Skip to main content

หมายเหตุ: เนื้อหาจากวงเสวนาสาธารณะ ‘บนเส้นทางสันติภาพ: ชายแดนใต้/ปาตานีในสถานการณ์ใหม่’ ชิ้นนี้ปรับปรุงมาจากต้นฉบับที่เก็บความอย่างละเอียดโดย Citizen Journalist ในเว็บไซต็ของ ‘นักข่าวพลเมือง’ [คลิกดูเว็บไซต์  citizenthaipbs.net ที่นี่, คลิกดูต้นฉบับ ที่นี่] ก่อนหน้านี้ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ได้รายงานเนื้อหาดังกล่าวไปบ้างแล้ว [คลิกดู ที่นี่] ดูภาพบรรยากาศโดย Meen Photographer [คลิกดู ที่นี่] กองบรรณาธิการเห็นว่าการแลกเปลี่ยนในเวทีวันนั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่ติดตามความเป็นไปของความขัดแย้งที่ชายแดนใต้หรือ ‘ปาตานี’ จึงขอนำมาเสนอในที่นี้อีกครั้ง

คลิปบันทึกการเสวนา โดย CommSciTV PSU

 

Citizen Journalist

คนทำงานชายแดนใต้ร่วมมองทิศทางการพูดคุยสันติภาพปาตานี พล.ต.นักรบ ชี้การพูดคุยจะเดินหน้า นักวิชาการ-นักสิทธิ ขอส่งต่อหลายข้อเสนอแนะไปถึงรัฐบาล ส่วนภาคประชาสังคม ขอพื้นที่การมีส่วนร่วม พร้อมท้าทายพลังทางสังคม “แล้วคุณจะทำอะไร?”

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 22 สิงหาคม 2557 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) มีการจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ภาคประชาสังคม ในหัวข้อ “บนเส้นทางสันติภาพ: ชายแดนใต้/ปาตานีในสถานการณ์ใหม่” On the (Peace) Road Again: Pa(t)tani in New Conditions ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ: ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Communication, Conflicts and Peace Processes : Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand) หรือ CCPP  

ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อํานวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระ, ดอน ปาทาน ปาตานีฟอรั่ม, ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ ผู้อํานวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อํานวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ รอมฎอน ปันจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ โดยมี ฐปณีย์ เอียดศรีชัย ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ดำเนินรายการ ขณะที่มีผู้เข้าร่วมงานเสวนาอย่างคับคั่ง

พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง : รบ.ใหม่จะเดินหน้างานพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุขแน่นอน

พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หนึ่งในผู้ที่มีประสบการณ์ในการพูดคุยสันติภาพปาตานีเมื่อรอบที่แล้ว เริ่มด้วยการตอบคำถามของผู้ดำเนินรายการที่ว่า “ทิศทางการพูดคุยสันติภาพปาตานีจะเป็นอย่างไร?”

พล.ต.นักรบ ตอบว่า สถานการณ์ภาคใต้ในยุคปัจจุบัน ภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญกับภาคใต้มาก หากไปดูประกาศ คสช.ฉบับที่ 98 และคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 96 จะเห็นว่าเรื่องภาคใต้ถูกให้ความสำคัญ โดยในคำสั่งฉบับที่ 96 ให้ความสำคัญกับกลุ่มงานในการหาทางออกของความขัดแย้งโดยเป็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน ส่วนประกาศฉบับที่ 98 นั้น พูดถึงโครงสร้างที่บูรณาการทั้งบนทั้งล่าง และให้ความสำคัญกับกลุ่มงานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งซึ่งก็คืองานพูดคุย[1]

โดยที่ พล.ต.นักรบ เห็นว่า สถานการณ์ตอนนี้เอื้ออำนวยต่อการเดินหน้างานภาคใต้ ซึ่งน่าจะทำได้เป็นรูปธรรมและเป็นเอกภาพมากขึ้น เพราะจะไม่มีการแทรกแซงจากการเมือง ตนเชื่อว่า นายกฯ คนใหม่ จะเดินหน้างานพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุขแน่นอน นี่คือทิศทางในอนาคตที่จะเกิดขึ้น

พล.ต.นักรบ กล่าวต่อไปว่า งานพูดคุยซึ่งถูกเปิดไว้เมื่อรัฐบาลที่แล้วถือว่าสำคัญ เพราะเป็นการเปิดเพื่อให้เห็นแนวทาง แม้ในปีที่ผ่านมาการทำงานอาจจะเริ่มต้นอย่างกระท่อนกระแท่น ติดขัดบ้าง ส่วนโครงสร้างของคณะกรรมการที่จะมาทำงานต่อจะเป็นอย่างไร จริงๆ ได้มีการหารือกัน 2-3 ครั้งแล้ว กำลังกำหนดรูปแบบและโมเดลเพื่อดำเนินการต่อ โดยมีการนำรูปแบบและบทเรียนของหลายๆ อย่างมาประยุกต์กัน เช่น รูปแบบอาเจะห์ อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, ไอร์แลนด์เหนือ นอกจากนี้ยังนำบทเรียนของการพูดคุยกันในรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งตนอยู่ในคณะทำงาน มาใช้เพื่อปรับด้วย อย่างไรก็ดี หน้าตาโครงสร้างจริงๆ นั้นยังต้องขอเวลาทำงาน ตนบอกได้คร่าวๆ เพียงว่า น่าจะเห็นภายในสิ้นเดือน ซึ่งยังไม่ใช่การออกไปพูดคุยกับฝ่ายผู้เห็นต่าง แต่น่าจะเป็นการการพูดคุยในระดับสูงเพื่อหารูปแบบว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ

“การพูดคุยที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลใหม่ของไทยกับกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น อยากให้เชื่อมั่น ศรัทธาในรัฐบาล” พล.ต.นักรบ กล่าว

