Skip to main content
 
การสร้าง "พื้นที่สาธารณะ" เป็นอำนาจทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถดูดพลังอำนาจของประชาชน พลเมืองกลุ่มต่างๆ มารวมตัวกันเพื่อแสดงบทบาทของภาคพลเมืองจนสามารถกำหนดวาระสำคัญของกลุ่มหรือเครือข่ายขึ้นมาให้ได้ (civic assembly) โดยมี “ปฏิบัติการสื่อสาร” (communicative action) ที่สามารถท้าทายข้ออ้างและความชอบธรรมที่ดำรงอยู่อย่างไม่เคยถูกตั้งคำถามได้ คือยกระดับเป็น “ผู้ชี้นำ” มากกว่าการเป็นส่วนประกอบของสื่อกระแสหลัก นี่คือความท้าทายบทบาทของสื่อทางเลือกชายแดนใต้
 
 
ย้อนรอยงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2
“เชื่อมร้อยเครือข่าย ผสานกำลังสื่อ สร้างพลังต่อรอง” 
Bargaining Power : Civil Networking and Synergy Media

วันที่ 12-13 มีนาคม 2555 
ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ มีลักษณะพิเศษกว่าการรวมตัวของเครือข่ายประชาสังคมภาคอื่นในประเทศไทย เพราะมี 3องค์ประกอบสำคัญที่ทำงานสัมพันธ์กัน คือ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และสื่อแขนงต่างๆ ที่สำคัญภาคประชาสังคมยังตระหนักเรื่องการสื่อสารกับสังคม กล่าวคือหลายองค์กรทำงานเชิงประเด็นควบคู่กับการออกแบบการสื่อสารสาธารณะทุกรูปแบบ หวังผลทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสันติและยุติธรรมเกิดขึ้น 

และเมื่อปี 2553 เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่ง จึงริเริ่มผลักดันให้เกิด "วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้" เป็นครั้งแรกให้เป็นการแสดงออกซึ่งการทำงานร่วมกันของเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมที่มีเป้าหมายสร้างพลังการต่อรองกับผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่าย และกำหนด "วาระการสื่อสารใหม่" ที่ปฏิเสธความรุนแรงทุกมิติและจากทุกฝ่ายที่ใช้ คาดหวังให้ "วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้" นี้ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้เป็นวันที่กลับมาทบทวนเป้าหมายการทำงาน เติมความรู้ และกลายเป็นพื้นที่หล่อหลอม สร้างแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นใหม่เสริมเข้ามาในกระบวนการเคลื่อนไหวสังคมชายแดนใต้อย่างสม่ำเสมอด้วย 

งานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555 มีการวางแผน เตรียมการ และเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา มีการเชิญตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านต่างๆ เข้าร่วมเป็นคณะทำงานเตรียมจัดงาน โดยในที่ประชุมเห็นตรงกันว่าที่ผ่านมา พลวัตรการสื่อสารเปลี่ยนไปมาก สื่อจากในพื้นที่สามารถกำหนด "วาระข่าว" ได้บ้างแล้ว เช่น การสามารถเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงเรื่องการกระจายอำนาจ จนถึงขั้นนำไปสู่การร่วมออกแบบโครงสร้างอำนาจทางการเมืองการปกครอง เพื่อให้เกิดรูปแบบเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษที่สอดคล้องกับพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ การตั้งคำถามกับความไม่เป็นภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษซ้ำซ้อน การรณรงค์เพื่อตั้งคำถามกับความไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งการผลักดันให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในทุกมิติอย่างเป็นธรรมมากขึ้น เป็นต้น 

ในการจัดงานครั้งนี้มี 3 สาระสำคัญที่ประชุมให้ความสำคัญและแลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อร่วมกันออกแบบรูปแบบของกิจกรรมวันสื่อทางเลือก ดังนี้

