Skip to main content
เสียงเพรียกจากผู้นำชุมชน: บทบาทในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพปาตานี (ตอน 1)
 
The whistling of village leaders: Their roles support in Pat(t)ani Peace Process

กษมา  จิตร์ภิรมย์ศรี

 

ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้เป็นปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5[1] โดยอ้างอิงตามประวัติศาสตร์รัฐชาติ  แต่ความรุนแรงที่ได้ทวีมากขึ้นจนเป็นรูปธรรมและมีกระบวนการที่แน่นอนเริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน  สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้อยู่ในสภาพยืดเยื้อเรื้อรังมาเกือบ 10 ปีที่มีผู้เสียชีวิตรวม 5,755 ราย และผู้บาดเจ็บรวมทั้งหมดรวม 10,201 ราย มีจำนวนเหตุการณ์เกิดขึ้นรวม 13,434 ครั้ง[2]  ท่ามกลางความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นนี้ มีการริเริ่มกระบวนการสันติภาพในทางลับจัดขึ้นโดยฝ่ายความมั่นคง มานับหลายครั้งในช่วงระยะที่ความรุนแรงเกิดขึ้น[3]  แต่กระบวนการสันติภาพที่เปิดเผยหรือเป็นทางการเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกจากการร่วมลงนามการพูดคุยสันติภาพในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ระหว่าง พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับ ฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทน BRN (Barisan Revolusi Nasional) โดยยอมรับประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ในการพูดคุยและกระบวนการชัดเจนขึ้นมากผ่านกระบวนการพูดคุยสันติภาพไปทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งแรกในวันที่ 28 มีนาคม 2556 ส่วนครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 เมษายน 2556 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา

กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมา 3 ครั้ง ทำให้เราเห็นว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพจะดำเนินไปโดยการพูดคุยกันในผู้นำระดับสูงทั้ง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งกันโดยตรง (Track 1) โดยละเลยความร่วมมือจากภาคประชาสังคมและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่  ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูญเสียมากที่สุดจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไปไม่ได้เลย  ถึงแม้ว่าการพูดคุยในระดับสูงที่เป็นตัวแสดงหลักในการคลี่คลายความขัดแย้ง แต่การมองข้ามภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่โดยไม่ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ  ไม่สามารถทำให้สันติภาพที่เกิดขึ้นมาเป็นสันติภาพที่ยั่งยืน ซ้ำร้ายยังมีการหวนคืนกลับไปเกิดสงครามขึ้นใหม่อีกครั้ง จากงานวิจัยของ มูฮำมัดอายุบ ปาทานและคณะ (2554) ได้ศึกษาถึงกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้น โดยมีภาคประชาสังคมเข้าเป็นส่วนร่วมมากและปานกลางจะสามารถสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนขึ้นมาได้ โดยยกตัวอย่างจากกรณีความขัดแย้งในต่างประเทศ 25 กรณี มี 8 กรณีที่มีภาคประชาสังคมเข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพในระดับสูงหรือปานกลางแล้วทำให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน และมี 9 กรณี เกิดสงครามหวนคืน ในกรณีที่ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมกับกระบวนการสันติภาพระดับต่ำ[4] จะเห็นได้ว่าร้อยละ 50 ของข้อตกลงสันติภาพที่มีองค์กรภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในระดับสูงจะสามารถทำให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืนได้

 

ประเทศ

 

ปี/ข้อตกลงสันติภาพ

 

บทบาทของประชาสังคม

 