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช : ข้อสังเกต 6 ประการต่อกระบวนการสันติภาพที่ผ่านมา

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระ อดีตบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ กล่าว่า ในรอบปีที่ผ่านมาตนได้ศึกษาติดตามกระบวนการสันติภาพที่เป็นทางการ และได้ไปดูกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในที่อื่นๆ ตนให้ข้อสังเกตถึงกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นปีที่แล้ว 6 ข้อ คือ

หนึ่ง การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับขบวนการบีอาร์เอ็น ในปี 2556 นับเป็นกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยที่รัฐบาลไทยลงนามพูดคุย แม้ก่อนหน้านี้จะมีการพูดคุยกับขบวนการมาหลายครั้ง แต่ไม่เป็นทางการและเปิดเผยต่อสาธารณะเช่นนี้ นี่จึงเป็นพัฒนาการก้าวที่สำคัญมาก

สอง เมื่อเดือนกันยายน 2556 ทางขบวนการบีอาร์เอ็นได้ส่งเอกสารข้อเรียกร้อง 5 ข้อผ่านมาทางผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย หลักใหญ่ใจความเอกสารนี้พูดถึง “สิทธิความเป็นเจ้าของ” โดยบีอาร์เอ็นได้อธิบายไว้ว่าหมายถึงการปกครองตนเอง ไม่ได้ต้องการแยกตัวเป็นรัฐอิสระ ซึ่งมีคำถามว่าบีอาร์เอ็นเป็นผู้เขียนหรือเปล่า จากที่ตนได้คุยกับผู้เกี่ยวข้อง พบว่าบีอาร์เอ็นมีส่วนร่วมในการร่างเอกสารฉบับนี้ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมดของบีอาร์เอ็นที่เห็นพ้อง

สาม นี่เป็นครั้งแรกที่ขบวนการบีอาร์เอ็นสื่อสารกับสาธารณะ โดยผ่านทางยูทูป ตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาต่อสู้ใต้ดิน ไม่เคยสื่อสารสาธารณะอย่างชัดเจน ครั้งนี้เป็นการสื่อสารทางการเมืองกับสาธารณะที่บอกว่าข้อเรียกร้อง การต่อสู้ของเขาคืออะไร นี่คือขบวนการต่อสู้ทางการเมือง ตนอยากให้การต่อสู้ดำเนินการไปในทางนี้มากขึ้น ศ.ดร.Stein Tønnesson พูดถึงการศึกษาที่พบว่า เทรนด์ทั่วโลกของผู้ต่อต้านได้ปรับเปลี่ยนจากการต่อสู้แบบใช้อาวุธมาสู่การต่อสู้โดยไม่ใช่อาวุธ สิ่งนี้อาจจะเกิดขึ้นที่ปัตตานี

สี่ บีอาร์เอ็นคุมกำลังพลในพื้นที่ได้ไหม จากรายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบว่าสถิติความรุนแรงในช่วงต้นของเดือนรอมฎอน ปี 2556 หลังการลงนามการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เหตุรุนแรงลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่หลังเดือนรอมฎอนปีที่แล้วเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นสูงมาก ถ้าจำกันได้ มีการติดป้ายผ้าทั่วว่ารัฐสยามไม่รักษาสัญญา​ ถ้ามองแบบเบลอๆ เราอาจบอกว่า ไม่เห็นความรุนแรงลดเลย แต่มันลดลง แต่หลังจากรัฐไทยใช้ความรุนแรง เขามองว่ารัฐไทยไม่รักษาสัญญา ตนจึงอยากให้เวทีการพูดคุยกลับมา เพราะเห็นว่ามันลดความรุนแรงได้

ห้า ฝ่ายที่สาม (third party) มาเลเซียที่เข้ามาเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยไม่อยากให้มี เพราะต้องการให้เป็นเรื่องภายใน เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ริเริ่มให้มีฝ่ายที่สามเข้ามา เราก็เห็นว่ามันเป็นไปได้ นี่เป็นแนวโน้มที่ดีที่จะให้คนหรือหน่วยงานที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งเข้ามาเป็นฝ่ายที่สาม หลายคนถามว่ามาเลย์จะเป็นคนกลางได้จริงไหม มันเถียงกันได้ แต่การมีฝ่ายที่สามเป็นสิ่งจำเป็น บทเรียนโลกบอกว่า มันแก้ไม่ได้ด้วยคู่ขัดแย้งกันเอง

หก ในช่วงแรกๆ ของรัฐประหาร โฆษก คสช. บอกว่ากระบวนการสันติภาพดำเนินต่อไปโดยต้องไม่พูดเรื่องการปกครองตัวเอง หากบอกว่าเราไม่สามารถคุยเรื่องนี้ได้หรือมีการตั้งเงื่อนไขแต่แรก ตนคิดว่ามันจะไม่นำไปสู่การคุยกัน อยากเริ่มต้นด้วยการโดยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยที่ไม่มีกรอบใดๆ ทั้งสิ้น จึงอยากถามพล.ต.นักรบ ว่า มีการตั้งเงื่อนไขอย่างนี้จริงไหม

ดอน ปาทาน : กับคำถามถึงความเป็น “ตัวจริง”

ดอน ปาทาน ผู้สื่อข่าวอาวุโส และผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ ปาตานีฟอรั่ม ต่อประเด็นเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพว่า การพูดคุยที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่คราวนี้เป็นแบบทางการ ซึ่งตนเข้าใจ ว่าทหารไม่ค่อยรู้เรื่องในช่วงแรกๆ มันเป็นงานของรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถามว่าทหารสบายใจไหม ก็คงไม่ค่อยสบายใจนัก

