Skip to main content

Abdulloh Wanahmad : AwanBook

เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่า กระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพปาตานีจะต้องประสบกับจุดจบที่เร็วขนาดนี้ ที่มีสาเหตุอันเนื่องมาจากการที่ไร้ซึ่งความแน่นอนและเสถียรภาพของรัฐไทยเสียเอง ทั้งๆ ที่ฝ่ายขบวนการต่อสู้เพื่อปลดแอกปาตานีนั้นมีท่าทีอะลุ่มอล่วยต่อรัฐไทยในการสร้างบรรยากาศเพื่อสันติภาพมากพอสมควรแล้ว ที่ยอมเดินเข้าสู่โต๊ะเจรจาและสานต่อการพูดคุยอย่างดีมาโดยตลอด มานับตั้งแต่ที่การลงนามได้เริ่มต้นขึ้น ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้น จะมีบางกระแสข่าวว่า ท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบได้ถูกทางฝ่ายมาเลเซียกดดันและบีบบังคับให้เข้าร่วมในการทำข้อตกลงเบื้องต้นในการสร้างสันติภาพปาตานีร่วมกันกับรัฐไทยเมื่อช่วงต้นปี 2556 ที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างสันติภาพปาตานีครั้งนี้ ค่อนข้างมีความผิดเพี้ยนของรูปการณ์ที่ควรจะเป็น เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการสร้างสันติภาพที่ทั่วโลกได้ประสบพบมา ที่มักต้องเดินตามครรลองไปตามขั้นตอนของสากลอย่างที่ควรจะเป็น ที่กว่าจะถึงวันแห่งการลงนามร่วมกันระหว่างคู่ขัดแย้งหลักจะต้องผ่านอะไรไปบ้าง
ถึงแม้ครั้งนี้จะมีจุดเริ่มต้นที่มิค่อยดีนัก ที่ท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบจะถูกล็อบบี้ด้วยวิธีการนานาประการ แต่ด้วยเหตุสุดวิสัยทางการเมือง บวกกับการถูกกดดันมาอย่างหนัก เขาจำต้องรับสภาพและปฏิบัติตามการร้องขอของฝ่ายมาเลเซียโดยดุษฎี

เมื่อกระบวนการสันติภาพปาตานี ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณเพียงไม่กี่วินาที หลังจากปลายปากกาได้ประทับบนแผ่นกระดาษ ที่ถูกเขียนอย่างรวบรัดเพื่อให้พอเป็นพิธีการ ความหวังสันติภาพปาตานีที่สังคมต่างเฝ้าจับตามองตลอดมา ก็เริ่มพอมีแสงสว่างให้เห็นอยู่บ้าง ถึงแม้แสงสว่างค่อนข้างจะมีความริบหรี่ก็ตามแต่ย่อมดีกว่าไม่มีอะไรที่ให้ความหวังเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ที่ขับเคลื่อนประเด็นการสร้างสันติภาพในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคประชาสังคมทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างเริ่มมีบทเคราะห์ต่างๆ ออกมาอย่างมากมาย อาจเป็นเพราะว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า อะไรมันจะเร็วขนาดนี้?

แต่มีใครหารู้ไม่ว่า เบื้องหลังของท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบ ทั้งก่อนและหลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและข่มขืนที่สุด โดยที่บรรดานักเคลื่อนไหวสันติภาพมิอาจรับรู้ได้ถึงความไม่ได้รับความเป็นธรรมและความเคารพในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง อีกทั้งมีสถานะความเป็นนักต่อสู้อาวุโสท่านหนึ่ง ที่เปี่ยมล้นไปด้วยอุดมการณ์อันแน่วแน่ ทว่าถูกกระทำอย่างไร้ความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เอาเสียเลย!

ก่อนที่กระบวนการสันติภาพจะเกิดขึ้นอย่างเอิกเกริกที่กึ่งทางการและไม่ทางการนั้น ท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบ โดนสะกดรอยติดตามตัวโดยทางการมาเลเซียทุกฝีก้าว และในที่สุดก็ถูกเชิญตัวไปพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายมาเลเซีย ก่อนที่ฝ่ายมาเลเซียจะยื่นข้อเสนอให้กับท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบ “ชนิดกลืนไม่เข้าคายไม่ออก” เสมือนเป็นการบีบบังคับทางจิตใจอย่างแรง และไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากการรับฟังและทำตามที่ฝ่ายมาเลเซียต้องการ นั่นก็คือตามการร้องขอของฝ่ายไทยนั่นเอง ทั้งที่ท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบเองรู้ทั้งรู้ว่า หากเขายอมทำตามที่ฝ่ายมาเลเซียร้องขอ โดยที่มิทันตั้งตัวและผ่านมติจากสภาซูรอของบีอาร์เอ็นเสียก่อน นั่นหมายถึงการกระทำดังกล่าวถือเป็นการแหกกฎระเบียบและเป็นการละเมิดธรรมเนียมอันสูงส่งของขบวนการบีอาร์เอ็นภายในตัวโดยปริยาย