ผลลัพท์ของกระบวนการสร้างสันติภาพ

กัวเตมาลา

กัวเตมาลาซิตี้, 1996

สูง

สันติภาพยั่งยืน

ไลบีเรีย 2

อัครา, 2003

สูง

สันติภาพยั่งยืน

โมซัมบิก

1992

สูง

สันติภาพยั่งยืน

เซียรา ลีโอน 2

2000, ข้อตกลงหยุดยิงอบูจา

สูง

สันติภาพยั่งยืน

บอสเนีย

เดย์ตัน, 1995

ต่ำ

สันติภาพยั่งยืน

บุรุนดี 1

1995, ข้อสัญญาแห่งรัฐบาล

ต่ำ

สงครามหวนคืน, 1995

บุรุนดี 2

2000, ข้อตกลงอารูชา

ต่ำ

สงครามหวนคืน, จนถึง 2002 และข้อตกลงหยุดยิงในปี 2006

บุรุนดี 3

2006, ข้อตกลงเพื่อทำความเข้าใจการหยุดยิง

ต่ำ

สันติภาพเย็นชา

คองโก 1

คองโก-คินชาซา, 1999

ต่ำ

สงครามหวนคืน, 2000

เอธิโอเปีย-เอริเธรีย

อัลเจียร์, 2000

ต่ำ

สันติภาพเย็นชา

อิสราเอล-ปาเลสไตน์

1993

ต่ำ

สงครามหวนคืน, 2001

โคโซโว

แรมบัวเลอร์, 1999 (ฝ่ายเซิร์บ/สาธารณรัฐยูโกสลาเวียไม่ได้ร่วมลงนาม)

ต่ำ

สงครามหวนคืน, 1999 และแยกตัวในปี 2008

ไลบีเรีย 1

อบูจา, 1996

ต่ำ

สงครามหวนคืน, 2000

เนปาล

2005, สนธิสัญญา 12 ข้อ

ต่ำ

สงครามหวนคืน, 2006

ไนจีเรีย (สามเหลี่ยมแม่น้ำไนเจอร์)

2004, ข้อตกลงสามเหลี่ยมแม่น้ำไนเจอร์

ต่ำ

สงครามหวนคืน, 2005

รวันดา

1993, ข้อตกลงอารูชา

ต่ำ

สงครามหวนคืน และเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994

ทาจิกสถาน

1997, ข้อตกลงทั่วไป

ต่ำ

สันติภาพเย็นชา

คองโก  2

คองโก-คินชาซา, 2003

กลาง

สันติภาพเย็นชา

เอลซัลวาดอร์

แชพพุลเทอเพ็ก, 1992

กลาง

สันติภาพยั่งยืน

มาซิโดเนีย

2001, ข้อตกลงกรอบการทำงานโอริด

กลาง

สันติภาพยั่งยืน

ไอร์แลนด์เหนือ

1998, ข้อตกลงกู๊ดฟรายเดย์

กลาง

สันติภาพยั่งยืน

เซียรา ลีโอน 1

1999, ข้อตกลงสันติภาพโลเม

กลาง

สงครามหวนคืน, 2000

แอฟริกาใต้

1994

กลาง

สันติภาพยั่งยืน

ศรีลังกา

2002

กลาง

สงครามหวนคืน, 2005

ซูดาน (ใต้)

2004

กลาง

สันติภาพเย็นชา

แผนภาพที่ 1: บทบาทของประชาสังคมในกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ[5]

 

บทบาทของ ภาคประชาสังคมและผู้นำชุมชนในพื้นที่ เปรียบเสมือน  “คนกลางหรือพื้นที่กลาง[6]” ที่มีบทบาทหน้าที่อยู่ระหว่างผู้ที่ใช้ความรุนแรงทั้งสองฝ่าย (รัฐไทยและ BRN) เพื่อแก้ไขปัญหาในมิติต่างๆที่รัฐไม่สามารถแก้ไขได้และเป็นส่วนหนึ่งของการลดเงื่อนไขความขัดแย้งในพื้นที่ รวมถึงสร้างความเข้าใจและประสานประโยชน์ระหว่างรัฐและประชาชนก็ก่อตัวขึ้นอย่างหนาแน่นโดยทำให้เกิดองค์กรภาคประชาสังคมใหม่ๆในพื้นที่เกิดขึ้นมาอย่างมากมาย และมีการทำงานที่เข้าถึงประชาชนในพื้นที่โดยภาคประชาสังคมทำงานเชื่อมต่อกับผู้นำชุมชนเพื่อสะท้อนเสียงจากชุมชนให้”นูน”ขึ้นมาและส่งเสียงไปยัง Track ที่1 ที่กำลังทำการพูดคุยสันติภาพกันอยู่ไม่ให้ละเลยเสียงประชาชนในพื้นที่ที่มีความชอบธรรมในการร่วมกำหนดชะตากรรมของตนเองเพราะเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบหลักจากปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่

 

บทบาทของผู้นำชุมชนในกระบวนการสันติภาพ

 

