Skip to main content

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช

 

การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับเหตุรุนแรงที่สั่นสะเทือนความรู้สึกและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างกว้างขวางนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่  แต่หากนับตั้งแต่หลังการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557  ที่ทหารเข้ามากุมบังเหียนการปกครองประเทศ รวมทั้งคุมทิศทางนโยบายการแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยแล้ว ครั้งนี้นับเป็นการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นครั้งแรก
 

http://www.matichon.co.th/online/2015/04/14284894771428489918l.jpg

นับตั้งแต่ปี 2553-2557  มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในภาคใต้ 10 คณะ   กรณีที่จดจำกันได้ดีคือการเสียชีวิตในค่ายทหารของนายสุไลมาน แนแซ  (แต่งตั้ง 22 มิ.ย. 2553) กรณีการกราดยิงชาวบ้านในรถกะบะที่ต.ปุโล๊ะปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี   (แต่งตั้ง 4 ก.พ. 2555) กรณีสุดท้ายก่อนการรัฐประหารที่มีการตั้งคณะกรรมการฯ คือกรณีการกราดยิงครอบครัวนายเจ๊ะมุ  มะมันที่อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส (แต่งตั้ง 6 ก.พ. 2557)

มีอะไรที่เราจะเรียนรู้ได้จากอดีต ? 

คณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงที่มีการตั้งขึ้นเฉพาะกิจนี้ ในภาษาอังกฤษมักเรียกกันว่า Fact-Finding Mission  หรือ Commission of Inquiry (COI)   COI เป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกคณะกรรมการค้นหาความจริงที่ตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ   ซึ่งมีการตั้ง COI ขึ้นมากกว่า 30 คณะในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2448 - 2555   COI นั้นหมายถึงคณะกรรมการค้นหาความจริงที่มิใช่กลไกของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจในสถานการณ์ความขัดแย้งเพื่อสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงและประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ในกรณีของภาคใต้ การตั้งคณะกรรมการนั้นอยู่ในระดับท้องถิ่นกล่าวคือตั้งขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในภาคใต้ ที่ผ่านมาคณะกรรมการถูกตั้งขึ้นโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใต้ ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.)  ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ สภาที่ปรึกษาฯ ของศอ.บต.  ผู้เขียนได้ศึกษาคณะกรรมการเหล่านี้เมื่อปีที่ผ่านมา (ด้วยความสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย)  โดยมีข้อสรุปในงานวิจัยคือ กลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้ มีประโยชน์อย่างยิ่งในการทำความจริงให้ปรากฏ  ซึ่งหลายๆ กรณีนั้นเกิดขึ้นได้ยากในกลไกการสืบสวนสอบสวนปกติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  โดยเฉพาะหากการกระทำนอกกฎหมายนั้นเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่ทำงานให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ  วัตถุประสงค์หลักของการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผ่านมาคือการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพื่อลดความรู้สึกไม่เป็นธรรม  แม้ว่าบางคณะกรรมการจะมีข้อเสนอในเชิงนโยบาย แต่ก็มักจะไม่ได้ถูกผลักดันให้เป็นจริง

งานวิจัยยังพบว่าแม้ว่ากลไกนี้จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม แต่ว่าสามารถจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาว่ากระทำผิดเพื่อเป็นการขจัดวัฒนธรรมผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ (impunity)แต่น่าเสียดายว่าผู้ที่ถูกระบุในรายงานของคณะกรรมการฯว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำเกินกว่าเหตุหรือกระทำการนอกกฎหมายมักไม่ถูกดำเนินคดีอาญาในศาล  มีกรณีเดียวที่เรื่องไปถึงชั้นศาลคือกรณีอาสาสมัครทหารพรานสองนายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกราดยิงครอบครัวมะมัน แต่ศาลชั้นต้นเพิ่งตัดสินยกฟ้องไปเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมาบนฐานว่าหลักฐานไม่เพียงพอ   นอกจากนี้   รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน   จึงทำให้เสียโอกาสที่จะใช้กรณีเหล่านี้เป็นบทเรียนในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต 

หลังจากเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรมคนมลายูมุสลิม 4 คนในระหว่างการเข้าตรวจค้นจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมกลุ่มก่อเหตุรุนแรงที่บ้านโต๊ะชู ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานีเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมาก็ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้บริสุทธิ์   ทางนายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา  (ดูคำสั่งแต่งตั้ง ที่นี่) โดยมีนายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเป็นประธานกรรมการและมีกรรมการอีก 14 คน   นอกจากตัวแทนของทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองแล้ว  ในบรรดากรรมการก็มีผู้นำศาสนา นักวิชาการ ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ผู้นำท้องถิ่น (ซึ่งน่าจะเป็นตัวแทนของชาวบ้านด้วย) โดยคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการรวมรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเพื่อนำเสนอข้อสรุปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีทราบภายใน 7 วัน

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาตัวแทนคณะกรรมการฯได้แถลงผลการดำเนินงานหลังสรุปรายงานจำนวน 17 หน้าซึ่งยังไม่มีการเปิดเผย  (ดูใบแถลงข่าว ที่นี่)  ในใบแถลงข่าว  คณะกรรมการได้ประมวลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือมีคน 3 กลุ่มไปที่บ้านที่กำลังก่อสร้างซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ  ได้แก่ กลุ่มคนงานก่อสร้างบ้าน  กลุ่มที่เข้าเจรจาค่าเสียหายเรื่องรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุและกลุ่มคนที่เข้าไปมั่วสุมเพื่อเสพยาเสพติด ในเวลา17.00น.ได้มีกองกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษช่วยส่วนรวม (นปพ.ช่วยส่วนรวม) เข้าปิดล้อมตรวจค้นที่เกิดเหตุและควบคุมตัวบุคคลทั้งสามกลุ่ม รวม 22 คนโดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก   ในขณะปิดล้อมตราวจค้น มีคน 5 คนได้วิ่งหลบหนี  โดยเจ้าหน้าที่ได้วิ่งไล่ตาม  ต่อมามีการใช้อาวุธปืนฆ่ากันตายที่บริเวณสวนยางพาราห่างจากบ้านหลังดังกล่าว 300 เมตร  ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คนคือนายคอลิด สาแม็ง นายมะดารี แมเราะ  นายซัดดัม วานุ และนายสูไฮมี  เซ็น  มีการตรวจพบอาวุธปืนและวัตถุระเบิดหลายอย่างตกอยู่ข้างศพผู้ตายที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้กระทำวิสามัญฆาตกรรม  แหล่งข่าวในหน่วยความมั่นคงให้ข้อมูลว่า นปพ.ช่วยส่วนรวมเป็นการประกอบกำลังกันระหว่างเจ้าหน้าที่กรมทหารพรานที่ 41 และชุดสืบคดีสำคัญของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้

คณะกรรมการสรุปจากการตรวจสอบพยานหลักฐานว่า หนึ่ง ผู้ตายทั้ง4คน ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุรุนแรงและไม่ใช่แนวร่วมกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงแต่อย่างใด  สอง จุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นครั้งนี้ชอบด้วยเหตุผลในการปฏิบัติการ และสาม คณะกรรมการไม่สามารถวินิจฉัยในประเด็นการต่อสู้กับเจ้าพนักงาน โดยให้เป็นหน้าที่ของการแสวงหาพยานหลักฐานในชั้นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีตามกฎหมาย   แต่คณะกรรมการมีความเห็นน่าเชื่อว่าอาวุธปืนของกลางไม่ได้เป็นของผู้ตายตั้งแต่เริ่มต้น

คณะกรรมการมีข้อเสนอหลัก2ประการคือ  หนึ่ง เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการวิสามัญฆาตกรรมจะต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และ สองให้มีการเยียวยาโดยเร็ว  นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบาย 5 ข้อซึ่งรวมถึงการปรับปรุงการข่าวของฝ่ายความมั่นคง  การดำเนินการทางการบริหารและอาญาในกรณีที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีการปฏิบัติการผิดพลาดและการเปิดเผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน

