Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

 

อดีต กอส. ชี้ปัญหา 3 จว.ภาคใต้คือ "สถานการณ์สงคราม" รัฐอย่าปล่อยให้ครูแค่เป็นหมากในกระดาน การปกป้องครูจะเป็นตัวชี้ประสิทธิภาพของรัฐ  เผยสมาพันธ์ครูฯ เตรียมนำปัญหาครูใต้เสนอที่ประชุมสภาครูอาเซียน  ด้าน ศธ.ติงหวั่นปัญหาขยายสู่ระดับภูมิภาค เตรียมบรรจุอัตราจ้างเป็นข้าราชการ ด้านข้อมูล ศธ.เผย โรงเรียนใน อ. รือเสาะ จ.นราธิวาสถูกเผามากที่สุด

 

นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ (กอส.) กล่าวว่า มาตรการดูแลความปลอดภัยของครูในพื้นที่แม้จะมีการกระจายกำลังค่อนข้างครอบคลุม กล่าวคือ มีการอารักขาครูทั้งขณะเดินทางไป-กลับ มีการจัดกองกำลังไปประจำการอยู่ที่สถานศึกษาแต่ละแห่ง แต่เมื่อพิจารณาในขั้นของการปฏิบัติพบว่ายังไม่มีความรัดกุมพอ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติภารกิจยังทำหน้าที่แบบตุ๊กตาไขลาน ไม่มีความจริงจัง จนกลายเป็นช่องให้ครูถูกทำร้ายเป็นจำนวนมาก

เขาวิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมาว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยจะเข้มงวดมากหลังจากเกิดเหตุความรุนแรง แต่พอเวลาผ่านไปเพียง 3 - 4 วัน การรักษาความปลอดภัยก็จะกลับมาหย่อนยานเหมือนเดิม ซึ่งถือว่าขาดมาตรการในลักษณะเชิงรุกในขณะที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมีพัฒนาการก้าวหน้าไปอย่างมากแล้ว

"พอครูถูกยิงก็ส่งทหารมาเฝ้าครูครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการเปลืองทรัพยากรอย่างมากและก็ไม่ได้ผลด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่เหนื่อยหรือเริ่มอ่อนล้า ก็จะกลายเป็นช่องให้ฝ่ายผู้ก่อการซึ่งอยู่ในที่มืดเข้าโจมตีทันที อย่างนี้ จึงถือเป็นแค่การแก้ปัญหาไปวันๆ เท่านั้น"       

ประสิทธิ์วิเคราะห์ต่อว่า ภาวการณ์เช่นนี้เป็นสถานการณ์วิกฤติ ทำให้รูปการณ์ของปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่อาชญากรรมธรรมดา แต่เป็นสงครามในขั้นก่อความไม่สงบที่มีระดับความรุนแรงที่สูงกว่าปกติ ในขณะที่ครูก็เป็นเพียงตัวหมากตัวหนึ่งของยุทธศาสตร์การก่อความไม่สงบ

"การทำร้ายครูเหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว คือ 1.สร้างผลกระเทือนให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว 2.สร้างความหวาดผวาและสิ้นหวังแก่คนในพื้นที่ โดยเฉพาะพวกครูตอนนี้ มีการขอย้ายแล้วเกือบ 2,000 คน ซึ่งก็เท่ากับเข้าทางของฝ่ายขบวนการที่ต้องการดึงเยาวชนให้กลับเข้าสู่กระบวนการศึกษาในแบบที่เขาต้องการ และ 3.เป็นการประจานกลไกการจัดการของภาครัฐที่ไม่สามารถดูแลบุคลากรของตนเองได้" อดีต กอส.กล่าวและว่า