การเสริมสร้างความรู้แก่ ผู้นำชุมชนในปาตานีให้ตระหนักจุดยืน (Position) ของตนเองในกระบวนการสันติภาพ และบทบาทของตนที่สามารถจะหนุนเสริม (Support) กระบวนการสันติภาพได้อย่างไร? อาจกล่าวได้ว่าผู้นำชุมชนมีความสำคัญอย่างมากในกระบวนการสันติภาพในฐานะที่เป็นตัวแสดง (Actor) ที่สามารถสร้างการพูดคุยสันติภาพภายในประชาชนรากหญ้าหรือ Track ที่ 3 ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมกับเชื่อมต่อ หรือ ประสานกับองค์กรภาคประชาสังคม หรือ Track ที่ 2 และ เจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องที่ ที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตนเอง อย่างเช่น ปลัดอำเภอ หรือ นายอำเภอ ไปสู่ ผู้ว่าราชการจังหวัด และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)[7] เพื่อส่งต่อความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ไปสู่พื้นที่การพูดคุยใน Track ที่ 1 ที่มี พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และ ตัวแทนคนอื่นๆที่ได้รับมอบหมายจากทางรัฐบาล อย่างเช่น พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก,  พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ที่ดำเนินการพูดคุยสันติภาพ เป็นตัวแทนฝ่ายไทย กับ ตัวแทน BRN (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ที่นำโดย อุซตาสฮัสซัน ตอยิบ ไปแล้วในครั้งแรกวันที่ 28 มีนาคม 2556 ครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 เมษายน 2556 และครั้งที่ 3 วันที่ 13 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา

บทบาทของผู้นำชุมชนปาตานีในกระบวนการสันติภาพ จะเป็นไปตามแผนภาพตัวแสดงและแนวทางการทำงานในกระบวนการสร้างสันติภาพที่ เลเดอรัค[8] ได้แบ่งตัวแสดงที่มีบทบาทต่อความขัดแย้งในรูปแบบของสามเหลี่ยมพีรามิด [9] 3 ชั้น หรือ 3 Tracks แต่ละชั้นได้มีบทบาทกับประเภทของตัวแสดงที่แตกต่างกันออกไป และทางด้านซ้ายของพีระมิดได้เสนอแนวทางการทำงานในกระบวนการสันติภาพที่เหมาะสมกับบทบาทของผู้นำในแต่ละชั้น

 

แผนภาพที่ 2: แผนภาพตัวแสดงและแนวทางการทำงานในกระบวนการสร้างสันติภาพ[10]

 

จากแผนภาพได้แสดงถึงประเภทของผู้นำชุมชนที่ทำงานในระดับชั้นที่ 3 หรือ Track ที่ 3 ในกระบวนการสันติภาพจะเห็นว่า งานใน Track ที่ 3 มีความสำคัญอย่างมากในกระบวนการสันติภาพ อาทิ คณะกรรมการสันติภาพในท้องถิ่น ซึ่งอาจจะเป็นคณะกรรมการในการดูแลความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้านของตนเอง หรือ เป็นคณะกรรมการในการเฝ้าระวัง ในกรณี รัฐไทยกับ BRN มีข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกัน และ งานการฝึกอบรมชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นการเปิดเวทีประชาคมในหมู่บ้านของตนเองเพื่อชี้แจงให้คนในหมู่บ้านของตนเองเข้าใจในสถานการณ์ความเป็นไปของกระบวนการสันติภาพ รวมไปถึงการพูดคุยกับคนเห็นต่างในหมู่บ้านของตนเองเพื่อลดอคติระหว่างกันความสำคัญของชั้นที่ 3 อันเป็นฐานรากของพีรามิด เลอเดอรัค[11]ได้กล่าวว่า

 

