Skip to main content
 
นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
 
 
 
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ที่ห้องสะบารัง 2 โรงแรมซีเอส.ปัตตานี โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดเสวนา 20 คำถามเพื่อกระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อ ในงานบทบาทสื่อท้องถิ่นและภาษามลายู “ระหว่างทาง” กระบวนการสันติภาพ
 
ในงานนี้มีสื่อแขนงต่างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประมาณ 70 คน โดยเฉพาะสื่อวิทยุท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ
 
โดยมีผู้ตอบคำถามมี 4 คน ได้แก่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ Deep South Watch ดาโต๊ะอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และพ.อ.สมเดช โยธา นายทหารปฏิบัติการข่าว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)
 
โดยทั้ง 4 คน เป็นผู้ที่ร่วมโต๊ะการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทน ขบวนการBRN และผู้ติดตามการพูดคุยดังกล่าวอย่างใกล้ชิ้น
  
3 ข้อท้าทายของ ‘ข่าวกับสันติภาพ’
 
ทั้งนี้ ก่อนการตอบคำถาม ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโสของCSCD บรรยายหัวข้อ “แนวคิดบางประการเกี่ยวกับการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพ” โดยบรรยายว่า ความท้าทายพื้นฐานบางประการเกี่ยวกับการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพประกอบ ด้วย 3 ประการ คือ
 
1.กระบวนการสันติภาพเป็นความพยายามทางการเมืองที่มีการแข่งขันกันสูง โดยฝ่ายต่างๆต้องการเอาชนะในความขัดแย้ง และแม้ว่าจุดสนใจจะเปลี่ยนจากความรุนแรงมาเป็นการพูดคุยบนโต๊ะ แต่สำหรับคู่ขัดแย้งยังเป็นเรื่องของแพ้ชนะ หรือแม้ว่าพวกเขาจะยอมถอย แต่ยังคงมีแนวโน้มที่จะเปรียบเทียบกันว่า ใครถอยมากกว่ากัน
 
2.ด้วยแนวโน้มทางการเมืองที่เป็นเช่นนี้ สื่อจึงมักจะทำข่าวจากมุมมองแบบใครแพ้ใครชนะ สื่อที่เลือกข้าง ก็จะทำข่าวเข้าข้างฝ่ายของตัวเอง แต่สื่อที่ไม่ได้เลือกข้างหรืออยู่กลางๆ ก็มีแนวโน้มจะทำข่าวจากมุมมอง แพ้-ชนะ เพราะทำให้ข่าวดูน่าตื่นเต้น
 
3.กระบวนการสันติภาพที่มีประสิทธิภาพต้องสร้างสมดุลระหว่างข้อมูลที่สามารถเผยแพร่ ได้ในที่สาธารณะ และการสื่อสารในทางลับ เพราะสื่อมักจะนำข้อมูลที่ปิดลับออกมาเปิดเผย ซึ่งทำให้เป็นที่สนใจของสาธารณะ เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบสาธารณะไปในทางที่ผิด แต่การนำเสนอเช่นนี้ ทำให้การสร้างความไว้วางใจระหว่างคู่ขัดแย้งที่กำลังดำเนินไปอย่างระมัด ระวังถูกทำลายลง และคู่ขัดแย้งในการพูดคุยสันติภาพมักใช้สื่อเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของ ฝ่ายตนเอง
 
โอกาสวัดกึ๋นของ ‘สื่อเพื่อสันติภาพ’
 
ดร.นอร์เบิร์ต บรรยายอีกว่า สำหรับข้อสรุปการสื่อสารกระบวนการสันติภาพอย่างรับผิดชอบ
 
1. ความเป็นมืออาชีพ เช่นเดียวกับการรายงานข่าวอื่นๆ การรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพ ควรทำตามมาตรฐานของการแสวงหาความจริง การตรวจสอบแสวงหาข้อมูลแบบไม่ลำเอียง ตรวจสอบข้อมูลหลายด้าน รายงานอย่างถูกต้องตามบริบทของมัน และอื่นๆ
 
2. รายงานมุมมองที่แตกต่างหลากหลายอย่างครอบคลุม เพราะความขัดแย้งและสันติภาพเป็นเรื่องราวของฝ่ายต่างๆสองฝ่ายขึ้นไป ที่มีความเห็นและมุมมองเกี่ยวกับการคลี่คลายความขัดแย้งที่แตกต่างกัน บ่อยครั้งสื่อให้มุมมองเพียงด้านเดียว ซึ่งถือว่าขัดกับหลักการพื้นฐานของการรายงานข่าวที่ต้องเป็นธรรมและไม่ ลำเอียง
 
3. ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับตัวขับเคลื่อนความขัดแย้ง สำหรับสังคมใหญ่นอกพื้นที่ความขัดแย้งมักไม่เข้าใจว่า เหตุใดความรุนแรงจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อขบวนการต่อสู้ไม่มีฝ่ายการเมืองที่กล้าออกมาเปิดเผย ซึ่งนี่เป็นโอกาสของสื่อที่จะพยายามอธิบายตัวขับเคลื่อนความขัดแย้งด้วยวิธี ต่างๆ
 
4. เปิดพื้นที่ให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง และความไม่เป็นธรรมได้มีเสียง โดยข่าวและการวิเคราะห์เกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพในระดับบน (Trak1) มีความสำคัญ แต่สื่อควรเปิดให้เห็นหน้าและได้ยินเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความ รุนแรงและความไม่เป็นธรรม การถามประชาชนที่มาจากชุมชน ซึ่งแตกต่างหลากหลายในพื้นที่ เกี่ยวกับความต้องการพื้นฐานและความกลัวเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้การรายงาน ข่าวมีพลังมากที่สุด
 
5. เปลี่ยนกรอบการรายงานข่าวจากแพ้-ชนะ ไปเป็น ชนะทั้งคู่ โดยรายงานและเพิ่มเติมความรู้ให้กับประชาชนในเรื่องความคิด และข้อเสนอต่างๆที่มีขึ้น เพื่อเชื่อมประสานคู่ขัดแย้ง ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างกัน ค้นหาการยอมถอยจากทั้งสองฝ่าย ให้นักเคลื่อนไหวด้านสันติภาพได้เผยแพร่ความคิดเห็น และช่วยสร้างพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน
 
จาก 20 คำถามของ ‘สื่อ(ท้องถิ่น)ต่อสันติภาพ’
 
สำหรับคำถามเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพและคำตอบสำคัญๆ จากทั้ง 20 คำถามมีดังนี้
 
จากเอกราชสู่ปกครองพิเศษ
 
1. มีข่าวรายงานว่าขบวนการ BRN (ซึ่งเป็นคู่เจรจากับตัวแทนรัฐบาลไทย) ต้องการให้ใช้หลักการกระจายอำนาจในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านจึงถาม ถ้า BRN ต้องการกระจายอำนาจจริงทำไมจึงต้องสร้างสถานการณ์มานานเกือบ 10 ปี
 
ผศ.ดร.ศรีสมภพ - ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากในพื้นที่ เพราะเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นนานถึง 10 ปี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แม้ BRN ต้องการกระจายอำนาจให้สามารถปกครองตนเองได้ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Autonomy ก็ยังคงอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอยู่ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางกลุ่มของ BRN ยังคงต้องการเอกราช
 
อย่างไรก็ตาม ต่อไปหากข้อเรียกร้องในการต้อสู้ลดลง ความรุนแรงก็จะลดลงไปด้วย เพราะสภาพแวดล้อมส่งผลให้ความรุนแรงลดลง
 
ดาโต๊ะอาซิส - วันนี้ เมื่อมีการพูดคุยสันติภาพแล้ว พบว่าการแบ่งแยกดินแดนเป็นไปไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทำให้ฝ่ายขบวนการลดระดับข้อเรียกร้องลงมาเหลือเพียงการปกครองพิเศษ
 
ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ - ต้องถามประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการการปกครองในรูปแบบใด อย่างไรก็ตาม การถามความต้องการของประชาชนไม่สามารถจะทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบสิ้นสุดลง ต้องมองถึงปัญหาในด้านอื่นๆด้วย และต้องแก้ปัญหาควบคู่กันไปด้วยจึงจะทำให้เหตุการณ์สงบได้
 
พ.อ.สมเดช - ข้อเรียกร้องของ BRN ไม่เกินความคาดหมายจากที่มีการศึกษา คือมี 3 ระดับ คือ ต้องการเอกราช รองลงมาการปกครองพิเศษที่อยู่ภายในประเทศไทย แต่ต้องเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่ และระดับที่สาม คือ ต้องการ Autonomy ภายใต้รัฐธรรมนูญเดิมซึ่งจับต้องได้มากที่สุด แต่ฝ่ายปฏิบัติการระดับล่างสุดของ BRN หรือกลุ่มอาร์เคเคมีความต้องการที่ชัดเจนคือต้องการเอกราช ในขณะที่แกนนำระดับบนมีความยืดหยุ่นพอสมควร ซึ่งเป็นเรื่องภายในขบวนการที่จะต้องต่อรองกันภายใน
  