ประการแรก เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมที่ผ่านมา สามารถทำงานร่วมกันและสร้าง “พื้นที่กลาง” รวมถึง “พื้นที่กลางที่ปลอดภัย” เพียงพอที่จะมีนัยยะไปขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการสันติภาพ หรือผลิตวาระข่าวสารใหม่จากพื้นที่ชายแดนใต้จริง? เครือข่ายฯ ควรพอใจการผลิตเนื้อหาสาระ เพื่อให้ “สื่อกระแสหลัก” หยิบไปใช้เพียงเท่านั้น แง่นี้ “สื่อทางเลือก” จะเป็นการจำกัดนิยามเพียงแค่เป็นคู่ตรงข้ามของ “สื่อกระแสหลัก” และเป็นเพียงเครื่องเคียงข่าวที่สื่อกระแสหลักหยิบประเด็นไปประกอบข่าว ทว่า ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ท้าทายว่า สิ่งที่เครือข่ายฯ ควรคำนึงถึงคือความต้องการ “อำนาจ” จากพื้นที่ กล่าวคือ การสร้างพื้นที่เป็นอำนาจทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถดูดพลังอำนาจของประชาชน พลเมืองกลุ่มต่างๆ มารวมตัวกันเพื่อแสดงบทบาทของภาคพลเมืองจนสามารถกำหนดวาระสำคัญของกลุ่มหรือเครือข่ายขึ้นมาให้ได้ (civic assembly) โดยมี “ปฏิบัติการสื่อสาร” (communicative action) ที่สามารถท้าทายข้ออ้างและความชอบธรรมที่ดำรงอยู่อย่างไม่เคยถูกตั้งคำถามได้ คือยกระดับเป็น “ผู้ชี้นำ” มากกว่าการเป็นส่วนประกอบของสื่อกระแสหลัก

ประการที่ 2 การเปลี่ยนชื่อจากงานวัน “สื่อทางเลือก” (Alternative media) เป็น “สื่ออิสระ” (Independence Media) ซึ่งเป็นผลจากการถกเถียงฐานคิด นิยาม และบทบาทหน้าที่ของสื่อในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จากประเด็นข้างต้น และมีการอภิปรายกว้างไปถึงประเด็นสิทธิในการสื่อสาร สิทธิในการพูด (Free Speech) อย่างไรก็ตาม เสียงส่วนใหญ่ยังให้คงเป็นวันสื่อทางเลือกไว้ก่อนสักระยะหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่าการบอกว่าเราเป็นใครนั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำ และหากเปลี่ยนชื่องานทุกปีก็จะไม่สามารถประกอบสร้าง “สัญลักษณ์” ให้เข้มแข็งได้

ประการที่ 3 การตั้งเป้าหมายและความคาดหวังผลลัพธ์ โดยหลักการเห็นชอบที่จะให้ “วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้” เป็นเครื่องมือในการชวนเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคม  จัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การยกระดับการสื่อสารสาธารณะ ยังคาดหวังว่าให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปัน เสริมศักยภาพระหว่างกัน รวมทั้งเป็นพื้นที่ฝึกประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่ในแต่ละเครือข่ายฯ มีโอกาสได้ฝึกการนำเสนอ “เนื้องาน” ขององค์กรตนเองด้วย และมีข้อเสนอที่น่าสนใจหลายประเด็นจากนายชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ จากสำนักหัวใจเดียวกัน “หากจะทำให้เครือข่ายฯนี้ สะท้อนการรวมตัวสร้างพลังอย่างไร ควรชวนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบในมิติต่างๆ ที่ได้รับการแก้ไขในปัญหาระดับหนึ่งจากผลการทำงานของเครือข่าย ขึ้นมาบอกเล่าประสบการณ์ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อให้การทำงานของสื่อชายแดนใต้ช่องทางต่างๆ เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น” และ “นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่เครือข่ายได้สื่อสารระหว่างกันแล้ว น่าจะมีการเชิญคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ได้ร่วมงาน เพื่อแนะนำอาชีพและช่องทางการทำงานเพื่อสังคม เป็นพื้นที่จุดประกายให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าสู่อาชีพเกี่ยวกับการสื่อสารกับสังคมรูปแบบต่างๆ”

ในที่สุดประชุมสรุปจัดงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ เป็นสองวันคือ วันที่ 12-13 มีนาคม 2555 ภายใต้คำรณรงค์ “เชื่อมร้อยเครือข่าย ผสานกำลังสื่อ สร้างพลังต่อรอง” Bargaining Power : Civil Networking and Synergy Media ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รูปแบบงานเป็นการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด ในรูปแบบตลาดนัดสื่อ ตลาดนัดวิชาการ ตลาดนัดกระบวนการ และมีเวทีกลางนำกิจกรรมของแต่ละกลุ่มย่อยขึ้นมานำเสนอ รวมทั้งการเชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานสื่ออย่างหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งเปิดพื้นที่และโอกาสให้เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมทุกองค์กรเครือข่าย ได้นำเสนอการทำงานของตนเองในระยะที่ผ่านมา และการระดมทุนของแต่ละองค์กรด้วย

