Skip to main content

เผยแพร่วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552
 

 

ศาลไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญายื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐคดีแรกในสถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้

ภรรยาของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐในฐานความผิดร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง ข่มขืนใจให้รับสารภาพ ทำร้ายร่างกาย โดยทรมานทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย

------------------------------------------------------

 

     ในวันนี้วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสได้นัดให้มีการไต่ส่วนมูลฟ้องนัดแรกในคดีหมายเลขดำที่ 1611/2552 ที่สืบเนื่องจากเมื่อ วันที่ 20 สิงหาคม 2552 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยา ของนายยะผา กาเซ็ง(ผู้ตาย) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพันตรีวิชา ภู่ทอง ร้อยตรีศิริเขตต์ วาณิชบำรุง จ่าสิบเอกเริงณรงค์ บัวงาม สิบเอกณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช สิบเอกบันฑิต ถิ่นสุข พันตำรวจเอกทนงศักดิ์ วังสุภา จำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ กับพวกที่ยังไม่ทราบชื่ออีกหลายคน ในคดีอาญา ข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด กักขังหน่วงเหนี่ยว เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 290, 295, 297, 309, 310 ประกอบมาตรา 81, 91 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 26, 32, 39 และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550

     นายรัษฎา มนูรัษฎา หนึ่งในทีมทนายความ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากโครงการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมและการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับทนายความของศูนย์ทนายความมุสลิม ให้เป็นทีมทนายความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของนายยะผา กาเซ็ง ในคดีนี้ แถลงว่า “ตนได้รับมอบหมายจากทีมทนายความให้นำคณะทำงานในคดีนี้ลงพื้นที่เพื่อตรวจดูสถานที่ควบคุมตัวนายยะผา กาเซ็งอันเป็นที่เกิดเหตุ อีกครั้ง ณ ฐานปฏิบัติการทหาร หน่วยเฉพาะกิจที่ 30 (หน่วยเฉพาะกิจที่ 39 เดิม) ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งตั้งอยู่ในวัดสวนธรรม ก่อนดำเนินกระบวนการพิจารณาในศาล โดยในวันที่ 19 ตุลาคม 2552 ศาลได้เรียกพยานทั้งสองฝ่ายเพื่อดำเนินการไต่สวนมูลฟ้อง นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของคดีนี้ หากศาลฟังได้ว่าคดีมีมูลจึงจะได้กำหนดวันนัดพร้อม กำหนดประเด็น และสืบพยานต่อไป แต่ทางทีมทนายความไม่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายทหารให้เข้าไปในหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ ได้โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าต้องเป็นการขอหมายศาลหรือได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากแม่ทัพภาค 4”

     นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม ในฐานะประธานคณะทำงานของทนายความศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งได้แต่งตั้งทีมทนายความมุสลิมจากศูนย์ทนายความมุสลิมร่วมให้ความช่วยเหลือในคดีนี้ กล่าวเสริมว่า “คดีนี้อาจเป็นคดีที่สร้างบรรทัดฐานให้ประจักษ์แก่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ ทั้ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกระทั่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รัฐบาลกำลังจะใช้บังคับในสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และ สะบ้าย้อย) ว่าจะต้องปฏิบัติการด้วยความเป็นธรรมต่อประชาชน ยึดหลักนิติธรรม และไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่นคดีนี้ซึ่งศาลได้มีคำสั่งจากการไต่สวนการตายของนายยะผา กาเซ็ง เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐ”

     นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า “ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจหรือไม่เชื่อข้อเสนอขององค์การสหประชาชาติที่เสนอต่อประเทศต่างๆว่า การต่อต้านการก่อการร้ายจะได้ผลนั้น รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องดำเนินการโดยยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนด้วย” และนายสมชาย หอมลออ ได้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า “ยิ่งเจ้าหน้าที่มีอำนาจมากขึ้นตามกฎหมายพิเศษ เช่นกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ก็ยิ่งต้องพึงใช้อำนาจด้วยความระมัดระวัง มีความรับผิดชอบ และจะต้องถูกตรวจสอบมากยิ่งขึ้นด้วย มิเช่นนั้น จะมีการใช้อำนาจไปในทางที่ผิด หรือเกินเลยไป ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลวร้ายลง และอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการต่อต้านการก่อความไม่สงบได้”

 

ติดต่อ ข้อมูลเพิ่มเติม :

โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

02-6934939, 086-7093000 และศูนย์ทนายความมุสลิม 08-9873-1626