นของความริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฏอน 2556 จะต้องอาศัยผลรวมของตัวเลขเหตุการณ์ที่เกิดจริงทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสถิติความรุนแรงเดือนรอมฎอนย้อนหลังไป 10 ปี ก็อาจถือได้ว่าช่วงนี้ของทุกปีเป็นห้วงเวลาที่ความรุนแรงปะทุขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะไม่ใช่ช่วงที่มีความรุนแรงสูงสุดของแต่ละปี แต่ช่วงเดือนรอมฎอนของทุกปีก็มักจะเป็นระยะเวลาที่มีความถี่ของสถานการณ์เกิดขึ้นค่อนข้างจะมากเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเดือนรอมฏอนด้วยกันในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ปี 2547 เป็นปีที่มีเหตุการณ์สูงสุด เพราะมีเหตุการณ์ในกรณีตากใบเกิดขึ้น ปีที่สูงเป็นลำดับที่สองคือปี  2552
แต่ในการพิจารณาความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนในปีนี้มีตัวชี้วัดที่สำคัญก็คือตัวเลขจำนวนของเหตุการณ์ความไม่สงบและจำนวนของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในปี 2555 ที่ผ่านมาซึ่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้น 99 ครั้ง และมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตรวมกัน 150 รายตัวเลขนี้จึงน่าจะเป็นมาตรฐานอ้างอิง เปรียบเทียบที่สำคัญของเหตุการณ์ในปี 2556 นี้

            เมื่อพิจารณาถึงความเปราะบางของกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นและเพื่อจะพิจารณาประเมินการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนปี 2556 ตามความเข้าใจร่วมกันของทั้งสองฝ่ายในการยุติความรุนแรง การติดตามและตรวจสอบกระบวนการดังกล่าว ควรต้องสนใจปัจจัยหรือตัวชี้วัดที่ ดังต่อไปนี้คือ
1. จำนวนครั้งของการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเปรียบเทียบระหว่างเหตุการณ์เดือนรอมฎอนปีที่ผ่านมากับเหตุการณ์ที่เกิดในปีนี้ เพื่อประเมินประสิทธิผลของการลดความรุนแรง
 
2. จำนวนของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเปรียบเทียบระหว่างเหตุการณ์เดือนรอมฏอนปีที่ ผ่านมากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้เพื่อประเมินประสิทธิผลของการลดความรุนแรง
 
3. เปรียบเทียบจำนวนครั้งของเหตุการณ์ความไม่สงบและจำนวนผู้บาดเจ็บเสียชีวิตค่าโดยเฉลี่ย ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมากับเหตุการณ์และผู้ได้รับผลกระทบในเดือนนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มและความต่อเนื่องของความรุนแรงหรือ “อนุกรมเวลา” ของความรุนแรง
 
4. การเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ของการเกิดเหตุการณ์เป็นรายอำเภอ/ตำบล และพื้นที่ในเขตเมือง/เขตเศรษฐกิจในรอบ 6 เดือนหรือหนึ่งปีที่ผ่านมากับพื้นที่เกิดเหตุในช่วงเดือนรอมฎอนนี้ เพื่อดูการกระจุกตัวหรือการกระจายตัวของความรุนแรงในพื้นที่ที่ต่างๆ กันทั้งก่อนและหลังการตกลงยุติความรุนแรง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงดุลกำลัง/ศักยภาพในการก่อความรุนแรงของ “ทุกฝ่าย” ในพื้นที่ระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ภูมิศาสตร์
 
5. การเปลี่ยนแปลงลักษณะเป้าหมายของการก่อเหตุความรุนแรงเปรียบเทียบในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมากับช่วงเดือนรอมฎอน เช่น เป้าหมายที่แข็ง (ทหารตำรวจ ทหารพราน) หรือ เป้าหมายที่เป็นพลเรือน ผู้บริสุทธิ์ เพื่อพิจารณาการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีการก่อเหตุ (เช่น การใช้ระเบิด /การยิง/การก่อกวน) รวมทั้งค้นหา “แรงจูงใจ” ของฝ่ายที่ทำการก่อเหตุ เพื่อวิเคราะห์หา “ต้นตอ” ของการละเมิดข้อตกลงและแบบแผนของปฏิบัติการก่อความรุนแรงของ “ฝ่ายที่ต่อต้านกระบวนการสันติภาพ” หรือวิเคราะห์หาตัวแสดงที่เป็น “ผู้ก่อกวน” “นักบ่อนทำลาย” ของกระบวนการสันติภาพ
 
