Skip to main content

การเปิดเวทีพบปะกับสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการและคอลัมนิสต์ของ พล..สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเพียงการทำความเข้าใจกับ "คนข่าว" เกี่ยวกับสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ พล..สนธิ ยังใช้เวทีนี้เปิด "ข้อมูลใหม่" ที่แทบจะสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับข้อมูลเดิมๆ ของหน่วยงานด้านความมั่นคง

            พล..สนธิ เริ่มต้นด้วยการเปรียบเปรยว่า การเข้าไปทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา เหมือน "ปิดตาคลำช้าง" จับตรงไหนก็คิดว่าตรงนั้นคือช้าง แต่ละคนมีทฤษฎีของตนเอง แต่วันนี้เขาจะมาต่อจิ๊กซอว์ของช้างตัวนั้นให้เต็ม ให้รู้ว่าของจริงเป็นอย่างไร และตัวช้างจริงๆ เป็นอย่างไร

            พล..สนธิ อธิบายว่า ปัญหาภาคใต้ในอดีตนั้น ย้อนไป 30-40 ปี มีขบวนการโจรก่อการร้าย หรือ ขจก.อยู่หลายกลุ่ม อาทิเช่น พูโล บีอาร์เอ็น หรือจีเอ็มไอพี โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดขบวนการเหล่านี้ เป็นเพราะที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้น้อยเกินไป ทำให้ประชาชนรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง ข้าราชการที่ไปทำงานในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็เป็นพวก "ท้ายแถว" หรือไม่ก็ส่งคนไม่ดีลงไป จนกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีเป้าหมายเพื่อการปกครองตนเอง

            เมื่อคนในพื้นที่ถูกทอดทิ้ง การศึกษาก็เข้าไม่ถึง ต่อมาจึงมีการส่งเด็กและเยาวชนไปเรียนต่อต่างประเทศโดยไม่ได้ใช้ทุนของรัฐบาล แต่ไปขอทุนจากประเทศต่างๆ หรือใช้เงินบริจาค ซึ่งประเทศที่เด็กเหล่านี้ไปเรียนในช่วงเวลานั้น หลายประเทศกำลังเกิดการสู้รบ ทำให้เด็กบางส่วนไปร่วมรบกับประเทศที่ถูกรุกราน เมื่อเด็กพวกนี้กลับมาจึงถูกดึงไปร่วมกับกลุ่มที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน แล้วตั้งองค์กรใหม่ที่ชื่อว่า "บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนท" ขึ้น พร้อมทั้งสร้างโครงสร้างการก่อการร้ายในรูปแบบใหม่

            เยาวชนดังกล่าวเป็นผู้มีความรู้ จึงไปเป็นครูสอนศาสนา แล้วก็ดึงเด็กพฤติกรรมดีๆ ที่เรียนเก่งๆ เข้ามาร่วมในองค์กร และเด็กเหล่านั้นปัจจุบันเป็นหนุ่มแล้ว อายุระหว่าง 20-35 ปี กำลังเข้มแข็ง แข็งแกร่ง และมีอารมณ์ร่วมในการต่อสู้

            "ฉะนั้นวันนี้ ขบวนการเก่าๆ พวกพูโล บีอาร์เอ็น หรือจีเอ็มไอพี มันหมดไปแล้ว เหลือแค่เพียงสัญลักษณ์เท่านั้น" พล..สนธิ ระบุ

 

ผ่าโครงสร้าง"องค์กรใหม่"

            ผบ.ทบ.อธิบายต่อว่า องค์กรก่อความไม่สงบที่จัดโครงสร้างใหม่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือองค์กรนำ , ฝ่ายกองกำลัง และแนวร่วม

            "ในส่วนขององค์กรนำ วันนี้ยังหาไม่เจอ ส่วนกองกำลังนั้น ได้แก่อาร์เคเค กับคอมมานโด ซึ่งอาร์เคเค 1 หน่วย จะคุมหมู่บ้านราว 2-3 หมู่บ้าน เราพยายามอย่างยิ่งที่จะเข้าไปหาองค์กรนำ เพราะถ้าเราไม่ได้คุยกับตัวผู้นำองค์กร ปัญหาภาคใต้จะไม่มีทางแก้ไขได้สำเร็จ  เพราะภารกิจของอาร์เคเค คอมมานโด และแนวร่วมที่ปฏิบัติการอยู่ทุกวันนี้ กระทำการโดยอิสระ และมีเป้าหมายของตัวเอง"

