Skip to main content
ฟารีดา ปันจอร์
อาจารย์นักวิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี
 

ข้อเขียนนี้เป็นการสรุปเนื้อหาสาระสำคัญ ที่ได้จากเวทีถอดบทเรียน "11 ปี พัฒนาการและบทบาทของประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้" และการจัดทำ Roadmap สภาประชาสังคมชายแดนใต้ โดยการสนับสนุนจากสภาประชาสังคมชายแดนใต้และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หรือ LDI  ซึ่ง การถอดบทเรียนดังกล่าว กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งจะมีการสื่อสารออกเป็นตอนๆ ครั้งที่สามนี้ เป็นการสรุปสาระสำคัญการจากการประชุมหารือประเมินบทบาทของภาคประชาสังคม ซึ่งในครั้งนี้เป็นเวทีการแลกเปลี่ยนของเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับสภาสังคมชายแดนใต้ โดยได้จัดขึ้นในวันที่ 16 มกราคม 2559 ณ โรงแรมปาร์ควิว จังหวัดปัตตานี

 

ภาคประชาสังคมกับความเปลี่ยนแปลง

แม้ว่า สถานการณ์ในประเทศและของโลกที่เปลี่ยนเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน แต่เหตุการณ์ที่จังหวัดชายแดนใต้ยังคงต้องถูกยกเป็นประเด็นที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ร่วมกันไปหลายประการและเพื่อที่จะตอบคำถามว่า การเดินหน้าคิดแบบฝ่ายหนึ่งแพ้และอีกฝ่ายหนึ่งชนะนั้น จะทำให้เราร่วมกันคิดแก้ปัญหาร่วมกันและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายอย่างไร  ดังนั้นการสร้างพื้นที่กลางหรือพื้นที่ร่วม คือ การไม่ทำให้ผู้คนตกไปอยู่ข้างฝ่ายแพ้ หรือ ฝ่ายชนะข้างใดข้างหนึ่ง  อาจกล่าวได้ว่าโดยภาพรวมจากเหตุการณ์ ความไม่สงบ 12 ปีชายแดนใต้และ 3 ปีหลังจากการพูดคุยสันติภาพ ภาคประชาสังคมมีการขยายตัวมากขึ้น  อาทิ กลุ่มผู้หญิง กลุ่มเครือข่ายไทยพุทธ  เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ  กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่  กลุ่มเคลื่อนไหวอิสลาม  เครือข่ายการทำงานเด็กกำพร้า  การตื่นตัวดังกล่าวเกิดขึ้นมาเพื่อพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงและความรุนแรงที่ให้เกิดการสูญเสีย ดังนั้นแนวคิดเรื่องพื้นกลางที่เป็นของกลุ่มคนที่ไม่ใช่รัฐและไม่ถือปืนยังถือว่าสำคัญ จากการประชุมครั้งที่ผ่านมาได้ข้อเสนอว่าสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ต้องขยายฐานสมาชิกให้มีคนหลายกลุ่มอาชีพ หลากหลาย การขยายเครือข่ายของสภาประชาสังคมในที่นี้ หมายความว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่ในการทำงานกับเครือข่ายประชาสังคมให้สามารถทำงานร่วมกัน ไม่ได้เป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อีกทั้งจะต้องร่วมกับสถาบันวิชาการ นักวิชาการในพื้นที่และนอกพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้ไปพร้อมๆ กัน กล่าวได้ว่าจากห้วงเวลาที่ผ่านมา 12 ปี ถือเป็นงานที่หนักสำหรับภาคประชาสังคม ซึ่งจำเป็นต้องประเมินมากขึ้นว่าที่ผ่านมามีบทเรียนอย่างไร และเส้นทางในการก้าวต่อไปข้างหน้า เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในภาคประชาสังคมด้วยกันเองและสามารถตั้งเป็นประเด็นเคลื่อนไหวร่วมกันโดยสามารถใช้กลไกของสภาประชาสังคมชายแดนใต้เป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของงานสร้างสันติภาพที่ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ได้กำหนดอนาคตร่วมกันและนิยามสันติภาพร่วมกัน มุมมองของภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนได้สะท้อนให้เห็นมุมมองต่างๆ ของสันติภาพ  ได้แก่

1.  ความปลอดภัย ไม่มีความรุนแรง ปราศจาการถูกคุกคาม

2.  การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในความหลากหลายทางศาสนา ยอมรับความแตกต่างของกันและกันได้

3.  ความเป็นธรรม สิทธิมนุษยชน  การเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