การพิสูจน์ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นการพิสูจน์ให้เห็นอย่างน่าเชื่อถือและมีความแน่นอนถึงผลลัพธ์ข้อตกลงลดความรุนแรงในเดือนรอมฏอนปีนี้ น่าสังเกตว่าที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายได้ แม้จะยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นบางส่วน
 

 

สรุป: ความอดทนอดกลั้นและความหวังยังมีอยู่

 

แม้สถานการณ์จะยังไม่แน่นอนอยู่บ้าง ทว่ายังมีสัญญาณเชิงบวก อันได้แก่ การที่ตัวแทนของทั้งสองฝ่ายยังคงยืนยันที่จะอดทนอดกลั้นและผลักดันให้กระบวนการริเริ่มสันติภาพรอมฎอนเดินหน้าต่อไปและต่างตระหนักตรงกันว่ามีผู้พยายามบ่อนทำลายกระบวนการสันติภาพที่แต่ละฝ่ายจะต้องรับมือ ดังที่มีสัญญานบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ฝ่ายบีอาร์เอ็นเองก็ “ยังคงเชื่อว่าการพูดคุยสันติภาพเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา การริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอนยังคงเป็นความเพียรพยายามที่ดี ที่จะแสดงความจริงใจและความเอาจริงเอาจังของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง....”
แต่ถึงกระนั้น วิกฤตการณ์ดังกล่าวก็ได้ผลักดันให้ทั้งฝ่ายคณะผู้แทนฝ่ายไทยและตัวแทนบีอาร์เอ็นต่างตกอยู่ในที่นั่งเดียวกันคือกำลังถูกท้าทายต่อสถานะและความชอบธรรมในการเดินหน้าการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ณ จุดนี้ทั้งสองฝ่ายควรจะต้องยอมรับร่วมกันว่ามี “ผู้ก่อกวน" ซึ่งต้องการให้การริเริ่มสันติภาพล้มเหลวและมีความพยายามขุดหลุมพรางให้สองฝ่าย “ขัดแย้งกันเอง” จึงต้องใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อรวบรวมการสนับสนุนจากประชาชนต่อการพูดคุยสันติภาพและต้องยอมรับความจริงว่ามี “ผู้จ้องทำลาย" ซึ่งต้องการทำลายความมุ่งมั่นของทั้งผู้แทนฝ่ายรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นอยู่
ถึงจุดนี้ เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าการที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญเช่นนี้อาจมาจาก “มือที่ซ่อนเร้น” ที่ต้องการทำลายการริเริ่มสันติภาพ แต่ประเด็นก็คือใครกันที่เป็น “ผู้ก่อกวนขี้อิจฉา” ที่ต้องการให้บีอาร์เอ็นและคณะผู้แทนของรัฐบาลไทยหวาดระแวงกันเอง ใครกันที่มุ่งหวังจะทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่อย่างเปราะบางนี้ คำตอบเหล่านี้น่าจะอยู่ที่ทั้งสองฝ่ายนั่นเอง เนื่องจากต่างก็มีผู้ก่อกวนดังกล่าวอยู่ภายในขบวนแถวของตน การตระหนักถึงความท้าทายดังกล่าวนี้ยังมีแง่มุมในเชิงสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน เพราะปรากฎการณ์ดังกล่าวนั้นเผยให้เห็นโอกาสในการแสวงหาความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายนั่นเอง
อาจกล่าวได้ว่าการปรากฎตัวของ “ผู้ก่อกวน” นั้นถือเป็นความท้าทายที่กระบวนการสันติภาพต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ก่อกวนที่มีศักยภาพในการก่อเหตุรุนแรง ซึ่งอาจเป็นผู้ที่อยู่ในแต่ละฝ่ายของคู่ขัดแย้งหรือฝ่ายอื่นๆ นอกเหนือไปจากนั้น พวกเขาเหล่านี้แม้จะมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ก็อาจไม่พอใจต่อทิศทางของวิธีการต่อรองที่ไม่ใช้อาวุธของฝ่ายตน ด้วยเหตุนี้ การ “หยุด” หรือ “ลด” ความรุนแรงในความขัดแย้งที่ปะทุเป็นความรุนแรงที่มีลักษณะยืดเยื้อเรื้อรังเช่นนี้เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยทีเดียว เพราะเท่ากับกำลังพยายามยุติการใช้วิธีการต่อรองของคู่ขัดแย้งที่กำหนดหน้าตาของความขัดแย้งนั้นๆ ลงชั่วคราว “การหยุด” หรือ “ลด” ยังมีความหมายที่เพิ่มหรือขยาย “อำนาจต่อรอง” ในทางการเมืองเพิ่มมากยิ่งขึ้น ในบางกรณีฝ่ายกองกำลังที่ไม่ใช่รัฐเลือกที่จะกระทำการฝ่ายเดียวหรือ “หยุดยิงฝ่ายเดียว” เพื่อเพิ่มความชอบธรรมและอำนาจต่อรองให้กับฝ่ายตนเอง ดังกรณีของขบวนการ ETA ในแคว้นบาสก์ของสเปน ในขณะที่บางกรณี การหยุดความรุนแรงยังมุ่งหวังเพียงกระชับกองกำลังของตนเองให้เข้มแข็งและใช้ประเมินความเข้มแข็งของสายบังคับบัญชาของคู่ต่อสู้ ดังเช่นการหยุดยิงครั้งหนึ่งของพยัฆทมิฬอีแลมกับกองทัพศรีลังกาในกลางทศวรรษ 1990
ทว่าการขัดฝืนต่อทิศทางการลดความรุนแรงที่มาจากแต่ละฝ่ายก็สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของกระบวนการสันติภาพที่ในแต่ละฝ่ายก็ไม่สามารถจะสร้างความเป็นเอกภาพที่พร้อมต่อการต่อรองกับอีกฝ่ายได้ นี่อาจเป็นโจทย์ร่วมสำคัญระหว่างทางการไทยและบีอาร์เอ็นที่จะต้องสร้างความน่าเชื่อถือและมั่นใจให้เกิดกับ “ผู้สนับสนุนในฝ่ายของตนเอง” อย่างไร พร้อมๆ กับสร้างหลักประกันที่พอจะมีน้ำหนักว่ากระบวนการสันติภาพที่เดินอยู่นี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจริงๆ
อย่างไรก็ตาม คงต้องประเมินในเบื้องต้นด้วยว่าการตกลงร่วมกันลดความรุนแรงก็เป็นเพียงการสะท้อนให้เห็นความพยายามในการสร้างความก้าวหน้าในกระบวนการสันติภาพที่เพิ่งเริ่มมาเพียง 4 เดือนเท่านั้น โดยตัวปรากฏการณ์ดังกล่าวเองนั้นได้บ่งชี้ให้เราเห็นทั้งความหวัง/ความเชื่อ และความไม่ไว้ใจที่มีต่อกันไปพร้อมๆ กัน อันเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของกระบวนการสร้างสันติภาพในระยะเริ่มต้น เพราะในที่สุดแล้ว กระบวนการดังกล่าวก็ยังเป็นกระบวนการทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอนสูงด้วยเช่นกัน
ดังนั้นเพื่อยืนยันความตั้งใจจริงและแสดงให้เห็นความพยายามเพิ่มขึ้นในการสร้างสันติภาพ ในห้วงเดือนรอมฏอนที่ยังเหลืออยู่ ทั้งสองฝ่ายควรพิจารณาข้อเสนอดังต่อไปนี้