โดยสมัยก่อนทหารได้ดำเนินการคุยอย่างลับๆ กับขบวนการมาแล้ว เช่น ไปคุยที่อียิปต์ ซีเรีย ลิเบีย เป็นต้น แต่ยุคนั้นหมดไปแล้ว ยุคใหม่คนในขบวนการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนคนปกติ ทำงานกรีดยาง เลี้ยงไก่ แล้วไปวางระเบิด เสร็จแล้วกลับบ้าน และพวกเขาก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้าน คำถามคือ ชาวบ้านในระดับรากหญ้าเขาอยู่กับใคร ถึงเขาจะไม่ชอบความรุนแรง แต่เขาก็รู้สึกไม่ไว้ใจรัฐบาล

ดอน ปาทาน แสดงความเห็นว่า ประเด็นที่ตนหนักใจก็คือ อยู่เฉยๆ ก็มาประกาศนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นกันเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 คนที่มาวันนั้นที่เรียกตัวเองว่าบีอาร์เอ็น มีอิทธิพลมากแค่ไหนกับญูแวที่สามจังหวัด ก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 มีใครรู้จักฮัสซัน ตอยิบ บ้าง ตนไม่ได้บอกว่าเราต้องคุยกับคนที่มีอำนาจระดับสั่งการ แต่กำลังถามถึงความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ในระดับสังคม เราจะยอมมากแค่ไหนในการต่อรอง นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการ แต่กับประชาชนมลายูด้วย

เขากล่าวต่อไปว่า แม้รัฐไทยจะจัดการกับขบวนการบีอาร์เอ็นจนหมดสิ้น ก็จะเกิดกลุ่มต่อสู้ขึ้นมาใหม่อีก เพราะเรื่องเล่าเดิมๆ ไม่เคยเปลี่ยน เรื่องเล่าของของชาวบ้านกับเรื่องเล่าชุดที่รัฐไทยตั้งขึ้นมา เป็นคนละชุดกันเลย ตนถามว่าเราจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร  

ส่วนเรื่องที่ว่า มาเลเซียเป็น honest broker หรือ “คนกลางที่เป็นกลางจริง” ไหม มีความจริงใจไหม ตนเคยถามคนในขบวนการฯ ว่ามองมาเลเซียแบบไหน คำตอบที่ได้คือว่ามาเลเซียไม่ใช่คนกลางจริง เพราะมาเลเซียก็มีส่วนได้ส่วนเสีย

สำหรับประเด็นที่ว่า หลังการลงนามพูดคุยเพื่อสันติภาพ สถิติก่อเหตุช่วงรอมฎอนปี 2556 ลดลง ตนเห็นว่า หลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ คือวันที่ 9, 10, 11, 15, 16, 17 มีนาคม มีเหตุเกิดขึ้น แม้ตนจะไม่ได้มีสถิติแบบศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ แต่ก็เห็นว่ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น

ดอน ปาทาน กล่าวทิ้งท้ายว่า หากถามว่าการลงนามพูดคุยเมื่อวัน 28 กุมภาพันธ์ 2556 นั้นดีไหม ตนก็ว่าดี แต่มันไม่มีแรงเหวี่ยง และที่สำคัญ คนที่ขึ้นมาเจรจาเป็นตัวจริงหรือไม่ สำหรับตนแล้วประเด็นนี้ยังคงเป็นที่น่าตั้งคำถามต่อไป

ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ : การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสันติภาพ

ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ ผู้อํานวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวอภิปรายว่า การเมืองเป็นเรื่องของความหวัง เรากำลังมีนายกรัฐมนตรีและและรัฐบาลใหม่ จริงๆ แล้วคนในสามจังหวัดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องของอิสรภาพ กระบวนการพูดคุย ความรุนแรง มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมืองระดับชาติ ซึ่งขณะนี้ดูเหมือนจะมีความหวัง

ผศ.ดร.บุษบง  กล่าวต่อไปว่า พล.ต.นักรบ บอกว่ามีแผนการ ตนถามว่ามีแผนการมาให้เราเสร็จสรรพไหม ตอนแรกมันอาจจำเป็นในระดับนโยบาย แต่คนในพื้นที่ตื่นรู้แล้ว เราจะบอกว่าให้เขาหลับซักพักนึงแล้วค่อยตื่นไม่ได้ ตอนนี้ในสามจังหวัดมีบรรยากาศแสวงหาความรู้ มีเครือข่ายเยอะแยะที่ทำงาน มีเครือข่ายของเครือข่าย เราเห็นความตื่นตัวในกระบวนการสันติภาพ ทำยังไงเราจะรวมคนพวกนี้เข้ามาในกระบวนการสันติภาพ เพราะฉะนั้นก่อนจะมีโรดแมป พวกเขาขอมีส่วนร่วมด้วยได้ไหม เสียงสะท้อน ข้อสรุปของพวกเขาควรเข้าไปมีส่วนเพื่อให้โรดแมปสะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่ด้วย

ผู้อํานวยการสถาบันสันติศึกษา กล่าวด้วยว่า เรื่องที่สำคัญมากคือ ความรู้ ซึ่งภาควิชาการต้องเข้ามาช่วย เช่น ต่อไปเราจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ เราจะอ้างอิงใช้มันยังไง ประชาชนทั่วไปควรได้รับรู้ ติดตาม และมีคำตอบ ในสถานการณ์ใหม่ ถ้าใช้ความรวดเร็ว เอกภาพ ตนเห็นด้วย แต่เรื่องการมีส่วนร่วมต้องมี ตนอยากให้สัญญาณที่ พล.ต.นักรบบอกว่าดี มันดีในสายตาคนในพื้นที่ด้วย ซึ่งต้องอาศัยความรู้ โดยในฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติก็ต้องมีความรู้ด้วยเช่นกัน