ผู้นำในระดับรากหญ้านั้นทำงานอยู่กับประชาชนในท้องถิ่นที่ต้องเอาตัวรอดทุกวัน ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ผู้คนพยายามเอาชีวิตรอดให้ได้วันต่อวัน ผู้นำในระดับนี้จึงมีบทบาทอย่างสำคัญในงานที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของผู้คน พวกเขาอาจเป็นผู้นำชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ หรือคนทำงานของเอ็นจีโอท้องถิ่น ซึ่งทำงานเกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือชาวบ้านในแง่มุมต่างๆ พวกเขาเป็นคนที่รู้เรื่องเกี่ยวกับการเมืองในท้องถิ่นเป็นอย่างดี ทั้งยังอาจรู้จักมักคุ้นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับท้องถิ่นและผู้นำของฝ่ายต่อต้านรัฐในระดับท้องถิ่นเป็นอย่างดี และแน่นอนว่าพวกเขาเป็นคนแรกๆ ที่เป็นพยานต่อความรู้สึกเกลียดชังอย่างเข้ากระดูกดำและความเป็นศัตรูที่ก่อตัวขึ้นผู้คนรากหญ้าในชีวิตประจำวัน

 

ผู้นำชุมชนเป็นตัวแสดงที่สำคัญมากในกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เพราะเป็นหนึ่งในองคาพยพของรัฐไทยในการใช้ปกครองพื้นที่ มีสายการบังคับบัญชามาจากกระทรวงมหาดไทยตามการปกครองแบบรวมศูนย์ของรัฐไทย ในทางกลับกันกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็เป็นตัวแทนของประชาชนในชุมชนของตน เพราะที่มาของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจากการเลือกตั้งภายในชุมชนยกเว้นผู้นำทางศาสนากับผู้นำโดยธรรมชาติที่มาจากความเคารพนับถือของคนในชุมชน บทบาทผู้นำชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญในการถึง 3 Track ในเวลาเดียวกัน  กล่าวคือ ผู้นำชุมชนเป็นทั้งคนคอยประสานภายนอก {ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ (Track 1) และภาคประชาสังคมที่มาทำกิจกรรมในพื้นที่ (Track ที่ 2 ) กับประชาชนในพื้นที่ตน} และประสานภายในระหว่างประชาชนทุกคนในชุมชนตนเอง (Trackที่ 3 ) ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสายสัมพันธ์ของผู้นำชุมชนใน Track ที่ 3 กับประชาชนในชุมชนของตนเองจะแน่นมาก ดังแผนภาพที่ 2

 

แผนภาพที่ 3: โครงสร้างของสังคมในระดับรากหญ้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้[12]

 

จากแผนภาพจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสายสัมพันธ์ในชุมชนของ 3 จังหวัดชายแดนใต้หนาแน่นและซ้อนทับกันเป็นชั้น ทับกันไปมาระหว่าง มัสยิด ตาดีกา ปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามราวกลับขนมชั้น ฉะนั้นเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทำไมผู้นำชุมชนในปาตานีถึงมีความชอบธรรมและมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อเรียกร้องของตนเองเพื่อจะนำเข้าไปสู่พื้นที่การพูดคุยใน Track ที่ 1 เพื่อร่วมกำหนดชะตากรรมของตนเองร่วมกับรัฐไทยและ BRN เพราะ ในโครงสร้างของสังคมรากหญ้าของจังหวัดชายแดนใต้มีลักษณะเฉพาะ  มีความกลมกลื่นกันระหว่างศาสนาอิสลามซึ่งเป็นธรรมนูญชีวิตของมุสลิม กับ อัตลักษณ์ของมลายูที่มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับอัตลักษณ์ความเป็นไทย กล่าวคือ อัตลักษณ์มลายูเป็นอัตลักษณ์ที่เอกเทศจากความเป็น “ไทย”  มีประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง มีภาษาเป็นของตนเอง รวมถึง การนับถือศาสนาอิสลามที่แตกต่างคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นการที่จะเชื่อมต่อกับประชาชนรากหญ้าในพื้นที่ซึ่งแตกต่างกันทั้งศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม จำเป็นต้องมีคนกลางในการติดต่อ  และคนกลางที่เข้าใจพื้นที่ที่ดีที่สุดก็คือผู้นำชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ อาทิเช่น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำทางศาสนา และ ผู้นำตามธรรมชาติที่อยู่ในชุมชนนั้นๆ