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ 

  1. เป็นพื้นที่สร้างและพัฒนาความร่วมมือการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคม และฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อแสดงสัญญะการทำงานร่วมกันของเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมที่นำไปสู่การสร้างพลังอำนาจการต่อรองกับผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่ายได้
     
  2. ให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์การใช้สื่อและเครื่องมือต่างๆ เพื่อเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะในสถานการณ์(พื้นที่) ที่มีความรุนแรงและขัดแย้งกันนั้น สื่อไม่ได้เป็นแค่พื้นที่สาธารณะที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารและเปิดพื้นที่ให้เสียงอันแตกต่างจากเสียงหลักของสังคมเผยตัวขึ้นมาเท่านั้น ทว่ายังเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่นำไปสู่การสร้างหรือคลี่คลายความขัดแย้งได้พร้อมกัน จากวิทยากรทั้งในและต่างประเทศ
     
  3. เปิดตัวสื่อทางเลือก สื่อชุมชน และสื่อสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ ที่เคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนใต้ให้มี "ที่ยืน" และ "ปรากฏตัวตน" ชัดเจนในการทำงานมากขึ้น

บรรยากาศการประชุมของคณะเตรียมการจัดงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 ทำให้ปีนี้มีองค์กร/เครือข่ายเข้าร่วมงานมากกว่าปีที่ผ่านมา

งานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ปีนี้ มีเครือข่ายเข้าร่วมมากกว่าปีที่ผ่านมา กว่า 30 องค์กร มีผู้เข้าร่วมงานและร่วมจัดกิจกรรมในแต่ละวันเฉลี่ย 300-400 คน เครือข่ายใหม่ๆ ที่เข้าร่วมปฏิบัติการสื่อสารในงานนี้ ได้แก่ สำนักหัวใจเดียวกัน จากนราธิวาส มาเปิดตัวกลุ่มเยาวชน 'เฌอบูโด' และร่วมทำวารสารเฉพาะกิจเพื่อเผยแพร่ในงาน สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ (วพส.) มาเปิดตัวโครงการและเว็บไซต์ โครงการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้ (Knowleage for Deep South-K4DS) รวมทั้งระบบการค้นหาข้อมูลที่นำสมัย กลุ่ม FT Media นำโดยนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซี ภาคภาษาไทย และทีมมาถ่ายถอดประสบการณ์และสาธิตการทำ "สารคดีเสียง" สำหรับออกอากาศทางวิทยุ 

ยังมีเครือข่ายผู้พิการจากสถาบันสุขภาพคนพิการ (สสพ.) มาออกบูททีวีคนหูหนวก ฉายหนังเงียบ และแสดงอานาซีดเพื่อคนพิการ รวมทั้งการได้รียนรู้ตัวตนและความหลากหลายพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้กับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มาฉายวีดีทัศน์ 3 เรื่อง คือ ประวัติศาสตร์ปัตตานี ภาษามลายู และโลกใบเล็กของมุสลิม เป็นต้น และในงานเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม ยังได้จัดเวทีเพื่อเผยเสียงของผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและเวทีขอคำแนะนำเพื่อออกแบบการสื่อสารขับเคลื่อนการทำงานของเครือข่ายผู้หญิงด้วย ซึ่งตลอดทั้งสองวันมีการถ่ายทอดสดทางเว็บ www.deepsouthwatch.org และ www.tvthainetwork.com พร้อมกับการถ่ายทอดเสียงผ่านวิทยุมอ. และวิทยุชุมชนของเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมด้วย

ในช่วงค่ำของวันแรก มีงานเลี้ยงเพื่อให้เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมได้ทำความรู้จักกันเพิ่มเติม ซึ่งพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. มาร่วมงานและให้ความสำคัญกับการแสดงออกและการเปิดพื้นที่ของเครือข่ายสื่อทางเลือกชายแดนใต้ เขากล่าวในงานเลี้ยงว่า “ที่ผ่านมารัฐบาลทุ่มงบประมาณจำนวนมากให้กับสื่อภาครัฐ แต่ก็ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอเงื่อนไขและแสดงทางออกของความขัดแย้งของปัญหาได้ ช่วงหลัง ศอ.บต. จึงต้องติดตามการเสนอข่าวของสื่อทางเลือกทั้งจากเว็บไซต์และวิทยุชุมชน เนื่องจากสื่อเหล่านี้ได้นำเสนอประเด็นที่หลากหลายมากกว่าการนำเสนอปรากฎการณ์ความรุนแรงรายวัน มีความใกล้ชิดกับชาวบ้านและนำเสนอความเห็น ความต้องการของคนในพื้นที่ให้ภาครัฐได้ยิน และพร้อมสนับสนุนแนวทางที่เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมจะช่วยกันเปิดพื้นที่ที่ปลอดภัยเพื่อให้คู่ขัดแย้งหลักได้ใช้เป็นพื้นที่การสื่อสาร ให้เป็นอีกพื้นที่และทางเลือกที่ไม่ใช้ความรุนแรง”