“ในเส้นทางใหม่ที่ต้องเดินทางไป เราต้องปรับ เตรียมความพร้อม และจะมีความหมายมากหากภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมด้วย อย่าให้เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายเท่านั้น เราลองเสียเงินกับการศึกษาบ้าง ในอนาคตอาจจะมีผลดี” ผศ.ดร.บุษบง กล่าว และว่า

ตนเสนอว่าน่าจะมีคณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติภาพแบบถาวร เป็นคณะทำงานพิเศษ เพราะพื้นที่นี้มีลักษณะเฉพาะ ส่วนองค์ประกอบ ต้องมาดูกัน แต่อย่าเอาเพียงคนที่คุยกันรู้เรื่องเข้ามา ต้องเอาคนคิดต่างมาคุยด้วย

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ : เสนอยกเลิกกำอัยการศึกเพื่อเปิดพื้นที่การพูดคุย

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อํานวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งทำงานด้านสิมธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัด อภิปรายว่า กระบวนการสันติภาพนั้นไม่ควรมีจุดสิ้นสุด จะมีอีกกี่ครั้งก็ต้องทำต่อ อย่าเพิ่งท้อแท้ เหมือนงานด้านสิทธิมนุษยชน

พรเพ็ญ บอกว่า ตนมองเห็นสถานการณ์ใหม่ (new condition) ในเงื่อนไขเก่า (old condition) หนึ่งในนั้นคือการบังคับใช้กฎอัยการศึก พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้นี้มีการบังคับใช้กฎอัยการศึกที่แตกต่างจากที่อื่นๆ แม้จะเป็นจากผู้ใช้ที่มีวัฒนธรรมเดียวกัน

โดยที่ชายแดนใต้นั้นมีกฎอัยการศึกตั้งแต่หลังเหตุการณ์ปล้นปืน มกราคม 2547 ซึ่งก็มีการยกเลิกกฎอัยการศึกไปบางช่วงสั้นๆ ตนสังเกตว่าความรุนแรงในพื้นที่พุ่งขึ้นหลังการรัฐประหาร 2549 ซึ่งมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซ้อนกัน หมายถึงในพื้นที่นี้มีกฎหมายความมั่นคงซ้อนกัน 2 ฉบับ ผลก็คือการปฏิบัติ โดยส่วนที่กระทบกับงานสันติภาพ คือการออกหมายจับ ซึ่งระยะหนึ่งออกหมายจับกันง่าย ไม่รัดกุม แต่หลังจากการพยายามทำความเข้าใจก็มีการกำกับดูแลมากขึ้น ทำให้มีการออกหมายจับได้น้อยลง ถูกตัวมากขึ้น มีพยานหลักฐานมากขึ้น

พรเพ็ญ กล่าวต่อไปว่า ปฏิบัติการที่มีการใช้กฎหมายความมั่นคงซ้ำซ้อนกัน ทำให้คนขาดความเชื่อมั่น ในบริบทของการเจรจาสันติภาพ คนในพื้นที่ไม่รู้ว่าหากไปมีส่วนในการแสดงความเห็นจะเป็นยังไง ซึ่งจริงๆ ตนก็เห็นว่าพวกเขากล้าหาญมาก การพูดคุยในตอนนี้เปิดขึ้นมาก ก่อนการรัฐประหารของ คสช.

พรเพ็ญ ยังแสดงความเห็นว่า ตอนนี้พื้นที่ประชาธิปไตยในสามจังหวัดอาจจะมีมากกว่าภาคอื่นๆ ด้วยซ้ำ ตนไปภาคอื่นๆ มา พบว่าคนไม่รู้ว่ากฎอัยการศึกคืออะไร แต่คนสามจังหวัดรู้เพราะอยู่กับมันมานาน ในสามจังหวัดมีการรับรองสิทธิได้มากกว่าภาคอื่นๆ หากถูกจับ คนก็รู้ว่าญาติสามารถมาเยี่ยมได้ แต่ภายใต้กฎอัยการศึกซึ่งไปทั่วประเทศแล้วตอนนี้ คนภาคอื่นๆ ไม่รู้ว่าถูกจับแล้วไปไหน เยี่ยมได้ไหม

“อยากจะบอกว่า ถ้าเราอยากได้ new condition จริงๆ สำหรับกระบวนการสันติภาพ สิ่งที่เราอยากได้ และอยากได้มาโดยตลอด คือการยกเลิกกฎอัยการศึก มันจะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ สร้างบรรยากาศการพูดคุย เพราะถ้าไม่ คนอาจจะไม่กล้าที่จะพูดว่าเราต้องการอะไร ข้อเรียกร้องของเราคงจะไม่ไปถึงไหน แต่จะยกเลิกแค่ในสามจังหวัดก็คงเหมือนเลือกปฏิบัติ เพราะฉะนั้นอยากให้ยกเลิกทั่วประเทศ อยากให้นี่เป็นคำสั่งแรกของนายกรัฐมนตรีคนใหม่” พรเพ็ญ กล่าว และว่า

สำหรับประเด็นการมีส่วนร่วมนั้น รัฐต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้ประชาชน โดยเฉพาะเหยื่อ ตนอยากให้มีวาระการพูดคุยกันเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะอยู่ในกรอบไหน เพราะถ้าไม่มีแล้ว ผู้เสียหายที่ทุกข์ทรมานจากการตอสู้ของทั้งสองฝ่าย เขาจะไม่ได้อะไรเลยในสถานการณ์ใหม่นี้

