Skip to main content


                           

"มีอยู่คดีหนึ่ง มีผู้ชี้เบาะแสให้จับชาวบ้านรายหนึ่ง บอกว่ามีพฤติการณ์น่าสงสัย เมื่อตำรวจไปค้นที่พักก็เจอระเบิด 2 ลูก แต่ผู้ต้องหายืนยันว่าไม่ใช่ระเบิดของเขา เราก็ตรวจดีเอ็นเอจากคราบเหงื่อบนวัตถุระเบิด ปรากฏว่าไม่ตรงกับดีเอ็นเอของใครในบ้านเลย แต่กลับไปตรงกับดีเอ็นเอของคนที่ชี้ให้จับ เราจึงรู้ว่าเป็นการใส่ร้ายกัน และจับคนร้ายตัวจริงได้ในที่สุด"

 

           เป็นที่รู้กันดีว่า สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ไฟใต้ลุกลามบานปลายจนยากจะสกัดกั้นอยู่ในขณะนี้ มาจากความล้มเหลวและล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม

            เพราะตั้งแต่กลุ่มก่อความไม่สงบออกก่อเหตุร้ายรายวันอย่างต่อเนื่อง ทั้งไล่ยิง ไล่ฆ่า ลอบเผา กดระเบิด จนเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บริสุทธิ์ตายเป็นเบือมานานกว่า 3 ปี  ปรากฏว่าตำรวจกลับจับกุมผู้กระทำความผิดได้น้อยมาก ส่วนที่จับได้ เมื่อถูกส่งตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว สุดท้ายศาลก็พิพากษายกฟ้องเสียอีก

            ด้วยเหตุนี้รัฐจึงถูกมองว่า "ไร้น้ำยา" และกลายเป็นแรงหนุนมุมกลับทำให้เกิด "แนวร่วมพันธุ์ใหม่" ที่เป็นวัยรุ่นเปอร์มูดอ และอาร์เคเค แทรกซึมอยู่ทุกหย่อมหญ้า ออกปฏิบัติการโหดกันอย่างฮึกเหิม และไม่เกรงกลัวกฎหมาย

            แต่ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ในแง่ลบ หากเราลองหันไปฟังความจากผู้รับผิดชอบโดยตรงอย่างตำรวจบ้าง ก็จะพบความจริงอีกด้านหนึ่งที่น่าเห็นใจไม่น้อยเหมือนกัน...

            พนักงานสอบสวนระดับหัวกะทินายหนึ่งของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) เล่าให้ฟังว่า อุปสรรคการทำงานของตำรวจที่ทำให้จับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ไม่ได้ หรือจับได้ก็มีปัญหาในการดำเนินคดี มีอยู่ 3 ประการ คือ

            1.หาพยานบุคคลไม่ได้ เพราะพยานที่เห็นเหตุการณ์มักไม่ให้ความร่วมมือ บางคนใช้แต่ภาษายาวี ไม่ยอมพูดภาษาไทยทั้งๆ ที่พูดได้ หรือบางคนก็ให้ปากคำในชั้นสอบสวนอย่างหนึ่ง แต่ไปกลับคำให้การในชั้นศาล

            2.หากมีพยานก็มักเป็นพยานที่ถูกปั้นแต่งมา และให้การไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี เข้าทำนอง "พยายามชักใบให้เรือเสีย" ขณะที่ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้ก็มักจะอ้างต่อศาลว่าถูกตำรวจซ้อมในชั้นสอบสวน จนกลายเป็นแนวทางการต่อสู้ของผู้ต้องหาทุกคดี

            3.วัตถุพยานหายาก เพราะคนร้ายมีขบวนการตัดตอนพยานหลักฐาน เช่น ใช้ปืนกองกลางในการก่อเหตุ โดยจะมีคนทำหน้าที่คอยส่งปืนให้คนร้าย เมื่อยิงเหยื่อเสร็จเรียบร้อยก็จะรับปืนคืน และนำปืนไปซ่อนในจุดที่กำหนดเอาไว้ อาจจะฝังดิน หรือซุกในห้องลับตามบ้านของแนวร่วม โดยที่คนยิงเองก็ไม่รู้ว่าปืนที่ใช้ถูกนำไปซ่อนไว้ที่ใด