            "แต่การใช้กำลังต่อสู้กับกองทัพโดยตรงไม่สามารถทำได้ ฉะนั้นเขาจึงต้องใช้ความรุนแรงเพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงย้อนกลับไปสู่ประชาชน แล้วให้องค์กรต่างประเทศยื่นมือเข้ามาจัดระเบียบ"

            สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหา พล..สนธิ บอกว่า ได้แบ่งการทำงานออกเป็นงานการเมือง กับงานด้านการทหาร โดยในแง่การเมือง รัฐบาลใช้นโยบายสมานฉันท์เป็นธงนำ ซึ่งที่ผ่านมาต่างประเทศก็พอใจ และเราได้กำไรจากนอกประเทศมาก ขณะที่คน 1.7 ล้านคนในสามจังหวัด เชื่อว่า 99% ไม่รู้เรื่องกับขบวนการ และเป็นฝ่ายรัฐ คนส่วนใหญ่ยังรักประเทศไทย

            "ภารกิจของเราก็คือทำอย่างไรให้คน 99% นี้อยู่ดีกินดี ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของศอ.บต.(ศูนย์อำนวย

การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่จะเน้นงานพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และสร้างความเป็นธรรม ส่วนงานการทหาร เราจะทำกับคนเพียง 1% เท่านั้น และใช้มาตรการทางทหารโดยไม่มีการสมานฉันท์อย่างเด็ดขาด"

            "คน 1% นี้เรามีชื่อในมือหมดแล้ว เราเข้าไปในพื้นที่ จับกุมได้บ้าง มอบตัวบ้าง และคนที่ยอมมอบตัวก็ให้ข้อมูลเรามากมาย เราสามารถยึดอาวุธได้เป็นร้อยกระบอก"

 

ยอมรับ"ยุทธวิธี"ยังมีปัญหา

            อย่างไรก็ดี พล.อ.สนธิ ยอมรับว่า ท่ามกลางความสำเร็จของงานการทหารกับงานการเมืองที่เดินคู่กันไปนั้น ยังมีประชาชนจำนวนมากไม่เข้าใจ และตั้งคำถามว่าทำไมจึงยังแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้ และยังมีคนตายอยู่เกือบทุกวัน

            พล.อ.สนธิ อธิบายว่า ปัญหาแรกที่เป็นปัญหาใหญ่คือสภาพภูมิประเทศ ทำให้ทหารต่อสู้ค่อนข้างยาก

            "สมัยผมทำงานอยู่ในพื้นที่ เคยมีคนร้ายสังหารคนขายไอศกรีม เรารู้ตัวคนร้าย รู้ชื่อ รู้บ้าน ผมนำกำลังออกตอนตี 5 แต่กว่าจะหาบ้านเจอก็ปาเข้าไป 5 โมงเช้า เพราะบ้านอยู่กระจายอยู่ตามสวนยาง และยังมีการเปลี่ยนสลับเลขที่บ้านกันด้วย ฉะนั้นมาตรการทางทหารจึงไม่ง่าย ฝ่ายตรงข้ามใช้คนน้อย รู้ภูมิประเทศ  ยิงตรงนั้นที ตรงนี้ที"

            "ผมเคยวิเคราะห์และได้คำตอบว่า โจรใช้เวลาแค่ 10 นาทีที่จะเป็นโจร หลังจาก 10 นาทีแล้วเขาก็เลิกเป็นโจร กลายเป็นชาวบ้าน ฉะนั้นเราต้องเข้าไปสู้กับโจรภายใน 10 นาทีนั้น  หมายถึงต้องเข้าไปยังจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาที ซึ่งยากจริงๆ ผมพยายามซื้อรถ จัดหามอเตอร์ไซค์ให้ เพื่อจะได้เคลื่อนที่ได้เร็ว แต่ฝ่ายตรงข้ามก็เปลี่ยนยุทธวิธี หันไปฝังระเบิด โรยตะปูเรือใบ เราก็แก้ด้วยการซื้อเปลให้ มีอุปกรณ์กันฝนพร้อม สามารถออกไปจรยุทธ์ได้ แต่ก็ยังมีปัญหาอีก"          

