Skip to main content

Original Link Clik Here .

 

 

ศาลแพ่งสั่งยึดที่ดินโรงเรียนอิสลามบูรพาฐานถูกใช้สนับสนุนการก่อการร้าย ทนายเตรียมอุทธรณ์ ระบุไม่เห็นด้วยกับการใช้หลักฐานจากการซักถามโดยศูนย์ซักถามที่ไร้การตรวจสอบ

นายพงศ์จรัส รวยร่ำ ทนายความคดีโรงเรียนอิสลามบูรพาเปิดเผยว่า วันนี้ 21 ก.ค. ศาลแพ่งที่กรุงเทพฯได้อ่านคำตัดสินคดีที่อัยการดำเนินคดีฟ้องร้องโรงเรียนขอให้ศาลสั่งยึดทรัพย์คือที่ดินของโรงเรียนให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากถือว่า ได้มีการใช้ที่ในโรงเรียนไปในการสนับสนุนการก่อการร้าย

คดีนี้เป็นคดีที่สองหลังจากคดียึดที่ดินโรงเรียนปอเนาะยิฮาดวิทยาในทำนองเดียวกันมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยหน่วยงานเดียวกันคือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือปปง. ได้ขอให้อัยการดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลออกคำสั่งให้มีการยึดทรัพย์โรงเรียน เพราะถือว่ามีการใช้ที่ดินหรือทรัพย์สินของโรงเรียนไปในการสนับสนุนการก่อเหตุร้าย โดยสำหรับคดีโรงเรียนอิสลามบูรพานี้อัยการได้นำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อศาลเมื่อปี 2555

นายพงศ์จรัสเปิดเผยว่า คำพิพากษาของศาลแพ่งในวันนี้ สั่งให้ยึดที่ดินสองแปลงที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนให้ตกเป็นของแผ่นดิน คือที่ดินโฉนดเลขที่ 27227 และ 27228 อันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอิสลามบูรพา แต่ให้ยกฟ้องในส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 27207 ของนายมูฮัมมัด ฮูเซ็งมะซอเพราะถือว่าเป็นที่ดินส่วนบุคคล ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

นายพงศ์จรัสชี้ว่า สิ่งที่น่าสนใจจากการตัดสินของศาลคือ ศาลไม่ได้นำเอาคำตัดสินของศาลอาญาเมื่อเดือนพ.ย. 2555 ที่ได้พิพากษาก่อนหน้านี้แล้วว่าผู้บริหารของโรงเรียนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย โดยคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่มีการจับกุมนายมะนาเซ ยาและพวกที่ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุรุนแรงโดยถูกจับได้ภายในบริเวณโรงเรียน ต่อมาผู้บริหารโรงเรียนสามคนมีนายอุเซ็ง ปุโรง อดีตผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนอิสลามบูรพา นายซอมะ หะมะ อดีตผู้จัดการโรงเรียน และซูไบดะห์ ดอเลาะ ได้ถูกดำเนินคดี แต่ศาลอาญาได้สั่งยกฟ้องในที่สุดพร้อมตัดสินว่าทั้งสามล้วนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้คำตัดสินของศาลอาญาในคดีนี้กลับไม่มีผลต่อการตัดสินใจของศาลแพ่งในคดียึดทรัพย์โรงเรียน โดยศาลมิได้นำเรื่องนี้มาประกอบการตัดสินใจ

แต่สิ่งที่ศาลนำมาใช้ในคดียึดทรัพย์นี้ นายพงศ์จรัสชี้ว่า คือได้มีการนำคำซักถามนายมะนาเซ ยาและพวกจากศูนย์ซักถามมาใช้ ซึ่งสำหรับตน ถือว่าเป็นการซักถามที่ไม่ได้ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นแต่เพียงการซักถามหาข้อมูลข่าวของเจ้าหน้าที่เพื่อจะนำไปขยายผลในการปราบปรามผู้ก่อเหตุ ข้อมูลเช่นนี้มีข้ออ่อนคือ การซักถาม นอกจากไม่ได้กระทำโดยเจ้าหน้าที่พนักงานสืบสวนสอบสวนแล้ว ทนายยังไม่มีโอกาสได้ซัก และกระบวนการไม่ผ่านการตรวจสอบว่ามีข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด นายพงศ์จรัสชี้ว่า จริงอยู่ แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายห้ามศาลแพ่งรับฟังข้อมูลเช่นนี้ แต่โดยทั่วไปการใช้ข้อมูลเช่นนี้ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ทางฝ่ายทนายจึงเตรียมจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป

ทางด้านนางสุไบดะห์ ผู้ถือใบอนุญาตและผู้อำนวยการโรงเรียนกล่าวว่า ตนรู้สึกเสียใจกับคำตัดสิน แม้ว่าจะทำใจมาบ้างแล้ว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานไปเยี่ยมและแสดงท่าทีพร้อมช่วยเหลือสนับสนุนหากคำตัดสินออกมาไม่เป็นคุณกับทางโรงเรียน ทำให้พอจะมองเห็นเค้าได้ว่า แนวคำพิพากษาจะออกมาเช่นนี้ แต่กระนั้นก็ยังรู้สึกสูญเสีย อย่างไรก็ตามตนจะไม่ยอมแพ้และจะสู้ต่อไปเพื่ออุทธรณ์คำพิพากษา

“เราต้องสู้เพื่อเด็กๆ เพื่อผู้ปกครอง เพื่อตัวเราและเพื่อสังคมรอบข้าง เราคงไม่ยอม เพราะโรงเรียนเองกำลังจะพัฒนา เรามีแผนหลายอย่าง ได้รับทุนมาเพื่อจะสร้างอาคารเพิ่ม ได้เข้าเป็นโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ เราจะทิ้งไปได้อย่างไร ปั้นมากับมือ” เธอกล่าว

ขอบคุณภาพจากคุณพงศ์จรัส รวยร่ำ