            อุปสรรคปัญหาเหล่านี้ ส่งผลต่อระบบการดำเนินคดีอาญาในพื้นที่อย่างรุนแรง
            เมื่อไม่นานมานี้ ศปก.ตร.ได้จัดทำรายงานความสำเร็จของการดำเนินคดีผู้ต้องหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ต้นปี 2548 จนถึงปลายปี 2549 สรุปว่า คดีที่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนสั่งฟ้องผู้ต้องหา และพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว มีทั้งสิ้น 22 คดี ในจำนวนนี้มี 5 คดีสำคัญที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว โดย 3 ใน 5 คดีนั้นเป็นการตัดสินลงโทษประหารชีวิต

            ทว่าหากย้อนไปดูตัวเลขคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นแทบทุกวันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน จะพบว่าปริมาณคดีพุ่งสูงถึงกว่า 2,000 คดี

            เห็นตัวเลขแบบนี้แล้ว ไม่รู้จะเรียกว่าผลงานหรือข่าวร้ายกันแน่...

            กระนั้นก็ตาม แนวทางการจัดการคดีอันมากมายมหาศาลในพื้นที่พิเศษอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มมีแสงสว่างเรืองรองขึ้นมา เมื่อหน่วยงานด้านความมั่นคงตระหนักว่า การใช้ "นิติวิทยาศาสตร์" จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการอุดช่องโหว่เรื่อง "พยานบุคคล"

            13 กุมภาพันธ์ 2547 สำนักงานวิทยาการตำรวจ (ปัจจุบันปรับโครงสร้างใหม่เป็นสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ : สนว.ตร.) ได้ส่งทีมนิติวิทยาศาสตร์จากส่วนกลางลงไปประจำยัง ศปก.ตร. เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับงานตรวจพิสูจน์หลักฐานในคดีความมั่นคงร่วมกับวิทยาการเขต 45 (จังหวัดยะลา) ซึ่งรับผิดชอบในระดับพื้นที่อยู่แล้ว 

            โดยทีมนิติวิทยาศาสตร์ที่ลงไปประจำยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีครบทุกกลุ่มงาน ทั้งงานตรวจลายนิ้วมือแฝง, งานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุนปืน, งานตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด, งานตรวจดีเอ็นเอ  และงานตรวจยาเสพติด โดยทุกกลุ่มงานสามารถตรวจพิสูจน์จนจบทั้งกระบวนการได้ในพื้นที่ ยกเว้นงานดีเอ็นเอเท่านั้นที่ยังต้องส่งตรวจที่กรุงเทพฯ

            อย่างไรก็ตาม นิติวิทยาศาสตร์เป็นงานที่ต้องใช้ฐานข้อมูลอันกว้างขวางและมีความแม่นยำสูง จึงไม่ใช่เนื้องานที่จะเห็นผลสำเร็จทันทีในช่วงต้น และจากความพยายามในการเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุอย่างละเอียดทุกชิ้น , เก็บลายนิ้วมือแฝงทุกรอย, ตรวจปลอกกระสุนปืนทุกปลอก ตลอดจนชำแหละองค์ประกอบของระเบิดทุกลูก เป็นเวลาถึง 2 ปี ศปก.ตร.จึงเริ่มมีฐานข้อมูลที่มากเพียงพอสำหรับการเชื่อมโยงเส้นทางของพยานหลักฐานทั้งหมด กระทั่งสามารถแกะรอยโครงสร้างองค์กรและเครือข่ายของกลุ่มก่อความไม่สงบได้อย่างครอบคลุม นำไปสู่การจับกุมที่แม่นยำมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปักษ์หลังของปี 2549 

            ทั้งนี้ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญและส่งผลต่อรูปคดีมากที่สุดในความเห็นของฝ่ายตำรวจ คือลายนิ้วมือแฝง และอาวุธปืน!

            แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ (สนว.ตร.) เผยความสำเร็จให้ฟังว่า อย่างในคดียิงถล่มรถตู้ที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 8 ศพนั้น เมื่อตรวจพิสูจน์ปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 ที่คนร้ายใช้ พบว่าเป็นอาวุธปืนชุดเดียวกับที่คนร้ายใช้ยิงถล่มโรงพักบันนังสตา จังหวัดยะลา และอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านั้นในพื้นที่เดียวกัน

            หรืออย่างในท้องที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เราพบอาวุธปืนพกสั้นขนาด 9 ม.ม.กระบอกหนึ่ง ถูกคนร้ายใช้งานซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงกว่า 30 คดี และในอีกหลายท้องที่ เราพบปืนพกสั้นขนาด .45 ถูกใช้ยิงเหยื่อมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 คน