ทหาร VS รัฐบาลเพื่อไทย
 
2. นโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกับฝ่ายทหารระดับผู้บัญชาการทหารบกเป็นไป ในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ถ้ามีปัญหาในการทำงานร่วมกันจะแก้ปัญหาอย่างไร
 
ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ - ยืนยันว่าฝ่ายความมั่นคงและพลเรือนระดับนโยบายเห็นตรงกันว่า การพูดคุยเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งผู้บัญชาการทหารบก ผู้บริหารของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และศอ.บต ยืนยันว่าการพูดคุยต้องเดินหน้า เพราะเป็นการหาทางออกทางการเมืองไปสู่สันติ
 
อีกส่วนที่จะต้องชัดเจน คือ ฝ่าย BRN เป็นตัวแทนของผู้มีความคิดต่างในพื้นที่ทั้งหมดหรือไม่ จะต้องมีภาวะการนำของกลุ่มผู้มีความเห็นต่างให้ได้ และเป็นความต้องการของผู้เห็นต่างอย่างชัดเจน เพราะคนที่อยู่ในกระบวนการพูดคุยไม่มีอำนาจชี้ขาดได้ แต่จะส่งต่อข้อเสนอให้รัฐบาลและรัฐสภาตัดสินใจ
 
พ.อ.สมเดช - ดูเหมือนว่าฝ่ายทหารจะขัดแย้งกับฝ่ายรัฐบาล ความจริงพยายามเกื้อหนุนกัน ทหารมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยและปกติสุข ตามนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2555 – 2557) ข้อที่ 1 ส่วน สมช.รับผิดชอบข้อที่ 8 ในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งผู้บัญชาการทหารบกต้องการให้เกิดความชัดเจน ถ้าไม่ชัดเจนก็ต้องกลับไปถามฝ่ายBRNใหม่ให้ชัดจึงมีการชี้แจงเป็นเอกสาร 38 หน้าขึ้นมาทำให้กระบวนการพูดคุยชัดขึ้น เห็นความต้องการมากขึ้น
 
ส่วนกรณีการออกคลิปวิดีโอที่อ้างว่าเป็นมติของสภาชูรอของBRNที่ จะไม่ให้มีการพูดคุยต่อนั้นความจริงต้องการสื่อให้ฝ่ายไทยรับข้อเสนอ 5 ข้อของBRN เพื่อให้การพูดคุยเดินหน้าต่อไม่ใช่การขัดขวางตามที่มีการตีความกัน กระบวนการสันติภาพจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูด คุย
 
5ข้อBRN-สิทธิความเป็นเจ้าของ
  
3. ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของBRN มองว่าข้อไหนยากสุด และทำไมยังไม่เห็นข้อเสนอจากฝ่ายรัฐ แล้วจะเดินหน้ากันได้อย่างไร
 
ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ - ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อน่าจะทำได้ทั้งหมด แต่ข้อเสนอทั้งหมดยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะข้อที่ 4 ที่ว่าด้วยสิทธิความเป็นเจ้าของนั้น หมิ่นเหม่ต่อการแบ่งแยกดินแดน จึงจำเป็นต้องทำให้ชัดเจนว่าคืออะไรกันแน่
 
ส่วนข้อเสนอข้อที่ 5 ที่ให้ปล่อยนักโทษและยกเลิกหมายจับทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย จำเป็นต้องสร้างกติกาให้ชัดเจน ไม่สามารถทำได้ทีเดียวทั้งหมดต้องค่อยๆ ขยับเป็นขั้นตอน
 
ดาโต๊ะอาซิส - กระบวนการพูดคุยกำลังแปรเปลี่ยนไปแล้ว จำเป็นต้องคุยกันบนโต๊ะ ไม่ใช่ต่างคนต่างสื่อสารผ่านเว็บไซต์ยูทูปหรือผ่านเอกสาร วันนี้เป็นการเจรจาด้วยเอกสารมากกว่าการพูดคุยบนโต๊ะ หรือสื่อสารผ่านผู้อำนวยความสะดวกโดยไม่คุยกันบนโต๊ะ ทำให้ยืดเยื้อยาวนานและทำให้ประชาชนไม่มีความหวังว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ หรือไม่
  
4.ทหารมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือไม่หลังเกิดการพูดคุยสันติภาพ
 
พ.อ.สมเดช - ใน พื้นที่ทหารเตรียมการให้เกิดการเกื้อหนุนให้เกิดสันติภาพหลายด้าน เช่น ในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา ก็พยายามลดการปฏิบัติการในพื้นที่แต่เหตุรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ ก็ยังพยายามหาคำตอบอยู่ว่าเพราะอะไร
  
