Skip to main content

[Updated: 07.00 PM 7 April 2015]

เอกสารต่อไปนี้เป็นใบแถลงข่าวจำนวน 4 หน้า ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์บ้านโต๊ะชูด อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 7 เมษายน 2558 ระหว่างการแถลงข่าวของคณะกรรมการฯ ที่ห้องพิมพ์มาดา โรงแรมปาร์ควิ รีสอร์ท ปัตตานี โดยมีนายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว และนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี หนึ่งในคณะกรรมการฯ เป็นผู้แถลง

ใบแถลงข่าวดังกล่าวมีเนื้อหาโดยย่อและสรุปมาจาก "รายงานฉบับเต็ม" ที่มีความยาวจำนวน 17 หน้า ที่ลงนามโดยคณะกรรมการทั้ง 15 คน ซึ่งระบุเนื้อหาเกี่ยวกับพฤติการณ์ของคดีที่รวบรวมถ้อยคำของบุคคลกลุ่มต่างๆ ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในเหตุการณ์และทำหน้าที่ตรวจสอบหลักฐาน กลุ่มบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ญาติของผู้สูญเสีย คณาจารย์มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ตลอดจนผู้นำท้องถิ่น นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้ตรวจสอบหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

เนื้อหาสำคัญในรายงานฉบับเต็มยังรวมไปถึงการวินิจฉัยข้อโต้แย้งอันเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการฯ ได้แก่ 1) ผู้ตายทั้ง 4 คน เป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญาหรือเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง/แนวร่วมหรือไม่? 2) การริเริ่มปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ถูกต้องเหมาะสมเหตุผลหรือไม่? และ 3) การวิสามัญฆาตกรรมครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอาวุธปืน รวมทั้งวัตถุระเบิดของกลางเป็นของผู้ตายหรือไม่? ซึ่งในใบแถลงข่าวได้รวบรวมเอาไว้อย่างเกือบครบถ้วน

นอกจากนี้ ใบแถลงข่าวยังดึงสาระสำคัญเกี่ยวกับ "ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ" มานำเสนอในตอนท้ายอีกด้วย

สำหรับ "รายงานฉบับเต็ม" ที่มีความยาว 17 หน้าที่มีเนื้อหาในรายละเอียดนั้นจะมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว

00000

ใบแถลงข่าว

ผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์บ้านโต๊ะชูด อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี

 

ปัตตานี – เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องพิมพ์มาดา โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท ปัตตานี นายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีบ้านโต๊ะชูด อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงผลการสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยที่คณะกรรมการดังกล่าวได้รับแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีเหตุผล ถูกต้อง และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบตามหลักนิติธรรมและคุณธรรม โดยมีกำหนดเวลาการทำงาน ๗ วัน

 

คณะกรรมการฯ ตั้ง ๓ ประเด็นสอบ

 

นายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี แถลงว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดดังกล่าวที่มี นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานได้ร่วมกันทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงที่รอบด้าน โดยมีทั้งการลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ การเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนรวบรวมหลักฐานและเอกสารต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งร่วมวิเคราะห์และลงความเห็นในประเด็นต่างๆ อย่างเป็นเอกฉันท์ การประชุมของคณะกรรมการที่มีขึ้นแทบจะทุกวันนี้ ได้นำมาซึ่งข้อสรุปของผลการสอบที่น่าจะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง

              ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวอีกว่า ข้อโต้แย้งในกรณีดังกล่าวได้นำมาซึ่งประเด็นที่คณะกรรมการฯ ได้ร่วมค้นหาข้อเท็จจริงและหาข้อสรุปร่วมกัน โดยสามารถแบ่งออกเป็นประเด็นสำคัญได้ ๓ ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก ผู้ตายทั้ง ๔ คนเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญาหรือเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือแนวร่วมหรือไม่? ประเด็นที่สอง การริเริ่มปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ถูกต้องและสมเหตุผลหรือไม่? และประเด็นสุดท้าย การวิสามัญฆาตกรรมครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอาวุธปืน รวมทั้งวัตถุระเบิดของกลางเป็นของผู้ตายหรือไม่? นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้สรุปข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อีกด้วย

 

คกก.สรุปภาพรวมเหตุการณ์

 

นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี หนึ่งในคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ แถลงผลการสอบว่า เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาถ้อยคำและหลักฐานจากฝ่ายต่างๆ แล้ว ฟังความได้ว่า เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๘ ที่บ้านโต๊ะชูด ก่อนเกิดเหตุในเรื่องนี้ได้มีคน ๓ กลุ่มไปที่บ้านที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ อันได้แก่ กลุ่มคนงานก่อสร้างบ้าน กลุ่มที่เข้าเจรจาค่าเสียหายเรื่องรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุ และกลุ่มคนที่เข้าไปมั่วสุมเพื่อที่จะเสพยาเสพติดบริเวณที่เกิดเหตุ ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. ได้มีกองกำลังของเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษช่วยส่วนรวม (นปพ.ช่วยส่วนรวม) เข้าปิดล้อมตรวจค้น บริเวณที่เกิดเหตุ และควบคุมตัวบุคคลทั้ง ๓ กลุ่ม ได้จำนวน ๒๒ คน โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก โดยสงสัยว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง

กรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวต่อว่า ขณะปิดล้อมตรวจค้นได้มีกลุ่มคนในที่เกิดเหตุจำนวน ๕ คน ได้วิ่งหลบหนีการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ไปด้านหลังของบ้านที่กำลังก่อสร้าง โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่บางส่วนโอบล้อมไล่ติดตาม ต่อมาได้มีการใช้อาวุธปืนฆ่ากันตายที่บริเวณสวนยางพารา ห่างจากบ้านที่กำลังก่อสร้างที่เกิดเหตุประมาณ ๓๐๐ เมตร เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ๔ คน ประกอบด้วย นายคอลิด  สาแม็ง นายมะดารี แม้เราะ นายซัดดัม วานุ และนายสูไฮมี เซ็นและ โดยตรวจพบอาวุธปืนและวัตถุระเบิด จำนวนหลายรายการตกอยู่บริเวณศพผู้ตายทั้ง ๔ คน ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่ากระทำวิสามัญฆาตกรรมผู้ตายทั้ง ๔ คน โดยสรุปแล้ว คณะกรรมการฯ ลงความเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีความต่อเนื่องที่สามารถแบ่งออกเป็น ๒ ช่วงเวลา นั่นคือ ช่วงแรก คือ การปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่บริเวณบ้านที่กำลังก่อสร้าง และช่วงที่สอง ซึ่งเป็นเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมบริเวณสวนยางพารา ห่างจากจุดแรกประมาณ ๓๐๐ เมตร

 

ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือไม่?

 

ต่อประเด็นที่ว่า ผู้ตายทั้ง ๔ คนเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญาหรือเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง/แนวร่วมหรือไม่? ทางคณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบจากพยานหลักฐานคำให้การยืนยันของผู้นำชุมชน ตลอดจนอาจารย์ของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี รวมทั้งจากการตรวจสอบด้านการข่าว ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทั้ง ๔ คน มีพฤติการณ์เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือแนวร่วมมาก่อน จะมีเพียงผู้ตายบางคนมีส่วนเกี่ยวข้องและเคยถูกจับกุมในคดียาเสพติด (เสพน้ำกระท่อม) และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล ยืนยันว่าก่อนที่จะเกิดเหตุถึงแก่ความตาย และขณะวิ่งหลบหนีการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ไม่ปรากฎว่าผู้ตายทั้ง ๔ คน ครอบครองอาวุธปืนแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผลการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่พบใกล้ศพผู้ตายก็ไม่ปรากฎประวัติในการก่อเหตุรุนแรงในคดีอื่น 

“ในชั้นนี้ คณะกรรมการมีความเห็นเชื่อว่า ผู้ตายทั้ง ๔ คน ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุรุนแรงและไม่ใช่แนวร่วมกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงแต่อย่างใด” นายแวดือราแม มะมิงจิ กล่าว

 

เหตุผลของเจ้าหน้าที่ในการริเริ่มปฏิบัติการ

 

สำหรับประเด็นคำถามที่ว่าการริเริ่มปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ถูกต้องและสมเหตุผลหรือไม่? ประธาน กอจ.ปัตตานี แถลงข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ว่า จากการให้ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการและผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการมีความเห็นร่วมกันว่าจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ น่าเชื่อว่ามีเหตุผลเพียงพอเนื่องจาก ประการแรก เมื่อพิจารณาจากข้อมูลด้านข่าวกรองแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติอ้างว่า ปรากฏข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวผู้ก่อเหตุรุนแรงรายสำคัญในพื้นที่ปฏิบัติการ คือ นายอันวาร์  ดือราแม ซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับสั่งการ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าผลจากการซักถามผู้ถูกควบคุมตัวในกรณีนี้ของเจ้าหน้าที่ฯ ยืนยันว่าบุคคล ๓ คนใน จำนวน ๒๒ คน ที่ถูกควบคุมตัวมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในกลุ่มของนายอันวาร์ฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นผลจากการซักถามมีคำรับสารภาพของผู้ถูกควบคุมตัว

นอกจากนี้ เหตุผลของเจ้าหน้าที่ ยังเกี่ยวข้องกับการที่เขตอำเภอทุ่งยางแดงเป็นพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารสามารถปฏิบัติการได้ทันทีเมื่อมีเหตุจำเป็น โดยไม่ต้องมีหมายค้น ในขณะที่การจัดกำลังเข้าปฏิบัติการที่มีจำนวนเพียง ๔๐ นาย และปฏิบัติการมุ่งต่อเป้าหมายเฉพาะนั้นก็เป็นไปตามนโยบายของ กอ.รมน.ภาค ๔ สน.