            "ข้อมูลพวกนี้เมื่อนำมาสังเคราะห์จะทำให้เรารู้เส้นทางของอาวุธที่คนร้ายใช้ และจุดที่น่าจะเป็นแหล่งซุกซ่อน ถ้าตำรวจยึดปืนกระบอกนี้ได้ที่บ้านใคร ก็จะนำหลักฐานทั้งหมดมายัน หากเจ้าของบ้านไม่ยอมรับว่าเป็นของตัวเอง ก็ต้องซัดทอดมาว่าใครเอาไปใช้บ้าง ก็จะนำไปสู่การจับกุมเครือข่ายได้ ที่สำคัญเวลาฟ้องคดี ก็จะฟ้องพ่วงไปได้ครบทุกคดีที่กระทำความผิด แต่ถ้าไม่มีข้อมูลเหล่านี้ ก็จะฟ้องได้เพียงคดีเดียว และมีโอกาสหลุดสูงในชั้นศาล"

            ส่วนหลักฐานประเภทลายนิ้วมือแฝงนั้น แหล่งข่าวคนเดียวกันบอกว่า จนถึงขณะนี้ตำรวจมีฐานข้อมูลเก็บไว้มากกว่า 10,000 คนแล้ว ซึ่งสามารถตรวจเทียบกับวัตถุพยานที่พบในที่เกิดเหตุได้ทันที และยังเป็นข้อมูลเสริมจากการตรวจหาลายนิ้วมือแฝงบนอาวุธที่ยึดได้ เพื่อให้หลักฐานหนักแน่นขึ้นเมื่อนำไปโยงกับคดีที่ใช้อาวุธชนิดเดียวกันนั้นก่อเหตุกรณีอื่นๆ

            ประโยชน์อันเอนกอนันต์ของนิติวิทยาศาสตร์ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะแม้แต่ระเบิดที่ตูมสนั่นเป็นจุลไปแล้ว ก็ยังสามารถนำสะเก็ดประเภทตะปู หรือเหล็กเส้นตัดท่อนมา "ส่องกล้อง" เพื่อหาลายเส้นตัดปลาย แล้วเก็บเป็นข้อมูลไว้เพื่อนำไปเทียบเคียงกับ "คีมตัดเหล็ก" ที่ยึดได้จากการค้นบ้านผู้ต้องสงสัย

            "ถ้าตรวจแล้วรอยตัดตรงกัน ก็โป๊ะเชะเลย" แหล่งข่าวสรุป

 

 

 

   และอีกไม่นานเกินรอ ที่กองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเปิด "ศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิด" หรือ Bomb Data Center โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากประเทศออสเตรเลีย เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลกลางในการแกะรอยระเบิดจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะดินแดนปลายสุดด้ามขวานที่มีเหตุลอบวางระเบิดไม่เว้นแต่ละวัน

            ขณะเดียวกัน สนว.ตร.ยังเตรียมเปิด "ศูนย์ดีเอ็นเอ" อย่างเป็นทางการที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงานตรวจดีเอ็นเอสำหรับคลี่คลายคดีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

            เมื่อพูดถึง "ดีเอ็นเอ" ทุกคนคงนึกถึง พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ที่กลายเป็น "สัญลักษณ์" ของการคลี่คลายคดีด้วย "ดีเอ็นเอ" ไปแล้ว

            คุณหญิงหมอ เล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้วดีเอ็นเอ เป็นเพียงหนึ่งในงานหลายๆ แขนงของ "นิติวิทยาศาสตร์" แต่ด้วยความมหัศจรรย์ของดีเอ็นเอ ทำให้รัฐบาลเร่งสนับสนุนให้เกิด "ฐานข้อมูล" เพื่อใช้พิชิตคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้

            "เรื่องนี้ต้องให้เครดิตท่านสนธิ (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก) ที่เข้าใจและให้ความสำคัญ โดยท่านได้สั่งการให้กองทัพภาคที่ 4 อำนวยความสะดวกทีมของหมอ เริ่มตั้งแต่การเก็บดีเอ็นเอผู้ต้องหาในคดีตากใบ (การชุมนุมที่หน้า สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547) กระทั่งปัจจุบันเรามีตัวอย่างดีเอ็นเอเป็นฐานข้อมูลประมาณ 300 ตัวอย่างแล้ว และต่อมาเราก็พบว่ามีผู้ต้องหาคดีก่อความไม่สงบอีก 11 คดีเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ชุมนุมที่ตากใบ"

            พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ อธิบายต่อว่า ข้อดีของดีเอ็นเอก็คือ เมื่อเก็บตัวอย่างได้จากวัตถุพยานที่พบ เราไม่จำเป็นต้องนำไปตรวจเทียบกับตัวผู้ต้องสงสัยโดยตรงเหมือนลายนิ้วมือแฝง แต่สามารถตรวจเทียบกับพ่อ แม่ หรือลูกของผู้ต้องสงสัยก็ได้

            "อย่างคดีวางระเบิดที่ยะลา ซึ่งคนร้ายทำพลาดจนระเบิดแขนตัวเองขาด เราก็ตามรอยเลือดไปจนถึงบ้านต้องสงสัย ปรากฏว่าคนร้ายหนีไปแล้ว ไม่เจอตัว เราก็ตรวจดีเอ็นเอของเลือดเทียบกับคนในบ้านซึ่งเป็นพ่อกับแม่ของผู้ต้องสงสัย ผลออกมาตรงกัน ก็แสดงว่าลูกคุณคือคนร้าย เขาเถียงเราไม่ได้เลย"

            หรืออย่างคดี "สำลีอุดหู" อันลือลั่น ทีมนิติวิทยาศาสตร์พบวัตถุพยานชิ้นสำคัญนี้ใกล้ๆ กับที่เกิดเหตุลอบวางระเบิด เมื่อนำไปตรวจดีเอ็นเอเทียบกับพ่อแม่ของผู้ต้องสงสัย ก็ทำให้หลักฐานมัดแน่นจนดิ้นไม่หลุด และคดีนี้ศาลพิพากษาประหารชีวิต

            ความมหัศจรรย์ของ "ดีเอ็นเอ" ไม่เพียงแต่ช่วยเจ้าหน้าที่รัฐในการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกป้ายสีได้อีกด้วย

            "มีอยู่คดีหนึ่ง มีผู้ชี้เบาะแสให้จับชาวบ้านรายหนึ่ง บอกว่ามีพฤติการณ์น่าสงสัย เมื่อตำรวจไปค้นที่พักก็เจอระเบิด 2 ลูก แต่ผู้ต้องหายืนยันว่าไม่ใช่ระเบิดของเขา เราก็ตรวจดีเอ็นเอจากคราบเหงื่อบนวัตถุระเบิด ปรากฏว่าไม่ตรงกับดีเอ็นเอของใครในบ้านเลย แต่กลับไปตรงกับดีเอ็นเอของคนที่ชี้ให้จับ เราจึงรู้ว่าเป็นการใส่ร้ายกัน และจับคนร้ายตัวจริงได้ในที่สุด" หมอพรทิพย์ กล่าว

            อย่างที่บอกไว้แล้วว่า "ดีเอ็นเอ" เป็นเพียงวิทยาการหนึ่งในหลายแขนงของนิติวิทยาศาสตร์อันกว้างไกล เพราะล่าสุดยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น เครื่องมือตรวจสาร อาร์ดีเอ็กซ์ (สารประกอบระเบิด)  ที่สามารถตรวจหาสารที่จับบนวัตถุได้ทุกชนิด แม้แต่ธนบัตรในกระเป๋าสตางค์ ซึ่งทำเอา "ผู้ต้องหาหน้าตาย" กลายเป็น "ผู้ต้องหาหน้าซีด" มานักต่อนักแล้ว แต่ด้วยเหตุผลทางด้านความมั่นคง ทำให้ไม่สามารถจาระไนข้อมูลได้มากกว่านี้

            กระนั้นก็ตาม แม้งานนิติวิทยาศาสตร์จะมี "คุณอนันต์" กับการคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ใช่ว่าการทำงานจะสะดวกโยธินเสียทีเดียว โดยอุปสรรคสำคัญที่รู้ๆ กันอยู่ก็คือ การปีนเกลียวกันเองระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

            "หมออยากให้เราจับมือกัน อยากให้หนุนเสริมซึ่งกันและกัน หมออยากเสนอให้ยุบทั้งสองหน่วยงานรวมกันเลยด้วยซ้ำ แล้วสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมาที่เป็นอิสระ มืออาชีพ มีมาตรฐาน  และเป็นกลาง เพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป"

            สิ่งที่คุณหญิงหมอวาดฝัน คงไม่ต่างอะไรกับความต้องการของคนไทยทุกคน เพราะคงไม่มีใครอยากให้มหัศจรรย์แห่งนิติวิทยาศาสตร์ และแสงเรืองรองแห่งความหวังที่จะดับไฟใต้ ต้องมอดลงเพียงเพราะอคติและศักดิ์ศรีระหว่างสองหน่วยงาน