Skip to main content

 

จับตาดู ตุรกีจะไปทางใด

บรรจง บินกาซัน

 

 

กรณีชาวตุรกีลุกขึ้นมาต่อต้านการทำรัฐประหารเพื่อปกป้องรัฐบาลของตนเมื่อเร็วๆนี้เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่มีนัยสำคัญบนเวทีการเมืองโลกเป็นอย่างยิ่ง

นี่มิใช่ครั้งแรกที่มีการทำรัฐประหารในตุรกี แต่เป็นครั้งแรกที่การทำรัฐประหารโดยทหารถูกประชาชนต่อต้านจนต้องยอมแพ้ ปรากฏการณ์ครั้งนี้ทำให้โลกมองเห็นว่าชาวตุรกีเบื่อทหารที่มีมหาอำนาจหนุนหลังและหันมาสนับสนุนรัฐบาลที่มีนโยบายสายกลางในการนำอิสลามมาปฏิรูปประเทศ ตุรกีเคยผ่านการถูกทหารทำรัฐประหารใน ค.ศ.1960, 1971, 1980 และ 1997

การเมืองเป็นเรื่องสลับซับซ้อนเหมือนกับการทำสงครามที่มีทั้งลับ ลวง พราง ถ้าฝุ่นยังไม่จางจนเห็นอะไรได้ชัดเจน ผมจะยังไม่ด่วนวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินอะไรทั้งสิ้น แต่จะขอนำภูมิหลังของประเทศตุรกีที่ผมรู้มานำเสนอให้ท่านได้ติดตาม

ในอดีต ชาวเติร์กเป็นชนชาติที่บึกบึนและเชี่ยวชาญการรบบนหลังม้า นับถือผีสางเทวดา แต่เมื่อได้เข้ามาสัมผัสกับอิสลามในสมัยราชวงศ์อับบาซีย์แห่งแบกแดด ชาวเติร์กได้หันมาเข้ารับอิสลาม และเมื่ออาณาจักรอับบาซีย์ล่มสลายลงจากการถูกพวกมองโกลรุกราน ชนชาติเติร์กได้สถาปนาอาณาจักรออตโตมาน(อุษมานีย์)ขึ้นมาและชาวเติร์กได้สร้างความมหัศจรรย์ทางทหารขึ้นเมื่อสุลต่านเมห์เมตที่มีอายุยังไม่ถึงวัยเบญจเพศได้นำชาวเติร์กพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลเมืองหลวงของอาณาจักรโรมันไบแซนตินได้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1453

อาณาจักรออตโตมานแผ่อำนาจการปกครองไปในสามทวีป คือ ยุโรป อาฟริกาและเอเชียเป็นเวลาประมาณ 500 กว่าปี ขณะที่เรืองอำนาจ รัฐบาลออตโตมานใช้กฎหมายอิสลามหรือชะรีอ๊ะฮฺปกครองอาณาจักรของตน

ใน ค.ศ.1901 นายธีโอดอร์ เฮอร์เซิล หัวหน้าขบวนการไซออนิสต์ที่ต้องการฟื้นฟูชาติยิวได้ขอเข้าพบสุลต่านอับดุลฮามิดเพื่อขอซื้อดินแดนปาเลสไตน์ไปก่อตั้งรัฐอิสราเอล แต่สุลต่านได้ตอบกลับไปว่าปาเลสไตน์เป็นสมบัติของมุสลิม ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของสุลต่านคนใด จึงไม่สามารถขายได้นอกเสียจากว่าอาณาจักรออตโตมานจะล่มสลาย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อาณาจักรออตโตมานที่มีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลในสามทวีปถูกอังกฤษและฝรั่งเศสคู่สงครามเข้ามาฉีกออกเป็นประเทศต่างๆจนเหลือเป็นประเทศตุรกีในปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้น กฎหมายชะรีอ๊ะฮฺที่ใช้ปกครองอาณาจักรมาห้าร้อยปีได้ถูกยกเลิกและถูกทดแทนด้วยรัฐธรรมนูญเซคิวลาร์หรือกฎหมายที่ไม่ยอมรับคำสอนของศาสนา ในสมัยนั้น ตุรกีถูกตะวันตกเรียกว่า “คนป่วยของโลก”

มุสตาฟา เคมาล นายทหารเติร์กหนุ่มซึ่งเป็นผู้นำการโค่นล้มการปกครองแบบคิลาฟะฮ์ของอาณาจักรออตโตมานได้พยายามหาทางทำลายมรดกทางวัฒนธรรมอิสลามให้หมดไปจากตุรกี เขาห้ามผู้ชายไว้เคราและกำหนดให้ไว้หนวดได้ไม่เกินริมฝีปาก ห้ามการทำกิจกรรมในนามของคำว่าอิสลาม พรรคการเมืองห้ามใช้ชื่ออิสลาม เขาสามารถทำให้ชาวตุรกีซึ่งเดิมทีพูดภาษาอาหรับมานับหลายร้อยปีเปลี่ยนมาพูดภาษาและใช้ตัวอักษรเติร์กภายในห้าปี แต่เขาไม่สามารถที่จะทำให้มุสลิมชาวตุรกีใช้ภาษาเติร์กในการละหมาดและการปฏิบัติศาสนกิจได้

ในช่วงที่ตุรกีถูกปกครองด้วยลัทธิเคมาลิสต์ มีข่าวการเหยียดหยามดูหมิ่นศาสนาอิสลามเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น การฉีกคัมภีร์กุรอานยัดลงในโถส้วม การห้ามนักศึกษาหญิงสวมฮิญาบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นต้น ในช่วงเวลานี้เองที่แผ่นดินปาเลสไตน์สมบัติของมุสลิมทั่วโลกซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลมุสลิมได้ถูกขบวนการไซออนิสต์ปล้นไปสร้างประเทศอิสราเอล

ตุรกีเริ่มพัฒนาประเทศตามแบบตะวันตกเพื่อความทันสมัยพร้อมๆกับไทยและญี่ปุ่น และเนื่องจากอยู่ติดกับยุโรป ตุรกีพยายามจะเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป แต่นักการเมืองและนักวิชาการมุสลิมที่มองเห็นความเสื่อมของตะวันตกค่อนแคะตุรกีว่ากระแดะจะเป็นยุโรปโดยลืมกำพืดเดิมและยุโรปเองก็ไม่ยอมรับตุรกีว่าเป็นยุโรปแม้ชาวเติร์กจะมีหน้าตาเหมือนชาวยุโรปก็ตาม

เมื่อยุโรปต้องการให้ชาติที่พัฒนามีการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย พรรคการเมืองมุสลิมจึงเข้าสู่อำนาจรัฐโดยการเลือกตั้ง แต่เมื่อพรรคการเมืองใดที่มีแนวโน้มนิยมอิสลามได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง การรัฐประหารโดยทหารที่นิยมตะวันตกก็ตามมาทุกครั้งไม่ต่างไปจากอียิปต์

 

เมื่อประธานาธิบดีเรเซป ฏอยยิบ เออร์ดุฆอน เริ่มปรากฏตัวบนเวทีการเมืองโดยมีภรรยาคลุมฮิญาบเคียงข้าง กลุ่มที่ชิงชังอิสลามได้ออกมาต่อต้านเขาและกล่าวหาว่าเขากำลังจะพาตุรกีกลับไปสู่ยุคออตโตมาน

แต่การลุกขึ้นมาต่อต้านการทำรัฐประหารและปกป้องผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนครั้งนี้ทำให้ชาวโลกพอจะเห็นได้แล้วว่าชาวตุรกีต้องการให้ประเทศเดินไปทางใด