4.  คุณภาพชีวิตที่ดี

5.  การปฏิบัติตามหลักศาสนาต่างๆ

6.  ความเป็นอิสระ ในชีวิต ศาสนา อาชีพ

 

ความกังวลและความหวังในกระบวนการสันติภาพ

แม้ปลายทาง คือสันติภาพหลายมุมที่ภาคประชาสังคมได้วาดไว้ในอนาคต แต่ในความเป็นจริงจากในระหว่างการทำงานขับเคลื่อนไปสู่สันติภาพคงไม่ง่ายนัก เวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลและความคาดหวังของประชาสังคมต่อกระบวนการสันติภาพ และความคาดหวังต่อสภาประชาสังคมชายแดนใต้ในการขับเคลื่อนงานในอนาคต

 

ความกังวล

1.     ภาคประชาสังคมกังวลว่ารัฐยังเกิดความระแวงและไม่ให้อิสระในการทำงานที่มากพอซึ่งนำไปสู่การสร้างเงื่อนไขทำให้เกิดความไม่จริงใจระหว่างกัน จนนำไปสู่การขาดความต่อเนื่องในการทำงานของภาคประชาสังคม

2.     มีความกังวลว่ารัฐบาลจะไม่จริงใจในการแก้ปัญหา และไม่ยอมรับข้อเสนอจากประชาชน

3.     มีความกังวลในความจริงใจและจริงจังของทุกฝ่ายทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายขบวนการ และภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพ

4.     มีความกังวลต่อความต่อเนื่องในกระบวนการสันติภาพหากมีการเปลี่ยนรัฐบาล

5.     มีความกังวลต่อเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งใหม่ในจังหวัดชายแดนใต้  ทั้งทางด้าน การเมือง และสถานการณ์โลก

6.     มีความกังวลต่อประเทศที่เป็นตัวกลางในการประสานงานการการพูดคุยสันติภาพ เช่น มาเลเซีย หรือ ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

7.     มีความกังวลต่อการแทรกแซงจากต่างประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง

8.     มีความกังวลต่อความเข้าใจเรื่องเอกราชว่ามีความหมายลึกซึ้งมากแค่ไหน จะมีการนิยามชัดเจนมากแค่ไหน

9.     มีความกังวลต่อการเกิดตัวป่วนระหว่างกระบวนการสร้างสันติภาพ

10.   มีความกังวลว่าภาคประชาสังคม ยังคงแยกกันทำงาน และฉวยใช้โอกาสในการได้รับการสนับสนุนโครงการต่างๆ ในการทำงานด้านสันติภาพ

11.   มีความกังวลถึงโครงการต่างๆ ที่ภาคประชาสังคมได้ขับเคลื่อนว่าจะได้นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์หรือไม่อย่างไร

12.   มีความกังวลว่าประชาชนจะเกิดการว่างงานและขาดรายได้ โดยเฉพาะเยาวชนที่อาจหันไปพึ่งพาเยาเสพติด

13.   มีความกังวลต่อการปิดกั้นการแสดงออกทางวัฒนธรรมวิถีชีวิต ดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

 

ความหวัง (และความต้องการ)

1.     ประชาสังคมสามารถพูดคุยเรื่องที่ถูกต้องห้ามในอดีตได้ และมีความหวังให้รัฐบาล กลุ่มพลังทางศาสนาแลกเปลี่ยนให้ความรู้ด้านสันติภาพที่สู่ระดับข้างล่างจริง และให้เสียงของชาวบ้านสร้างผลกระทบต่อนโยบายระดับสูง

2.     มีความหวังมากขึ้นเนื่องจากปัจจุบันมีการเปิดให้มีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น

3.     มีความหวังต่อการพูดคุยในแทรกหนึ่ง (รัฐบาลและฝ่ายขบวนการ)ที่ เดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพแล้ว และหวังว่าแทรกสองและสาม (ภาคประชาสังคมและประชาชนในท้องถิ่น )จะสนับสนุนและเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการสันติภาพเช่นเดียวกัน

4.     มีความหวังต่อการพยายามสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้คน โดยเรียกร้องให้พื้นที่ต่างๆ เป็นพื้นที่ปลอดภัย

5.     มีความหวังที่เกิดกระบวนการในการพักโทษผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง เช่นหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเดินหน้าไปสู่กระบวนการสันติภาพ

6.     มีความหวังที่การที่ผู้นำศาสนาต่างๆ ได้พูดคุยและเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น