ความชอบธรรมของคู่เจรจา 
 
5. เอกสาร 38 หน้าของ BRN เป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนสงสัย เพราะเป็นเป็นสารที่บอกว่าBRNลดความต้องการลงมา รวมถึงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการโปรยใบปลิวที่มีข้อความว่าไม่ต้องการ Autonomy แต่ต้องการ Merdeka จึงอยากได้ความกระจ่างชัดว่า คนที่ไปเจรจามีชอบธรรมในการเป็นตัวแทนเจรจาหรือไม่ จะทำอย่างไรให้เกิดความกระจ่างต่อสาธารณะ เพราะคนที่ไปนั่งโต๊ะเจรจาไม่ได้สื่อสารกับคนในพื้นที่ แต่กลับเป็นสื่อท้องถิ่นต่างหากที่สื่อสารกับคนในพื้นที่มากกว่า ซึ่งจะทำอย่างไรที่จะให้เกิดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการเหล่านี้
 
ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ - คนที่รับผิดชอบในระดับนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการสมช.ได้ขับเคลื่อนผ่านนโยบายของสมช. ซึ่งผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรีและรัฐสภามาแล้ว ส่วนในระดับพื้นที่ ทางศอ.บต.ได้รับมอบหมายให้สร้างเกิดบรรยากาศในพื้นที่ที่เอื้อต่อการพูดคุย ทั้งสมช.และ ศอ.บต.ต้องนำนโยบายไปปฏิบัติ
 
โดยตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนรับรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ พยายามจะเปิดเผยข้อเสนอของคู่กรณี ไม่มีการปิดบัง และได้ส่งต่อข้อเรียกร้องทั้งหมดให้ประชาชนดู ถามความเห็นของพี่น้องประชาชน ซึ่งหลายเรื่องมีการสะท้อนกลับมา ซึ่งฝ่ายไทยเริ่มทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพื่อต่อรองกับฝ่ายBRN
 
ฝ่าย BRN ก็พยายามปรับเปลี่ยนคณะพูดคุย มีการเพิ่มกลุ่มพูโล เพิ่มฝ่ายเยาวชนและฝ่ายคุมกำลังเข้าไป ส่วนฝ่ายไทยก็พยายามปรับเปลี่ยนเช่นกัน เรื่องทั้งหมดไม่ใช่ความลับ สามารถเปิดเผยได้
 
ดาโต๊ะอาซิส - ความชอบธรรมของตัวแทนที่มาจากส่วนราชการมีความชัดเจน แต่ตนกับผศ.ดร.ศรีสมภพ คนในพื้นที่มีความเชื่อมั่นไว้มากน้อยอย่างไร ตนมาจากตัวแทนภาคประชาสังคม เป็นตัวแทนของสภาที่ปรึกษาที่มีสมาชิกจาก 49 คน ขอให้สื่อและประชาชนตัดสินเองว่าชอบธรรมจริงหรือไม่
 
ผศ.ดร.ศรีสมภพ - ตัวแทนการพูดคุยมีความชอบธรรมหรือไม่ ถูกบังคับมาหรือไม่ เอกสาร 38 เขียนเองได้หรือไม่ ตนเองก็ไม่รู้และไม่สามารถยืนยันทุกอย่างได้ทั้งหมด แต่มักมีข้อสันนิษฐาน เช่น การสื่อสารผ่านคลิปในเว็บไซต์ยูทูป ขณะนี้น่าจะมีความชัดเจนพอเพียงที่จะบอกว่าเขาถูกบังคับหรือไม่ โดยพิจารณาจากความรุนแรงที่ยังไม่หยุดแต่ไม่สูงขึ้นมากกว่าเดิม เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังไป 3 ปี
 
เมื่อความรุนแรงยังอยู่ระดับนี้ ก็ต้องหาทางออกมาพูดคุยกัน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเสียงบประมาณไปกับการแก้ปัญหาแล้ว 2 - 3 แสนล้านบาท ก็ต้องมาสู้ด้วยแนวทางการเมือง ส่วนขบวนการเองก็รู้ว่าไม่สามารถเพิ่มความรุนแรงขึ้นมาได้มากกว่านี้ ก็จำเป็นต้องปรับข้อเรียกร้องลงเพื่อมาต่อสู้กันทางการเมืองและทางความคิด แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่
 
กระบวนการสันติภาพต้องมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยเจรจากัน ถามว่าชอบธรรมหรือไม่ ที่ผ่านมาไม่มีหรือน้อยมาก ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือเรียกว่า พ.ร.บ.ศอ.บต. มีพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) มีนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ.2555 – 2557) หรือเรียกว่า นโยบายสมช.ที่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพในข้อที่ 8 ซึ่งถูกรับรองทางกฎหมายและรัฐสภา
 
