Skip to main content

อัญชนา หีมมิหน๊ะ

กว่า 3 ปีแล้วที่กลุ่มด้วยใจ ลงพื้นที่ พบปะเยี่ยมเยียนครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในจังหวัดต่าง ๆ และกิจกรรมสานเสวนากับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงก็เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน เราพบว่าพวกเขาและครอบครัวเหล่านี้มีความหวาดกลัวต่อความปลอดภัยในชีวิตโดยเฉพาะภายหลังจากได้รับการยกฟ้อง ครบกำหนดโทษ หรือ ได้รับการประกันตัว เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ยาวนานกว่า 10 ปี ส่งผลให้ประชาชนเปลี่ยนสถานะไปสู่นักโทษ ผู้ต้องหา ผู้ต้องขัง จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

พวกเขากว่าสามร้อยคนมีคำถามที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องข้อที่ 5 จาก BRN ที่เสนอผ่าน Youtube และหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่านี้คือการทดสอบความจริงใจจากรัฐบาลไทยกับการพูดคุย แต่ข้อเรียกร้องที่เสมือนเป็นความต้องการของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐ แท้ที่จริงแล้วข้อเรียกร้องนี้น่าจะเป็นการเรียกร้องของประชาชนมากกว่าเพราะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ภายใต้รัฐบาลไทย กฎหมายไทย กลับถูกละเลยในความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตของตนเองถึงแม้จะผ่านการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ หรือ การรับโทษที่เขาควรได้รับและมีสิทธิที่จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไม่แบ่งแยกทางเชื้อชาติ ศาสนา  แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้นเลยเมื่อเราค้นพบว่า ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ได้รับการประกันหรือยกฟ้องนั้นกลับถูกฆ่าตายโดยที่ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำมาลงโทษได้ (Impunity) ซ้ำร้ายบางกรณีก็ไม่ได้รับเงินเยียวยา

ทางกลุ่มด้วยใจได้รวบรวมจำนวนผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ถูกยิงเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีจำนวน 10 คน และ บาดเจ็บจำนวน 2 คน และเป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จน ถึงปัจจุบันผู้ต้องหาคดีความมั่นคงถูกยิงเสียชีวิตทุกเดือนเดือนละ 1- 2 คนในขณะปีที่ผ่าน ๆ มาปีละ 1 คน ถึง 3 คน

ตารางแสดงรายชื่อผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ยกฟ้องหรือประกันตัว ถูกยิงเสียชีวิตและบาดเจ็บ

ลำดับที่

ชื่อ

ที่อยู่

วันที่เกิดเหตุ

ผลกระทบ

1

นายรอมลี เจะเลอะ

.ยะลา

6 ตุลาคม 2553

ถูกยิงเสียชีวิต

2

นายมะสาวี มะสาและ

231/3 บ.ควนนางา ม.4 ต.ห้วยกระทิง อ.กรงปินัง จ.ยะลา

28  มกราคม 2554

ถูกยิงเสียชีวิต

3

นายอับดุลเลอะ สาแม

238/3 หมู่1ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส

17 สิงหาคม 2554

ถูกยิงเสียชีวิต

4

นายสุกรี โซะ

11 ม.5 ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี

20 สิงหาคม 2554

ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ

5

นายอับดุลเลอะ เจอะตีแม

.7 ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา

2555

ถูกยิงเสียชีวิต

6

นายลุกมาน ดอเลอะ

27 ม.6 ต.มะนังดาลำ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

9 พฤษภาคม.2556

ถูกยิงเสียชีวิต

7

นายมะรอเซะ กายียุ

107 ม.1 ต.กาบัง อ.กาบัง จ.ยะลา

7 มิถุนายน 2556

ถูกยิงเสียชีวิต

8

นายอิสมะแอ ปาโอ๊ะมานิ

25 ม.4 ปุลากาชิง ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

25 มิถุนายน 2556

ถูกยิงเสียชีวิต

9

นายตอเหล็บ สะแปอิง

73 ม.1ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา

15 กรกฎาคม 2556

ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ

10

นายอับดุลรอฟา ปูแทน

26 ม.4 ปุลากาชิง ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

14 สิงหาคม 2556

ถูกยิงเสียชีวิต

11

นายสามือลี เจะกอ

90/1 ม.12 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส

29 สิงหาคม 2556

ถูกยิงเสียชีวิต

12

นายมูฮำหมัดมาโซ มามะ

66 หมู่ 1 ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส

25 กันยายน 2556

ถูกยิงเสียชีวิต

 

จากตัวเลขที่เกิดขึ้นทำให้ข้าพเจ้านึกถึงคำว่า การฆ่านอกระบบ และ การลอบสังหาร คำว่า "วิสามัญฆาตกรรม"(Extrajudicial executions หรือ  Extrajudicial killing) ในภาษาไทยนั้น ปรากฏใช้ครั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เมื่อมีการตรา "พระราชบัญญัติชันสูตรพลิกศพ พ.ศ. 2457" เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2457 โดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