รอมฎอน ปันจอร์ : ปัญหาใจกลาง พื้นที่กลาง การสนทนา และอนาคต Pat(t)ani

รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) เริ่มอภิปรายโดยแย้งพรเพ็ญว่า การยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นไปได้ยาก มันยังไม่สามารถทำได้จริงขนาดนั้น ถ้าคุยกับ พล.ต.นักรบ เพื่อนของ พล.ต.นักรบ และคนที่รบกับ พล.ต.นักรบ เราจะเข้าใจว่าทำไมกองทัพจึงยังไม่สามารถปล่อยกฎอัยการศึกไปได้

ต่อประเด็นการพูดคุยเรื่องสันติภาพ รอมฎอน กล่าวว่า การลงนามเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเหมือนระเบิดทางการเมือง ทำให้สังคมรู้ว่าตกลงแล้วเราขัดแย้งกันด้วยเรื่องอะไร โดยก่อนหน้านี้ สังคมยังมองเป็นเรื่องอาชญากรรม ไม่ได้มองว่าเป็นการสู้เพื่อการปลดปล่อย ไม่ได้มีคำอธิบายเชี่ยมโยงกับการเมืองว่าจริงๆ แล้วเขาสู้เพื่ออะไร

“สมัยผมเป็นนักข่าว คุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านจะมีวิธีการพูดแบบเซฟตัวเอง เขาไม่อยากจะพูดว่าจริงๆ แล้วคนในพื้นที่ต้องการอะไร แต่การพูดคุยเพื่อสันติภาพและจากการที่บีอาร์เอ็นออกมาแถลงในพื้นที่สาธารณะอย่างยูทูป ทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วเขาต้องการอะไร กระบวนการสันติภาพทำให้เขาเผยตัวเองออกมา และรัฐบาลกับกองทัพก็ยอมรับการมีอยู่ของเขา” รอมฎอน กล่าว

ผู้ปฏิบัติงานจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้  ยังอธิบายในฐานะผู้จัดการเสวนาครั้งนี้ว่า คำว่า ปาตานี Pa(t)tani ที่อยู่ในวงเล็บ คือความต้องการสื่อนัยยะว่า จริงๆ เราขัดแย้งกันด้วยเรื่องอะไร ฝ่ายหนึ่งต้องการเอาตัว t ไว้ อีกฝ่ายต้องการเอาตัว t ออกไป ถ้าเราเฟรมให้เห็นตัววงเล็บ มันคือยังมีการ dialogue มันยังไม่นิ่ง มันยังต้องคุยกันต่อไป นี่คือสัญลักษณ์ที่ผู้จัดพยายามย้ำให้เห็นว่า ถ้าต้องการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง เราต้องนิยามให้ชัดว่าเรากำลังเผชิญกับอะไร แล้วเราอยู่ตรงไหน เมื่อกำหนดบทบาทของตัวเองได้แล้ว ยุทธศาสตร์ที่จะใช้เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งของเราคืออะไร

รอมฎอน กล่าวต่อไปว่า สำหรับความหมายของกระบวนการสันติภาพ ตนอยากจะเสริมว่า ความหมายที่ทุกท่านพูดมามันคือส่วนหนึ่ง งานสันติภาพมีหลายระดับ ระดับนำทำหน้าที่แบบหนึ่ง และหน้าที่ของคน เช่น คนในห้องนี้ เป็นคนที่อยู่ตรงกลาง ก็มีฟังก์ชั่นอีกแบบ ส่วนประชาชนที่มีฐานกว้าง ก็มีฟังก์ชั่นอีกแบบหนึ่ง

ต่อประเด็นการลงนามพูดคุยเพื่อสันติภาพ เขาแสดงความเห็นว่า สิ่งที่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ทำให้เราเห็นว่าไม่ใช่เพียงการพูดคุยกันที่กัวลาลัมเปอร์เท่านั้น แต่มันคือบทสนทนาที่พูดถึงอนาคตของปาตานี มันไม่ใช่งานแบบตั้งรับเหมือนงานสิทธิมนุษยชน ทว่าหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คนในพื้นที่ยังไม่รู้ว่าอนาคตของรัฐบาลไทยจะไปยังไง การปิดวิทยุชุมชน การประเมินสถานการณ์แบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ ทำให้กลุ่มประชาสังคมหลายกลุ่มยุติบทบาทไป

เขากล่าวอีกว่า การส่งสัญญาณเดินหน้ากระบวนการสันติภาพจากทั้งสองฝ่ายเป็นสัญญาณบวก ทั้งนี้ เวลาเราจะคุยกับฝ่ายตรงข้าม เราต้องประเมินว่าเขาเป็นตัวจริงหรือเปล่า ในทางกลับกันที่เราถามคำถามนี้ต่อขบวนการที่มาเจรจา เขาก็ถามเราเหมือนกัน ถ้าเราถามแบบนี้ทั้งสองทาง กระบวนการที่เดินต่อไปจะมีความหมาย ส่วนข้อเรียกร้องในการเปิดพื้นที่การมีสวนร่วมที่อาจารย์บุษบงบอกรัฐบาลไทย เราต้องส่งไปถึงขบวนการเหมือนกัน เราต้องจัดทั้งสองฝ่ายให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ถามหาความรับผิดชอบ บอกให้เขาเห็นหัวเราบ้าง

“จนถึงตอนนี้ พื้นที่กลางขยายมากขึ้น ผ่านสิ่งที่อาจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เรียกว่าวัตถุทางวาทกรรม’ที่โยนกันไปมา ผ่านสื่อต่างๆ ในหลายระดับหลายแพลทฟอร์ม บทสนทนาเหล่านั้นจะเห็นหรือไม่เห็นด้วย แต่มันคุยกัน และไม่ได้คุยกันแบบแอบๆ สิ่งเหล่านี้มันสะสมกันมาแบบไม่ตั้งใจ ทำให้เพดานการพูดคุยเรื่องอนาคตปัตตานีขยับขึ้นเรื่อนๆ จากเดิม เมื่อ 5 ปีที่แล้วที่เราพูดเรื่องการปกครองตัวเองไม่ได้ ตอนนี้เราพูดได้ ข้อเสนอของฮัจยีสุหลงทุกวันนี้ยังคงคลาสสิกอยู่ เราต้องถกเถียงต่อ คสช.จะแน่จริงขนาดไหนที่ให้พื้นที่คนมาถกเถียงเรื่องนี้กัน” รอมฎอน กล่าวทิ้งท้าย