ในสังคมโลกเมื่อมีการทำร้ายครูซึ่งถือว่าเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญ เขาไม่ได้มองว่าเป็นความโหดร้ายของกลุ่มขบวนการ แต่จะมองว่าฝ่ายรัฐไม่มีประสิทธิภาพที่จะดูแลความปลอดภัยคนของตัวเองได้ ซึ่งจะกลายเป็นคำถามตามมาว่า แล้วทำไมถึงไม่ให้พวกเขาจัดการกันเอง ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มกลุ่มขบวนการอย่างเช่น "พูโล" ประกาศอาสาเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาภาคใต้แล้ว ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ที่ทางสมาพันธ์ครูใน 3 จังหวัดภาคใต้จะต้องนำเหตุการณ์การทำร้ายครูใน 3 พื้นที่ไปเสนอต่อที่ประชุมสภาครูอาเซียน ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 6-10 กรกฎาคมที่จะถึง แม้ว่าท้ายที่สุดจะถูกภาครัฐมองว่าเป็นการยกระดับการก่อเหตุให้ขยายวงกว้างไปอีกก็ตาม

"แล้วจะให้ครูทำอย่างไร มันถูกบีบจนไม่มีที่ไปแล้ว ขณะนี้คนที่ประกอบวิชาชีพครูในภาคใต้ทำได้ 2 อย่าง คือ ถ้าไม่ลาออกจากการเป็นครู ก็ต้องขอย้ายออกนอกพื้นที่" นายประสิทธิ์กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่า การนำเรื่องนี้ไปคุยในเวทีระดับภูมิภาคยังไม่เหมาะสมกับภาวะวิกฤติเช่นนี้ อีกทั้งในที่ประชุมสภาครูอาเซียนคงไม่สามารถช่วยเหลือหรือจัดการอะไรได้ เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีการนำเรื่องทำนองนี้มาพูดคุยกัน ซึ่งก็มักไม่มีมาตรการอะไรมากไปกว่าการแสดงความเห็นใจซึ่งกันและกัน หรืออย่างมากก็เสนอให้เพิ่มสวัสดิการครูเท่านั้น

"ผมก็ทำได้แค่บอกเพื่อนๆ ครูทั้งหลายว่า ขอให้ทำงานกันให้เต็มที่ ให้เห็นว่าเราทำประโยชน์ให้แก่ลูกหลานของพวกเขา ให้ชาวบ้านรู้สึกหวงแหนเราที่เป็นครู ตรงนี้ก็น่าจะเป็นเกราะช่วยเราได้บ้าง นอกเหนือจากนี้ก็ต้องดูแลกันเอง"

นอกจากนี้ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูฯ ยังได้เปิดเผยอีกว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ขณะนี้เป็นขบวนการที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ  มีการจัดการทั้งในด้านการทหาร ด้านมวลชน หรือแม้กระทั่งด้านการข่าว ที่ถือว่าดีกว่าภาครัฐเสียอีก สังเกตุจากหลายเหตุการณ์ที่เขาสามารถสร้างผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกร่วมของชาวบ้านได้ดีกว่า ในขณะที่ภาครัฐซึ่งมีเครื่องมือและงบประมาณมากกว่า ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างเป็นรูปธรรม

"เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ พอเกิดเหตุที ก็ตรวจเข้มที อยู่ได้ 2-3 วันก็เลิก พอเป็นงานในด้านมวลชน ฝ่ายรัฐก็ทำเพียงเอาเงินไปให้ผู้ได้รับผลกระทบ ถือป้าย ถ่ายรูปแล้วก็จบ มันไม่ได้ใจประชาชน ในขณะที่งานด้านการเมืองยิ่งแล้วใหญ่ ตอนนี้ ผู้มีอำนาจบ้านเรามัวแต่สนใจม็อบกรุงเทพอย่างเดียว แค่ทักษิณถอดเสื้อ ยังสำคัญกว่าเลย"

นายประสิทธิกล่าวด้วยว่า การส่งทหารเข้าไปเฝ้าครูทำได้เพียงซื้อเวลาไปสักระยะ เหมือนทำป้อมค่ายรอเวลาให้เขามาตี แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้นตนจึงเสนอให้มีการปรับยุทธศาสตร์ทั้งระบบ โดยในด้านงานการทหารก็ต้องรุกเต็มที่ ในขณะที่งานด้านการเมืองก็ต้องสอดประสานควบคู่กันไป โดยย้ำว่า เพราะนี่คือภาวะสงคราม

