Skip to main content

Original Link Clik Here .

 

เสื้อยืดเป็นปัญหา?

ขณะที่เจ้าหน้าที่สงสัยว่าเป็นเสื้อพิมพ์ข้อความสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน เจ้าของเสื้อกลับบอกว่าทำขาย เผยแพร่งานและหาทุน

นี่เป็นภาพของเสื้อยืดที่ขายกันในภาคใต้ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสงสัยว่าส่อเจตนาต้องการแบ่งแยกดินแดน ในขณะที่ผู้ผลิตเสื้อยืดบอกว่า เป็นแค่เสื้อทำขายที่ต้องการเผยแพร่ให้คนรู้จักภาษามลายูและหาทุนประกอบการทำงาน ข้อสงสัยของเจ้าหน้าที่ทำให้เกิดการซักถามไปทั่วทั้งในหมู่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียและคนทำงานภาคประชาสังคม ทั้งกลุ่มบุหงารายาผู้ผลิตเสื้อยืดและประธานชมรมโรงเรียนตาดีกา 5 จังหวัดเผยจะเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการอิสลามปัตตานีเย็นวันนี้ถึงที่มาของเสื้อยืดดังกล่าว

ก่อนหน้านี้สื่อหลายรายลงภาพนักกิจกรรมห้าคนในชุดโสร่งและเสื้อยืดสีขาวพิมพ์ภาพแผนที่บนหน้าอกพร้อมภาษามลายูมีทั้งที่เขียนด้วยอักษรอาราบิกและอักขระยาวี หลายภาพที่สื่อลงมีการเบลอส่วนของใบหน้าชายหนุ่มทั้งห้า บีบีซีไทยได้รับภาพเดียวกันจากเจ้าของภาพที่ยินดีให้ลงโดยเปิดเผยใบหน้าได้ พร้อมบอกว่าพวกเขาเป็นเพียงคนทำกิจกรรมในพื้นที่ที่เป็นลูกค้าซื้อเสื้อยืดเพื่อสนับสนุนเพื่อนนักกิจกรรมด้วยกันโดยไม่ได้คิดว่าจะมีเรื่องของการแบ่งแยกดินแดนมาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

ฮาซัน ยามาดีบุ ประธานกลุ่มบุหงารายาบอกว่า กลุ่มเป็นผู้ผลิตเสื้อตัวนี้เอง เพื่อเผยแพร่การใช้ภาษามลายูอักขระยาวี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายที่ทำงานในเรื่องส่งเสริมการศึกษาในโรงเรียนตาดีกาหรือโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามสำหรับเด็กเล็ก และเพื่อหาทุนทำกิจกรรมของกลุ่มต่อไป ข้อความบนเสื้อยืดที่เขียนด้วยอักษรอาราบิกว่า TANAH PERKASA MELAYU UTARA แปลได้ว่า พื้นที่ของศูนย์ประสานงานโรงเรียนตาดีกาชายแดนใต้มลายูตอนเหนือ ส่วนสีแดงเป็นสีประจำของความเป็นมลายู “แผนที่และรูปภาพนี้เราใช้ผลิตเสื้อยืดและใช้ประจำสำนักงานมานานหลายปีแล้ว ทุกๆปีทำเสื้อยืดออกขายก็ใช้ภาพนี้ ไม่เคยมีปัญหาเลยครับ” เขาว่า

ผู้รู้ในเรื่องภาษาอธิบายเพิ่มเติมถึงคำที่พิมพ์บนเสื้อยืดที่อาจทำให้เจ้าหน้าที่ตีความไปได้นั้น คำแรก TANAH หมายถึงพื้นที่หรือดิน คำว่า PERKASA เป็นตัวย่อมาจาก Persatuan pusat penyelarasan tadika 5 wilayah sempadan selatan หรือศูนย์ประสานงานตาดีกาห้าจังหวัด ส่วนคำที่สามคือคำว่ามลายู และคำสุดท้ายแปลว่าเหนือ อย่างไรก็ตาม แต่ละคำอาจตีความต่างไปบ้างได้ เช่น คำว่า TANAH เจ้าหน้าที่อาจแปลว่าดินแดน คำว่า PERKASA แปลได้ว่าความยิ่งใหญ่ ทำให้การแปลความทั้งหมดออกไปสู่ท่วงทำนองของการแบ่งแยกดินแดน

ส่วนที่เป็นอักขระยาวีนั้น ล้วนเป็นชื่อจังหวัดในภาษามลายู ยะลา Pertiwi หรือเปอตีวี สงขลาส่วนของ 5 อำเภอที่มีตาดีกาคือคำว่า Putra หรือปุตรา สตูล Pantas หรือปานตาส นรา Pusaka หรือปูซากอ

ฮาซันแห่งกลุ่มบุหงารายาชี้ว่า การใช้ศัพท์พวกนี้เพราะกลุ่มสนับสนุนให้คนใช้มลายูอักขระยาวี แต่แรงสะท้อนจากงานนี้เหนือความคาดหมาย “ผมเองตกใจ และสงสัยมากว่าถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจทำไมเขาไม่มาถามผมที่เป็นคนผลิตเสื้อ แต่ไปถามคนที่ใส่เสื้อโพสต์ คือพอดีผมเห็นพวกเขามีคนรู้จัก ก็เลยขอให้เขาใส่ ถ่ายและโพสต์ ไม่นึกว่าจะมาเป็นแบบนี้” ฮาซันกล่าว “แล้วยิ่งไปอ่านในเฟสยิ่งไปกันใหญ่ มีการเอาไปโยงกันมากมายหลายอย่าง บ้างว่าแบ่งแยกดินแดน บ้างว่าเชื่อมโยงกลุ่มไอเอส (รัฐอิสลาม) บ้างโยงไปเรื่องป้ายเรื่องอะไรอีกมากมาย ผมว่าถ้าคนที่เข้าใจแบบนี้เป็นคนทั่วๆไปไม่มีวิจารณญานก็ว่าไปอย่าง แต่นี่เจ้าหน้าที่มาออกข่าวแบบนี้โดยที่ไม่มาถามเรา ผมท้อมากเลย”

