Skip to main content

การสื่อสารทางการเมืองในสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมไทย

 

บาว นาคร*

 

กระบวนการสื่อสารทางการเมืองในปัจจุบันสามารถพิจารณาได้จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม รวมทั้งทุนนิยมแบบโลกาภิวัฒน์ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ก่อให้เกิดวิถีชีวิตแบบใหม่ของคนในสังคม รวมไปถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมือง ดังนั้นกระบวนการสื่อสารทางการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์จึงมีความเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยกระบวนการดังกล่าวได้ถูกผสมผสานเข้ากับสื่ออิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต วิทยุและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมตรงต่อผู้ชม การส่งข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์ เป็นต้น นอกจากนี้อิทธิพลของแนวคิดด้านการตลาดและการโฆษณาในกระแสโลกาภิวัตน์ยังส่งผลให้เกิดการสื่อสารการตลาดทางการเมืองอย่างกว้างขวางทั่วโลกอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลให้ “ทุนเข้ามามีความสัมพันธ์กับการสื่อสารและการเมืองอย่างแยกกันไม่ออก” กลุ่มทุนธุรกิจสื่อสารจึงเป็นกลุ่มทุนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคโลกาภิวัตน์จนกระทั่งสามารถสร้างเครือข่ายการสื่อสารทางการเมืองซึ่งสามารถชี้นำสังคมได้อย่างรอบด้านในลักษณะจักรวรรดินิยมการสื่อสารนั่นเอง

 

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่า ปัญหาการสื่อสารทางการเมืองไทยมีหลายประการไม่ว่าจะเป็นปัญหาการครอบงำสื่อ ปัญหาการสื่อสารทางการเมืองในแง่ของจริยธรรมของผู้ใช้สื่อ และปัญหาด้านบุคลากรที่ทำหน้าที่สื่อมวลชน อย่างไรก็ตามแนวโน้มการสื่อสารทางการเมืองไทยนั้น สื่อน่าจะมีความเป็นสาธารณะร่วมกันมากขึ้นอันเนื่องจากการปฏิรูปสื่อรวมทั้งเสรีภาพของหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ที่จะมีเพิ่มมากขึ้นภายหลังจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 แต่แนวโน้มในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยการขับเคลื่อนทางสังคมด้วยกระแสความคิดเรื่องการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างประชาสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งอาจะส่งผลให้ปัญหาต่างๆได้มีการคลี่คลายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์สังคมการเมืองปัจจุบัน สื่อ คือเครื่องมือที่สำคัญในการช่วงชิงหรือการมีส่วนร่วมและการครอบครองสื่อ นับว่าเป็นหัวใจในการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจ องค์กรราชการ รวมกระทั่งการเมืองภาคพลเมืองหรือการเมืองภาคประชาชน ก็นับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการเคลื่อนไหว ดังนั้น การเคลื่อนไหวทางราชการ ทางธุรกิจและการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองจึงมีความปรารถนาเหมือนกัน นั่นคือ ความต้องการมีสื่อในครอบครอง ซึ่งหมายถึงมีเครื่องมือหรือมีช่องทางในการสร้างความรู้ความเข้าใจ การประชาสัมพันธ์และการโฆษณาชวนเชื่อกับสาธารณชนจะเห็นได้ว่าผลกระทบต่อสังคมอันเกิดจากอิทธิพลของการสื่อสารมวลชนในการสื่อสารทางการเมืองมีอยู่หลายประการ เช่น ผลกระทบต่อโครงสร้างของสังคม การจัดระเบียบสารสนเทศทางการเมือง ชนชั้นใหม่ในการสื่อสารทางการเมือง กรรมสิทธิ์ในสารสนเทศทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมืองและ บทบาทของอำนาจอธิปไตย รวมทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นต้น

 

เนื่องจากปัจจุบันประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญโดยที่การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นกระบวนการซึ่งประชาชน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้โอกาสแสดงทัศนะและเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนรวมทั้งมีการนำความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาเป็นนโยบายและการตัดสินใจของรัฐ การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นกระบวนการสื่อสารในระบบเปิด กล่าวคือ เป็นการสื่อสารสองทางทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการซึ่งประกอบไปด้วยการแบ่งสรรข้อมูลร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียและเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีในสังคม ทั้งนี้ เนื่องจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นการเพิ่มคุณภาพการตัดสินใจ การลดค่าใช้จ่ายและการสูญเสียเวลา เป็นการสร้างฉันทามติ และทำให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ อีกทั้งช่วยหลีกเลี่ยงในการเผชิญหน้า “กรณีที่ร้ายแรงที่สุด” ช่วยให้เกิดความน่าเชื่อถือและความชอบธรรม และช่วยให้ทราบความห่วงกังวลของประชาชนและค่านิยมของสาธารณชนรวมทั้งเป็นการพัฒนาความเชี่ยวชาญและความคิดสร้างสรรค์ของสาธารณชน ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ได้บัญญัติ ไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ในส่วนที่ 10 สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียนใน มาตรา 56 -62 เช่น ในมาตรา 56 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนประกอบที่สำคัญของการมีส่วนร่วมคือ สาธารณชน “มีส่วนร่วม”ในการตัดสินใจ, ค่านิยมและความห่วงกังวลของสาธารณชนได้นำไปเป็นส่วนประกอบของการตัดสินใจขององค์กร, มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ “เชิงการบริหาร”, มีการสื่อสารสองทาง มีปฏิสัมพันธ์ มีการสานเสวนา (Dialogue) มีการประสานความร่วมมือ

