Skip to main content

ฐปนีย์ เอียดศรีไชย

31 มกราคมของทุกปี ชาวกะเหรี่ยงจะร่วมกันจัดงานรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยง ซึ่งปีนี้ครบรอบ 66 ปี ผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ผู้นำกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA ในทุกกองพลร่วมจัดพิธีรำลึก ทีมข่าว 3 มิติได้รับเชิญให้ไปร่วมงานที่กองพลที่ 5 รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่ามีชาวกะเหรี่ยงร่วมงานจำนวนมาก ผู้นำสหภาพกะเหรี่ยง KNU ยืนยัน KNU ยังต้องจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลพม่า เพราะการเจราจาหยุดยิงผ่านมา 3 ปียังไม่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม จึงเรียกร้องรัฐบาลพม่าแสดงความจริงใจก่อนจะผลักดันการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้

ทหารกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง Karen National liberation Army หรือ KNLA เดินสวนสนามเข้าร่วมพิธีรำลึก 66 ปีวันปฏิวัติกะเหรี่ยง Karen Revolution Day ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ภายใน กองบัญชาการกองพลที่ 5 เมืองเดปุนุ จังหวัดมือตรอ รัฐกะเหรี่ยง สหภาพเมียนมาร์ ซึ่งตั้งอยู่กลางหุบเขา ห่างจากแม่น้ำสาละวิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ควบคุมของกองพลที่ 5 ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยในไทย และลี้ภัยไปต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมิรกา แคนาดา และนอร์เวย์ มาร่วมงานจำนวนมาก

นางซิปโปร่า เส่ง รองประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ย้ำกับประชาชนชาวกะเหรี่ยงว่าวันนี้เป็นวันสำคัญของชาวกะเหรี่ยงทั่วโลกที่จะร่วมรำลึกถึงวีรชนที่ร่วมต่อสู้เพื่อเอกราชให้กับชาวกะเหรี่ยงนับตั้งแต่วันที่ชาวกะเหรี่ยงจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลพม่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2492 ซึ่งถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อสู้มายาวนานที่สุดถึง 66 ปีแล้ว
รองประธาน KNU ยอมรับว่าการต่อสู้อาจยาวนาน และ ยังไม่ได้รับชัยชนะ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีสันติภาพเกิดขึ้น ชาวกะเหรี่ยงยังจำเป็นต้องต่อสู้ต่อไป แม้ 3 ปีที่ผ่านมา KNU จะเป็น 1 ใน 14 กลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมลงนามเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 แต่กลับไม่เห็นผลในทางปฏิบัติ รัฐบาลพม่าไม่ได้ตอบรับข้อเสนอของ KNU เช่นเรื่องการถอนกำลังทหาร แต่กลับมีการเพิ่มกำลังทหาร และการสู้รบทั่วประเทศยังเกิดขึ้น โดยเฉพาะที่รัฐคะฉิ่นและรัฐฉาน ดังนั้นชาวกะเหรี่ยงยังอยู่ในการสู้รบและการปฏิวัติ เพราะเป้าหมายการเจรจาหยุดยิงของรัฐบาลพม่าเพียงต้องการแสดงทั่วโลกเห็นว่าพม่าเกิดสันติภาพขึ้นแล้ว แต่จริงๆเป็นเพียงความพยายามเข้ามาควบคุมพื้นที่และควบคุมทรัพยากรในแต่ละรัฐเท่านั้น

รองประธาน KNU ในฐานะผู้นำทางการเมืองและตัวแทนเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า จึงยืนยันว่าหากรัฐบาลพม่ายังไม่ตอบรับข้อเสนอตามข้อตกลงหยุดยิง เชื่อว่าความตั้งใจในการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะไม่เป็นผลสำเร็จเพราะ KNU คงจะไม่ลงนามหยุดยิงด้วย

พล.อ.บอ จ่อ แฮ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA ซึ่งกำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำทหาร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในปีหน้า ยอมรับกับทหารและประชาชนชาวกะเหรี่ยงว่า เหตุผลที่ชาวกะเหรี่ยงต่อสู่มายาวนานถึง 66 ปีเพราะต้องการสันติภาพที่แท้จริง ชาวกะเหรี่ยงต้องการสิทธิในการปกครองตนเองในดินแดนของตนเอง เพราะประเทศพม่ามีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ จึงต้องมีการจับอาวุธมาต่อสู้เพื่อให้ได้รับความเสมอภาค
รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยอมรับว่า 3 ปีที่มีการเจรจาหยุดยิง ยังไม่ถือว่าล้มเหลว แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติเพราะ พบว่าพม่ายังไม่ถอนกำลังทหารตามข้อตกลง แต่พบมีการเพิ่มฐานทหาร 11 แห่ง ในพื้นที่กองพล 5 และมีการเพิ่มกำลังทหารในชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่กองพล 6 ตรงข้ามอำเภออุ้งผาง จ.ตาก รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด KNU จึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลพม่าว่าการสร้างสันติภาพร่วมกันต้องพูดคุยกันอย่างเท่าเทียมและเปลี่ยนวิธีการเจรจาหยุดยิงที่ต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะพูดถึงการพัฒนาการเมืองและการลงทุน ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมากลับสวนทางกันทำให้การหยุดยิงยังไม่เป็นผลสำเร็จ

กองพลที่ 5 เป็น 1 ใน 7 กองพลของสหภาพแห่งชาติ KNU ถือเป็นกองพลที่เข้มแข็งที่สุด แต่ละกองพลยังมีประชาชนชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยในหมู่บ้านต่างๆ ภายในการดูแลของกองทัพในรัฐกะเหรี่ยงอีกกว่า 1 ล้านคน การเดินทางไปถึงกองพลที่ 5 ต้องเดินทางไปตามเส้นทางกลางหุบเขาที่ไม่มีทางรถยนต์มีแต่ทางรถไถและมอเตอร์ไซค์แต่ทุกปียังมีชาวกะเหรี่ยงมาร่วมงานรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยงจำนวนมาก ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ข่าว 3 มิติรายงานจากกองพลที่ 5 KNU รัฐกะเหรี่ยง