 

1. ต้องมีการชี้แจงและประสานงานภายในมากขึ้น
รัฐบาลควรจะทำคำชี้แจงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเน้นย้ำให้มีการปฎิบัติการให้ความร่วมมือและปฎิบัติตามข้อเสนอแนะที่มาจาก สมช. เพื่อให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องตามเงื่อนไขของ "ความเข้าใจร่วมกัน" ระหว่างทางการไทยและขบวนการบีอาร์เอ็นและพยายาม “หลีกเลี่ยง” การปฏิบัติที่ล่อแหลมต่อการถูกกล่าวหาว่าไม่ทำตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายโดยไม่มีความจำเป็นและขาดความเหมาะสม

 

2. การรับรู้ข้อเท็จจริงไม่เป็นอุปสรรคการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ
            ควรเข้าใจว่าการรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอนนั้นเกี่ยวโยงกับ “การสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ” ของทั้งสองฝ่าย แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ได้กระทบต่อความเชื่อมั่นไว้วางใจระหว่างรัฐกับทางบีอาร์เอ็น เพราะทั้งสองฝ่ายต่างประสงค์จะให้การพูดคุยสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้น ต่อจากนี้รัฐควรจะพยายามหาโอกาสในการสร้างกลไกความร่วมมือในการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับบีอาร์เอ็น ผ่านการประสานงานโดยผู้อำนวยความสะดวก โดยอาจเป็นกลไกที่อยู่ในสถานะคณะอนุกรรมการร่วม ทั้งนี้ เพื่อสร้างความกระจ่างและการแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ต่างๆ พร้อมทั้งจะมีการสื่อสารข้อเท็จจริงเหล่านี้ต่อสาธารณะอยู่เป็นระยะๆ กลไกดังกล่าวนี้จะทำให้ความไว้วางใจต่อกันกระชับแน่นมากขึ้น ในขณะที่ความกังขาต่อกระบวนการสันติภาพจะทุเลาลง