เสนอสร้างพื้นที่สาธารณะสร้างทางเลือกไม่ใช้ความรุนแรง

ความสำคัญจากการบรรยายสาธารณะ ของโรงเรียนวิชาการเมือง หัวข้อ “เจอร์เกน ฮาเบอร์มาส: การเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างของพื้นที่สาธารณะ" โดย ดร.โนเบิร์ธ โรเปอร์ส ผู้อำนวยการองค์การสนับสนุนสันติภาพเบิร์กฮอฟ (ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้)

อ่านสรุปบรรยายสาธารณะดังกล่าวที่: การสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อหาทางออกของความรุนแรง: ความคาดหวังบทบาทสื่อทางเลือกชายแดนใต้

ผู้หญิงแปรเสียงแห่งความสูญเสียสู่เสียงแห่งสันติภาพ

และสาระหลักในเวทีเสวนา “ผู้หญิงชายแดนใต้กับการแปรเสียงแห่งความสูญเสียสู่เสียงแห่งสันติภาพ” “การจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ เพื่อต้องการสะท้อนเสียงผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแปรเสียงแห่งความสูญเสียเปลี่ยนเป็นเสียงแห่งสันติภาพและความหวัง ผ่านทางรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้” นางโซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บ่งบอกเป้าหมาย

นางอัสรา รัฐการัณย์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ เล่าให้ฟังถึงเนื้อหาหลักในรายการ "คือ เสียงที่หลายคนในสังคมไทยอาจไม่เคยได้ยิน เสียงจากผู้หญิงและภาคประชาสังคมที่กำลังขยับ ขับเคลื่อนงาน ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งและภาวะยากลำบากที่ต้องร่วมก้าวข้ามให้ได้" เธอเล่าเบื้องหลังความสำเร็จของรายการเพราะมีกลุ่มผู้หญิงร่วมอยู่ในกระบวนการจัดรายการ เช่น การตัดต่อเสียง การสัมภาษณ์ การเขียนบทวิทยุ และเป็นผู้จัดรายการเองด้วย “รายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ แม้ว่าเริ่มต้นจากความสูญเสีย แต่รายการเราจบด้วยความหวัง และอยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในพื้นที่บ้านเรา” 

เช่น น.ส.ดวงสุดา นุ้ยสุภาพ หนึ่งในผู้สูญเสียชาวพุทธ เล่าประสบการณ์การทำงานที่ไม่มีพื้นฐานการจัดรายการวิทยุมาก่อน "เมื่อได้เข้าอบรมการจัดรายการวิทยุ ได้รู้จักเทคนิคการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญด้วย จึงมีโอกาสจัดรายการวิทยุทั้งหมด 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพุทธ-มุสลิม ซึ่งสังคมมักมองข้ามเรื่องเหล่านี้ และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย"

ด้านนางมาริสา สะมาแห ผู้สูญเสียชาวมลายูมุสลิม ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าทำไมถึงก้าวข้ามความสูญเสียแห่งชีวิตได้ "ช่วงที่จัดรายการวิทยุมีโอกาสนำเสนอความรู้สึกของตัวเองว่าเป็นอย่างไร ครั้งแรกที่ตัวเองประสบ คือ สามีถูกยิงเสียชีวิต ก็รู้สึกช็อกมาก ต้องใช้เวลาในการรักษาจิตใจ ตอนนี้พระเจ้าให้ตนมีความสุขและสบายใจ เพราะได้ปฏิบัติในสิ่งที่พระเจ้าสั่งให้ทำ คือ ให้อดทนและปฏิบัติละหมาดสุนนะห์ จึงอยากบอกในสิ่งที่เคยผ่านมาและสิ่งที่ได้รับให้ผู้ได้รับผลกระทบคนอื่นๆ ฟังผ่านทางรายการวิทยุแห่งนี้" 

