Skip to main content

  

 
 
แถลงการณ์มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
ต่อการนำเสนอข่าวการสังหารครอบครัวนายเจะมุ มะมัน
          ตามที่สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาตรวจสอบแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีคนร้ายใช้อาวุธสงครามกราดยิงครอบครัวนายเจะมุ มะมัน จนเป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิต ๓ คน เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องตันพบว่า มาจากการล้างแค้นส่วนตัวของญาติผู้เสียชีวิตในคดีที่นายเจะมุ ตกเป็นผู้ต้องหาซึ่งทหารพราน และสรุปว่าการกระทำในครั้งนี้ เป็นการกระทำโดยส่วนตัว ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด นั้น  มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้
          ๑.การตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นโดยนำเสนอข้อมูลทางสื่อมวลชนว่าเป็นประเด็นเรื่องส่วนตัว ทั้งที่ไม่ทราบตัวคนร้ายที่แน่ชัด และไม่ได้ผ่านการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตามกระบวนการของกฎหมาย  อาจเป็นการชี้นำในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และก่อให้เกิดประเด็นความขัดแย้งขยายผลในพื้นที่จนอาจนำไปสู่การล้างแค้นกันไปมาโดยไม่มีที่สิ้นสุด
          ๒. ตามข้อเท็จจริงที่มีการนำเสนอทางสื่อมวลชน แม้เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะมีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัวก็ตาม แต่การกระทำการดังกล่าวเป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งเป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมซึ่งกระทำต่อผู้หญิงและเด็กที่บริสุทธิ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด  ลักษณะของการกระทำมีการใช้อาวุธสงคราม ร่วมกันกระทำเป็นกลุ่มเป็นขบวนการที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของรัฐเป็นอย่างยิ่ง
          ๓. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของนายเจะมุ ในฐานะที่เป็นอดีตจำเลยในคดีความมั่นคง แสดงให้เห็นว่ามาตรการในการคุ้มครองความปลอดภัยของรัฐที่มีต่อบุคคลที่เคยเป็นอดีตจำเลยซึ่งผ่านการต่อสู้คดีพิสูจน์ความผิดตามกระบวนการยุติธรรมล้มเหลว และไม่ใช่เหตุการณ์นี้เหตุการณ์เดียว หากแต่ได้เคยเกิดเหตุการณ์ยิงอดีตจำเลยที่ผ่านกระบวนการยุติธรรมมาแล้วหลายเหตุการณ์  แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันกับกรณีนี้แต่อย่างใด
          ๔. ทหารพรานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน  อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของกองทัพ ภาค ๔ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ในการดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในสถานการณ์ความขัดแย้งเช่นนี้ยากที่จะปัดความรับผิดชอบโดยอ้างว่าเป็นประเด็นการกระทำโดยส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่
          มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมมีความห่วงใยต่อการนำเสนอข้อเท็จจริงสู่สาธารณะที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบและกระบวนการสืบสวนสอบสวนตามกฎหมาย จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องระมัดระวังในการนำเสนอข่าว ไม่เป็นการชี้นำกระบวนการสืบสวนสอบสวน และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อเหตุไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกลุ่มขบวนการก่อการร้าย โดยให้ดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เห็นว่าไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อรักษาอำนาจในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมต่อไป