Skip to main content

การสื่อสารถือเป็นพัฒนาการสำคัญที่จะหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ระหว่าง12 ปีความขัดแย้งชายแดนใต้ กับ 3 ปีของกระบวนการสันติภาพที่ดำเนินมาถึงนี้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป วันนี้ นักข่าวพลเมือง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ได้สะท้อนมุมมองผู้ขับเคลื่อนและทำงานสันติภาพในพื้นที่

ความพยายามในการสื่อสารเพื่อสันติภาพ โดยหวังให้คนในสังคมใหญ่เกิดความเข้าใจ และลดภาพของความหวาดกลัวลง ด้วยการขับเคลื่อนงานด้านความรู้ ขนานไปกับปฏิบัติการสื่อสาร เพื่อผลักดันการทำงานขององค์กรเครือข่ายต่างๆทางด้านบรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้สะท้อนว่า ระหว่าง 12 ปีมานี้ เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภูมิทัศน์การสื่อสารเปลี่ยน
 
 
มูฮำมัดอายุบ ปาทานบรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ / ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าว่า12 ปีมานี้ความรุนแรงเยอะขึ้นแต่การสื่อสารถูกเปลี่ยนตรงที่โซเชียลมีเดียช่วย คนข้างในช่วยสื่อสาร กลายเป็นว่าตอนนี้คนจากข้างในรู้จักการสื่อสารกันเอง รู้จักการพัฒนาตัวเองด้วยการเป็นสื่อทางเลือกของตัวเองด้วย และสื่อทางเลือกของตัวเองสามารถสื่อสารเรื่องของตัวเองจากข้างในได้ ไม่ต้องรอสื่อกระแสหลัก ซึ่งไม่ได้แปลว่าเขาไม่เอาสื่อกระแสหลัก แต่เขาพยายามสื่อสารเรื่องของเขาเองออกไปสู่สาธารณะ เป็นสำนักข่าวต่างๆ อยู่ในพื้นที่ จนเป็นสำนักข่าวหรือสื่อของเขาเอง ซึ่งเป็นสื่อหลักในพื้นที่ ซึ่งบางสื่อหลักในพื้นที่ที่เป็นสื่อทางเลือก สื่อกระแสหลักยังต้องเอาประเด็นจากเขาเอาไปใช้ด้วย อันนี้เป็นการถ่วงดุลภายในตัว
 
 
ขณะเดียวกัน นักวิชาการสื่อเพื่อสันติภาพ มองว่าแม้สื่อทางเลือกในพื้นที่จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถเป็นแรงผลักดันการสร้างสันติภาพด้วยการสื่อสารได้อย่างแท้จริง
 
ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี กล่าว่า ถ้าถามตัวของเราเองว่าเราได้รายงานเหตุการณ์แบบ Peace journalism หรือเปล่า ก็ลองกลับไปทบทวนดูรายงานของเราว่าเราได้ใส่ข้อมูล เราได้พยายามสืบเสาะค้นหาข้อมูลในส่วนที่เป็นทางเลือก หรือเป็นทางออกของเรื่องราวที่เรานำเสนอไหม อีกทางหนึ่งได้หาจุดร่วมหรือจุดที่เป็นเสมือนความสร้างสรรค์ จุดที่เป็นความเหมือนของคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเหตุการณ์ข่าวที่เรานำเสนอได้หรือเปล่า
 
 
ในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่ใช่เฉพาะองค์กรที่ทำงานด้านสื่อเท่านั้นที่พยายามสื่อสารเรื่องราวในพื้นที่ แต่องค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ก็พยายามสื่อสารด้วยเช่นกัน อย่างเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ที่มีผลงานออกอากาศ นักข่าวพลเมืองมาแล้วมากมาย โดยหวังที่จะเชื่อมโยงเรื่องราวในพื้นที่กับสาธารณะมากขึ้น
 
 
อัสรา รัฐการัณย์ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ กล่าว่า 12 ที่ผ่านมาที่เกิดความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรารู้สึกว่าสื่อส่วนกลางลงมาทำข่าว ลงมาเขียนบทความในเรื่องราวของจังหวัดชายแดนภาคใต้มากคะ เรารู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่คนในพื้นที่ควรจะลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องราวของตัวเอง เพราะว่าเรามีประเด็น เรามีมุมมอง ที่แตกต่างจากสื่อส่วนกลางหลากหลายประเด็น เราคิดว่าเราน่าจะเพิ่มศักยภาพคนของเราให้ลุกขึ้นมาสื่อสารจากผู้ได้รับผลกระทบ จากผู้หญิงภาคประชาสังคม วันนี้ทุกคนลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องราวของตัวเองผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ มันเป็นแฟลตฟอร์มที่ไปด้วยกัน และเราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้คนข้างในพื้นที่และนอกพื้นที่เข้าใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อคุณเข้าใจแล้ว คุณจะได้รู้ว่าเราจะช่วยกันแก้ปัญหาได้ยังไง
 
เพราะเราเชื่อว่าการสื่อสารไม่สามารถที่จะแยกออกจากกระบวนการสร้างสันติภาพได้ เราจึงเชื่อมั่นในพลังของการสื่อสารว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการหนุนเสริมเพื่อให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีแห่งนี้ได้
เพราะพลังการสื่อสาร ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการใช้ Soft Power หรือ พลังในการโน้มน้าวชักนำให้เกิดการต่อรองและการแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างคู่ขัดแย้งและผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการสันติภาพ ดังนั้นการสร้างสันติภาพจึงจะต้องคู่ขนานไปกับการสื่อสาร