ส่วนประสบการณ์ของนางแยน๊ะ สะแลแม ที่ทำงานช่วยเหลือชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมเหตุการณ์ตากใบ จัดรายการวิทยุมา 3 ปีแล้ว "ช่วงแรกที่จัดรายการไม่รู้ว่าจะพูดอะไรดี พูดไม่ออก ความที่อยากสื่อให้คนในพื้นที่ทราบความเป็นอยู่ของเรา และรู้สึกดีใจมาก เมื่อทราบว่าผู้หญิงสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ ในส่วนที่จัดรายการจะพูดเกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรม เรื่องสันติวิธี พูดในเรื่องการก้าวข้ามของตนเองเพื่อให้คนที่ได้รับผลกระทบคนอื่นฟัง ให้เข้มแข็งและลุกขึ้นมาต่อสู้กับความเจ็บปวด สูญเสีย และความยากลำบากที่ต้องเผชิญในห้วงของความรุนแรง"

ในมุมของผู้ให้การพัฒนาศักยภาพตอนเริ่มต้นโครงการ น.ส.นวลน้อย ธรรมเสถียร สะท้อนว่า ตอนแรกแปลกใจและยังกังวลว่าจะทำได้หรือเปล่า  เนื่องจากว่ากลุ่มผู้หญิงที่จัดรายการวิทยุส่วนใหญ่ไม่เคยจับไมค์มาก่อน และคงเพราะผู้หญิงกลุ่มนี้ด้านหนึ่งเป็นผู้หญิงที่ทำงานเพื่อสังคม และต่อมาก็เป็นนักสื่อสารด้วย หลังจากเห็นจากกระบวนการและผลการทำงานที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่าผู้หญิงกลุ่มนี้สามารถทำได้ 

"ถือเป็นรายการวิทยุพิเศษตรงที่ผู้จัดรายการเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ช่วงจัดรายการผู้หญิงกลุ่มนี้สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ มีการถ่ายทอดเนื้อหาเรื่องราวของตนเองให้ผู้ได้รับผลกระทบคนอื่นๆ ฟัง ฉันมองว่าผู้หญิงกลุ่มนี้ได้ก้าวข้ามมาได้ในระดับหนึ่งแล้ว" นวลน้อยระบุและเห็นว่าการทำงานของเครือข่ายนี้ควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นการสร้างพลังจากผู้ได้รับผลกระทบส่งผ่านเครือข่ายไปสู่สังคมใหญ่ได้

นายแวหามะ แวกือจิ หัวหน้าสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน สลาตันปัตตานี พันธมิตรของกลุ่มผู้หญิงฯ ระบุว่า รายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้เป็นรายการวิทยุแบบอัดเสียงที่ครองใจผู้ฟัง ซึ่งฟังผ่านทางสถานีวิทยุของตน ผู้ฟังส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง 80% และเป็นผู้ชาย 20% และผู้ฟังยังได้เสนอว่า อยากฟังรายการวิทยุที่เป็นภาคภาษามลายู ซึ่งตนก็สนับสนุนให้มีด้วย เนื่องจากว่า สถานีวิทยุของตนผู้ฟังรายการส่วนใหญ่จะถนัดฟังรายการวิทยุที่เป็นภาคภาษามลายู อีกทั้งสถานีร่วมด้วยช่วยกันเชื่อมกับอินเตอร์เน็ตซึ่งก็เป็นไปได้ว่าอนาคตจะมีคนฟังรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้อยู่ทั่วโลก

มากกว่านั้น นางฟารีดา สุไลมาน อดีต ส.ส. จาก จ.สุรินทร์ หนึ่งในผู้ร่วมฟังเสวนาชื่มชมการทำงานของผู้หญิงกลุ่มนี้ และได้เสนอให้รายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ได้เชื่อมกับสถานีวิทยุรัฐสภา เพื่อให้คนนอกพื้นที่รับฟังเสียงผู้หญิงที่สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ในสถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรงที่ดำรงอยู่ขณะนี้

สื่อชายแดนใต้มีพลังต่อการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง?

