Skip to main content

อาบีบุสตา ดอเลาะ

จากงานเขียนเรื่อง บทเรียนจากการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น(ตอนที่1):รัฐสภาไทยและสภาชูรอของบีอาร์เอ็นต้องให้ประชาชนปาตานีกำหนดชะตากรรมของตนเอง ผู้เขียนสรุปว่าท้ายที่สุดหากสันติภาพที่ปาตานี(ชายแดนใต้)จะเกิดขึ้นด้วยวิธีการเจรจาระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น(BRN) การเจรจาดังกล่าวนั้นจะต้องอยู่บนเงื่อนไขเดียว คือการทำให้ประชาชนปาตานีกำหนดชะตากรรมของตนเองอันหมายถึงการทำให้ประชาชนปาตานีมีส่วนร่วมในการนิยามสันติภาพให้มากที่สุดว่าพวกเขาต้องการอะไรหรือไม่ต้องการอะไร การเจรจาไม่ว่าจะมีปลายทางเป็นอย่างไร จะเป็นเขตปกครองพิเศษ(เหมือนพัทยาและกรุงเทพมหานคร) เขตปกครองตนเอง(Autonomous area) เอกราช(Independence)หรือโมเดลอะไรก็แล้วแต่ การเจรจาดังกล่าวมิอาจทำให้ปาตานี(ชายแดนใต้)เกิดสันติภาพได้ ถ้าการเจรจาเป็นเพียงข้อตกลงเฉพาะระหว่างรัฐไทยกับกับกลุ่มขบวนการเท่านั้นโดยประชาชนปาตานี(ชายแดนใต้)ไม่มีส่วนร่วม

ดังนั้นการเจรจาของคู่ขัดแย้งหลักระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการจะต้องให้ทั้งสองฝ่ายมีมติร่วมกันว่าประสงค์จะให้ประชาชนปาตานี (ชายแดนใต้)กำหนดชะตากรรมของตนเองโดยข้อตกลงดังกล่าวจะต้องเป็นมติจากสภาสูงสุดของทั้งสองฝ่ายซึ่งหมายถึงรัฐสภาของรัฐไทยและสภาชูรอของบีอาร์เอ็น ส่วนจะให้ประชาชนปาตานี (ชายแดนใต้)กำหนดชะตากรรมของตนเองอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายว่าจะมีวิธีการอย่างไร

สำหรับทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า การที่จะให้ประชาชนปาตานีกำหนดชะตากรรมของตนเองนั้นการใช้กระบวนการ หย่อนบัตรลงคูหา เหมือนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นวิธีการที่เหมาะสมและเป็นอารยะที่สุดในยุคสมัยนี้ ให้ประชาชนปาตานี(ชายแดนใต้) กากบาทว่าแท้ที่จริงแล้วเขาต้องการอะไร ทุกฝ่ายจะได้ไม่ต้องแอบอ้างอีกต่อไปว่าประชาชนปาตานี(ชายแดนใต้)เห็นด้วยกับฝ่ายตนและและไม่สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การแก้ปัญหาสงครามที่ปาตานีนั้นมีหลายประเด็นที่มีความเห็นจากฝ่ายต่างๆที่ไม่ตรงกัน อาทิ การถอนกำลังทหารออกจากพื้นที การยกเลิกกฎหมายพิเศษ การใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ เป็นต้น แต่ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น รัฐไทย บีอาร์เอ็น(BRN) นักวิชาการ ภาคประชาสังคม นักศึกษาและกองกำลังติดอาวุธของทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยและไม่เคยมีใครปฎิเสธ คือ การให้ประชาชนปาตานี (ชายแดนใต้)มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่ในความเป็นจริงไม่มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้อย่างเป็นรูปธรรมเพราะไม่เคยมีฝ่ายใดนำเสนอกระบวนการทางการเมืองว่าประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างไร การที่หน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักศึกษาหรือหน่วงงานอื่นๆที่ขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพที่อ้างว่าอยากให้ประชาชนปาตานี(ชายแดนใต้)มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพจึงเป็นเพียงคำพูดลอยๆที่สวยหรูบนเวทีเสวนาแต่จับต้องไม่ได้

สำหรับผู้เขียนเห็นว่า การลงประชามติเป็นกระบวนการทางการเมืองที่ประชาชน สามารถมีส่วนร่วมได้มากที่สุดและหลายประเทศก็ใช้กระบวนการนี้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและยุติสงคราม

รัฐไทยมั่นใจโดยตลอดว่าประชาชนชายแดนใต้เป็นคนไทยที่ไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ผู้ที่ก่อเหตุเป็นเพียงกลุ่มคนกลุ่มน้อย สื่อกระแสหลักที่นำเสนอข่าวชายแดนใต้ล้วนชี้ว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เป็นผู้ที่โหดร้าย ใช้ความรุนแรง รัฐไทยจึงควรใช้การลงประชามติเพื่อเป็นบทพิสูจน์ต่อประชาคมระหว่างประเทศว่า ข้ออ้างของบีอาร์เอ็น(BRN) ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของคนปาตานีและประชาชนปาตานีเห็นด้วยกับการต่อสู้ของบีอาร์เอ็น(BRN )นั้นฟังไม่ขึ้นอันจะทำให้การเคลื่อนไหวการต่อสู้ของบีอาร์เอ็น(BRN)ไม่ชอบธรรมอีกต่อไป