"งานรักษาความปลอดภัยครูอย่างที่เป็นอยู่ ก็ยังจะต้องทำต่อไป แต่จะต้องเป็นไปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่วนในงานด้านการทหาร-ตำรวจ ก็ต้องแข็ง และจะต้องเกาะติดมวลชน เข้าไปช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา จนกระทั่งอิทธิพลของกลุ่มก่อความไม่สงบเบาบางลง งานด้านการทหารจึงค่อยผ่อนคลายออกมา"

 

ด้าน ศ.ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในรายการ "กรองสถานการณ์" ทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อค่ำคืนวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า จะต้องมีการทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัยครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพราะที่ผ่านมามีจุดอ่อนทำให้เกิดช่องว่างให้ครูถูกทำร้าย ซึ่งจากการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายฝ่ายก็ตกลงที่จะร่วมมือกันเต็มที่ ดังนั้นน่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้ครูในพื้นที่ได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ศ.ดร.วิจิตร ยังกล่าวชื่นชมครูที่ออกมายื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยของครูในพื้นที่ว่า แท้จริงแล้วข้อเรียกร้องเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อตัวเอง แต่เพียงเพื่อให้เยาวชนในจังหวัดภาคใต้ยังสามารถมีสถานที่เล่าเรียนหาความรู้ ซึ่งจะได้นำไปพิจารณาอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตามในข้อเรียกร้องที่ 4 ที่บอกว่าจะนำเหตุการณ์การทำร้ายครูใน 3 พื้นที่ไปเสนอต่อที่ประชุมสภาครูอาเซียน ตนอยากเสนอให้ทบทวน เนื่องจากเป็นเรื่องภายในประเทศ ถ้าการนำไปเสนอต่อที่ประชุมเป็นไปเพื่อสร้างความเข้าใจก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเป็นไปในลักษณะขอความช่วยเหลือหรือฟ้องร้องต่างชาติก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร  เพราะที่ประชุมดังกล่าวคงช่วยอะไรไม่ได้ ซ้ำจะยิ่งเป็นการขยายผลสถานการณ์ให้ดูใหญ่โตขึ้นไปอีก

"ส่วนข้อเรียกร้องสุดท้าย ที่ระบุจะหยุดการเรียนการสอนไปโดยไม่มีกำหนด ผมอยากให้เรื่องนี้ เป็นไปตามธรรมชาติ ให้ดูผลกระทบเป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมา เวลาเกิดเหตุการณ์กระทั่งเปิดการเรียนการสอนไม่ได้ ประชาชนต่างก็เข้าใจเหตุผลดีอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการต้องรับมาเต็มๆ อยู่แล้ว อย่างเช่น ให้มีการสร้างรั้วโรงเรียนให้รัดกุม ต่อไปนี้ใครผ่านเข้าออกโรงเรียนก็จะต้องถูกตรวจสอบ หรือแม้กระทั่งการนำวิทยุสื่อสารมาใช้ เพื่อจะได้แจ้งเหตุที่เกิดได้อย่างทันท่วงที หรืออย่างบางโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ก็อาจจำเป็นที่จะต้องติดตั้งกล้องวีดิโอวงจรปิดด้วย"  รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการกล่าว และว่า

อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้สิ้นหวังคิดว่า คงไม่ถึงขึ้นปิดโรงเรียนอย่างไม่มีกำหนด ขณะนี้สิ่งที่ทางกระทรวงฯ กังวลมากที่สุด คือ เด็กนักเรียนและบุคลากรที่สำคัญอย่างครู ซึ่งตอนนี้ได้มีคำสั่งยกระดับครูอัตราจ้างในพื้นที่ ให้มีฐานะเป็นพนักงานข้าราชการ ซึ่งจะรวมไปถึงวิทยากรสอนศาสนาอิสลามและครูในศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้มีรายได้ที่ดีขึ้น รวมถึงมีสถานภาพที่มั่นคงขึ้นด้วย