สิ่งที่ทางมาเลเซียได้ยื่นในครั้งนั้น ในกรณีถ้าหากว่าท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบ มิปฎิบัติตามการร้องขอของมาเลเซียนั่นก็คือ

1. มาเลเซียจะต้องขายหน้าต่อรัฐบาลไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันหมายถึงศักดิ์ศรีและศักยภาพของมาเลเซียอีกด้วย

2. มาเลเซียจะทำการปิดพรมแดนตลอดแนว นั่นก็คือประชาชนทั้งสองประเทศจะไม่สามารถข้ามไปมาหาสู่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง ที่ส่วนใหญ่มีอาชีพและประกอบธุรกิจร้านอาหารในมาเลเซียมิน้อย (ถึงแม้ในความเป็นจริงแล้วมาเลเซียคงไม่สามารถกระทำได้ เพราะมันกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้)

3. มาเลเซียจะไม่ให้ที่พักพิงแก่ขบวนการในการใช้ประเทศของตนเป็นที่มั่นอีกต่อไป นั่นหมายถึงฝ่ายขบวนการอาจต้องหาที่หลบภัยที่อื่นที่ไม่ใช่มาเลเซีย

หมายเหตุ : ข้อมูลทั้งสามข้อดังกล่าวนี้ ขอสงวนแหล่งที่มา

จากข้อเรียกร้องดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นว่า ท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบเองโดนกดดันอย่างหนักชนิดไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากทำตามข้อเสนอของมาเลเซียเท่านั้น ในขณะเดียวกันมันเป็นการแสดงออกถึงสปิริตของท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบเอง ที่มีความเสียสละเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม ถึงแม้ว่าการกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวเองก็ตาม ถึงความไม่เหมาะสมและขัดกับรัฐธรรมนูญและขนบธรรมเนียมขององค์กร ที่ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่จะต้องได้รับการเห็นชอบและผ่านฉันทามติในที่ประชุมเป็นการเบื้องต้นที่มิสามารถกระทำโดยพลการได้

ทางฝ่ายมาเลเซียเอง เสมือนไม่มีจุดยืนเป็นของตัวเองเอาเสียเลย ในการใช้มาตรการดังกล่าวกับขบวนการโดยผ่านท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบ ซึ่งแน่นอนการที่มาเลเซียใช้มาตรการดังกล่าวกับท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบ เสมือนเป็นการส่งสัญญาณไปยังบรรดาแกนนำที่อาศัยอยู่ในฝั่งมาเลเซียอีกด้วย เริ่มมีความไม่มั่นใจต่อท่าทีของมาเลเซียที่ได้บีบบังคับเพื่อผลพลอยได้ในทางการเมือง และมันได้ส่งผลกระทบต่อสภาวะในทางจิตวิทยาต่อสังคมชาวมลายูปาตานีอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ถึงแม้ว่าทางฝ่ายมาเลเซียจะดำเนินการบีบบังคับโดยใช้เงื่อนไขทั้งสามข้อ เพื่อให้ท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบ ร่วมลงนามในครั้งนั้น แต่โดยภาพรวมแล้วมันได้สร้างความสะทกสะเทือนให้กับขบวนการภายในตัวโดยปริยาย
และเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบ ได้กลายเป็นอดีตหัวคณะเจรจาไปแล้วโดยสิ้นเชิง พร้อมกับการหายตัวไปอย่างลึกลับ ซึ่งได้กลายเป็นปริศนาให้กับหลายๆ ฝ่ายว่า เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการสันติภาพปาตานีและกับฝ่ายขบวนการเอง ซึ่งไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน

อย่างไรก็ตาม การหายตัวไปของท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบ ในครั้งนี้ อาจเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ให้กับรัฐไทยและมาเลเซีย ที่ใช้มาตรการดังกล่าวกับฝ่ายขบวนการ ที่ไม่มีความเคารพในความเป็นมนุษย์และไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างที่ควรจะเป็น

และเหตุใดที่ท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบ ต้องหายตัวไปพร้อมกับแถลงการณ์ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ที่ได้ตอกย้ำถึงแนวทางและเป้าหมายสูงสุดของบีอาร์เอ็น นั่นก็คือ merdeka! Merdeka! Merdeka!