7.     มีความหวังที่มีสื่อท้องถิ่นที่สามารถกระจายข่าวสารของผู้คนในพื้นที่ได้มากขึ้น

8.     มีความหวังต่อการศึกษาในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นตาดีกา หรือปอเนาะ ว่าเป็นที่ยอมรับต่อสังคมในวงกว้างมากขึ้น

9.     มีความหวังว่าหากเกิดสันติภาพประชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น

10.   มีความต้องการให้ ฝ่ายรัฐและขบวนการ ให้ความสำคัญกับการทำงานของภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ

11.   มีความต้องการให้การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมในประเด็นต่างๆ เป็นอิสระ

 

ความคาดหวังของเครือข่ายประชาสังคมต่อบทบาทของสภาประชาสังคมชายแดนใต้

1.     สภาฯ ควรสร้างบรรยากาศสันติภาพต่อสังคม ผลักดันให้สภาประชาสังคมมีพื้นที่ขับเคลื่อนมากขึ้น

2.     สภาฯ ควรเป็นพื้นที่กลางในการเปิดพื้นที่สาธารณะ เพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรง ซึ่งควรดำเนินการบ่อยครั้ง

3.     สภาฯ ควรทำงานยึดโยงกับประชาชน โดยสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตย ความยุติธรรม มิติวัฒนธรรม มิติศาสนา ในบริบทที่เป็นความเป็นจริงในพื้นที่ ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งที่รากฐาน

4.     สภาฯ ควรมีความหลากหลาย ครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรม มิติศาสนา วัฒนธรรม และความรุนแรงระดับตำบล หมู่บ้านที่สอดคล้องกับบริบทจังหวัดชายแดนใต้

5.     สภาฯ ควรเป็นพื้นที่กลางในการเชื่อมต่อข้อเสนอของประชาชนต่อรัฐบาล และทำให้เกิดรับรู้การเคลื่อนไหวขององค์กรประชาสังคมในพื้นที่

6.     สภาฯ ควรผลักดันประเด็นอื่นๆที่มีความสำคัญนอกเหนือจากการกระจายอำนาจ เช่น การรณรงค์การปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

7.     สภาฯ ควรดำเนินการขับเคลื่อนประเด็นที่ขับเคลื่อนงานได้จริง เป็นวาระที่โดดเด่นและมีพลัง

8.     สภาฯ ควรเป็นพื้นที่ต่อรองเมื่อประชนถูกละเมิดสิทธิ์

9.     สภาฯ ควรทำหน้าที่ช่วยผลักดันภาคประชาสังคมให้ทำงานในทุกพื้นที่

10.   สภาฯ ควรสร้างเครือข่ายในระดับหมู่บ้านหรือตำบลมาขึ้น เพื่อสะท้อนปัญหาจากรากหญ้า

11.   สภาฯ ควรทำงานร่วมกับทุกกลุ่มมีความแตกต่างทางความคิดได้

12.   สภาฯควรเชื่อมงานองค์ความรู้สู่ชุมชน

13.   สภาฯ ควรมีกลไกในการปรึกษาหารือเป็นระยะ มีแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจน

14.   สภาฯ ควรมีฐานข้อมูลองค์กรเครือข่าย ที่ชัดเจน มีการประสานงานและส่งข่าวให้สมาชิกได้รับรู้

 

 โดยสรุป เวทีการ พูดคุยแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ คือ การเกิดคำถามที่ว่ากระบวนการสันติภาพจะเดินหน้าไปจริงจังหรือไม่ และภาคประชาสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง  สิ่งที่ภาคประชาสังคมทำมา 12 ปีถือเป็นความก้าวหน้า แต่อาจยังไม่พอและจะต้องเดินหน้าต่อไป ในส่วนของบทบาทของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ก็จะต้องมีการปรับตัวเข้าหาข้อเสนอจากเครือข่ายภายประชาสังคมให้มากขึ้น  เพื่อทำให้สภาฯ และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกับสภาฯ ได้อย่างเข้มแข็ง จนสามารถทำให้เห็นสิ่งที่เน้นย้ำกันว่า สภาฯ ไม่ใช่ของใครนั้น คือ สาระที่เราจะเห็นความชอบธรรม และการเกิดพลังในการขับเคลื่อนได้

 

 อ่านตอนที่ 1 และ 2 ได้ตามลิงค์ด้านล่าง

ภาคประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี : การประเมินและก้าวต่อไปข้างหน้า (1)

ภาคประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี : การประเมินและก้าวต่อไปข้างหน้า (2)