ในการแถลงข่าวแม่ทัพภาคที่สี่ พล.ท.ปราการ  ชลยุทธ ได้กล่าวขออภัยต่อ “เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น” เขาบอกว่าเหตุรุนแรงในพื้นที่เกิดได้จากสองฝ่าย คือหนึ่งฝ่ายที่ต้องการกระทำความรุนแรง สองฝ่ายผู้ถืออาวุธที่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจผิดพลาดได้จากหลายอย่าง เช่นหวาดกลัว เข้าใจผิด   

หากฟังเผินๆ ก็เหมือนว่าแม่ทัพภาคสี่ได้ขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  แต่ว่าอ่านอย่างละเอียดแล้วพล.ท.ปราการไม่ได้ยอมรับแต่อย่างใดว่าเจ้าหน้าที่ในอาณัติได้ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด เขาบอกเพียงว่าความรุนแรงนั้นอยู่ในกรอบกฎหมายหรือไม่ต้องให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ข้อสรุปของคณะกรรมการฯนั้นก็ยังไม่ได้มีผลใดๆในทางกฎหมาย ส่วนนายภาณุ อุทัยรัตน์  เลขาศอ.บต. ก็ได้มอบเงินเยียวยาให้กับญาติผู้เสียชีวิตรายละห้าแสนบาท (ซึ่งเป็นอำนาจของเลขาฯ ศอ.บต. ที่ดำเนินการได้ทันทีตามระเบียบกพต.ว่าด้วยการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย และผู้ได้รับผลกระทบอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้พ.ศ.2555)

หากมองคณะกรรมการนี้ โดยเปรียบเทียบกับคณะกรรมการที่ผ่านๆ มา ผู้เขียนมีข้อสังเกตดังนี้

1.กรอบการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้สั้นมาก    แม้ในคณะกรรมการกรณีปุโล๊ะปุโยที่มีกรอบเวลาสั้นที่สุดยังมีเวลาถึง 45 วัน  การเร่งรีบที่จะปิดการตรวจสอบข้อเท็จจริงทำให้คณะกรรมการไม่มีเวลาพิจารณาประเด็นที่ซับซ้อนซึ่งเป็นหัวใจของการคลี่คลายว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงนั้นเกินกว่าเหตุหรือไม่ ดังที่คณะกรรมการเองได้อธิบายไว้ในใบแถลงข่าวว่า “เหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้มีการเสียชีวิตทั้ง4ราย ...ในบริเวณป่าสวนยางพารา มีเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการเท่านั้นที่เห็นเหตุการณ์ ประกอบกับคณะกรรมการมีเวลาจำกัด ในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพียง 7 วัน จึงไม่สามารถหาประจักษ์พยานอื่นใดมาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการได้ ส่วนหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ระบุเขม่าดินปืนที่มือผู้ตาย และที่อาวุธปืนของกลาง ไม่มีหลักฐานบ่งชี้เชื่อมโยงระหว่างผู้ตายกับอาวุธปืนอย่างชัดเจนและยังมีความเคลือบแคลงในบางประเด็น”  (เน้นโดยผู้เขียน)

2.องค์ประกอบของคณะกรรมการนั้นมีตัวแทนที่หลากหลายและมีความเป็นอิสระจากเหตุการณ์พอสมควรเช่นผู้นำศาสนา นักวิชาการและผู้แทนของภาคประชาสังคม  ซึ่งทำให้คณะกรรมการมีความน่าเชื่อถือ  แต่หากมีการเพิ่มกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการตรวจสอบข้อเท็จจริง  โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้เรื่องนิติวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นอิสระจะทำให้การทำงานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในหลายๆกรณีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์นั้นเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายว่าผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร

3.แม้คณะกรรมการจะสนับสนุนให้มีการเปิดเผยรายงานฉบับเต็ม แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการจะยินดีดำเนินการหรือไม่ ซึ่งดูเหมือนมีท่าทีที่ไม่ต้องการเปิดเผยรายละเอียดมากนัก   บทเรียนที่ผ่านมาในคณะกรรมการชุดก่อนๆ คือ มีการเผยแพร่รายงานน้อยมากทำให้สังคมไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้และสร้างมาตรการในการป้องกันไม่ให้ซ้ำรอยข้อผิดพลาดเดิมๆ 

4.แม้ว่าวันนี้สังคมได้กดดันให้มีการแสวงหาความจริงเพื่อทำให้ผู้บริสุทธิ์พ้นจากมลทินได้ระดับหนึ่ง   แต่ว่าผู้เกี่ยวข้องควรจะต้องร่วมกันผลักดันต่อไปเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษและไม่ควรยอมให้เรื่องนี้จบไปด้วยการเยียวยาด้วยตัวเงินอย่างที่มักจะเป็นไปในครั้งก่อนๆหากทำเช่นนี้ได้ก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่สำคัญในเรื่องของการเคารพสิทธิมนุษยชนในบริบทของภาคใต้  การให้การคุ้มครองทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่อย่างหละหลวมเป็นการเอื้อให้เกิดการลุแก่อำนาจ  

5.เงื่อนไขทางกฎหมายสำคัญอันหนึ่งที่เกื้อหนุนให้เกิดการใช้อำนาจอย่างล้นเกินคือการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในมาตรา17 ของพ.ร.ก. นี้ระบุว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งทางอาญาหรือทางวินัยเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น”  โดยได้ระบุด้วยว่า “ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่”มาตรานี้ได้ถูกใช้เป็นเกราะอันแข็งแรงทางกฎหมายในการป้องกันการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ที่สังหารผู้บริสุทธิ์ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามแต่ สิ่งที่น่าเศร้ายิ่งขึ้นคือมาตรานี้ได้ถูกหยิบยืมไปในใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตามมาตรา 44  ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ษ. 2558 เป็นต้นมา    จากภาคใต้  ในขณะนี้ข้อกฎหมายนี้ได้ถูกบังคับใช้ไปทั่วประเทศแล้ว 

6.การใช้อาสาสมัครทหารพรานในพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อนอย่างในภาคใต้มักจะก่อปัญหามากกว่าแก้ไขปัญหาอย่างน้อยสองกรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก่อนหน้านี้คือกรณีปุโล๊ะปุโยและกรณีเจ๊ะมุมะมันเกี่ยวข้องกับทหารพราน   เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นอีกครั้งถึงปัญหาในเชิงนโยบายของกองทัพที่เลือกที่จะใช้ทหารพรานเพื่อทดแทนทหารอาชีพ (ดูรายงานเรื่อง“ปัญหาของกองกำลังทหารพรานและอาสาสมัครชาวบ้าน” โดยอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ปที่นี่)  การจัดจ้างคนภายนอก (outsource) ในงานความมั่นคงที่ภาคใต้มีแต่จะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น

การแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเป็นเพียงหนึ่งมาตรการในการทำสงครามข่าวสาร (InformationOperation) ของฝ่ายทหารหรือไม่   และจะเป็นเพียงการ “ยิง ตาย จ่ายจบ” เท่านั้นหรือไม่  ก็ขึ้นอยู่กับว่าภาคสังคมจะมีพลังและความมุ่งมั่นที่จะตามติดในการนำเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษแค่ไหนเพียงไร  ความจริงเป็นจุดเริ่มต้นของความยุติธรรม แต่สิ่งนั้นอาจต้องต่อสู้ยืนหยัดอย่างยาวนานจึงจะได้มา
 
รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัชเป็นนักวิจัยอิสระซึ่งกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เธอเขียนหนังสือเรื่อง“ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี”และ“เส้นทางกระบวนการสันติภาพปาตานี”   บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่มติชนออนไลน์