"การชันสูตรพลิกศพผู้ถูกฆาตกรรม กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้เป็น 2 ชั้น คือ สามัญ ชั้น 1 วิสามัญ ชั้น 1 ผิดกันดังอธิบายต่อไปนี้ คือ

"ข้อ 1 ฆาตกรรมอันเป็นวิสามัญนั้น คือ ผู้ตายตายด้วยเจ้าพนักงานฆ่าตาย ในเวลากระทำการตามหน้าที่ ยกตัวอย่างดังเช่น เจ้าพนักงานไปจับผู้ต้องหาว่าเป็นโจรเป็นผู้ร้าย และฆ่าผู้ต้องหาว่าเป็นโจรเป็นผู้ร้ายนั้นตายในเวลาจับ ดังนี้เป็นต้น เรียกว่าเป็นเหตุวิสามัญ

"ข้อ 2 ฆาตกรรมอันเป็นสามัญนี้ ผู้อื่นแม้เป็นข้าราชการหรือเป็นเจ้าพนักงานกระทำให้ตาย โดยมิได้เกี่ยวแก่กระทำการตามหน้าที่ ให้ถือว่า เป็นฆาตกรรมอย่างสามัญ"

แต่สำหรับการลอบสังหาร (assassination) มีคำนิยามว่าเป็น การฆาตกรรมที่กระทำโดยผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐโดย ปราศจากมูลเหตุส่วนตัวของเหยื่อซึ่งคำนี้ใช้มาตั้งแต่ ศตวรรษที่ 20 ที่อธิบายถึงการฆาตกรรมที่เกิดจากเหตุผลทางการเมือง โดยเฉพาะกรณีที่ต่อต้านรัฐบาล การลอบสังหารมักจะใช้เป็นอาวุธทางการเมืองโดยรัฐหรือบุคคล

เมื่อมาพิจารณาถึงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้  เหตุของการกระทำรุนแรงหรือการฆาตกรรมนั้นย่อมมีหลายสาเหตุ แต่ในกรณีของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเมื่อพิจารณาสาเหตุของการถูกฆาตกรรมนั้นน่าจะมีความเป็นไปได้ดังนี้

1.     เรื่องส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องทะเลาะวิวาท ขัดแย้งส่วนตัว ที่ดิน  มรดก หรือชู้สาว การเมืองท้องถิ่น

2.     การล้างแค้นจากครอบครัวเหยื่อ เมื่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดไม่ได้ถูกลงโทษย่อมทำให้ครอบครัวเหยื่อหรือผู้ใกล้ชิดไม่พอใจหรือโกรธแค้นจนกระทำการแก้แค้น

3.     การสังหารโดยกลุ่มก่อความไม่สงบ   เนื่องจากไม่พอใจที่ความลับถูกเปิดเผยในระหว่างการถูกจองจำ

4.     การสังหารโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากเชื่อมั่นว่าพวกเขาเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบแต่ไม่สามารถเอาผิดทางกระบวนการยุติธรรมได้เนื่องจากความหวาดกลัวของพยาน และกลัวการล้างแค้นคืนจากผู้ต้องหาคดีความมั่นคง

 

ด้วยหลายสาเหตุที่อาจจะเป็นมูลเหตุที่ทำให้เขาถูกยิงเสียชีวิต แต่สำหรับครอบครัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ยกฟ้องหรือประกันตัวกลับเชื่อมั่นถึงสาเหตุของการเสียชีวิตว่ามาจากข้อที่ 4 จากการพูดคุยกับครอบครัวผู้เสียชีวิตโดยส่วนใหญ่บอกว่าครอบครัวพวกเขาไม่ได้มีศัตรูกับใครในชุมชน ไม่ได้มีปัญหาเรื่องทรัพย์สิน แต่ พวกเขาถูกมองโดยบุคลากรของรัฐตั้งแต่ระดับหมู่บ้านเลยที่เดียว ว่าเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรง เป็นผู้ที่ต่อต้านรัฐ พวกเขาหวาดกลัวว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะแก้แค้นผู้ที่แจ้งเบาะแสจับกุมพวกเขา หรือบางครอบครัวได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเรื่ององค์กรลับหรือกลุ่มคนลับๆ ที่จะเก็บพวกเขา หรือ ลอบสังหารพวกเขาด้วยมายาคติที่ว่าพวกเขาคือผู้กระทำผิดจริงแต่ไม่สามารถพิพากษาลงโทษได้เพราะขาดพยานหลักฐาน

ดังในงานวิจัยของวีระศักดิ์ , 2556[1]  ที่สรุปว่า การยกฟ้องทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมเพราะไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้  ประกอบกับการไม่สามารถจับกุมหรือนำตัวผู้กระทำผิดในกรณีสังหารผู้ต้องหาคดีความมั่นคงมาลงโทษได้แม้แต่คดีเดียว ยิ่งตอกย้ำตรรกะนี้เป็นอย่างดี

จากสิ่งที่เกิดขึ้นและด้วยความเชื่อที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้นี้ได้ส่งผลในด้านลบต่อความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐและ ท้ายที่สุดอาจส่งผลถึงความมั่นคงของรัฐหากครอบครัวเหล่านี้เลือกที่จะสนับสนุนอีกฝ่ายหนึ่ง 