 

ปัจจุบันประเทศไทยเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤติของประเทศนั้น การสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤตเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อใดก็ตามที่เกิดความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการบริหารประเทศอันจะก่อให้เกิดความรุนแรงตามมานั้น สิ่งจำเป็นเร่งด่วนและมีความจำเป็นต่อการจัดการความขัดแย้งคือ “การสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤต” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาโดยใช้กระบวนการสื่อสารแบบสันติ และประเด็นสำคัญที่สุดคือ วิธีการดังกล่าวนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล(Good Governace)โดยมีหลักการและวิธีการที่สำคัญ ดังต่อไปนี้ 1) การมีส่วนร่วมกับการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤต  มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับรู้และแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน 2) การยอมรับความหลากหลายและความแตกต่างกับการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤต 3) ความสามัคคีกับการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤต        4)ความยุติธรรมกับการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤต  5) การสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นกับการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤต

 

จากแนวคิดทั้งหมดนั้น หลักการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤตจึงเป็นที่จะต้องนำเสนอข้อมูลที่ทำให้คู่กรณีหรือคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดความไว้วางใจโดยอาศัยวิธีการเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา อันจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมี “สะพาน” หรือมีแนวทางในการหาทางออกสำหรับความขัดแย้งระหว่างคู่กรณี โดยการสื่อสารนั้นจะต้องไม่ดำรงอยู่บนฐานของผลประโยชน์ที่ตนจะพึงได้โดยไม่สนใจความเป็นไปของสังคมแต่ประการใด ด้วยเหตุผลที่มุ่งประโยชน์ส่วนตนในลักษณะดังกล่าวนี้ อาจจะนำไปสู่การสร้างความแตกแยกของคนในสังคมที่รับสาร

 

ปัจจุบันการสื่อสารทางการเมืองในประเทศไทยได้มีความเข้มข้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเช่น กระบวนการสื่อสารทางการเมืองที่เป็นการเทคโนโลยีที่สมัยและกลยุทธ์การสื่อสารแบบใหม่ คือการใช้อินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม, VDO Link, Phone-In เป็นต้นได้นำเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองของแต่ละฝ่าย ดังนั้น ประชาชนที่ได้รับสื่อทางการเมืองหรือการสื่อสารในปัจจุบันต้องมีการพิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์ข้อมูลด้วยความมีเหตุมีผล และรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงทางการเมือง โดยไม่หลงเชื่อกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อในการปลุกระดมเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาล สื่อมวลชรน ควรมีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ภาคประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง และเสริมสร้างการเมืองภาคพลเมืองให้มีความเข้มแข็งและรู้เท่าทันนักการเมืองและพรรคการเมืองหรือกลุ่มทางการเมืองในแต่ละฝ่ายที่ขับเคลื่อนและต่อสู้ทางด้านความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และทำอย่างไรจึงจะนำไปสู่ความสามัคคีของประชาชนรวมทั้ง ส่งเสริมกระบวนการพัฒนาและเรียนรู้ประชาธิปไตยในสังคมไทย

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

 

 

ณรงค์ บุญสวยขวัญ(2552) การเมืองภาคพลเมือง บทวิเคราะห์แนวคิดและปฏิบัติการ

         ท้าทายอำนาจการเมืองในระบบตัวแทน กรุงเทพมหานคร บริษัท เอดิสันเพรส

           โปรดักส์ จำกัด

 

ถวิลวดี บุรีกุล (2550) การมีส่วนร่วม แนวคิด ทฤษฎีและกระบวนการ กรุงเทพมหานคร

           บริษัท พาณิชพระนคร (2535) จำกัด

 

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส การจัดการความขัดแย้งอย่างสันติวิธีและการสื่อสารทางการเมือง

          ในภาวะ วิกฤตประมวลสาระชุดวิชาการสื่อสารทางการเมืองสาขาวิชารัฐศาสตร์

            มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หน่วยที่ 13 นนทบุรี โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัย

            ธรรมาธิราช

 

ยุทธพร อิสรชัย(2552) ความรู้คืออำนาจ ในรวมบทความวิชาการรัฐศาสตร์เนื่องในโอกาส

           ครบรอบ 31 ปี มสธ.ครบรอบ 27 ปีรัฐศาสตร์  กรุงเทพมหานคร ห้างหุ้นส่วนจำกัด

           พิมพ์อักษร์

 

ยุทธพร อิสรชัย (2551) การสื่อสารทางการเมืองกับกระแสโลกาภิวัตน์ ประมวลสาระชุด

           วิชาการสื่อสาร ทางการเมืองสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

           หน่วยที่ 15 นนทบุรี โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 

วันชัย วัฒนศัพท์ แปลและเรียบเรียง (2548) คู่มือการศึกษา การมีส่วนร่วมของประชาชน

        และการแก้ปัญหาความขัดแย้ง กรุงเทพมหานคร บริษัท ศูนย์การพิมพ์แก่นจันทร์

          จำกัด

 

สุรพงษ์ โสธนะเสถียร (2541) การสื่อสารกับการเมือง กรุงเทพมหานคร ประสิทธิ์ภัณฑ์

          แอนด์ พริ้นติ้ง 

 

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (2551) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช

        2550 กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา

 

 

 

 

 



*      บุญยิ่ง ประทุม .[email protected]