 

3.  โอกาสใหม่ในการสร้าง “โครงสร้างรองรับสันติภาพ”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นยังถือว่าเป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพในแง่ที่ว่าเราได้ตระหนัก ยิ่งขึ้นว่าการสร้างสันติภาพ (Peace-Building) ที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องของหลักการสร้างความ เชื่อมั่นไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างสองฝ่าย รวมทั้งฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความ รุนแรงในพื้นที่ที่มีความยืดเยื้อและซับซ้อน การสร้างสันติภาพจึงต้องสร้างความไว้วางใจให้เป็น รูปธรรมจากทั้งสองฝ่ายและวิธีสร้างความรู้สึกเชื่อมั่นก็ต้องอาศัยการออกแบบ (Design) และ ประดิษฐ์สร้างสิ่งที่เรียกว่า “โครงสร้างรองรับสันติภาพ” (Peace Infrastructure)
กลไกและโครงสร้างดังกล่าวคือสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องสร้างขึ้นมา “ร่วมกัน” เช่นการมีคณะอนุกรรมการร่วมกันในการติดตามผล การมีโครงสร้างคณะทำงานในการรายงานติดตามผลและการตรวจสอบข้อมูลของสถานการณ์ในพื้นที่ และการมีกลไกในการสื่อสารระหว่างกันอย่างไม่เป็นทางการ (Back-Door Channel) หรือการพบปะกันนอกรอบอย่างไม่เป็นทางการระหว่างตัวแทนของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนโครงสร้างที่สามารถเชื่อมโยงกับสาธารณชน ผ่านการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการผลักดันการแก้ไขปัญหาและตรวจสอบความพยายามและความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย กระบวนการสันติภาพที่มีโครงสร้างเชื่อมต่อกับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้จะสร้างแรงเหวี่ยงให้กับพลังทางการเมือง บีบขับความจำเป็นในการใช้ความรุนแรงออกไป นอกจากนี้ยังจะทำให้สันติภาพที่จะเกิดขึ้นมีความหมายต่อทุกฝ่ายและยั่งยืนอีกด้วย
สิ่งเหล่านี้ควรถูกสร้างขึ้นมาเมื่อเราเผชิญหน้ากับการท้าทายจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือผู้ก่อกวนกระบวนการสันติภาพ หรือเพื่อยับยั้งการกระทำดังกล่าวเมื่อสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เรากำลังสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาร่วมกันเพื่อให้เกิดความไว้วางใจอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยืนยันความจริงใจที่มีต่อกัน และทำให้ทั้งสองฝ่ายมีเหตุผลในการอดทนอดกลั้นมากขึ้นต่อสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นในช่วงหลังของเดือนรอมฎอนนี้
ประเด็นที่สำคัญในการทำความเข้าใจสถานการณ์ในช่วงเดือนรอมฏอนนี้มิใช่ว่าการตกลง สันติภาพที่ต้องการให้ยุติความรุนแรงในช่วงนี้ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวหรือไม่? เพราะเราทราบดีว่ากระบวนการสันติภาพในระยะเริ่มต้นมักมีความเปราะบางและไม่แน่นอน แต่อยู่ที่เราจะใช้ความรู้และความเข้าใจที่ได้มาจากเหตุการณ์ในห้วงเวลานี้มาใช้ประโยชน์เพื่อหาหนทางแก้ปัญหาด้วยวิธีสันติอย่างไร เราจะจัดการกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อที่อนาคตจะมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนน้อยลง การยืนหยัดอย่างมั่นคงอยู่บนฐานความรู้จะทำให้เรามองได้ไกลขึ้น เพราะในโลกความจริงมนุษย์เราเป็นเสมือนคนแคระที่ต้องยืนอยู่บนบ่าของยักษ์เพื่อจะได้มองไกลขึ้นฉันใด การผลักดันสันติภาพจึงต้องยืนอยู่บนฐานความรู้และประสบการณ์ที่มีมาก่อนฉันนั้น
 
 
download          e-book

 

File attachment
Attachment Size
dsw_analysis_-_southern_violence_and_rpi2013_th_0.pdf (1.06 MB) 1.06 MB