Skip to main content

กองบรรณาธิการสำนักข่าวอามาน
http://voicepeace.org

คน 3 จังหวัดชายแดนใต้คึกคัก แห่ร่วมเวที “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความจริงหรือความฝัน” นับพัน ‘โคทม อารียา’ ซัดรัฐบาลทำไม่เหมือนตอนเป็นฝ่ายค้าน หนุน “รัฐพหุสังคมสยาม” ย้ำคนพื้นที่ต้องออกแบบการปกครองของตนเอง โยนโจทย์ให้มาเลย์ถามขบวนการใต้ดิน “เอาหรือไม่เอา?” ฉันทนาระบุ ถ้าทำเร็วกว่านี้จะรักษาชีวิตคนได้จำนวนมาก ชี้รัฐไทยไม่สามารถอยู่ได้ภายใต้ความไม่มั่นคงของประชาชน แต่รูปแบบการปกครองใหม่ต้องเน้นหลักธรรมาภิบาล นักวิชาการ-ภาคประชาสังคมงัดโมเดลร้อน “เขตปกครองพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ” โชว์ ผู้จัดยันต้องลงฟังเสียงคนชายแดนใต้ครบทุกพื้นที่และ 4 อำเภอสงขลา

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เวลา 09.00 น.วันนี้(10 ธันวาคม 52) กลุ่มภาคประชาสังคม 23 องค์กร เครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่นร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ร่วมกันจัดเวทีสัมมนา “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันหรือความจริง” ที่หอประชุมสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีประชาชนมาร่วมงานนับพันคน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ภาคประชาชนจับกระแส “นครปัตตานี” มาขับเคลื่อนในเวทีสาธารณะ โดยเฉพาะการตั้งประเด็นเรื่องการออกแบบรูปแบบการปกครองเขตพิเศษโดยคนพื้นที่เอง ซึ่งเวทีมีทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยช่วงเช้าเป็นการกล่าวนำของ รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “การเมืองการปกครองบนความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรม และ 3 นักวิชาการขึ้นมานำเสนอรูปแบบการกระจายอำนาจอย่างเข้มข้นของประเทศต่างๆ โดย ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู นักวิชาการ และสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปัตตานี นำเสนอการถอดบทเรียนการกระจายอำนาจของประเทศนิวซีแลนด์ สมชาย กุลคีรีรัตนา ประธานชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาลนำเสนอการกระจายอำนาจของมณฑลซินเกียง ประเทศจีน ดร.สุริยา สะนิวา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา นำเสนอบทเรียนของเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ และอรอนงค์ ทิพย์พิมล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอบทเรียน “เขตปกครองพิเศษอาเจะห์: ความสำเร็จที่ต้องรอคอย”

รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว กล่าวตอนหนึ่งว่า “ถ้าเรากล่าวเรื่องนี้เร็วกว่านี้ อาจรักษาชีวิตคนไว้ได้จำนวนมาก”

อย่างไรก็ตาม  นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์  จุฬาฯ ย้ำว่า หากเริ่มต้นพูดถึงเรื่องเขตปกครองพิเศษในตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไปนัก  เพราะรัฐไม่สามารถอยู่ได้ ภายใต้ความไม่มั่นคงของประชาชน  และถึงเวลาที่ต้องคลี่คลายมายาคติทางการเมืองการปกครองได้แล้ว เช่น การปกครองรวมศูนย์อำนาจที่เอ่ยอ้างถึงประชาธิปไตยโดยเกี่ยวข้องกับดินแดน

“ถึงเวลาพูดเรื่องต้องห้ามที่เคยเชื่อว่ากระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ ถึงเวลาที่ต้องคลี่คลายมายาคติต่างๆ เมื่อความมั่นคงของรัฐมีความหมายใหม่  ทำไมต้องแก้ที่การเมืองการปกครอง เพราะความรุนแรงเป็นอาการของปัญหา การใช้กำลังพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่คำตอบ ความขัดแย้งกับปัญหาชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์ ปัญหาไปด้วยกันไม่ได้ของกลุ่มชาติพันธุ์กับระบบรัฐที่เป็นอยู่ การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ เป็นการกำหนดกติกาของการอยู่ร่วมกัน” รศ.ดร.ฉันทนากล่าว และแนะนำว่าต้องมองเห็นภาพอนาคตได้อย่างเป็นระบบ และมีกระบวนการ คือต้องการมีโร้ดแม็บ (แผนที่นำทาง) สำหรับการปกครองปัตตานี ในระยะ 5 หรือ 10 ปีซึ่งสามารถสร้างความสงบในพื้นที่ได้