นอกจากนี้บทบาทของผู้นำชุมชนที่ต้องสะท้อนเสียงจากชาวบ้านในชุมชนให้นูนขึ้นมา  และมีความชอบธรรมในการร่วมกำหนดชะตากรรมตนเองในพื้นที่แล้ว ยังมีบทบาทที่สำคัญอีกคือ บทบาทของการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ  ที่เปรียบผู้นำชุมชนและชาวบ้านระดับรากหญ้าเป็นดั่ง “ตาข่ายนิรภัย” (Safety net) ที่โอบอุ้มกระบวนการสันติภาพใน Track ที่ 1 ไม่ให้ล้มลงไปในกรณีที่กระบวนการสันติภาพถึงทางตัน ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างและประคับประคองสันติภาพที่เกิดขึ้นมาในพื้นที่ไม่ให้ล้มลงไปก่อนเมื่อประสบเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่หาข้อยุติไม่ได้  ตาข่ายนิรภัย(Safety net) มีลักษณะสำคัญ ตามที่ ดร.Norbert Ropers ผู้เชียวชาญจากต่างประเทศ ประจำที่สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “กระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องที่เปราะบางแตกหักง่าย และยากที่จะแก้ไขและประกอบขึ้นใหม่ ดังนั้นจำเป็นต้องมีตาข่ายนิรภัยที่เกิดจากการรวมตัวของประชาชนหลายๆฝ่าย ที่สามารถพูดคุยเรื่องสันติภาพได้อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ”[13]  ดร.โนเบิร์ตยังอธิบายต่อว่า ตาข่ายนิรภัย มี 2 ระดับ

1.     ตาข่ายระดับบน จะเป็นระดับของการพูดคุยอย่างเป็นทางการโดยตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการของทั้ง 2 ฝ่าย ที่ดำเนินการพูดคุยกัน (Dialogue) หรือ เจรจากัน (Negotiate)

2.     ตาข่ายระดับล่าง  จะเป็นชั้นของประชาชนธรรมดาที่ไม่ใช่ตัวแทนของทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกัน  แต่เป็นผู้ที่มีความตั้งใจกับต้องการกระบวนการสันติภาพ และสามารถพูดคุยหรือทำการพูดคุยในเรื่องเดียวกันกับตาข่ายระดับบนได้ โดยอาจจะทำการพูดคุยกันเองในกลุ่มตนหรือทำการพูดคุยกับกลุ่มอื่นที่คิดต่างกับตนเองในพื้นที่ก็ดี หรือ  นอกพื้นที่ก็ดี โดยกลุ่มที่ทำงานเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่คอยหนุนเสริม ช่วยคิด และช่วยเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นผ่านการทำการพูดคุยโดยกับคนที่เห็นต่างและประชาชนในวงกว้าง  ในกรณีที่การพูดคุยในตาข่ายระดับบนล้มเหลว  ข้อเสนอที่เป็นผลจากการพูดคุยคู่ขนานจากกลุ่มนี้สามารถนำมาใช้ได้ทันที  จะเป็นการกู้สถานการณ์การพูดคุยระดับบนที่ล้มเหลวกลับคืนมา[14]

 

จะเห็นได้ว่า ตาข่ายนิรภัยระดับล่างจะเป็นระดับที่มีความสำคัญยิ่งในการป้องกันไม่ให้กระบวนการสันติภาพที่เพิ่งเกิดขึ้นมาและเปราะบางอยู่แตกสลายลงไป  บทบาทของตาข่ายนิรภัยระดับล่างก็คือบทบาทของภาคประชาสังคมและบทบาทของผู้นำชุมชนในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพและประคับประคองกระบวนการสันติภาพทีเพิ่งเกิดขึ้นมานี้  ไม่ให้แตกสลายไป หรือ กลับไปเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นสาเหตุของการเกิดสงครามหวนกลับมาขึ้นอีกครั้ง

 

แผนภาพที่ 4: การทำงานของตาข่ายนิรภัย (Safety net)[15]

 