ที่ผ่านมามีข้อวิจารณ์เรื่องการไม่ประสานกันระหว่างฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายความมั่นคง รัฐบาลก็มี สปก.กปต.(ศูนย์ ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้) เป็นกลไกขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ จนนำมาสู่การริเริ่มการพูดคุยสันติภาพภายใต้กรอบกฎหมาย ซึ่งไม่มีใครพูดว่าผิดกฎหมายและไม่ชอบธรรม 
 
เพียงแต่ระหว่างทางเดินของกระบวนการสันติภาพ ยังมีความไม่สมบูรณ์จึงเกิดข้อกังขาหรือคำถามขึ้นมา ส่วนภาคประชาสังคมเองก็พยายามสร้างพื้นที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่กลางหรือ พื้นที่ปลอดภัยขึ้นมาในสถานการณ์ขณะนี้ด้วย
  
เสียงผู้หญิงบนโต๊ะสันติภาพ
 
6. มีโอกาสหรือไม่ที่ผู้หญิงจะร่วมเข้าอยู่ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพด้วย ในฐานะเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบ โดยข้อเสนอที่ให้ยกโทษผู้กระทำผิดที่ก่อความรุนแรงนั้น คนในครอบครัวซึ่งมีผู้หญิงอยู่ด้วยน่าจะมีโอกาสได้สะท้อนความเห็นต่อข้อ เรียกร้องนี้ได้
 
ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ - ก่อนหน้านี้มีการเสนอให้มีผู้หญิงเข้าร่วมการพูดคุยด้วย แต่ฝ่ายBRNบอกว่ายังไม่พร้อม ซึ่งในกลุ่มเขามีตัวแทนผู้หญิงด้วย เพียงแต่ไม่ได้มานั่งอยู่บนโต๊ะเจรจาและเอ่ยชื่อไม่ได้
 
ส่วน เรื่องการปล่อยตัวนักโทษ ทางเราห่วงใยว่าตัวแทนไทยพุทธจะมีความรู้สึกมาก หากผู้ต้องขังคดีความมั่นคงถูกปล่อยออกมาโดยไม่มีกติกา เพราะฉะนั้นต้องให้BRN แสดงความชัดเจนในหลายคดีว่า คดีไหนไม่เกี่ยวข้องกับBRN บ้าง แล้วใครเป็นคนทำ
 
ประการ สอง ที่เรากำลังดูอยู่ซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง คือ การประสานงานกับกระบวนการยุติธรรม คดีความมั่นคงที่มีผู้ต้องหาหลายคนที่อยู่ในชั้นการพิจาณาของอัยการว่าจะ สั่งฟ้องหรือไม่ และมีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน หากมีคนที่ไม่ถูกสั่งฟ้องก็ไม่ต้องสั่งฟ้องไปทั้งชุด ขณะนี้มีอยู่ 100 กว่าคนที่อยู่ในกรอบการพิจารณา ในเมื่อหลักฐานอ่อนผู้ต้องหาคดีเดียวกันก็ไม่ต้องเสียเวลาต่อสู้คดี อะไรที่ผ่ายบริหารทำได้ก่อนก็จะทำ
  
ใครเป็นต่อ – ใครเป็นรอง
 
7.ความ เป็นต่อของรัฐบาลไทยและความเป็นรองของ BRN เพื่อให้กระบวนการเดินหน้าได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ฝ่ายBRNจะมีเอกสิทธิ์ในการเดินทางเชื่อมโยงกับพื้นที่ได้หรือไม่
 
พ.อ.สมเดช -BRN มีความรู้พร้อมกว่าฝ่ายรัฐไทย แสดงว่า BRN มีการเตรียมการ มีการทำโรดแมป(แผนที่นำทาง) แต่ฝ่ายไทยเป็นองคาพยพใหญ่ที่ต้องใช้เวลาชี้แจงทำความเข้าใจ
 
ส่วนเรื่องเอกสิทธิ์คุ้มครองการเดินทางนั้น BRN เป็นองค์กรลับ จะให้เขากล้ามาแลกเปลี่ยนความเห็นกันนั้นอาจเป็นเรื่องยาก จำเป็นต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยก่อนเพื่อให้เขาแสดงตัว เมื่อถึงขั้นนั้นถ้าทุกส่วนต้องการอะไรก็ให้เสนอออกมาได้เต็มที่
 
