Skip to main content

 

 
 
บทความ
สมุยกับรูปแบบพิเศษ
 
โดย:      นรนิติ เศรษฐบุตร
            (ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550, อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, อดีตกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษเพื่อตรวจพิจารณาเรื่องการจัดทำและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา)
 
ที่มา:      หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 ธันวาคม 2552
 
 
ผมกลับมาจากเกาะสมุย อันเป็นเกาะท่องเที่ยวและรีสอร์ทเพื่อการพักผ่อนของไทยในบริเวณอ่าวไทย ที่เขามีคำขวัญของเกาะแห่งนี้ว่า ปะการังงาม น้ำทะเลใส หาดทรายขาว มะพร้าวเยอะซึ่งผมยังพิสูจน์ไม่ได้ทั้งหมดแม้จะเคยไปเกาะสมุยมาหลายครั้งแล้ว
  
เดินทางไปเกาะสมุยวันนี้ต่างกว่าสมัยโน้นมาก สมัยก่อนนั้นต้องนอนไปในเรือ 2 ชั้น จากอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาถึงเกาะสมุยเอาตอนเช้า มาวันนี้แม้จะมาทางเรือจากอำเภอเมืองหรือจากฝั่ง ก็จะเดินทางได้เร็วมาก กินเวลาเพียงชั่วโมงกว่าเท่านั้น ถึงเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง เขาก็จะพาลงเรือเฟอร์รี่ข้ามฝั่งเข้าไปถึงเกาะสมุย หรือว่าจากกรุงเทพฯบินไปเกาะสมุยก็สะดวกมีเครื่องบินพาเดินทางไปกลับวันละ หลายเที่ยว นี่ยังไม่รวมเครื่องบินที่เดินทางมาจากที่อื่นแบบเช่าเหมาลำ
  
สนามบินที่เกาะสมุยนั้นมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว สวยงามตามลักษณะเมืองรีสอร์ท ดูแล้วสบายตา สบายใจ และทำให้สะดวกดีอีกด้วย แม้จะไม่ได้เป็นห้องแอร์คอนดิชั่น ลมพัดโกรกสบายดี นับว่าเป็นเสน่ห์ของเมืองไปด้วย ที่ต้องมีข้อสังเกตคือ เป็นสนามบินเอกชนที่ทำจนดังได้
  
แต่ที่จะต้องเขียนถึงเกาะสมุยนั้น ไม่ไช่เรื่องของการท่องเที่ยว แต่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกัน นั่นคือเกาะสมุยจะมีรูปแบบการปกครองท้องถิ่นพิเศษได้หรือไม่ หรือดีหรือไม่มากกว่า
  
ที่จริงเรื่องนี้มีการพูดมานานแล้ว ถ้าจะเป็นรองก็คือ รองจากภูเก็ต เพราะภูเก็ตเป็นจังหวัด และมีการพูดถึงการที่ภูเก็ตน่าจะได้   มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษมาประมาณ 30 ปีแล้ว ส่วนเกาะ       สมุยนั้นก็ได้รับการกล่าวถึงตามมา เพราะผู้คนเห็นกันว่าเกาะสมุย นั้น โดยลักษณะทางภูมิศาสตร์ก็ได้แยกกันออกมาเป็นสัดเป็นส่วน จากดินแดนอื่นอยู่แล้ว และว่าถึงกิจการกับธุรกิจที่เจริญรุ่งเรือง ในเกาะก็เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เมืองนี้เป็นเมืองพักผ่อน เมืองตากอากาศ จึงมีลักษณะพิเศษที่ไม่น่าจะแตกต่างจากเมืองพัทยา    ที่จังหวัดชลบุรีแต่อย่างใด
  
แต่ทำไมเมืองพัทยาได้เป็นการปกครองรูปแบบพิเศษเพียงเมืองเดียว นอกเหนือไปจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ
  
เมืองพัทยานั้น มีระยะเวลาตั้งแต่เกิดมาเป็นเมืองพิเศษได้นาน    ประมาณ 30 ปี ได้แล้ว ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเขาต้องการทดลองให้เมืองพัทยาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการ บริหารในรูปแบบที่มีนายกเมืองก็จริง แต่ผู้บริหารเมืองที่แท้จริงเป็นนักบริหารมืออาชีพ เรียกว่า ผู้จัดการเมืองที่นายกและสภาเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง โดยให้ผู้ที่มาจากการแต่งตั้งเป็นเสียงข้างน้อยรวมอยู่ด้วย รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผู้จัดการเมืองนั้น เชื่อกันว่าเอารูปแบบมาจากสหรัฐอเมริกา แต่น่าเสียดายมาทดลองใช้ที่เมืองพัทยาแล้วล้มเหลว เพราะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งปรารถนาจะเป็นผู้บริหารเอง ไม่ต้องการเป็นเพียงผู้กำหนดนโยบายและกำกับงาน ในที่สุดจึงต้องเปลี่ยนรูปแบบให้เมืองพัทยาในวันนี้เหมือนกับรูปแบบเทศบาล เมืองนั่นเอง แต่มีกฎหมายจัดตั้งของตัวเอง
  