และในเวทีสื่อเสวนา: "พลังสื่อและการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง” Dr.Isak Svensson จากมหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน พูดให้เราตระหนักถึง "การแปรเปลี่ยนความขัดแย้งและบทบาทของสื่อ" เขาตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทั่วโลกลดลง เนื่องจากมีเครื่องมือการจัดการความขัดแย้งที่ทำงานได้ผลอยู่ ทว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งพื้นที่ชายแดนใต้ ผู้คนที่เกี่ยวข้องจะเลือกใช้วิธีไหน "การบริหารจัดการความขัดแย้งเป็นการจัดการเรื่องพฤติกรรมและความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่และมีส่วนให้เกิดความรุนแรง อย่างไรก็ดีการแสวงหาทางออกของความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ต้องค้นหาประเด็นซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมากกว่า แต่กระนั้นการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง เป็นเรื่องที่ยากที่สุด ที่ต้องไปรับมือกับทัศนะที่ทำให้เกิดปัญหาที่นำมาสู่ความขัดแย้ง"  ทำให้เขาให้ความสนใจลงมาทำงานเชิงลึกในพื้นที่ชายแดนใต้

ดังนั้น หากถามว่าสื่อในพื้นที่ชายแดนใต้มีพลังเพียงพอต่อการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งหรือไม่? ทั้งนักวิชาการและตัวแทนสื่อหลากหลายประเภทที่กำลังทำงานอย่างเข้มข้นนำเสนอข้อเท็จจริง ดังนี้ อาจารย์สมัชชา นิลปัทม์ ตัวแทนจากคณะวิทยากรสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สรุปงานวิจัยเกี่ยวกับสื่อที่ทำงานกับชุมชนพื้นที่ชายแดนใต้ "จากการศึกษาการทำงานของเคเบิลทีวี วิทยุชุมชน สื่อพื้นบ้าน อินเตอร์เน็ตในพื้นที่ชายแดนใต้ พบว่า หลายปีนี้มีความต้องการพัฒนาเนื้อหาของสื่อทุกช่องทาง รวมทั้งการพัฒนาการรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงชายแดนใต้ให้มากขึ้น" เมื่อลงในรายละเอียดในการวิจัยเกี่ยวกับวิทยุชุมชน ยังพบว่า เรื่องสันติภาพ ความสามััคคี เป็นวาระของรัฐที่พยายามสร้างขึ้นมา และในงานวิจัยเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ พบว่าในการนำเสนอข่าวสารเป็นการหยิบยืมวิธีคิดของสื่อสิ่งพิมพ์มาใช้ โดยไม่ใช้ข้อเด่นของสื่อออนไลน์ให้เต็มที่ จำเป็นมากต้องพัฒนาศักยภาพการสื่อสารทั้งเทคนิคและเนื้อหาผ่านสื่อใหม่ 

อาจารย์สมัชชา ทิ้งประเด็นชวนคิดเพื่อให้กลับไปทำงานต่อร่วมกัน "ในการวิจัยชุดนี้ ข้อค้นพบสำคัญชาวบ้านในพื้นที่มีทัศนะว่า เรื่องสันติภาพเป็นเรื่องที่รัฐพยายามสถาปนา โดยไม่พูดถึงบริบทความขัดแย้ง ซึ่งไม่ใช่วาระของชาวบ้าน เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมจะทำอย่างไรให้การขับเคลื่อนเรื่องกระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและรุนแรงนี้"

ด้านนายนิฟูอาด บาซาลาฮา นักจัดรายการวิทยุชุมชนมลายู เป็นอาสาสมัครสื่อสารสาธารณะ ตั้งแต่ปี 2547 โดยใช้ความเข้าใจเรื่องบริบทของศาสนาอธิบายความซับซ้อนที่เกิดความขัดแย้งและรุนแรงกับชาวบ้านกลุ่มผู้ฟัง "เมื่อจัดรายการวิทยุแล้ว เราพบปัญหาพื้นฐาน ความไม่เป็นธรรมของชาวบ้านจำนวนมาก ควบคู่ไปกับสถานการณ์ความรุนแรงที่กดทับเขาอยู่ ทำให้นักจัดรายการวิทยุกลายเป็นผู้เชื่อมโยงปัญหาระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ให้แก้ไขปัญหาได้บ้างเป็นเรื่องๆ เหมือนกัน"  เขาระบุว่าบทบาทสื่อวิทยุชุมชนที่เป็นตัวกลางให้ชาวบ้าน กลับกลายเป็นที่เฝ้ามอง ไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ และมีข้อเสนอว่า "อยากให้รายการวิทยุของรัฐ เข้าใจวิถีและบริบทของชาวบ้าน มีการสวดดูอาห์ก่อนและหลังเริ่มรายการ ชาวบ้านจะฟังมากขึ้น" 