เช่นเดียวกับบีอาร์เอ็น(BRN)หรือกลุ่มขบวนการกลุ่มอื่นๆที่อ้างว่าการต่อสู้ของฝ่ายตนเป็นการต่อสู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนปาตานี(ชายแดนใต้) สงครามจึงเป็นการต่อสู้เพื่อเอกราชที่มาจากความต้องการของประชาชนปาตานี(ชายแดนใต้) บีอาร์เอ็น(BRN)ก็จะต้องพิสูจน์ต่อประชาคมโลกเช่นเดียวกันว่าประชาชนปาตานีต้องการเอกราชตามที่ตนได้กล่าวอ้าง

อย่างไรก็ตาม แม้การลงประชามติจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมแต่ในความเป็นจริง การที่รัฐไทยและบีอาร์เอ็น(BRN) จะเห็นพ้องต้องกันว่าควรจัดทำการลงประชามติแทบจะเป็นไม่ได้เพราะในเวลานี้ไม่มีฝ่ายใดทราบได้ว่าแท้ที่จริงแล้วประชาชนปาตานี(ชายแดนใต้)ต้องการอะไรและนอกจากนี้ก่อนการลงประชามติประชาชนปาตานี(ชายแดนใต้) ควรมีหลักประกันจากทั้งสองฝ่ายว่า หลังจากการทำประชามติอนาคตของปาตานีจะเป็นเช่นไร เพื่อความเป็นไปได้ที่ทั้งสองจะตกลงทำการประชามติและการทำประชามติเกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายก่อนการลงประชามติจึงควรมีการดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้

1.รัฐสภาไทยและสภาชูรอของบีอาร์เอ็น(BRN)ลงนามในข้อตกลงการเจรา ว่าจะให้ประชาชนปาตานี(ชายแดใต้)เป็นคนกำหนดชะตากรรมของตนเองผ่านการลงประชามติ โดยให้สหประชาชาติเป็นคนกลางดำเนินกระบวนลงประชามติ

2.บีอาร์เอ็น(BRN)และรัฐไทยต้องยุติการต่อสู้โดยการใช้อาวุธ โดยต้องแสดงให้เห็นว่าแต่ละฝ่ายสามารถควบคุมกองกำลังติดอาวุธของตนเองได้
อย่างไรก็ตาม หากมีการก่อความไม่สงบในพื้นที่ ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ควรนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการลงประชามติ เพราะทั้งสองฝ่ายล้วนมีกองกำลังของตนเองที่สามารถก่อเหตุเพื่อทำลายความชอบธรรมของอีกฝ่ายได้เสมอ หากการลงประชามติจะดำเนินการได้โดยมีเงื่นไขว่า เหตุการณ์จะต้องสงบก่อนกระบวนการลงประชามติจะเกิดขึ้นไม่ได้ เลยเนื่องจากตราบใดที่ฝ่ายใดไม่มั่นใจว่าฝ่านตนจะชนะการลงประชามติ ฝ่ายนั้นจะต้องมีการก่อเหตุความไม่สงบเพื่อขัดขวงการลงประชามติให้ยืดเยื้อต่อไป

3.รัฐไทยออกกฎหมายกรณีพิเศษเพื่อคุ้มครองผู้ที่เห็นต่างจากรัฐเพื่อทำให้สงครามที่ต่อสู้ด้วยอาวุธเปลี่ยนเป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธีซึ่งจะสร้างทางเลือกให้ประชาชนปาตานี(ชายแดนใต้) ต่อสู้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์และกองกำลังติดอาวุธของทั้งสองฝ่าย

4.กำหนดระยะเวลา 10 ปี เพื่อให้ฝ่ายต่างๆได้นำเสนอทางเลือกให้แก่ประชาชนว่าอะไรเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหสำหรับปาตานีและหลังจากการลงประชามติอนาคตของปาตานีจะเป็นเช่นไร

5.ครบ 10 ปีให้ประชาชนปาตานี(ชายแดนใต้) ลงประชามติโดยให้สหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศดำเนินการจัดการลงประชามติ

ปัญหาสงครามในขณะนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการล่าอาณานิคมของรัฐสยามในอดีตแล้วผนวกรัฐปาตานีเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามโดยใช้สัญญาปี คศ.1909 ที่สยามกับบรีทิชหรืออังกฤษทำสนธิสัญญาแบ่งดินแดนกันภายใต้สัญญาที่ชื่อว่า Anglo-Siamese Treaty โดยที่ประชาชนปาตานีไม่มีส่วนรู้เห็นกับสนธิสัญญาดังกล่าว หลังจากนั้นก็มีขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยรัฐปาตานีเป็นต้นมาจนปรากฎเป็นสงครามในปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับกลุ่มขบวนการที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยรัฐปาตานี(ชายแดนใต้) ก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ประจักษ์ชัดว่า เอกราชนั้นเป็นความต้องการของประชาชนปาตานี(ชายแดนใต้)อย่างแท้จริง ดังนั้น ภายใต้การสู้รบระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการโดยมีลมหายใจของคนปาตานี(ชายแดนใต้)เป็นตัวประกัน คนปาตานี(ชายแดนใต้)จึงมีควรมีสิทธิกำหนดชะตามกรรมของตนเอง เพื่อแสดงเจตจำนงที่แท้จริง ว่าเขาต้องการอะไร

เราเชื่อมาโดยตลอดว่ามนุษย์นั้นมีสติปัญญา ดังนั้น ปัญหาสงครามที่ปาตานี(ชายแดนใต้)นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าท้ายสำหรับมนุษยชาติที่จะหาวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร มีนวัตกรรมสันติภาพอะไรบ้างที่สามารถยุติการสู้รบและสงคราม สำหรับผู้เขียนแล้วในศตวรรษที่ 21 การลงประชามติถือเป็นเครื่องมือที่ดีสุดและเหมาะสมที่สุดที่เท่ามนุษยชาติมีอยู่ในยุคสมัยนี้