พล.ต.นักรบ ตอบคำถาม : กระบวนการพูดคุยต้องเดินหน้า แต่การทหารยังต้องยันไว้ก่อน

หลังจากจบการเสวนาในรอบแรก พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง ได้อภิปรายเพิ่มเติมว่า ความขัดแย้งมีอยู่ทุกที่ทั่วโลก ตราบใดที่มันมีความต่างกัน อยู่ที่ว่ารัฐจะบริหารจัดการยังไง เรื่องประวัติศาสตร์ ถ้าไปดูว่าจริงๆ แล้วตอนนั้นมันคืออะไร ทำไมต้องทำอย่างนั้น การบูรณาการอำนาจมันมีที่มา บทเรียนที่เกิดขึ้นมันเกิดจากการบริหารจัดการไม่ได้ของรัฐ

สำหรับคำถามที่ว่า สามารถยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดได้ไหม พล.ต.นักรบ ตอบโดยอธิบายว่า ความขัดแย้งที่ภาคใต้คงไม่จบด้วยการทหาร ต่อให้กำลังพลมีมากกว่า ก็ไม่จบ มันต้องมีงานอื่นๆ ด้วย เช่น งานการศึกษา เศรษฐกิจ ส่วนเรื่องการพูดคุยสันติภาพ หากถามว่าฝ่ายความมั่นคงเห็นด้วยไหม ตนตอบว่า เห็นด้วย การใช้อาวุธไม่ทำให้จบ มันต้องพูดคุยกัน แต่ในมุมของทหาร หากยังมีความสุ่มเสี่ยง ยังไงก็ต้องยันไว้ก่อน อย่างไรก็ดี เราจะเห็นว่ามันมีพัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ แต่หากเดินแล้วถ้าเดินไม่ดี ถ้าเกิดอะไรขึ้นคนก็ด่าทหารก่อน ฉะนั้นการเดิน ต้องเดินให้สมูท ก้าวทีละขั้น ที่ผ่านมาเรามีหลายรัฐบาล มันไม่ต่อเนื่อง ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลส่งผลต่อการทำงานในพื้นที่

พล.ต.นักรบ ยังตอบคำถาม รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เรื่องเงื่อนไขที่ว่าไม่ให้พูดเรื่องเอกราชนั้น ตนอยู่ในกระบวนการพูดคุยมานาน การพูดคุยต้องมีสเตป มีโรดแมป ถามว่าข้อเรียกร้องห้าข้ออยู่ตรงไหน สเตปไหน เราพร้อมที่จะพูคคุยกันหรือยัง ถามว่า 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมาพร้อมไหม ตนตอบเลยว่าไม่พร้อม เราไว้ใจกันแค่ไหน เรารู้จักกันเท่าไหร่ คนที่จะคุยกันต้องมีพื้นฐานความไว้ใจกันก่อน แต่เมื่อลงนามไปแล้วก็ต้องมาดูว่าจะเดินต่อไปยัง ซึ่งปัญหาที่ผ่านมาคือการเมืองแทรกแซง การเมืองมาเร่ง บอกว่าสองปีต้องจบเพื่อเข้าประชาคมอาเซียน ซึ่งมันเป็นไม่ได้ เรื่องนี้ต้องใช้เวลา

ต่อข้อสงสัยเรื่องตัวจริง พล.ต.นักรบ บอกว่า ฮัสซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าฝ่ายต่างประเทศ ของบีอาร์เอ็น ตนบอกเลยว่าใช่ตัวจริง และถ้าเซ็นต์สัญญากันวันนี้ ตนบอกเลยว่าถูกตัว เพียงแต่มันยังไม่ถึงเวลา ยังไม่ถึงพัฒนาการที่จะทำ แต่การเมืองมาเร่ง ขณะที่พื้นที่ไม่พร้อม ถ้าไปเซ็นต์กัน คนในพื้นที่อาจจะบอกว่า ครอบครัวฉันตายไป ฉันไม่ยอมนะ ส่วนประเด็นที่ว่าแล้วฮัสซัน ตอยิบ คุมผู้ก่อการได้ไหม ฮัสซันไม่ได้อยู่เมืองไทยมานาน เขาคุมไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งนั้น คนรุ่นใหม่ในขบวนการเขาก็เป็นอิสระ

พล.ต.นักรบ บอกต่อไปว่า ตอนนี้คนในพื้นที่มีอยู่สามกลุ่ม คือ หนึ่ง กลุ่มที่เห็นด้วยกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพ สอง กลุ่มที่รอดูท่าที และสาม กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย แต่พอกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพล่ม ตนรู้ว่ากลุ่มที่สองไปเข้ากับกลุ่มที่สามแล้ว ซึ่งถ้าเรามีความชัดเจน พวกเขาจะกลับมา

พล.ต.นักรบ ย้ำอีกว่า กระบวนการสันติภาพต้องเริ่มที่ขั้นแรก คือสร้างความไว้ใจกันก่อน เราต้องมีโรดแมปที่มีตัวชี้วัด ต่อจากขั้นที่หนึ่ง การสร้างความไว้วางใจ คือขั้นลงสัตยาบรรณ แล้วก่อนลงนามกันก็ต้องมีการฟังความเห็นด้วย