            "ในพื้นที่อื่นๆ พอตกค่ำ เราสามารถอาศัยวัด อาศัยโรงเรียนนอนได้ แต่ในพื้นที่สามจังหวัดไม่มีวัด มีแต่มัสยิด การจะเข้าไปพักก็ลำบาก ฝนก็ตก เราจึงต้องใช้รถเป็นหลัก พอใช้รถก็ถูกระเบิดอีก เดินลาดตระเวนอย่างเดียวก็ไปไม่ไหว  แม้จะใช้กำลังทั้งหมดที่มีอยู่รวมทั้ง ชรบ.และอรบ.ก็ยังไม่ครอบคลุม เหล่านี้ถือเป็นปัญหาทางยุทธวิธี"

 

แก้ลำเสริมเขี้ยวกำนัน-ผญบ.

            อย่างไรก็ดี พล.อ.สนธิ บอกว่า เขามีแนวทางที่เตรียมไว้สำหรับแก้ปัญหาในเชิงยุทธวิธี ก็คือการส่งกำลังลงไปเพิ่มเติม และใช้ทหารพรานเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะเมื่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้มแข็ง ก็จะให้ข้อมูลกับรัฐว่าใครเป็นแนวร่วม ใครเป็นกองกำลัง

            "เรากำลังสร้างกองกำลังใหม่เข้าไปแก้ไขปัญหา" พล.อ.สนธิ ระบุ และย้ำว่า "แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องไม่ใช้ความรุนแรง เพราะทุกวันนี้คน 99% ไม่ได้ไปหาโจร เพราะไม่ชอบความรุนแรง ดังนั้นโจรจึงพยายามผลักให้เราใช้ความรุนแรง ซึ่งเราจะหลงกลไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเราจะแพ้ หมายถึงแพ้การเมืองระหว่างประเทศ ฉะนั้นเราต้องอดทน เรื่องนี้ทุกคนในกองทัพเข้าใจ แต่ประชาชนในภาคอื่นๆ ยังไม่เข้าใจ ยังเกิดปัญหาว่าทำไมๆๆ ถึงยังไม่หยุดเสียที"

            "ปัจจุบันเราชนะทางยุทธศาสตร์แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้เลขาธิการโอไอซี. (องค์การการประชุมชาติอิสลาม) เดินทางมาเยือนประเทศไทย ผมได้คุยกับท่านชั่วโมงครึ่ง เล่าให้ท่านฟังถึงสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าแตกต่างกับคนในภาคอื่นๆ อย่างไร ที่นั่นผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านต้องรับผิดชอบหนักมาก ทั้งดูแลลูกๆ และหารายได้ ทำให้เด็กขาดการเอาใจใส่ดูแล ต้องออกไปอยู่ในสังคมและถูกชักจูงได้ง่าย จนนำมาซึ่งปัญหา"

            "ผมคุยกับเลขาธิการโอไอซี.จนเข้าใจ ปรากฏว่าท่านพับกระดาษที่พิมพ์ข้อเรียกร้องมา 6-7 ข้อเก็บใส่กระเป๋าเลย ผมก็ดีใจที่เขาเชื่อเรา และโอไอซี.ยังอยู่ข้างเรา ฉะนั้นตรงนี้ถือว่าเราชนะทางยุทธศาสตร์แล้ว แต่หลังจากนี้ต้องเดินให้ดี ถ้าพลาดเราจะแพ้ทันที โดยเฉพาะกับโอไอซี."