ด้านนายอับดุลมุไฮมิน สาและ แห่งกลุ่มเปอร์กาซา หรือชมรมโรงเรียนตาดีกา 5 จังหวัดบอกว่า ผู้ที่ผลิตเสื้อยืดตัวนี้คือกลุ่มบุหงารายา แต่ภาพที่ปรากฏบนเสื้อนั้นเป็นภาพของพื้นที่ทำงานของบุหงารายากับชมรมในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ คือปัตตานี ยะลา นรานิวาส สตูลและสงขลา การร่วมมือของสองกลุ่มเป็นความพยายามสนับสนุนการศึกษาในระดับตาดีกา มีทั้งเรื่องของการสอนภาษามลายูและสันติภาพรวมอยู่ด้วย โดยทั้งสองกลุ่มทำงานร่วมกันมาสามปีแล้ว โรงเรียนในโครงการมีทั้งหมด 20 แห่งด้วยกัน เขาบอกว่าแปลกใจที่เรื่องนี้เป็นปัญหาขึ้นมา พร้อมทั้งยืนยันว่า ข้อความและรูปภาพไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน แต่เมื่อเรื่องนี้เป็นกระแสและมีการสอบถามกันมากมาย ก็ทำให้จะต้องไปชี้แจงกับคณะกรรมการอิสลามประจำปัตตานีเย็นวันนี้

ขณะที่นักกิจกรรมในพื้นที่ห้าคนที่สวมเสื้อยืดดังกล่าวถ่ายรูปโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อหลายวันที่ผ่านมา ต่างถูกเจ้าหน้าที่สอบถามทุกคน หลายคนมีเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมถึงบ้าน หนึ่งในนักกิจกรรมที่ใส่เสื้อยืดดังกล่าว นายทวีศักดิ์ ปิ บอกว่าเขาถูกตัวแทนของทางการในระดับพื้นที่เรียกไปพูดคุยสอบถามถึงความเกี่ยวข้องกับเสื้อยืดราคา 180 บาทตัวนี้ ทำให้ต้องชี้แจงตั้งแต่เมื่อหลายวันที่ผ่านมาหลังจากที่ได้โพสต์ภาพกับเพื่อนๆรวมห้าคนใส่เสื้อยืดของ Perkasa ลงในเฟซบุ๊ก และมีคำถามมากมายข้องใจถึงเรื่องภาพที่โพสต์ว่าโพสต์ในต่างประเทศ ทั้งคนใส่ยังใส่โสร่ง “ความจริงไม่มีอะไร พวกเราไปละหมาดวันศุกร์มา ปกติเราก็ใส่โสร่งละหมาดกันอยู่แล้ว พอดีมีเพื่อนบอกว่าเสื้อที่ทำเสร็จแล้ว เขาจะขายเพื่อหาทุน เราก็ชักชวนกันไปดูแล้วก็ซื้อคนละตัว ช่วยเพื่อน ซื้อเสร็จก็ใส่แล้วโพสต์กัน ไม่ได้คิดอะไร” ส่วนสถานที่ถ่ายภาพ คือหน้าสำนักงานของกลุ่มกิจกรรมในปัตตานีนั่นเอง

“ผมบอกว่า ถ้ารู้ว่าเป็นเรื่องแบ่งแยกดินแดน ใครมันจะกล้าใส่แล้วโพสต์รูปละครับ ผมรู้ผมก็ไม่กล้าหรอก ผมก็ถามเขาแล้ว นี่มันเป็นภาพพื้นที่การศึกษา มีรูปดอกชบาด้วย อะไรด้วย มันเหมือนกับว่า เราทำอะไรที่ไม่ใช่เรื่องเลย แต่เจ้าหน้าที่มองเป็นเรื่องใหญ่โต”

ก่อนหน้านี้พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกอ.รมน.ภาคสี่ส่วนหน้าได้ให้สัมภาษณ์กับทั้งสำนักข่าวอิศราและสปริงนิวส์ว่า ทางเจ้าหน้าที่เตรียมเชิญบุคคลที่ใส่เสื้อยืดทั้งห้าคนไปพบเพื่อพูดคุย เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย สื่อบางรายระบุว่า ภาพชายหนุ่มห้าคนใส่เสื้อยืดดังกล่าวสร้างกระแสความตกใจให้กับคนในพื้นที่บางส่วนที่มองว่าเป็นความจงใจประกาศเขตพื้นที่รัฐปาตานี แต่เลี่ยงไปใช้คำว่ามลายูแทนคำว่า ปาตานี

ในภาพ ฮาซันกับเสื้อยืดที่กลุ่มของเขาผลิตออกขาย ภาพที่สอง กลุ่มลูกค้าที่ซื้อเสื้อยืด เสร็จแล้วถ่ายภาพโพสต์จนเป็นที่มาของปัญหา