ส่วนนายมูฮำหมัด ดือราแม กองบรรณาธิการ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ กล่าวถึงการทำงานของ "โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้" มีเป้าหมายเพื่อผลิตคนทำสื่อที่สามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ การเกิดขึ้นของโรงเรียนนักข่าวฯกับบริบทของสื่อใหม่ที่มีการแข่งขันกันสูงเรื่องรูปแบบ "แต่ผมยังให้ความสำคัญกับเนื้อหาเป็นหลัก ที่ผ่านมา ฝึกสร้างคนรุ่นใหม่ได้เกือบ 30 คน คนที่สามารถทำงานต่อเนื่องเป็นนักข่าวได้จริงเหลืออยู่ประมาณ 3-4 คน อุปสรรคที่ไม่สามารถรักษานักข่าวใหม่ไว้ได้ เพราะนักข่าวต้องพยายามทำเข้าใจความซับซ้อนของบริบท เงื่อนไขการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ซึ่งยากมาก"  

เขาระบุอีกว่า การทำงานข่าวในชายแดนใต้ นอกจากมีความซับซ้อนที่ต้องเกาะติดตลอดเวลา ต้องรอบรู้เชิงบริบทและเท่าทันสถานการณ์การเมืองภาพใหญ่ของประเทศด้วย "มากกว่านั้น โรงเรียนนักข่าวฯ ต้องการสร้างนักข่าวที่รู้รอบด้าน สามารถยกระดับเข้าใจและรับมือกับสถานกาณ์การเข้าสู่ความเป็นอาเซียน และเพื่อให้ชายแดนใต้เข้าสู่กระบวนการเป็นประชาคมอาเซียนในอนาคตอย่างไม่ติดขัด จำเป็นต้องสร้างและผลิตนักข่าวที่สื่อสารภาษามลายูไปพร้อมกัน" และประเด็นที่กองบรรณาธิการจะต้องฝ่าฟันให้ได้ คือ "ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มองนักข่าวเป็นอีกชนชั้นหนึ่ง เห็นเป็นเครื่องมือของรัฐ จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีทัศนะไว้วางใจสื่อมากขึ้น"

นายมูฮำหมัดซอเร่ เดง ตัวแทนกลุ่มบินตัง โฟโต้ จากเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนงาน "เราต้องการนำเสนอ 'ภาพสันติ' ที่แสดงการอยู่ร่วมกันได้ในพื้นที่ชายแดนใต้" เขาเล่าถึงแรงบันดาลใจมาจากการชุมนุมช่างภาพชายแดนใต้ ปี 2553 "จุดประกายผม ให้ใช้ภาพในการเก็บมุมมอง ความรู้สึกสะท้อนเรื่องราวคนในพื้นที่ได้ หลายคนมีกล้องในมือ แต่ขาดพื้นที่นำเสนอมุมมอง ดังนั้นการเปิดพื้นที่ให้ 'ภาพ' ปรากฎเป็นเรื่องสำคัญ จึงเริ่มเปิดกลุ่มคนรักถ่ายภาพจังหวัดชายแดนใต้ใน Facebookเพื่อเปิดพื้นที่ให้ภาพในหลายมิติถูกนำเสนอ พร้อมเรื่องเล่าจากภาพ ผ่านไปหนึ่งปี ขณะนี้มีคนในพื้นที่กว่า 500 คน โพสต์ภาพหลากหลายมุมมองมามากกว่า 3,000 ภาพ เปิดโลกการเรียนรู้แก่ผมอย่างมาก"  "มีภาพแม้กระทั่งบ่อน้ำกลางถนน ตอนแรกผมนึกว่าเป็นวงเวียนกลับรถหรือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ทำถนนให้ชาวบ้านดีๆ" เขายกตัวอย่าง

แต่สำหรับนายสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ผู้ผลักดันให้เกิดเครือข่ายนักข่าวพลเมืองเพื่อสามารถสื่อสารเรื่องราวจากพื้นที่สู่หน้าจอทีวีสาธารณะ ทำงานทางความคิดกับสังคมนอกชายแดนใต้ให้ได้ "ผมอยากพูดเรื่องความสมัครใจในการสื่อสารสร้างความเข้าใจในพื้นที่ เพราะคนดูเบื่อสื่อที่ชอบสั่งสอนมากกว่าเปิดพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน และที่ผ่านมาชาวบ้านกลายเป็นวัตถุเรียนรู้ของนักข่าวใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งชาวบ้านก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย เมื่อใดชาวบ้านจะสื่อสารได้เอง" เขาท้าทายเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคม "นักสื่อสารสมัครใจจะเกิดขึ้นได้ไหม ในเมื่อพื้นที่การสื่อสารได้เปลี่ยนไปแล้ว และคำถามที่ยากขึ้น เมื่อผู้ส่งสารเปลี่ยนมือ พื้นที่สื่อเปลี่ยนแปลง การแปรเปลี่ยนความขัดแย้งเพื่อเกิดสันติภาพจะเริ่มต้นอย่างไร" และคาดหวังว่า "การสื่อสารของคนเล็กคนน้อยเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น แต่จะเชื่อมการทำงานกับสื่อกระแสหลักอย่างไรเพื่อส่งพลังระหว่างกันได้"