ในช่วงบ่ายเป็นเวทีนำเสนอรูปแบบ “โมเดล” การปกครองในรูปแบบต่างๆ ของนักวิชาการ และภาคประชาชน ในหัวข้อ “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันหรือความจริง?” โดย รศ.ดร.โคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยว่าสนับสนุนการกระจายอำนาจให้นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่นกรอบรัฐธรรมนูญบอกว่า 1 รัฐ 1 ชาติ แต่สิ่งที่นำเสนออาจเป็น 1 รัฐแต่หลายชาติพันธุ์ กลายเป็น “รัฐพหุสังคมสยาม” พร้อมกับกล่าวว่า ต้องเป็นโจทย์ที่คนทั้ง 3 จังหวัดต้องร่วมคิดว่าจะเอาอย่างไรกับการออกแบบการปกครองพื้นที่ของตนเอง และการที่นายนายิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียมีส่วนในการจุดประเด็นรูปแบบเขตปกครองพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็ฝากให้ไปถามว่าขบวนการใต้ดินจะเอาอย่างไรกับเขตปกครองพิเศษ

“ที่ผมอยากเสนอค่อนข้างเป็นแนวคิดเบื้องต้นว่า  ไม่ควรให้มีรูปแบบเดียว ควรกระจายอำนาจให้ทุกจังหวัดหรือบางจังหวัดบางพื้นที่ แต่เราเป็นประเทศที่กระขายอำนาจน้อยมาก ส่วนรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีก็ยังไม่สอดคล้องกับรูปภูมินิเวศน์ วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น” รศ.ดร.โคทมกล่าว

ด้าน ‘พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ’ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่าการสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมความคิดเห็นสำหรับการกำหนดรูปแบบ (Model) การบริหารและการปกครองที่สอดคล้องเหมาะสมกับความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีของท้องถิ่นอันจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชนทั่วไป รวมทั้งการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทางการเมืองการปกครอง โดยจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป

ส่วนข้อเสนอรูปแบบการปกครองพิเศษของเครือข่ายประชาสังคม 23 องค์กร นำเสนอโดย ‘อุดม ปัตนวงศ์’ จากมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ยังให้ ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)เป็นตัวเชื่อมระหว่างเขตปกครองพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญกับรัฐ ซึ่งแบ่งเป็นนครปัตตานี นครยะลา และนครนราธิวาสโดยประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดเพียงคนเดียว ส่วน ‘อัคคชา พรหมสูตร’ สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองเสนอให้นำโมเดลเขตปกครองพิเศษของกรุงเทพมหานครมาใช้ โดยรวมพื้นที่ชายแดนภาคใต้ให้เป็น “ปัตตานีมหานคร”

ส่วนเสียงของคนกลุ่มน้อยคือคนไทยพุทธ ‘นายธีรศักดิ์ หวังอาภากุล’ จาก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาสกล่าวว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่รูปแบบการปกครอง แต่เกิดจากการขาดความจริงใจของรัฐที่จะแก้ปัญหา สิ่งที่ต้องทำคือการปกป้องชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้สูญเสียน้อยกว่านี้ ส่วน ‘นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ’ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่า ต้องมอง 2 ประการคือเราจะขยายประชาธิปไตยไปสู่สังคม 3 จังหวัดจริงหรือไม่ หรือ ต้องการแก้ปัญหาความไม่สงบให้ยุติลง

“ต้องเอาแกนนำผู้ก่อความไม่สงบมาคุย ไม่ใช่เอาประชาชนผู้บริสุทธิ์มาถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพราะไม่ใช่เสียงที่แท้จริง เพราะผมมั่นใจว่าถ้าถามกลุ่มก่อความไม่สงบ เขาต้องการ ‘ เอกราช’ ไม่ใช่ ‘เขตปกครองพิเศษ’” นายประสิทธิ์กล่าว

ส่วนนายมุข  สุไลมาน อดีต ส.ส.ปัตตานีหลายสมัยกล่าวว่า ถ้าจะขับเคลื่อนให้เขตปกครองพิเศษของปัตตานีสำเร็จ ต้องมาจาก 3 ทาง คือ รัฐบาลยอมรับ กอ.รมน.ยอมรับ และขบวนการก่อความไม่สงบยอมรับ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับก็เป็นอุปสรรคที่จะทำให้สำเร็จ แต่ตนมองว่าอุปสรรคใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ขบวนการก่อความไม่สงบ แต่อยู่ที่ผู้มีอำนาจและทหารเท่านั้น

ส่วน พล.ต.ต.จำรูญ  เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้  ในฐานะประธานจัดงานนี้เปิดเผยว่า  จะนำเวทีนี้โร้ดโชว์ไปสู่ 37 อำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของสงขลาเพื่อฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่อีกครั้ง.