Skip to main content

 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 
          แม้ข้อเสนอ “นครปัตตานี” จะเป็นแท้งไปในหน้าสื่อมวลชนกระแสหลัก แต่ดูเหมือนว่า “ข้อเสนอทางการเมือง” ชิ้นนี้จะยังคงมีชีวิตชีวาอยู่ในแวดวงประชาคมไฟใต้ จนนำไปสู่การขยับขับเคลื่อนเครือข่ายองค์กรประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่เสียงสะท้อนจากฝั่งฝากรัฐบาลที่บอกปัดปฏิเสธและแอบอ้างว่าการปรับโครงสร้างองค์กรบริหารใหม่ของรัฐบาลภายใต้การผลักดันกฎหมายฉบับใหม่เป็นการจัดการบริหารปกครองใน “เขตพิเศษ” นั่น ดูจะแห้งแล้งไร้ความหมาย ในเมื่อการถอน “ศอ.บต.” ให้เป็นอิสระและมีกฎหมายรองรับ พร้อมทั้งดุลอำนาจกับ กอ.รมน.นั้น เป็นเพียงการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในกลไกของรัฐเอง หาได้มุ่งสนใจเน้นหนักยังความสัมพันธ์ระหว่าง “ศูนย์กลาง” กับ “ท้องถิ่น” ในรูปแบบใหม่ไม่

          หากเรามองว่าความรุนแรงที่ปะทุขึ้นสะสมต่อเนื่องในพื้นที่จนถึงทุกวันนี้เป็นปัญหาที่มีหัวใจหลักคือเรื่อง “การเมือง” หรือความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่าง “กรุงเทพฯ” กับผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันอุดมด้วยความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม กระทั่งมีคนจำนวนหนึ่งเห็นควรต้องเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ดังกล่าวด้วยการใช้ความรุนแรง อันส่งผลต่อเนื่องสู่ปัญหาต่างๆ มากมายที่ปะทุขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงเช่นนี้ การคลายตัวของปัญหาก็ควรต้องให้ความสำคัญกับ “การเมือง” ในแง่นี้นี่เอง หรือพูดอีกแบบคือการให้การต่อรองระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ เพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกันนั้นเป็นไปได้ด้วยหนทางที่ไม่จำต้องห้ำหั่นกันถึงชีวิตนั่นเอง

          แน่นอนว่าเมื่อความรุนแรงอุบัติขึ้นในฐานะเครื่องมือของการต่อรอง ย่อมมีปฏิกริยาเพื่อต่อต้านหรือคงสภาพทางการเมืองแบบเดิมไว้ แต่กระนั้นเราเองก็ไม่ควรลืมว่ามีผู้เล่นอีกไม่น้อยที่ต้องการนำพาความขัดแย้งครั้งนี้ไปสู่สภาวะที่ไม่จำเป็นต้องต่อรองด้วยชีวิต “พื้นที่กลาง” และผู้ที่โลดเล่นอยู่ในพื้นที่นี้จึงเป็นตัวละครที่สำคัญในการแสวงหาทางเลือกของทางออก หาก “ข้อเสนอทางการเมือง” ที่พวกเขายึดกุมและขับเคลื่อนมีพลังเพียงพอ อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ให้ตัวละครทุกฟากฝ่ายเข้าร่วมมีบทบาท เป็นไปได้ว่าจะส่วนดึงดูดคู่ขัดแย้งหลักให้หันมาเพ่งมอง “ทางเลือก” นี้ก็เป็นได้

          ด้วยเหตุนี้ การรับมือต่อกระแส “นครปัตตานี” ของภาคประชาสังคมในพื้นที่จึงน่าสนใจมากกว่าท่าทีของรัฐบาล เมื่อพวกเขาริเริ่มค้นหาและถกเถียงถึงความเป็นไปได้ของการจัดการบริหารปกครองในรูปแบบใหม่ที่จำกัดกรอบให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศ โดยหันกลับไปพิจารณาบทเรียนและประสบการณ์การจัดการรูปแบบการกระจายอำนาจในรูปแบบพิเศษ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศผ่านงานวิจัยและบทความวิชาการหลากหลาย