ในการที่สร้างตาข่ายนิรภัยในการรักษาสันติภาพที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นมา นอกจากจะต้องอาศัยบทบาทของผู้นำชุมชนในการหนุนเสริมสันติภาพตามข้างต้นแล้ว  ยังต้องผสานกับการเปิดพื้นที่สาธารณะที่ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมร่วมกันสร้าง  พื้นที่สาธารณะ (Public sphere) เป็นพื้นที่ในโลกทางสังคมซึ่งปัจเจกบุคคลมาพบปะพูดคุยและอภิปรายกันอย่างเสรีมนประเด็นทางสังคม การเมือง และ เศรษฐกิจ ประเด็นจากการอภิปรายโต้เถียง จะถูกตีแผ่ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันในพื้นที่สาธารณะ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง หรือ ทางสังคม ของสาธารณชน (กุสุมา 2556) พื้นที่สาธารณะได้ถูกนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมในผลงานของ Jurgen Habermas ในหนังสือชื่อ “การแปลงรูปเชิงโครงสร้างของพื้นที่ของสาธารณะ” (The Structural Transformation of Public Sphere: an Inquiry into a Category of Bourgeois Society) ในปี 1962 เป็นหนังสือที่โด่งดังมากในการศึกษาของสายทฤษฎีแนววิพากษ์ (Critical Theory)

ฮาเบอร์มาสได้อธิบายว่าผลประโยชน์ (Interests) ต่างๆในสังคมเป็นสิ่งที่เกิดมาจากความรู้และการใช้เหตุผล (knowledge and rationality) เพราะว่า ความรู้ไม่สามารถถูกสร้างมาด้วยตัวของตัวเองหรือผลประโยชน์ในตัวเอง แต่จะเป็นสิ่งที่ถูกสร้างมาจากการสะท้อนของผลประโยชน์ของผู้ที่สร้างขึ้นมา และ ฮาเบอร์มาสได้แบ่งความรู้เป็น 3 ประเภท (กาญจนา และ สมสุข 2551) คือ

 

ชนิดของผลประโยชน์

 

วิธีการได้มาซึ่งความรู้

 

ความรู้

ผลประโยชน์เชิงเทคนิค

เหตุผลเชิงเครื่องมือ

ศาสตร์เชิงประจักษ์ หรือ ศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น เคมี

ผลประโยชน์ภาคปฏิบัติการ

เหตุผลเชิงปฏิบัติการ

ศาสตร์ที่ต้องใช้การตีความ เช่น ประวัติศาสตร์

การปลดปล่อยสู่อิสรภาพ

กระบวนการไตร่ตรองด้วยตนเอง

ความรู้แบบทฤษฎีแนววิพากษ์

แผนภาพที่ 4: ผลประโยชน์ การใช้เหตุผล และ ความรู้ ของ ฮาเบอร์มาส[16]

 

ผลประโยชน์เชิงเทคนิค เกิดขึ้นจาก การใช้ความรู้ในการจัดการหรือสนับสนุน สิ่งที่เป็นวัตถุอย่างเป็นรูปธรรม  และมีความสามารถในการควบคุมเหนือวัตถุที่ได้ทำการศึกษาได้  การใช้เหตุผลในการได้มาซึ้งความรู้จะเป็นเหตุผลเชิงเครื่องมือโดยที่จะฝังตัวอยู่ในความรู้ของชุดความรู้ทางวิทยาศาสตร์[17] อย่างเช่นการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการอธิบายผลดีของระบบชลประทานในการสร้างเขื่อน

ผลประโยชน์ภาคปฏิบัติ  เกิดขึ้นจาก  การใช้ความรู้ในสนับสนุนความเข้าใจร่วมกันของอัตวิสัยระหว่างกัน (Mutual intersubjective) และผลประโยชน์ที่เกิดจากการสื่อสาร เช่นการใช้สัญลักษณ์หรือระบบภาษาต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในการร่วมมือเพื่อการอยู่ร่วมกัน การใช้เหตุผลในการได้มาซึ่งความรู้จะเป็นแบบเหตุผลเชิงปฏิบัติ ในความรู้เชิงตีความในประวัติศาสตร์หรือการใช้ภาษา[18] อย่างเช่นการใช้ประวัติศาสตร์ในอดีตของปาตานีมาใช้เตือนใจคนยุคหลังในการธำรงลัทธิชาตินิยมปาตานีเป็นต้น

การปลดปล่อยสู่อิสรภาพ เกิดมาจากการใช้ความรู้แนววิพากษ์ในการรักษาอิสรภาพของตนไว้จากสภาพการถูกครอบงำหรือการบิดเบือนของการสื่อสารที่ถูกครอบงำโดยอำนาจ  การได้ซึ่งความรู้มาจากการใช้เหตุผลในการไตร่ตรองได้ด้วยตนเอง[19] อย่างเช่น การนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักที่มีต่อข่าวจังหวัดชายแดนใต้  ที่เน้นในการนำเสนอภาพความรุนแรงเพื่อแบ่งแยกดินแดน