 

รู้ชื่อหัวโจก-ยันอยู่ในสามจังหวัด

            ย้อนกลับไปที่การค้นหาระดับ "หัว" ขององค์กรก่อความไม่สงบ พล.อ.สนธิ บอกว่า ที่ผ่านมาได้ใช้ความพยายามอย่างมาก จนมั่นใจว่าต่างประเทศไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาในพื้นที่นี้แน่นอน แต่จะสนับสนุนด้านการเงินหรือไม่ ยังต้องตรวจสอบต่อไป

            "ผมเชื่อว่าผู้นำสูงสุดยังอยู่ใน 3 จังหวัด อยู่ในประเทศแน่นอน เราได้ส่งคนไปคุยกับแกนนำกลุ่มเก่าๆ ทั้งพูโล บีอาร์เอ็น จีเอ็มไอพี เราไปพบมาหมดแล้ว ทุกคนไม่รู้เรื่องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ และไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของฝ่ายผู้ก่อการ เขาชี้มาว่า คนที่เป็นหัวหน้าต้องอยู่ในพื้นที่นั่นแหละ ฉะนั้นเราต้องไปหาให้มากขึ้น"

            พล.อ.สนธิ ยังยืนยันด้วยว่า ระดับหัวหรือระดับนำขององค์กรก่อความไม่สงบ ไม่ได้เป็นนักการเมือง เพราะ 95% ของคนในขบวนการ จะไม่นำนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง    

            "ผมได้รับชื่อมาแล้ว กำลังตรวจสอบชื่ออยู่ เป็นชื่อคนธรรมดาๆ นี่เอง เรากำลังเช็คอยู่ว่าคนชื่อนี้มีกี่คนในสามจังหวัด เราได้รายชื่อมา แต่เราต้องตรวจสอบก่อน"

 

"มะแซ-สะแปอิง" แค่ตัวเล็ก        

            พล.อ.สนธิ บอกอีกว่า ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับหัวหน้าองค์กรก่อความไม่สงบ ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มแกนนำที่ถูกระบุชื่อในอดีต เช่น สะแปอิง บาซอ  หรือมะแซ อุเซ็ง จะไม่ใช่คนที่อยู่ในขบวนการ

            "กลุ่มนั้นก็ใช่ แต่เป็นตัวเล็ก ส่วนชื่อที่ได้มาใหม่นี้ เพิ่งได้มา 2 สัปดาห์ ได้มาจากต่างประเทศ ทำให้ผมรู้สึกดีใจที่เรายังมีความหวังในเรื่องนี้"

            ส่วนแหล่งทุนของกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น พล.อ.สนธิ อธิบายว่า เงินส่วนหนึ่งได้จากการเก็บหรือเรี่ยไรจากพี่น้องประชาชน ลักษณะเป็นค่าบำรุง แต่ตัวเลขไม่มากนัก กับอีกส่วนหนึ่งมาจากยาเสพติด ขณะที่เงินจากต่างประเทศที่เข้ามาคงค่อนข้างยาก เพราะหน่วยงานความมั่นคงมีกระบวนการตรวจสอบอย่างรัดกุม และขบวนการก่อความไม่สงบก็ไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ

            "แต่การต่อสู้แบบนี้ใช้เงินไม่มาก ใช้ใจกับอุดมการณ์มากกว่า"

            พล.อ.สนธิ เผยข้อมูลด้วยว่า สมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนท น่าจะมีบวกลบไม่เกิน 5,000 คน

            "จริงๆ เรามีชื่ออยู่แล้ว รู้อยู่ว่ามีใครบ้างที่เป็นแนวร่วม  ฉะนั้นจำนวนขนาดนี้ผมจึงไม่กลัวว่าเขาจะยึดประเทศเราได้ แต่เราต้องทำให้เขาเลิกต่อสู้กับคนไทยด้วยกันเอง"

 

สั่งทำคู่มือ"แก้ปัญหาใต้" 

            ผบ.ทบ.ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า จุดอ่อนของประเทศไทยคือนโยบายมักจะเปลี่ยนไปตามผู้นำ ดังนั้นขณะนี้เขากำลังสร้างกระบวนการให้นโยบายที่วางไว้มีความเข้มแข็ง เพื่อที่ว่าหลังจากนี้ใครเข้ามาเป็นรัฐบาล หรือเป็นผู้นำกองทัพ ก็สามารถสานต่อนโยบายที่วางเอาไว้ได้ทันที และไม่มีความสับสน โดยปัญหาภาคใต้นั้น ได้สั่งให้เจ้ากรมยุทธการทำคู่มือ "แก้ปัญหาใต้"  เอาไว้ เพื่อที่ว่าต่อไปใครเข้ามารับผิดชอบ จะได้หยิบไปทำต่อได้เลย