          ที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ เครือข่ายองค์กรประชาสังคมในพื้นที่ได้พยายามหมุนประเด็นเหล่านี้ด้วยการจัดวงคุยย่อยๆ ทั้งในปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ก่อนที่จะกำหนดให้มีเวทีสัมมนาวิชาการ “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันหรือความจริง?” ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ดูกำหนดการ) ภายใต้การสนับสนุนด้านวิชาการของศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มอ.ปัตตานี (ถ่ายทอดสดผ่าน www.deepsouthwatch.org)

          เวทีดังกล่าวจะเริ่มต้นด้วยการทบทวนประสบการณ์ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในแง่ผลสำเร็จ บทเรียนและอุปสรรค ซึ่งอยู่บนฐานการวิจัยค้นคว้าของผู้นำเสนอ ไม่ว่าจะในกรณีของประเทศนิวซีแลนด์ที่รับมือกับปัญหาชนกลุ่มน้อยเผ่าเมารี ในกรณีเขตปกครองตนเองซินเจียงในประเทศจีนที่ยังคงมีปัญหาปะทุอยู่ระหว่างชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ กรณีเขตปกครองพิเศษมินดาเนาในประเทศฟิลิปปินส์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลมะนิลากับคนโมโรยังไม่ลงตัวนัก รวมถึงกรณีเขตปกครองพิเศษอาเจะห์ในประเทศอินโดนีเซียที่กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอข้อสรุปจากการศึกษารูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ของนักวิชาการท้องถิ่นที่ได้รับการถกเถียงในฐานะโมเดลทางเลือกหนึ่งอยู่ในขณะนี้ ที่สำคัญ ยังมีการเปิดเผยข้อเสนอของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 23 องค์กร ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวด้วย

          อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจที่การขับเคลื่อนครั้งนี้ไม่ได้ละเลยและเป็นประเด็นคำถามโจทย์ใหญ่ในการพิจารณาถึงรูปแบบการปกครองแบบพิเศษ นอกเหนือจากสถานะภายใต้ “รัฐเดี่ยว” ก็คือ ที่ทางและบทบาทของคนไทยพุทธ อันมีสถานะเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ หากทว่าเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ งานสัมมนาในครั้งนี้จึงมีเวทีอภิปรายที่สะท้อนเสียงของคนไทยพุทธทั้งในและนอกพื้นที่ร่วมอยู่ด้วย

          นอกจากความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมที่รวมองค์กรต่างๆ ในครั้งนี้แล้ว ในงานรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 10 ซึ่งหมุนเวียนมาในวาระที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นเจ้าภาพ งานในปีนี้จึงจัดขึ้นในหัวข้อ “ความขัดแย้งและทางออกของการเมืองไทย (พ.ศ.2552)" ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่อาจละเลย “ความขัดแย้ง” ในชายแดนภาคใต้ไปได้ ในกำหนดการเช้าวันที่ 2 ธันวาคม 2552 จึงมีวงอภิปรายของนักรัฐศาสตร์หลากสถาบันที่จะและเปลี่ยนทัศนะต่อสิ่งที่เรียกว่า “เขตปกครองพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้” (ดูกำหนดการ)

          ความเคลื่อนไหวของแวดวงวิชาการยังต่อเนื่องอีกในงานสัมมนาวิชาการ “ภาพหลอกหลอน ณ ชายแดนใต้ของไทย: การเขียนประวัติศาสตร์ปาตานีและโลกอิสลาม” ในวันที่ 11 – 12 ธันวาคม 2552 (ดูกำหนดการ) ที่ระดมนักประวัติศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศมานำเสนองานเขียนวิชาการหลากหลายประเด็น ทั้งนี้ นอกเหนือจากเวทีดังกล่าวจะหนาแน่นด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปราชญ์ปาตานีแล้ว ยังมีการนำเสนอมุมมองใหม่ต่อข้อเสนอเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อนของฮัจยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ซึ่งเคยถูกรัฐไทยตีความและยัดเยียดว่าเป็นจุดกำเนิดของการแบ่งแยกดินแดน

          เหล่านี้คือความเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะในเดือนธันวาคม อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการขัดเกลาให้สังคมไทยมองเห็น “ข้อเสนอทางการเมือง” ที่เคยคิดว่าอ่อนไหวสุ่มเสี่ยงให้ชัดเจนและอยู่บนฐานขององค์ความรู้ ไม่แน่ว่าสังคมไทยอาจมีทางเลือกที่จะจัดการกับความรุนแรงได้อีกครั้งหนึ่ง