ฮาเบอร์มาสได้เสนอว่า ในสังคมที่มีอิสรภาพอย่างแท้จริง (emancipatory society) จะไม่เป็นสังคมที่ถูกครอบงำโดยมิติใดมิติหนึ่งของผลประโยชน์ และทุกคนหรือทุกกลุ่มในสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องผลประโยชน์จากมิติต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน  และพื้นที่สาธารณะจะเป็นกลไกที่ควบคุมสมดุลระหว่างมิติผลประโยชน์[20]ดังนั้นพื้นที่สาธารณะนำไปสู่การเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการถกเถียงถึงข้อเป็นไปได้ในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นใน Track ที่ 1 และการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในระดับภาคประชาสังคมใน Track ที่ 2 หรือ ในระดับประชาชนรากหญ้า ใน Track ที่ 3 เพื่อนำไปสู่การสร้าง ตาข่ายนิรภัยที่โอบอุ้มกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นไม่ให้ล้มลงไปเมื่อถึงทางตัน

 

 

[อ่านต่อตอน 2 เร็วๆ นี้]

 

 

 


[1] ดู  Gordon P. Means. 2011.”Political Islam in Southeast Asia”: Indian Edition. (New Delhi: Viva Books Private Limited), p. 229

[2] ดู ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และ รอมฏอน ปันจอร์. 2556. “ไฟใต้กับการริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอน 2556: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อจะต้องถ่งดุลด้วยพลังสันติภาพเท่านั้น”. Deep South Watch, http://www.deepsouthwatch.org/node/4570 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556)

[3] ปริญญา นวลเปียน.2556." เปิดข้อมูลลับวิกิลีกส์: ย้อนรอยดูการพูดคุยสันติภาพในวันที่ “บีอาร์เอ็น” ยังไม่ปรากฏตัว". วารสารรูสมิแล. ปีที่ 34 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2556), หน้า 9 – 20

[4] ดู ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. 2554. “ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ (ตอน 2): ความชอบธรรม หลักประกันสันติภาพ และบทบาทที่ควรเป็น”. Deep South Watch, http://deepsouthwatch.org/node/2540  (เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556)

[5] อ้างแล้ว  ดู Deep South Watch, http://deepsouthwatch.org/node/2540  (เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556)

[6] อ้างแล้ว  ดู Deep South Watch, http://deepsouthwatch.org/node/2540  (เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556)

[7] เนื่องด้วยคณะพูดคุยสันติภาพของไทย นำโดยรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และ ผู้ว่าราชการที่ทำงานในพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้ด้วยแต่มีการหมุนเวียนกันไปร่วมพูดคุยในแต่ละครั้งในการพูดคุยทั้ง 3 ครั้ง

[8] John Paul Lederach, 1997. Building Peace: Sustainable Reconciliation in Divided Societies, (Washington DC: United States Institute of Peace Press,).

[9] อ้างแล้ว หน้า 37

[10] อ้างแล้ว หน้า 39 และ อ้างใน Deep South Watch, http://deepsouthwatch.org/node/2540 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556)

[11] อ้างแล้ว Deep South Watch, http://deepsouthwatch.org/node/2540 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556) อ้างถึง Lederach P. 42 - 43

[12] ดู ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. 2554. “ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ (ตอน 4): พลวัต บทบาท และศักยภาพของ CSOs ชายแดนใต้”. Deep South Watch, http://deepsouthwatch.org/node/3479 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556)

[13] ดู โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้.2555. “ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส : safety net จำเป็นต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี” Deep South Watch, http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3810 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556)

[14]  อ้างแล้ว Deep South Watch, http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3810 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556)

[15] ดู ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้.2556. “ทำความเข้าใจ ‘แผนที่เดินทางสู่สันติภาพ’ และบทบาทของฝ่ายที่สาม”. Deep South Watch, http://deepsouthwatch.org/node/4314 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556)

[16] อ้างแล้ว หน้า 356

[17] อ้างแล้ว หน้า 356

[18] อ้างแล้ว 357

[19] อ้างแล้ว 358

[20] อ้างแล้ว 360