"การทำความเข้าใจความซับซ้อนของความขัดแย้งเป็นวาระของคนในพื้นที่ในการนำเสนอเนื้อหาให้น่าสนใจ เป็นบทบาทสำคัญของสื่อทางเลือกชายแดนใต้" นวลน้อย ธรรมเสถียร  อดีตผู้สื่อข่ายบีบีซี ที่ทำงานเกาะติดความรุนแรงชายแดนใต้ในรอบใหม่นี้ และผันตัวเองเป็นกลุ่มสื่ออิสระที่เข้ามาทำงานเชิงลึกและต่อเนื่องมากขึ้น "มีสื่อเล็กๆ เกิดขึ้นมากในจังหวัดชายแดนใต้แต่ก็ล้มหายตายจากไปเร็ว เพราะการทำข่าวมีต้นทุนสูงหลายมิติ ต่อให้เป็นคนในพื้นที่ก็ตาม" 

เธอตั้งคำถามใหญ่ที่ต้องทบทวนร่วมกัน "เมื่อคนในพื้นที่ทำสื่อกันเอง ทำไมชาวบ้านยังรู้สึกไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในความขัดแย้งชายแดนใต้ และเราไม่สามารถตัดใคร ผู้มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ความรุนแรงออกจากระบวนการสื่อสารได้" พร้อมกับท้าทาย "วิทยุชุมชนเป็นสื่อใกล้ชิดกับชาวบ้านสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ควรเรียนรู้ข้อเด่นแบบนี้และปรับใช้

ก้าวต่อไปของสื่อทางเลือกชายแดนใต้

นางโซรยา จามจุรี ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สะท้อนข้อดีของการจัดงานครั้งนี้ "นับเป็นเวทีที่ให้ความสำคัญและเปิดพื้นที่ให้เสียงของผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและสามารถก้าวข้ามความเกลียดชัง ความเจ็บปวดมาเป็นผู้ช่วยเหลือคนอื่นได้ส่งเสิียงออกมา เราสามารถนำเสนอจุดยืนและข้อเรียกร้องได้ และปีนี้นอกจากเครือข่ายผู้หญิง เวทีสื่อทางเลือกฯ ยังให้โอกาสกลุ่มตัวแทนนักศึกษาและเยาวชนได้แสดงออกและแถลงจุดยืนทางการเมือง คาดหวังว่าปีต่อไปจะมีเครือข่ายที่มากกว่านี้ กล้าที่จะแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องของกลุ่มออกมา" นอกจากนี้เธอยังเสนอแนะว่า "ครั้งหน้าควรมีเวทีชวนภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวกับมวลชนมาสร้างบทสนทนาในเวทีเดียวกันบ้าง เพื่อเขาจะได้เรียนรู้อย่างตรงไปตรงมาว่าเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมต้องการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายใด"

ด้าน นายมูฮำหมัดอายุป ปาทาน และนายสมเกียรติ จันทรสีมา ก็เห็นจุดอ่อนของงานเหมือนกันว่า "เราเปิดพื้นที่ให้กลุ่ม และเครือข่ายต่างๆ ได้แสดงออกและมีกิจกรรมการสื่อสารบนพื้นที่เดียวกันก็จริง ก็พูดได้ว่ามีศักยภาพในการทำงานสร้างพื้นที่ร่วมกันได้ แต่ก็ยังขาดประเด็นที่ควรสื่อสารร่วมกันซึ่งปีหน้าจำเป็นต้องวางแผนการนำเสนอประเด็นที่แหลมคมต่อสาธารณะ" ทั้งนี้ สื่อกระแสหลักทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ รายการโทรทัศน์ ได้รายงานข่าวกระบวนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมนี้ด้วย

00000000000000000000000000000000000000

 ชมบรรยากาศทั้งหมดของงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2
 ผลิตโดย KERIS MEDIA

สามารถดาวน์โหลด e-book วารสารเฉพาะกิจ "พลังสื่อทางเลือกชายแดนตใต้"
ผลงานของของกลุ่มเยาวชน "เฌอบูโด"  และสำนักหัวใจเดียวกันได้ที่นี่