Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน 
 

           หลายฝ่ายกำลังหวาดวิตกว่า วันที่ 15 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันสถาปนาสมัชชาประชาชนมลายูปัตตานี จะมีเหตุการณ์รุนแรงหรือไม่ ?

           ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงรักษาความปลอดภัย กำลังวางแผนเตรียมรับมือสถานการณ์กันอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีช่องว่างให้ขบวนการก่อความไม่สงบ ลงมือปฏิบัติการเผาโรงเรียนในพื้นที่ จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี เมื่อคืนวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา คืนเดียวเกือบ 20 โรง

           และ 2 วันก่อนหน้านี้ ครูสาวสองคนก็ถูกคนร้ายบุกเข้าไปจ่อยิงเสียชีวิตในโรงเรียนบ้านซากอ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส

           ขณะที่ก่อนหน้านี้ในช่วงปิดภาคเรียน ก็มีการลอบเผาโรงเรียนถี่เกือบทุกวัน ซ้ำบางแห่งยังถูกเผาแล้วเผาอีก อาคารและอุปกรณ์การเรียนเสียหายทั้งหมด ไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้เลยในวันเปิดเทอม

           เป็นที่มาของคำถามคาใจของใครต่อใครว่า "ทำไมคนร้ายต้องเผาโรงเรียน"

 

คำตอบ ควรเริ่มต้นที่การทำความเข้าใจว่า การขับเคี่ยวในสมรภูมิชายแดนใต้นั้น การแย่งชิงมวลชน เป็นปฏิบัติการสำคัญของทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการก่อความไม่สงบ

สถานการณ์ในขณะนี้เรียกได้ว่า ช่องทางที่ฝ่ายรัฐสามารถเชื่อมโยงกับชาวบ้านหรือชุมชนได้นั้นมีอยู่ทางเดียว คือ โรงเรียน

ขณะที่กลไกของรัฐอย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. ไม่อาจทำหน้าที่ได้เลย ในสถานการณ์ที่ถูกบังคับให้เลือกฝ่าย ส่วนใหญ่สงบนิ่งไม่แสดงบทบาท และอีกจำนวนไม่น้อยไม่กล้าอยู่ในพื้นที่

โรงเรียนจึงเป็นสัญลักษณ์สุดท้ายของอำนาจรัฐที่หลงเหลืออยู่ในชุมชน

การให้บริการด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐ ซึ่งถึงพร้อมทั้งอุปกรณ์การศึกษา เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งบริการอาหารกลางวัน เป็นแรงจูงใจสำคัญให้ชาวบ้านส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ

หากรัฐได้ทำหน้าที่ดูแลให้สวัสดิการแก่ชุมชนเช่นนี้ต่อไป นั่นเท่ากับทำให้มวลชนเทใจให้การยอมรับอำนาจของรัฐมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการชิงมวลชนให้มาเข้าข้างฝ่ายขบวนการฯ

และหากมองถึงเหตุผลในเชิงวัฒนธรรมด้วยแล้ว "โรงเรียน" ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อขบวนการฯ เพราะการเรียนการสอน เป็นตัวการทำลายอัตลักษณ์ของ "ชนชาวมลายูมุสลิม" แบบต่อเนื่องและยั่งยืน อาทิกิจกรรมหลักเช่น การเข้าแถวเคารพธงชาติ ร้องเพลงชาติ การกล่าวคำปฏิญานตน ซึ่งล้วนแล้วขัดต่ออุดมการณ์ของขบวนการทั้งสิ้น และหากรวมเนื้อหาในบทเรียนผ่านภาษาไทยด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูอุดมการณ์ชาตินิยมมลายู

 

การเผาโรงเรียนและลอบฆ่าครู จึงเป็นปฏิบัติการเพื่อ "ตัดสายสัมพันธ์รัฐและชุมชน เพื่อธำรงไว้ซึ่งอัตตลักษณ์มลายู
           การสถาปนาความมั่นคงปลอดภัย เพื่อให้กลไกอำนาจรัฐสุดท้ายที่เหลืออยู่ในชุมชนได้ทำหน้าที่ต่อไป จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในสงครามแย่งชิงมวลชน