ทำไมมีการออกใบปลิวเรื่องเอกราช ต้องเข้าใจว่า RKK (ชื่อเรียกกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่) ถูกบ่มเพาะมาเป็นสิบๆ ปีในเรื่องเดียวว่าต้องได้เอกราช ต้องสู้แนวเดียว แต่ขบวนการมีการต่อสู้หลายระดับและโครงสร้างของBRNก็มีหลายระดับ จึงเป็นไปได้ที่จะไม่เข้าใจเกี่ยวกับออโตโนมี เราต้องเข้าใจและให้โอกาส RKK
 
ถอนทหารแลกวางอาวุธ
 
8.เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะถอนทหารออกจากพื้นที่ แล้วให้ BRN วางอาวุธ แล้วทำประชามติถามประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการสันติภาพในรูปแบบไหน
 
ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ - ต้องถามประชาชนว่า สันติภาพสิ่งที่ประชาชนต้องการคืออะไร ต้องการสันติภาพในรูปแบบไหน กระทั่งในช่วงเดือนรอมฎอนก็พยายามจะลดเหตุ แต่ก็มีการสะดุดอยู่ช่วงหนึ่ง แม้กระทั่งเวลาไปพูดคุย พยามอ้างความต้องการของประชาชนในแนวทางของสันติภาพ ซึ่งข้อเสนอ 5 ข้อ หากปฏิบัติให้เห็นผล จะส่งผลให้เขาจะเลิกก่อเหตุแต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร
 
ผศ.ดร.ศรีสมภพ - กระบวนการในขั้นแรกเป็นการสร้างความมั่นใจ ซึ่งเมื่อมีความไว้ใจกันแล้ว จากนั้นจึงจะอยู่ในขั้นยุติความรุนแรง การวางอาวุธหรือการถอนกำลัง มีความพยายามเป็นขั้นตอน เช่น รอมฎอนสันติภาพ ทำได้ระยะแรกแล้วก็เกิดสะดุด ดังนั้นต้องสร้างพื้นที่ให้เกิดความเชื่อมั่นไว้วางใจกัน ตอนนี้เรายังอยู่ระหว่างกระบวนการสร้างความมั่นใจ
 
ส่วนการทำประชามติในทางกฎหมายสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ต้องผ่านกระบวนการที่กล่าวในขั้นต้นไปก่อน ในตอนนี้ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ความรุนแรงลดลง แล้วสร้างความไว้ใจให้เกิดขึ้น ถ้าทำประชามติในตอนนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีผลออกมาอย่างไร คนจะยอมลงมติตามความต้องการหรือยอมเพราะอำนาจปืนและอำนาจเงิน
 
ความจริงตอนนี้ฮัซซัน ตอยิบ สามารถมานั่งตอบคำถามอยู่ในห้องนี้ได้ แต่ที่ไม่มาเพราะยังไม่เกิดความไว้ใจ เพราะฉะนั้นต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้ตัวแทนฝ่ายตรงข้ามกันสามารถมา พูดคุยกันได้
 
พื้นที่กลางในความหมายของรัฐ 
 
9. พื้นที่กลางในความหมายของ กอ.รมน. และฝ่ายการเมืองต่างกันอย่างไร ซึ่งพื้นที่กลางที่กล่าวถึงข้างต้น หมายรวมถึงพื้นที่ของสื่อด้วย เช่น กรณีที่มีสื่อพยายามนำเสนอข้อมูลเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐมองว่าสื่อดังกล่าว ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายขบวนการ
 
ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ - ตอนนี้พยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัย เช่น การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน(พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548) ในบางพื้นที่ที่มีเหตุรุนแรงน้อย ซึ่งตอนนี้ศอ.บต.และฝ่ายความมั่นคงกำลังคุยกัน หมายถึงเจ้าหน้าที่ก็ต้องลดการปฏิบัติการลงด้วย
 
“ยืนยันว่า ศอ.บต.เปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่างอย่างเต็มที่ เราให้โอกาสได้ทำข่าวได้อย่างเต็มที่ เพราะทำให้เห็นมุมมองของรัฐและทำให้เห็นมุมมองของผู้เห็นต่าง แม้บางครั้งที่มีการประชุม แต่ไม่ได้เชิญ ศอ.บต.ก็จะไป ซึ่งการที่นายฮัสซัน ตอยิบ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อในพื้นที่โดยตรง ศอ.บต.ก็ไม่ได้ขัดข้องเลย”
 