ผลการศึกษาผลกระทบจากภาวะสงครามในกรณี การอุ้มหาย การฆ่านอกระบบ การ ลอบสังหารโดยReporting on victims of violence: Media coverage of the Extrajudicial Killings in Colombia , 2510[2]จากความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในมุมมองของตะวันตกมองว่าความเจ็บปวดทางจิตใจอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือเข้าใจว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลแต่อีกด้านหนึ่งความเจ็บปวดทรมานและบาดแผลทางจิตใจที่เกิดจากความรุนแรงทางการเมืองนั้นเป็นผลให้สภาพแวดล้อมในสังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่ความโศกเศร้าได้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหรือครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมือง พวกเขาจะมีประสบการณ์ความเจ็บปวดจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และ ในภาวะที่สังคมปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นและ เลือกที่รักมักที่ชัง ผลักสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาว่าเป็นเพียงเหตุการณ์ในครอบครัวยิ่งทำให้พวกเขามีความเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น สับสน และไม่เชื่อใจใคร สถานการณ์นี้จะทำให้การเผชิญระยะเวลาของความโศกเศร้าหรือการก้าวข้ามความโศกเศร้ายิ่งยากยิ่งขึ้น

ในบริบทของสงครามและความรุนแรงโดยส่วนใหญ่หลายฝ่ายจะเน้นถึงผลที่ตามมาของจากความรุนแรงและกระบวนการเยียวยา ซึ่งจากการศึกษาของ  Staub  เมื่อปี 2006 เน้นย้ำว่าหากไม่สามารถแก้ไข อาการบาดเจ็บทางจิตใจที่เป็นผลมาจากความรุนแรงและความหวาดกลัว ความไม่เชื่อใจ หรือความเกลียดชัง จะทำลายกระบวนการการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงใหม่

กรณีของนายสามือลี เจะคอ การถูกยิงตายของเขาส่งผลต่อความเชื่อมั่น และ ความไว้วางใจรัฐ ซึ่งพวกเขากล่าวว่าแก้วที่มันร้าวแล้วไม่สามารถจะประสานกลับมาใหม่ได้เหมือนกับสถานการณ์ที่บ้านเรามีแต่จะพังกันไปข้างหนึ่ง [3]

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือการบังคับให้สูญหาย การสังหาร สมาชิกในครอบครัวจะยิ่งทำให้ครอบครัวโกรธแค้น กลัวการฆ่าอย่างต่อเนื่อง  ครอบครัวและเหยื่อของความรุนแรงถูกตีตราว่าเป็นศัตรูตามที่ผู้กระทำกำหนดขึ้น ดังนั้น ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย และสามารถกำหนดชีวิตตนเองได้ การเชื่อมโยงทางบวกไปยังผู้คนและสังคมและความเข้าใจเชิงบวกต่อเอกลักษณ์ของพวกเขาและมนุษย์บนโลกนี้ได้ถูกทำลายอย่างรุนแรง ผู้รอดชีวิตและเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนรู้สึกอ่อนแอและไม่สามารถเชื่อใจใครได้อีก

และนั่นก็เป็นการสร้างบรรยากาศที่ทำให้ทุกคนรู้สึกถึงอันตรายและอาจจะเป็นการคุกคามชีวิตของพวกเขาต่อไปซึ่งสอดคล้องกับกรณีของนายมูหามะมะโซ มามะที่มีบุคคลในครอบครัวถูกยิงตายถึง 3 คน และได้รับบาดเจ็บ 1 คน ทำให้คนที่เหลือในครอบครัว หวาดกลัว หวาดระแวงไม่รู้ว่าวันไหนจะถึงตนเอง ไม่สามารถไปไหน ทำอะไร เพราะกลัวการถูกลอบสังหารเป็นรายต่อไป [4]

เราจะเห็นได้เลยว่าการเลือกใช้ความรุนแรงไม่ได้ช่วยให้เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้สงบลงได้ ยิ่งใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดเท่าไรก็จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้นและแต่ละฝ่ายก็จะอ้างความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงต่อไป สำหรับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ยกฟ้องและประกันตัว ซึ่งก็มีจำนวนมิใช่น้อยการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงว่าจะไม่กระทำละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำลายการกลับไปใช้ความรุนแรงหรือการเข้าสู่การใช้ความรุนแรงของประชาชนกลุ่มเสี่ยง อย่างได้ผลและลงทุนน้อยที่สุด

 


[1]ประสิทธิภาพของรัฐในการดำเนินคดีความมั่นคงกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน : ศึกษากรณีสี่จังหวัดชายแดนใต้(สงขลา,ปัตตานี,ยะลา,นราธิวาส,2556,หน้า 235

[2] Reporting on victims of violence: Media coverage of the Extrajudicial Killings in Colombia , 2510 ,หน้า 24 

[3]สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556

[4]สัมภาษณ์บุคคลในครอบครัววันที่ 27 กันยายน 2556