ฉะนั้นเมืองพัทยาจึงได้เป็นเมืองเดียวอย่างที่บอก
  
สำหรับเกาะสมุย ถ้าสนใจว่าควรจะให้เป็นเมืองพิเศษหรือไม่อย่างไร หรือถ้าจะพิจารณากันให้ละเอียดก็ไปหางานการศึกษาวิจัย ที่ทางการได้จ้างนักวิจัยไปทำ มาอ่านประกอบการพิจารณาได้ เพราะมีทำไว้แล้ว
  
ไปที่เกาะสมุยวันนี้ ถ้าสังเกตก็จะเห็นว่าที่ว่าการอำเภอเกาะสมุยกับที่ทำการหรือศาลาเทศบาลเมือง เกาะสมุยนั้นมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ตัวที่ว่าการอำเภอก็จะดูเก่าและเล็ก สีก็ไม่ค่อยสดใส ต่างกว่าศาลาเทศบาลที่ใหญ่โต สร้างอาคารอย่างทันสมัย ดูโก้ทีเดียวและดูสดใสกว่า ดีว่าตั้งอยู่คนละแห่ง ห่างไกลกันพอสมควร สิ่งนี้ก็บอกอะไรบางอย่างแก่ผู้ที่เห็น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม
  
เมื่อกลางปีก่อน คือ พ.ศ. 2551 เทศบาลตำบลเกาะสมุยได้รับการยกฐานะจากเทศบาลตำบลเป็นเทศบาลเมือง และได้มีการเลือกนายกเทศมนตรีคนใหม่ ซึ่งก็เป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันกันมาก อย่างน้อยจากผู้สมัคร 5 คน เขาบอกกันว่า มีเพียง 3 คน เป็นคู่แข่งที่น่าจับตามอง และก็มาถึงคู่แข่งสำคัญ คืออดีตนายกเทศมนตรี กับผู้ท้าชิงใหม่ที่เคยเป็นสมาชิกสภาเทศบาลและสมาชิกสภาจังหวัดมาก่อน
  
ในการเลือกตั้ง ปรากฏว่าผู้ท้าชิงใหม่เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกเทศมนตรีคนแรกของ เทศบาล ที่ได้รับการยกฐานะใหม่มาเป็นเทศบาลเมืองเกาะสมุย
  
ชัยชนะของนายกเทศมนตรีก็มาพร้อมกับภาระงาน เขาคุยกันว่า ปัญหาแรกก็คือปัญหาขยะ ที่มีอยู่มากถึงวันละ 120 ตัน ก็เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองตากอากาศ จึงมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการมาก แต่เตาเผาขยะที่มีอยู่นั้นเขาว่ากันว่าไม่เพียงพอ แต่ยังดีที่ยัง    มีน้ำจืดใช้เองเพียงพอ แม้จะใช้กันมากถึงวันละประมาณ 20,000 ลูกบาศก์เมตรก็ตาม อีกปัญหาหนึ่งที่ใหญ่ก็คือเรื่องของไฟฟ้า เมื่อเป็นเมืองท่องเที่ยวก็ต้องใช้ไฟฟ้ามาก เขามีข้อมูลระบุว่า ในปี พ.ศ. 2553 ไฟฟ้าอาจไม่พอ จึงมีความคิดที่จะต้องมีสถานีไฟฟ้าเกาะสมุย แห่งที่ 2
  
เพียง 2 เรื่องใหญ่ก็ท้าทายผู้บริหารเทศบาลแล้ว แต่คนเกาะสมุยไม่ได้กลัว เขาเล่ากันว่าตอนยกฐานะเทศบาลนั้นเขาต้องการเป็นเทศบาลนคร แต่ทางการระดับบนของส่วนกลางให้เป็นเทศบาลเมือง
  
มาวันนี้เกาะสมุย คงหวังที่จะข้ามขึ้นมาเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษไปเลย และตอนนี้อาจเป็นเวลาที่ดีที่ทางการจะพิจารณาข้อมูลรอบด้านอีกที ทางเทศบาลเมืองเกาะสมุยเองก็คงต้องพร้อมที่จะชี้แจง
  
แต่การปกครองท้องถิ่นที่ต้องการอิสระมากก็ต้องคิดพึ่งตัวเองให้มาก กล้าเก็บภาษีตามรัฐเปิดโอกาสให้เองอย่างกล้าหาญด้วย.