“วาระแห่งชาติ หรือวาระของรัฐบาล?” กับอีกหลายคำถามจากผู้เข้าร่วมงาน

หลังจากนั้นผู้ดำเนินการเสวนาได้เปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมงานซักถามพุดคุยกับวิทยากรเสวนา โดย ฮาร่า ชินทาโร่ อาจารย์ประจำแผนกวิชาภาษามลายู มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ได้ลุกขึ้นถามวิทยากรในสองประเด็น ประเด็นแรก เวลาเราบอกว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ มันคือ วาระของรัฐบาล หรือวาระแห่งชาติจริงๆ ทำยังไงที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพเป็นวาระแแห่งชาติจริงๆ ไม่ใช่แค่เครื่องมือที่แต่ละรัฐบาลใช้ และประเด็นที่สอง เราถามกันว่า รัฐไปเจรจาถูกกลุ่มหรือเปล่า ตนอยากถามว่า แล้วรัฐธรรมนูญที่ใช้อ้างอิงกันในการพูดคุย ถูกอันไหม รัฐธรรมนูญฉบับเดิมๆ บอกว่าไทยเป็นรัฐเดี่ยวที่แบ่งแยกไม่ได้ สำหรับไทยซึ่งมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เวลาเราพูดว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ เราหมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับไหน มันจะได้ชัดเจนเวลาไปเจรจา

ขณะที่ ตูแวดานียา ตูแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา ได้ลุกขึ้นตั้งคำถามต่อว่า อะไรคือเหตุผลของการชะงักการพูดคุยกับบีอาร์เอ็น โดยตนมีข้อสันนิษฐานว่า เพราะการเมืองที่กรุงเทพฯ ใช่ไหม หรือเพราะรัฐไทยไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขห้าข้อของบีอาร์เอ็นได้ หรือเพราะบีอาร์เอ็นตั้งใจออกแบบเงื่อนไขให้รัฐไทยปฏิบัติตามไม่ได้

ตูแวดานียา ถามผู้ร่วมเสวนาต่อไปว่า ปัญหาใจกลางของปัตตานี ในมุมของความมั่นคงคืออะไร คำว่า เชื้อชาติ/ศาสนา/ประวัติศาสตร์ปาตานี ในสามอัตลักษณ์นี้ ตัวไหนเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่ทำให้คนลุกขึ้นมาสู้?

ต่อจากนั้น พันธุ์พิพิธ พิพิธพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้แสดงความเห็นว่า การที่คนมาร่วมงานเสวนาเยอะในวันนี้ สะท้อนว่าเรากำลังโหยหาพื้นที่การพูดคุยกัน วันนี้เราเห็นบทบาทของกระบวนการสันติภาพของคนหลายฝ่าย เราตั้งคำถามกับแต่ละฝ่าย ตนมีข้อสังเกตคือ การที่รัฐบาลชุดที่แล้วแสดงเจตจำนงว่าโอเคกับกระบวนการสันติภาพ แต่กับรัฐบาลชุดใหม่นี้ที่แสดงเจตจำนงว่าจะเดินต่อนี้ ตนถามว่ารัฐบาลนี้เป็นตัวจริงไหม

พันธุ์พิพิธ แสดงความเห็นต่อว่า หากรอบนี้จะเป็นกรอบการเจรจาที่รัฐบาลเกร็ง พล.ต.นักรบ บอกว่าเราต้องยันไว้ก่อน ตนอยากบอกว่าอย่าไปเกร็งเลย เราเกร็งกันมาสิบปีแล้ว ลองหน่อยจะเป็นไร ไม่เสียหาย นอกจากนี้ ตนเห็นด้วยกับอาจารย์ชินทาโร่ว่า อยากให้เป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่แค่วาระของรัฐบาล

ส่วนการลงนามต่อหน้าสื่อนั้น เขาเห็นว่าเร็วไป ในกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ ตนคิดว่ามันมี 5 ขั้นตอน คือ วางใจ วางอาวุธ วางแนวคิด วางโครงสร้าง วางอนาคต  ซึ่งการวางแนวคิดนั้นจะไม่สำเร็จถ้าคนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่พวกเขามีจินตนาการร่วมกัน

สำหรับประเด็นที่ว่ามาเลเซียเป็นตัวกลางที่มีความเป็นกลางจริง มีความจริงใจไหม ในการระหว่างประเทศ เราไม่พูดเรื่องความจริงใจ แต่เราพูดเรื่องผลประโยชน์ร่วมกัน

ส่วน รอซีดะห์ ปูซู ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น และประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งคำถามในฐานะประชาชนแทร็กสามว่า บนเส้นทางใหม่ในกระบวนการสร้างสันติภาพ สิ่งที่จะเกิดขึ้น มีอะไรบ้างที่คนแทร็กสามต้องเตรียมพร้อม ถ้าแพ้เราจะอยู่ยังไง ถ้าชนะเราจะไปยังไง

พล.ต.นักรบ ตอบคำถาม : ถ้าไม่ช่วยกันแล้วจะเป็นวาระแห่งชาติได้อย่างไร

พล.ต.นักรบ ได้ตอบคำถามประเด็นวาระแห่งชาติของอาจารย์ชินทาโร่ว่า ประเทศไทยเป็นแบบนี้ วาระแห่งชาติต้องมีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล แต่ที่เราเห็นคือการโจมตีกันไปมา มันต้องช่วยกัน ถ้าไม่ช่วยกันแล้วจะเป็นวาระแห่งชาติได้อย่างไร

ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญที่จะถูกนำไปอ้างอิงในการพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพนั้น พล.ต.นักรบ บอกว่า รัฐบาลไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหน เขียนแค่รัฐธรรมนูญไทยเฉยๆ ซึ่งไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนก็คงเขียนว่า ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกไม่ได้