“ในชั้นนี้ คณะกรรมการมีความเห็นว่าจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นครั้งนี้ชอบด้วยเหตุผลในการปฏิบัติการ” หนึ่งในกรรมการฯ กล่าว

 

ปืนเป็นของผู้ตายหรือไม่?

                       

สำหรับประเด็นที่ว่าการวิสามัญฆาตกรรมครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอาวุธปืน รวมทั้งวัตถุระเบิดของกลางเป็นของผู้ตายหรือไม่? ทางคณะกรรมการฯ เห็นว่าเหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้มีการเสียชีวิตทั้ง ๔ ราย นั้นเกิดขึ้นห่างจากจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการประมาณ ๓๐๐ เมตร ในบริเวณป่าสวนยางพารา มีเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการเท่านั้นที่เห็นเหตุการณ์ ประกอบกับคณะกรรมการมีเวลาจำกัดในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพียง ๗ วัน จึงไม่สามารถหาประจักษ์พยานอื่นใดมาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการได้ ส่วนหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ระบุเขม่าดินปืนที่มือผู้ตาย และที่อาวุธปืนของกลาง ไม่มีหลักฐานบ่งชี้เชื่อมโยงระหว่างผู้ตายกับอาวุธปืนอย่างชัดเจนและยังมีความเคลือบแคลงในบางประเด็น

“ในชั้นนี้คณะกรรมการจึงไม่สามารถวินิจฉัยในประเด็นการต่อสู้กับเจ้าพนักงาน โดยให้เป็นหน้าที่ของการแสวงหาพยานหลักฐานในชั้นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีตามกฎหมาย”

นายแวดือราแม กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นอาวุธปืนของกลางเป็นของผู้ตายหรือไม่นั้น จากการให้ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ และพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคน ให้ข้อมูลยืนยันตรงกันว่าก่อนเกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรม ไม่ปรากฎว่าผู้ตายทั้ง ๔ คน ครอบครองอาวุธปืนแต่อย่างใด คณะกรรมการจึงมีความเห็นน่าเชื่อว่าอาวุธปืนของกลางไม่ใช่เป็นของผู้ตายตั้งแต่เริ่มต้น

 

ดำเนินคดี, เยียวยา และปรับนโยบาย

 

นายแวดือราแม กล่าวว่า จากการประมวลวิเคราะห์ที่ผ่านมาและสาเหตุของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ได้มีความเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเยียวยา ตลอดจนมาตรการในการแก้ไขป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซ้อนในลักษณะเดียวกันขึ้นมาอีก รวมทั้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกัน สร้างความสมานฉันท์ และนำไปสู่การร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดความสันติสุขที่ยั่งยืนต่อไป ดังนี้

ประการแรก เนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวข้างต้น ก่อให้เกิดความเสียหายและเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชน ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำจะต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และหากมีความจำเป็นต้องคุ้มครองพยานในคดีนี้ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการให้ความคุ้มครองพยานดังกล่าว

ประการที่สอง กรณีที่เกิดขึ้น อันเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย จำนวน ๔ คน เนื่องจากเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อผู้บริสุทธิ์ และเป็นเหตุสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเข้าองค์ประกอบการช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบ กพต.ว่าด้วยการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย และผู้ได้รับผลกระทบอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.๒๕๕๕ จึงเห็นสมควรเสนอให้มีการเยียวยาตามระเบียบดังกล่าวโดยเร็ว

ประการสุดท้าย เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของคณะกรรมการฯ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้คือ

  • การปรับปรุงระบบงานข่าวกรองให้มีความแม่นยำ รวมทั้งการเข้าปิดล้อมตรวจค้นควรประสานผู้นำในพื้นที่เข้าร่วมด้วยทุกครั้ง

  • ในการปฏิบัติการควรมีกลไกในการควบคุมและบังคับบัญชาในลักษณะกองบัญชาการร่วมระหว่างผู้บัญชาการเหตุการณ์ กับผู้บังคับบัญชาในระดับเหนือขึ้นไป เพื่อให้มีการตัดสินใจร่วมกันในการปฏิบัติทั้งก่อน ระหว่าง และหลังปฏิบัติการอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ เมื่อปฏิบัติการเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องมีการทบทวนและสรุปบทเรียนทุกครั้ง

  • กรณีเกิดเหตุที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของหน่วยปฏิบัติโดยเร็ว หากพบว่ามีการปฏิบัติผิดพลาดในสาระสำคัญ ต้องดำเนินการทางการบริหารและทางอาญาด้วยทุกกรณี

  • รายงานการสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง ควรเผยแพร่ต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสของการทำงาน และการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐ

  • ในการปฏิบัติการทางยุทธวิธีของหน่วยกำลัง ควรคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อแนวทางการเมืองนำการทหาร และการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อกระบวนการสันติภาพที่มุ่งแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี

 

00000

 

DOWNLOAD (.doc) ด้านล่าง

 

00000