พ.อ.สมเดช - พื้นที่กลางในมุมมองของฝ่ายความมั่นคง คือ BRN สามารถเปิดตัวมากขึ้นจากที่ปัจจุบันรู้จักเพียงนายฮัซซัน ตอยิบ กับตัวแทนในการพูดคุย 5-6 คนเท่านั้น โดยให้มาเลเซียเป็นพื้นที่พูดคุยกันได้ เพราะผมมั่นใจในมาเลเซียว่ามีแรงจูงใจให้เกิดความสงบในพื้นที่ ทุกฝ่ายมองมาเลเซียเปลี่ยนไปจากผู้ให้พื้นที่หลบหนีเป็นผู้ต้องการให้ความ สงบมากขึ้น
 
แต่พื้นที่สาธารณะนี้ เรายังละเลยในกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มปฏิบัติหรือกลุ่มระดับล่าง ซึ่งถ้ามีนโยบายที่สามารถพูดคุยกันอย่างชัดเจน หรือใน Track 2 และ Track 3 ถ้าสร้างพื้นที่ในส่วนนี้ได้จะเป็นพื้นที่กลางมากขึ้น
 
ประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ ได้มีการสั่งการในระดับนโยบายลงมาในทุกระดับ แต่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ยังขัดข้องหรือไม่เป็นรูปธรรม ถ้านักศึกษาไปพูดคุยและเชิญเจ้าหน้าที่หรือฝ่ายอื่นเข้าไปร่วมด้วย บางทีหน่วยข่าวก็รายงานเกินความจริงว่ามีการปลุกระดม ถ้าได้มีการแจ้งกันก่อนก็น่าจะเข้าใจกันมากขึ้น
 
“สำหรับประเด็นพื้นที่กลางของสื่อ กรณีที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปปิดล้อมตรวจค้น หรือไปประชิดตัวนักศึกษาหรือสื่อ ในกรณีที่เล่ามา ให้ผู้นั้นรีบเข้าไปทำความรู้จักกับเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยดังกล่าวทันที เพื่อเป็นการเปิดตัวให้เขารู้จักเรา”
 
สื่อในฐานะเป็นพื้นที่สาธารณะที่ต้องการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ เมื่อมีการสื่อสารบางเรื่องที่ล่อแหลมก็เพื่อให้เปิดประเด็นคุยกัน เช่น การสัมภาษณ์ฮัสซัน ตอยิบ แต่กลายเป็นว่าสื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นกระบอกเสียงให้BRN ถ้ารัฐยังมองในมิตินี้อยู่ ก็แสดงว่ายังห่างไกลจากการสร้างสันติภาพ
 
ผู้สูญเสียกับการปฏิบัติของรัฐ
 
10. การเข้าตรวจค้นหรือปิดล้อมบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่เคยถูกคดีหรือเคยมีหมายจับ หรือตกเป็นผู้ต้องสงสัย เจ้าหน้าที่ควรให้เกียรติชาวบ้านหรือคนในพื้นที่มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูญเสีย
 
พ.อ.สมเดช - กรณีล่าสุดคือการค้นบ้านของก๊ะแยนะ สะแลแม (ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ) ถามว่า ถ้าเรานำมาสร้างความกดดันสุดท้ายก็จะเป็นความขัดแย้ง หรือบางครั้งอาจความบกพร่องของหน่วยงานรัฐนั้นที่ได้รับข้อมูลจากผู้ไม่หวัง ดี
 
ต่อกรณีผู้สูญเสีย ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือชาวบ้านหรือฝ่ายปฏิบัติการ ต้องเข้าใจว่าบางส่วนถูกบังคับให้มาปฏิบัติการเช่นกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมาทำความรู้จักกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละฝ่าย
 
สื่อเลือกข้างกับเสรีภาพในการแสดงออก
 
11. สื่อเลือกข้างชาวบ้าน เช่น การเปิดเวที Bicara Patani แล้วถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ เรียกว่าเป็นพื้นที่กลางได้หรือไม่ ล่าสุดมีนักศึกษาที่ทำกิจกรรมวันสันติภาพสากลถูกชายฉกรรจ์ตรวจค้น 5 คน รวมทั้งมีเพื่อนๆสื่อก็ถูกคุกคาม แสดงว่าเจ้าหน้าที่ยังไม่เข้าใจเรื่องเสรีภาพการแสดงออกหรือไม่
 
ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ - ศอ.บต. ตั้งข้อสันนิษฐานหนึ่งว่า การหนุนเสริมสันติภาพต้องอาศัยสื่อช่วยในการสื่อสารสร้างความเข้าใจ ไม่ได้ปิดกั้น สามารถทำข่าวได้เต็มที่ เพื่อให้เห็นกลไกของรัฐและแนวคิดของคนเห็นต่าง ยุคนี้สามารถพูดเรื่องเอกราชได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
 