สำหรับเรื่องสถิติความรุนแรงในช่วงรอมฎอนนั้น ตนคิดว่ามันเป็นการเคลม แต่จริงหรือเปล่าไม่รู้ รอมฎอนเป็นสัญลักษณ์ รัฐบาลที่แล้วส่งสถิติไปให้โอไอซี มันเป็นการยุทธศาสตร์ ตนถามบีอาร์เอ็นว่าเป็นคนทำไหม เขาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ โยนให้คนอื่นทำ ซึ่งเรื่องการสร้างความไว้ใจนั้น ปกติมันเทคกันในทางลับ และโดยปกติ การหยุดยิง การวางอาวุธ มันไม่ใช่เงื่อนไขในช่วงแรกๆ ของการเจรจา

พรเพ็ญ : ขอพื้นที่ให้ประชาชนที่ไม่มีส่วนในการพูดคุยสันติภาพ

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นการมีส่วนร่วมว่า กลุ่มประชากรที่ไม่มีส่วนในการพูดคุยสันติภาพ หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มผู้หญิงซึ่งมีราวหนึ่งล้านคน, คนไทยพุทธในพื้นที่ พวกเขาจะมีโอกาสแสดงความเห็นไหม รวมทั้งประชาชนที่อยู่นอกพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบด้วย กระทั่งผู้ต้องหาทางการเมืองทั้งหลาย ซึ่งบางคนเป็นผู้หลบหนี ผู้ต้องขัง ผู้มีหมายจับ ผู้ที่เคยต้องขัง เหล่านี้เราจะมีพื้นที่ให้เขามีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน ส่วนบทบาทของสื่อมวลชนทั้งในและนอกพื้นที่ ตน ขอแค่เหมือนเดิม น่าจะสร้างพื้นที่ได้ แต่หากไม่ยอมให้วิทยุชุมชนมลายูดำเนินการได้ มันไม่สามารถมี new condition ได้

รอมฎอน : พลังทางสังคม “แล้วคุณจะทำอะไร?”

ในช่วงท้ายการเสวนานั้น รอมฎอน ปันจอร์ กล่าวว่า ตนขอท้าทายทุกคนในห้องเสวนานี้ ไม่ใช่แค่เพียง พล.ต.นักรบ เท่านั้น ตนคิดว่ามันจำเป็นมากที่ต้องเน้นย้ำประเด็นของอาจารย์บุษบง ในกระบวนการสันติภาพมีคนมากมายหลากหลาย แค่ละคนมีบทบาทต่างกัน ไม่จำเป็นที่เราต้องทำเหมือนกัน ประเด็นคือเราต้องทำยังไง ต้องถามตัวเองด้วยว่าคุณจะทำอะไร ไม่ใช่แค่ถาม พล.ต.นักรบ และโยนไปที่มาเลเซีย

ผู้ปฏิบัติงานจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้กล่าวต่อไปว่า ความชะงักงันของกระบวนการสันติภาพปีที่แล้วเป็นโอกาสให้เราพักหายใจและทบทวน กระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านของสังคม ไม่ใช่แค่คนวางอาวุธไปคุยกัน บทเรียนจากประเทศอื่นบอกว่า ให้วัดจากชีวิตคนประจำวัน ไม่ใช่ที่ข้อตกลงสันติภาพ

ส่วนประเด็นวาระแห่งชาตินั้น เราตั้งคำถามกับ พล.ต.นักรบ เพียงคนเดียวไม่ได้ ต้องถามคนอื่นๆ รวมทั้งคนในนี้ด้วย กระบวนการสันติภาพไม่ได้มาเพราะนายกฯ ประกาศอย่างเดียว แต่อยู่ที่เราด้วย การที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กล้าประกาศขอโทษคนสามจังหวัดชายแดนใต้ในอดีต เป็นเพราะสังคมเอาด้วย โจทย์ก็คือว่า แต่ละคนจะทำอะไร และทำให้วาระแห่งชาติเกิดขึ้นได้อย่างไร พล.ต.นักรบ อาจถูกย้ายไปเมื่อหัวรัฐบาลปลี่ยน แต่กระบวนการทางสังคมยังคงต้องอยู่

เขาทิ้งท้ายว่า คำถามของตูแวดานียา ตูแมแง นั้นสำคัญมาก เราจำเป็นต้องเรียนรู้จากที่อื่นด้วยว่าเขารับมือมันยังไง อาจารย์นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส (นักวิจัยอาวุโส CSCD) บอกว่า กระบวนการสันติภาพไม่ใช่เส้นตรง มันอาจจะกลับไปกลับมา คุยแล้วยิง ลงนามแล้วยิง ยิงแล้วคุย ฯลฯ  ดังนั้นเราจึงต้องการพลังทางสังคมประคับประคองไป แต่เราจะใช้พลังทางสังคมอย่างไร.

 

 


[1] ‘การพูดคุยสันติสุข’ เป็นหนึ่งในสี่แนวทางหลักที่ทาง คสช. ระบุไว้ในคำสั่งฉบับที่ 98 โดยอยู่ในแนวทางปฏิบัติงานข้อที่ (2) ได้แก่ “ให้สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติรับผิดชอบในการประสานกับส่วนราชการและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทําแผนขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นการสร้างหลักประกันความต่อเนื่องและความเชื่อมั่นต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกกลุ่มในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุย โดยในแผนดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีเนื้อหาครอบคลุมวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ขอบเขตในเชิงหลักการของกระบวนการ กลไกในการขับเคลื่อนในระดับต่าง ๆ การเชื่อมโยงกับบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคม และการสนับสนุนจากส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ทางด้านเครื่องมือ ทรัพยากรบุคคล งบประมาณ และเรื่องอื่น ๆ ที่จําเป็น”