Skip to main content

การชุมนุมของชาวบ้านในพื้นที่ อ.บังนังสตา จ.ยะลา นาน 1 สัปดาห์ สิ้นสุดลงแล้วเมื่อบ่ายวันนี้(16 เม.ย.) หลังจากตัวแทนชาวบ้านเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐ เรียกร้อง 7 ข้อเสนอเพื่อสร้างความมั่นใจว่า รัฐจะหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย  และให้มีการถอนกำลังออกจากพื้นที่ ซึ่งได้รับการตอบสนองจากรัฐ

ตั้งแต่เย็นวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา กลุ่มสตรีและเด็กกว่า 700 คน มารวมตัวประท้วง 3 จุดคือ ที่มัสยิดบ้านบางลาง ม.3 ต.บาเจาะ ที่หน้ามัสยิดบ้านสนามบิน ม.1 ต.เขื่อนบางลาง และที่หน้ามัสยิดบ้านบือซู ม.6 ต.บันนังสตามา เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่หาตัวผู้กระทำความผิดจากเหตุลอบวางระเบิดสังหารนายบือราเฮง ปูนา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขื่อนบางลาง และการยิงรถกระบะบรรทุกเด็กนักเรียนโรงเรียนบาเจาะอิสลามวิทยา และเด็กนักเรียนตาดีกามัสยิดกลางบันนังสตา กลับมาจากพิธีละหมาดให้แก่นายบือราเฮง ที่บ้านภักดี ม.5 .เขื่อนบางลางจนมีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 5 คน

 ตลอดการชุมนุม เจ้าหน้าที่ทหารจากชุดเฉพาะกิจที่ 12 (ฉก.12) ได้ตั้งด่านปิดกั้นพื้นที่ อ.บันนังสตาทุกเส้นทาง เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ชาวบ้านนอกพื้นที่ขนคนเข้าไปร่วมกับม็อบที่ตั้งอยู่ พร้อมใช้กำลังทหารพรานจรยุทธ์เข้าไปลาดตระเวนโดยรอบพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้มือที่สามเข้าไปก่อเหตุ จนชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากเริ่มขาดแคลนอาหาร แต่ชาวบ้านที่มาชุมนุมปฏิเสธการเข้าไปเจรจาของนายอำเภอบันนังสตา

กระทั่งเมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ นำโดยนางอังคณา นีละไพจิตร และนายอดิลัน อาลีอิสเฮาะ คณะทำงานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ได้เดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าวในฐานะของคนกลางเข้าไปเจรจาพูดคุยกับทางผู้ชุมนุม ซึ่งคณะของนางอังคณาได้เดินทางลงพื้นที่ต่อเนื่องถึงวันที่ 15 เมษายน จนได้ข้อสรุปออกมาว่า ทางผู้ชุมนุมจะเริ่มเก็บเครื่องกีดขวางและจะทยอยสลายการชุมนุมในเช้าวันที่ 16 เมษายน แต่มีข้อแม้ว่า ให้ทหารชุด ฉก.12 ถอนกำลังออกไปก่อน พร้อมกับทหารพรานที่มาลาดตระเวนอยู่โดยรอบ เนื่องจากไม่ไว้วางใจในความปลอดภัย โดยชาวบ้านต้องการให้ใช้ในลักษณะต่างฝ่ายต่างถอย

แต่เมื่อเช้าวันนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก น.ส.พรเพ็ญ  คงขจรเกียรติ คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ว่าชาวบ้านไม่ยอมทำตามข้อตกลง ยังคงปักหลักชุมนุมต่อไป

            น.ส.พรเพ็ญบอกว่าเมื่อวานนี้ชาวบ้านได้ส่งตัวแทนไปคุยกับทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ โดยยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 7 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายทั้งสิ้น เช่น หาคนผิดมาลงโทษ ฝ่ายรัฐต้องเข้าไปเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ฯลฯ แต่ข้อเรียกร้องอย่างการให้ทหารถอนกำลังทั้งหมดออกจากพื้นที่ ซึ่งอยู่นอกเหนือข้อกฎหมายแต่เจ้าหน้าที่ก็ยอมตกลงเพื่อต้องการให้มีการเปิดถนน พร้อมกับรับปากทุกข้อตกลงว่าจะดำเนินการให้โดยเร็วที่สุด แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยตัวแทนเหตุผลของชาวบ้านคือ ยังไม่ไว้วางใจต่อการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่เพื่อหาคนผิดมาลงโทษ

            "คุยกับชาวบ้านแล้ว เขาบอกว่าเพราะเขากลัว คนที่ยิงปืนใส่ชาวบ้านเมือวันที่ 9 ยังสะพายปืนเดินไปมาให้เห็นอยู่ ชาวบ้านไม่ไว้วางใจว่าถอนเครื่องกีดขวางและสลายการชุมนุมไปแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำตามข้อตกลงหรือไม่ เพราะหลายประเด็นที่เจ้าหน้าที่สามารถทำได้เลย เพื่อเป็นการซื้อใจจากชาวบ้านแต่ไม่ได้ทำ เช่น จับผู้ต้องสงสัยไว้ก่อนเพื่อสืบสวนสอบสวนหรือฝ่ายปกครองสามารถออกคำสั่งนำ ช.ร.บ.ชุดที่เกิดปัญหาออก ไปก่อน แต่ก็ยังไม่ดำเนินการอะไรทั้งสิ้น ทั้งที่สามารถลดทอนความตึงเครียดได้บ้าง"

            นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่า การส่งตัวแทนชาวบ้านเข้าไปคุยกับฝ่ายรัฐเมื่อวานนี้ ชาวบ้านก็ส่งคนที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ มาร่วมเจรจาพูดคุย เป็นคนที่ไม่มีความสำคัญใดๆ ในกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงผู้ปฏิงานระดับอำเภอของ ศอ.บต.และ กอ.รมน.เท่านั้น ทั้งที่ควรให้ระดับผู้ใหญ่มาพูดคุยเพื่อตรวจสอบสภาพปัญหา และทำให้ชาวบ้านอุ่นใจขึ้นบ้าง ซึ่งไม่เข้าใจว่า เหตุใดแต่ละฝ่ายจึงยังแทงกั๊กกันอยู่ ทำให้การแก้ปัญหาจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า เกรงว่าจะส่งผลเสียในระยะยาว

ทางด้าน พ.ท.อภินันท์ แจ่มแจ้ง ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจยะลา ที่ 12 (ผบ.ฉก.12) เปิดเผยว่า ทางฝ่ายทหาร ชุด ฉก.12 ที่เข้าไปตั้งด่านสกัดกั้นการเดินทางเข้าออกพื้นที่ในเขตที่มีการชุมนุม ได้เริ่มดำเนินการถอนกำลังออกจากพื้นที่แล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมยังไม่ยอมเปิดถนน และมีแนวโน้มว่ายังจะชุมนุมต่อ ทหารจึงยังต้องคงกำลังทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ต่อไปเพื่อดูสถานการณ์ และขณะนี้ได้พูดคุยกับทางอำเภอว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร

พ.ท.อภินันท์ กล่าวว่า การพูดคุยเมื่อวานนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ข้อเสนอเกือบทุกข้ออยู่ภายใต้กฎหมายที่เจ้าหน้าที่สามารถกระทำได้  ยกเว้นให้ถอนทหารออกไป แต่ก็ยอมถอนเพื่อให้มีการเปิดถนนก่อนและจะกลับไปดำเนินการตามข้อตกลงที่พูดคุยกับตัวแทนของชาวบ้าน แต่เมื่อตัวแทนกลับไปคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม ปรากฏว่าไม่ยอมทำตามข้อตกลง คือการเปิดถนน จึงไม่เข้าใจว่า ผู้ชุมนุมต้องการอะไรกันแน่ และทำไมคนที่อยู่เบื้องหลัง จึงไม่ยอมออกมาเจรจาด้วยตนเอง ทำให้ไม่ทราบเจตนารมณ์ที่แท้จริง

ผบ.ฉก.12 กล่าวอีกว่าได้รับรายงานว่าขณะนี้ชาวบ้านที่อยู่บนเขื่อนและหลังเขื่อนบางลางเริ่มได้รับความเดือดร้อนแล้ว เพราะอาหารเริ่มขาดแคลน ทางฝ่ายทหารจึงยังประเมินสถานการณ์ดูว่า หากผู้ชุมนุมยังไม่ยอมรื้อเครื่องกีดขวาง อาจจะต้องเพิ่มมาตรการเข้าไป เช่นต้องปิดถนน ล้อมผู้ชุมนุมไว้ และสุดท้ายอาจต้องใช้กำลังเข้าไปเปิดถนนให้ชาวบ้านที่อยู่ข้างใน ทั้งคนไทยพุทธและมุสลิม สามารถเดินทางออกไปซื้อหาอาหารได้ตามปกติ

"เราพยายามไม่ใช้กำลัง และใช้หลักสันติวิธีในการพูดคุยกับเขา แต่มันก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน ถ้าเขาทำให้ประชาชนคนอื่นเดือดร้อน เราก็จำเป็นต้องทำตามหน้าที่ แต่จะพูดคุยใช้ความอดทนให้ถึงที่สุด" พ.ท.อภินันท์กล่าว

นอกจากนี้ ผบ.ฉก.12 ยังตั้งข้อสังเกตว่า การมาปักหลักชุมนุมครั้งนี้ของชาวบ้าน อาจได้รับการชักใยอยู่เบื้องหลังจากคนบางกลุ่ม เพราะเขาชุมนุมในลักษณะที่ไม่มีแกนนำ แต่จะอยู่เบื้องหลังทั้งหมด โดยให้ชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงและเด็กออกหน้า

แต่ล่าสุด เมื่อเวลา 14.30 น. ชาวบ้านที่มาปักหลักชุมนุมอยู่ ได้เริ่มลงมือรื้อสิ่งกีดขวางเพื่อทำการเปิดถนนแล้ว โดยยังไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใดชาวบ้านจึงได้เริ่มทำตามข้อตกลง หลังจากได้แสดงท่าทีว่าจะชุมนุมต่อเมื่อเช้าวันนี้

นางอังคณา นีละไพจิตร คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพกล่าวว่า แม้ชาวบ้านจะเริ่มรื้อสิ่งกีดขวางเพื่อเปิดถนนตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้กับเจ้าหน้าที่ แต่สิ่งที่ยังคาใจชาวบ้านคือกระบวนการยุติธรรมของฝ่ายรัฐที่ล่าช้า พร้อมกับตั้งคำถามว่าเหตุใดต้องรอให้ชาวบ้านไปแจ้งความก่อนจะทำการสืบสวนสอบสวน

"ปัญหาสำคัญคือ ทำไมกระบวนการสืบสวนสอบสวนไม่เริ่มต้น ทั้งที่ปัญหาเกิดขึ้นมาหลายวันแล้ว และมีหลักฐานมากมาย มีทั้งวัตถุและพยาน อย่างน้อยก็สั่งย้าย ช.ร.บ. หรือเรียกมาสอบสวน การปล่อยปัญหาไว้เช่นนี้ทำให้ชาวบ้านคาใจ และส่งผลให้เกิดความโกรธแค้นเจ้าหน้าที่รัฐ และอาจก่อตัวมาชุมนุมอีก ซึ่งจะส่งผลเสียหายไม่รู้จบ"