ศ.ดร.วิจิตร เผยด้วยว่า หลังจากนั้น ทางกระทรวงก็จะได้เข้าไปพัฒนาศักยภาพของครูเหล่านั้น เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงตำแหน่งอัตราจ้างรายปี การจะพัฒนาศักยภาพก็เป็นเรื่องลำบาก แต่ตอนนี้ทางกระทรวงมีงบประมาณจัดรอไว้แล้ว

"รัฐบาลชุดนี้ตั้งความหวังในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ไว้กับการศึกษาค่อนข้างมาก คือแม้ว่าสถานการณ์ในพื้นที่จะสงบลง การศึกษาก็จะยังเป็นตัวช่วยให้เขามีศักยภาพที่จะประกอบอาชีพพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้  จึงเห็นว่าควรที่จะเข้าไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งวิชาสามัญ ศาสนา และวิชาชีพ นอกจากนี้ จะเปิดให้มีการสอนภาษามากกว่า 2 ภาษา คือ ต้องส่งเสริมให้มีการเรียนภาษามาลายูท้องถิ่น ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนภาษาไทยเพื่อใช้เป็นภาษาทางการควบคู่กันไป"

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตามข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2550 ระบุว่า ปัจจุบันบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ได้รับความเสียหายทุกกรณี 186 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 72 คน นักเรียนได้รับความเสียหายทุกกรณี 88 คน ในจำนวนนี้ เสียชีวิต 19 คน

ด้านสถานศึกษาที่ถูกลอบวางเพลิง มีทั้งหมด 182 โรง แยกเป็นจังหวัดนราธิวาสถูกเผาทำลายมากที่สุด 72 โรง โดยอำเภอรือเสาะถูกเผาทำลายมากสุดถึง 20 โรง และอำเภอเมือง 10 โรง ส่วนจังหวัดปัตตานี ถูกเผา 62 โรง อยู่ในพื้นที่อำเภอยะรังมากสุด 13 โรง อำเภอสายบุรี 8 โรง และที่จังหวัดยะลา ถูกเผา 46 โรง พบมากสุดที่อำเภอบันนังสตา 22 โรง และอำเภอรามัน 10 โรง

++++++++++++++++++++

 

ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของสมาพันธ์ครูใน 3 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย

1.ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ ซึ่งการตั้งรับหรือออกมาตรการเยียวยาเมื่อเกิดความสูญเสียเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ

2.เรียกร้องให้รัฐจัดกองกำลังทหาร หรือตำรวจ 2-5 นาย อยู่ประจำโรงเรียนทุกแห่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา ในช่วงที่มีการเรียนการสอนคือเวลาประมาณ 07.00-16.00 น. ในลักษณะต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านดูแลหลังเกิดเหตุ 2-3 วันเท่านั้น

3.มาตรการสมานฉันท์ ทำได้ดีกับผู้ที่ต้องการสมานฉันท์ แต่คนที่ไม่ต้องการสมานฉันท์และทำผิดกฎหมาย ทำร้ายผู้อื่น ควรใช้ยุทธวิธีขั้นเด็ดขาด

4.สมาพันธ์ครูใต้ จะนำเหตุการณ์การทำร้ายครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอต่อที่ประชุมสภาครูอาเซียน ประจำปี 2550 ระหว่างวันที่ 6-10 กรกฎาคมนี้

5.สมาพันธ์ครูภาคใต้ จะหารือร่วมกับสมาพันธ์ครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อประเมินสถานการณ์ ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในมาตรการรักษาความปลอดภัยของภาครัฐ ก็อาจจะมีมติร่วมกันหยุดทำการเรียนการสอนทุกโรงเรียนอย่างไม่มีกำหนด