เมื่อท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบได้หายตัวไป แน่นอนอย่างยิ่ง มันเป็นการส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพปาตานี ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว หากทางฝ่ายขบวนการต่อสู้เพื่อปลดแอกปาตานีต้องการที่จะยุติการเจรจากับรัฐไทยที่เต็มไปด้วยความกลับหลอกมดเท็จ และไม่มีความจำเป็นด้วยซ้ำที่จะต้องใช้ท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบ ออกมากล่าวผ่านทางยูทูปเลย ทว่าหากฝ่ายรัฐไทยมีความเป็นวุฒิภาวะพอ เพียงแค่การออกมาของปีกฝ่ายทหารในช่วงท้ายของเดือนรอมฏอนเมื่อปีที่แล้ว(2556) ก็เพียงพอแล้วที่รัฐไทยจะต้องกลับไปทบทวนบทบาทของตัวเองอีกครั้ง ที่ไม่อยู่ในสถานะของความพร้อมในการที่จะเจรจาอย่างเอาจริงเอาจังกับขบวนการ

เสมือนว่ารัฐไทยนั้นจะขอให้ได้เจรจาเอาเสียก่อนเพื่อเป็นการสร้างกระแสอย่างเดียวเท่านั้นเอง และค่อยไปปรับแก้ไขในสิ่งที่ขาดตกบกพร่องในภายหลัง ซึ่งแน่นอนอย่างยิ่งหากไม่มีความพร้อม เส้นทางที่จะไปสู่เป้าหมายของคำว่าสันติภาพนั้นแสนจะขรุขระมากกว่าที่จะราบรื่นอย่างสมเหตุสมผล

เหตุผลที่ท่านอุสตาซฮัซวัน ตอยิบ ต้องออกมาตัดเกมด้วยตัวเองในครั้งนี้ เพื่อเป็นการยุติบทบาทของเวทีเจรจาและบทบาทของตัวเองโดยสิ้นเชิง เพราะหากขืนให้ฝ่ายปีกทหารออกมาแถลงการณ์อย่างที่ผ่านมา ผลกระทบและความกดดันนั้น อาจส่งผลโดยตรงต่อท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบเช่นเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางมาเลเซียจะต้องหันมากดดันท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบอย่างแน่นอนครั้งแล้วครั้งเล่าเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมการเมืองของขบวนการเองในอนาคต

การหายตัวไปของท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบ ถือเป็นการให้บทเรียนแก่ทางมาเลเซียและรัฐไทยอย่างใหญ่หลวง ในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่ปาตานี เมื่อท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบ ได้กลายเป็นอดีตไปแล้วและได้หายตัวไปยังลึกลับ และจนถึงบัดนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบ ไปพำนักกายยัง ณ สถานที่แห่งใด บนบรรณพิภพแห่งนี้

การหายตัวไปของท่านอุสตาซฮัซซัน ตอยิบ เสมือนเป็นการดับแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์โดยรัฐไทยเอง ที่ไม่ยอมรับเงื่อนไขห้าข้อแรกซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน ทั้งๆ ที่เงื่อนไขทั้งห้าข้อดังกล่าวมิได้ขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่อย่างใด เพียงแต่สังคมไทยมีความใจแคบเกินไป ที่ไม่กล้าเปิดใจยอมรับสภาพความเป็นจริงที่ควรจะยอมรับ

หรืออาจเป็นเพราะว่ากฎหมายบางมาตรา เป็นได้แค่การประดับเพื่อความสวยหรู มิสามารถที่จะนำมาปฏิบัติได้จริง? โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อข้อเรียกร้องของประชาชนชาวมลายูปาตานีนับตั้งแต่สมัยการต่อสู้ทางการเมืองของท่านหะยีสุหลง โต๊ะมีนา จวบกระทั่งปัจจุบัน ของสังคมที่มีความแตกต่างทางอัตลักษณ์จากสังคมส่วนกลาง ทั้งเชื้อชาติ ความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรม ที่ปรารถนาในการจัดการตนเองเพื่อความผาสุกของมวลมหาประชาชนชาวปาตานีทั้งมวล ทุกศาสนาอย่างยั่งยืนตลอดไป