อยากให้สื่อมีส่วนร่วมสะท้อนเรื่องราวต่อสาธารณะ นำเสนอเนื้อหาเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย การที่สื่อไปสัมภาษณ์นายฮัสซัน ตอยิบ เราชื่นชมและอยากให้ไปสัมภาษณ์มาอีกหลายคน เพื่อรัฐจะได้เข้าใจความคิดของเขามากขึ้น
 
เรื่องที่สื่อและนักศึกษาถูกคุกคาม ทางเลขาธิการศอ.บต.ได้รับการร้องเรียนเรื่องนี้มาบ่อย เราก็พยายามขอให้สื่อปลอดภัยและไม่ขัดข้องที่สื่อจะเสนอแนวคิดต่างๆ ส่วนมาตรการดูแลความปลอดภัยสื่อเป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง
 
พ.อ.สมเดช - ทั้ง หมดน่าจะเป็นเรื่องการไม่รู้จักกันมากกว่า แสดงว่าเจ้าหน้าที่ยังไม่รู้จักท่าน ถ้าท่านระแวงเจ้าหน้าที่ก็ขอให้ไปหาเขาเลย เพื่อจะได้รู้จักกัน การสร้างความรู้จักกันจะช่วยลดความหวาดระแวงต่อกัน
 
สิทธิภายใต้กฎหมายพิเศษ
 
12.ภายใต้กฎหมายพิเศษ ชาวบ้านมีสิทธิเสรีภาพในการพูดได้มากน้อยขนาดไหน อะไรที่นักศึกษา ทำได้ ชาวบ้านทำได้ อะไรที่อาจจะมีผลกระทบ
 
ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ - เท่า ที่ตรวจสอบหลังการเปิดพื้นที่พูดคุย น้องนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ได้สะท้อนแนวคิดต่างๆ รวมทั้งแนวคิดสุดโต่งถึงรัฐเอกราช ฝ่ายความมั่นคงก็ไม่ได้ไปจัดการอย่างไร
 
เรื่องการเปิดพื้นที่แสดงความเห็นต่างคือการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ อยากให้ทุกฝ่ายมีจิตใจเปิดกว้างจึงจะไปถึงเป้าหมายได้ เพราะพยายามทำความเข้าใจกับหลายฝ่าย หลายคนที่สะท้อนมาว่าความเห็นต่างเป็นเรื่องต้องรับฟัง เพราะหลายเรื่องนำกลับมาใช้ได้
 
ยังไม่มีการใช้กฎหมายพิเศษมาจัดการเรื่องนี้ มีแต่การเสนอให้ติดตามเฝ้าระวัง เราก็บอกว่าอย่าเลย ให้เปิดพื้นที่ขึ้นมาว่าใครเห็นต่างในประเด็นใด อย่างไร และยังไม่มีให้ถูกจับด้วยกฎหมายพิเศษ
 
การนิรโทษกรรมผู้ถูกคดี
 
13. ข้อที่ 5 ของBRN ที่ให้ปล่อยผู้ถูกคดีทั้งหมดต่างกับการนิรโทษกรรมคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่างไร
 
ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ - คนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ในชั้นศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ป.วิ อาญา) ต้องดำเนินการให้ถึงที่สุดใครก็ก้าวล่วงไม่ได้ ขณะที่ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่อยู่ในฝ่ายบริหารจะละเว้นได้ก็ต้องมีกฎหมาย นิรโทษกรรม ต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ต้องพิสูจน์ว่าคนเหล่านั้นไม่ได้ทำผิดจริง ต้องดูเป็นรายกรณี
 
ข้อเสนอของBRNที่ ให้ปล่อยผู้ต้องหาคดีความมั่นคงทุกคดีโดยไม่มีเงื่อนไข เราต้องมาดูกรอบกฎหมายของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องการอำนายความยุติธรรมเพื่อเอื้อต่อกระบวนการสันติภาพชัดเจนมาก พยายามทำเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด
 
ส่วนคำถามอื่นๆ เช่น การพูดคุยใช้เวลายาวนาน แต่ชาวบ้านทนไม่ไหวต่อการสูญเสีย ถึงเวลาหรือยังที่จะเจรจาอย่างเป็นทางการ
 
ดร.โนเบิร์ต กล่าวปิดท้ายว่า คำถามแบบนี้เกิดขึ้นบนโต๊ะเจรจาทั่วโลก และต้องย้อนกลับไปถามว่าประชาชนต้องการอะไร เช่น กรณีความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือ มีการตั้งคณะกรรมการจากคู่เจรจาทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อสำรวจความต้องการประชาชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยและต้องใช้เวลาหลายปี แต่ก็เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในอนาคต