Skip to main content

 

อิสลามกับประชาธิปไตย: บทสะท้อนเบื้องต้น

 

ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง   

 

 

บทนำ

เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าอิสลาม (Islam) ไม่ใช่ประชาธิปไตย (Democracy) และในทางกลับกันประชาธิปไตยก็ไม่ใช่อิสลาม อีกทั้งสิ่งที่เราเรียกว่าอิสลามและสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยก็มาจากคุณค่า (Values) และจักรวาลทัศน์ (Worldview) ที่แตกต่างกัน อีกทั้งอิสลามและประชาธิปไตยต่างก็นำเสนอชุดของความคิดทางการเมือง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำเนินการจัดการทางสังคม-การเมืองไปในทิศทางที่ต้องการ โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุถึงสังคม-การเมืองในอุดมคติที่ต่างก็ได้วางไว้

แต่การไม่เหมือนกันมิได้หมายความว่าทั้งสองสิ่งไม่ได้มีอะไรร่วมกันเลย หรือเราจะไม่เรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์จากประชาธิปไตยซึ่งเป็นนวัตกรรมของมนุษย์ในทางการเมืองการปกครอง เช่นเดียวกับนวัตกรรมอย่างอื่นที่มนุษย์ใช้เหตุผลประดิษฐ์คิดค้นเพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ เช่น การรักษาโรคด้วยความคิดและวิธีการสมัยใหม่ อิสลามไม่ใช่การแพทย์สมัยใหม่ แต่อิสลามสามารถเรียนรู้จากการแพทย์สมัยใหม่เพื่อปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชนได้ (ทั้งๆ ที่การแพทย์อิสลามและการแพทย์สมัยใหม่ก็มาจากคุณค่าและจักรวาลทัศน์ที่แตกต่างกัน)

ประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน มุสลิมสามารถเรียนรู้ นำมาปรับใช้ และใช้ความรู้เรื่องประชาธิปไตย พัฒนาหลักการเมืองการปกครองที่มีอยู่ในอิสลาม (จากแหล่งความรู้หลักคืออัลกรุอ่านและซุนนะฮ) ให้เป็นรูปธรรม โดยเป็นระบอบการเมืองการปกครองที่มีความชอบธรรม (Legitimacy) โปร่งใส (Transparency) ยุติธรรม (Justice) ทุกคนในสมาชิกมีส่วนร่วม (Participatory) อดทนและเคารพในความเห็นต่าง (Toleration) ได้ ขณะเดียวกันประชาธิปไตยก็ต้องเรียนรู้ระบบศีลธรรม (Moral System) ในอิสลาม เนื่องจากระบบศีลธรรมอันมีจารีตมาจากการตื่นรู้ (Enlightenment) ซึ่งบรรลุความสมบูรณ์โดยค้านท์ (Emmanuel Kant, 1724-1804) ในสังคมประชาธิปไตยตะวันตกนั้นยังไม่เพียงพอต่อการสร้างสันติภาพและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ การล่าอาณานิคมที่สร้างความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสแก่คนพื้นเมืองในโลกที่สาม และสงครามโลกทั้งสองครั้งเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีถึงข้อบกพร่องของระบบศีลธรรมดังกล่าว

นอกจากนั้นการไม่เรียนรู้จากวัฒนธรรมอื่นยังเป็นการบ่งบอกถึงความหลงตัวเอง (narcissistic) คิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น จึงไม่จำเป็นที่จะเรียนรู้จากคนอื่น หรือไม่ก็บ่งบอกว่าอารยะธรรมนั้นไม่มีความสามารถ (incapable) ที่จะเรียนรู้จากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือไปจากแหล่งเรียนรู้ที่มาจากตนเอง ลักษณะทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้นไม่ใช่วิถีของอิสลามเนื่องจากประวัติศาสตร์ของอารยะธรรมอิสลามเป็นประวัติศาสตร์ของการเรียนรู้จากกรีก เปอร์เชีย พุทธ-ฮินดู ด้วยเหตุนี้ อัลคินดี (Ya ‘qūb b. Ishāq al-Kindī, d.260/873) นักนิติศาสตร์ นักปรัชญา จึงกล่าวว่า:

“เราเป็นหนี้อย่างมหาศาลต่อบรรดาผู้ที่ถ่ายทอดความรู้แม้แต่เพียงเล็กน้อยมายังเรา ไม่พักต้องพูดถึงผู้ที่ทำการสอนเรา (ซึ่งยิ่งต้องขอบคุณเป็นเท่าทวีคูณ) ด้วยเหตุที่พวกเขาแบ่งปันผลของการสะท้อนคิดอันเกิดจากความทุ่มเทของพวกเขาและทำให้ประเด็นอันสลับซับซ้อนอันเกี่ยวกับสภาวะความเป็นจริงต่างๆ (realities) เป็นที่เข้าใจง่ายสำหรับเรา ถ้าพวกเขาไม่คิดค้นสมมุติฐานและหลักการต่างๆ ทางวิชาการ[ดังที่นักคิดกรีกโบราณ เช่น เพลโต อริสโตเติ้ล] อันนำไปสู่การค้นหาความจริงแล้วไซร้ เราคงไม่สามารถพิสูจน์และค้นพบมันได้ ด้วยช่วงอายุขัยอันจำกัดของพวกเรา อาจต้องใช้เวลาหลายชั่วคนกว่าที่จะค้นพบหลักการดังกล่าว[1]”  

 

ประชาธิปไตยคืออะไร

คำว่าประชาธิปไตย (Democracy) เป็นคำที่มาจากภาษากรีก (δημοκρατία) ซึ่งประกอบด้วยสองพยางค์คือ “demos (δῆμος)”ซึ่งแปลว่าประชาชนหรือคนธรรมดา และ “kratos (κράτος)” ซึ่งหมายถึงอำนาจหรือการปกครอง คำว่าประชาธิปไตยจึงหมายถึงการปกครองโดยประชาชนคนธรรมดานั่นเอง การปกครองในลักษณะนี้แตกต่างจากการปกครองที่มีลักษณะที่เป็นการปกครองโดยคนๆเดียวหรือกลุ่มบุคลที่ใช้อำนาจเด็ดขาดผูกขาดอำนาจ (ด้วยการใช้กำลังหรืออ้างอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งไม่ใช่อำนาจของคนธรรมดา) หรือที่เรียกว่าระบบการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยม (Authoritarian/Dictatorship) นั่นเอง

เนื่องจากสังคมประกอบไปด้วยปัจเจกบุคลที่มีผลประโยชน์และความต้องการที่หลากหลาย ดังนั้นความขัดแย้ง และการปะทะกันของผลประโยชน์และความต้องการมักเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ นี่เองจึงเป็นที่มาของอำนาจที่จะต้องเข้ามาระงับแก้ไข ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งดังกล่าว อำนาจที่ว่านั้นต้องเป็นอำนาจที่อยู่เหนืออำนาจอื่นๆ ในสังคม ที่จะทำให้อำนาจอื่นๆ (เช่น ตระกูล ผู้มีอิทธิพล ฯลฯ) สยบยอมต่อมันได้ ในทางการเมืองการปกครองหรือรัฐศาสตร์เรียกอำนาจนั้นว่า อำนาจรัฐ (State power/Sovereignty) คำถามสำคัญก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าอำนาจรัฐถูกใช้อย่างเกินขอบเขต ไม่เป็นธรรม หรือใช้เพื่อสนองผลประโยชน์และความต้องการของคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังที่ Marx เห็นว่ารัฐและอำนาจรัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุน? 

เพื่อป้องกันการเกิดการใช้อำนาจไปในทางที่ผิด (Abuse of Power) สาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นระบอบการเมืองการปกครองก็คือ อำนาจที่ว่านั้นต้องมาจากการยินยอมพร้อมใจกันของประชาชน เนื่องจากการใช้อำนาจดังกล่าวนั้นกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน จึงจำเป็นต้องปรึกษาหารือกับประชาชนในทุกเรื่องๆ และยิ่งไปกว่านั้นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยประชาชนสามารถตรวจสอบและเรียกคืนอำนาจนั้นกลับมาได้ถ้าเห็นว่ารัฐบาลซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐมีความฉ้อฉลในการใช้อำนาจดังกล่าว ในประเทศที่มีการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย การให้อำนาจหรือการเรียกอำนาจกลับคืนมาจะกระทำผ่านกระบวนการเลือกตั้ง กล่าวคือ ประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้ที่พวกเขาต้องการให้เป็นผู้นำ ขณะเดียวกันก็มีสิทธิในการปฏิเสธเมื่อเห็นว่าผู้นำที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปมิได้สะท้อนความต้องการของพวกเขา

ในฐานะที่เป็นคุณค่าและจักรวาลทัศน์ประชาธิปไตยคือกรอบคิดซึ่งเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิต จรรยาบรรณของการดำเนินชีวิต คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่งคุณค่าดังกล่าวเหล่านั้นเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างกันของมนุษย์ในสังคม แก่นของประชาธิปไตย คือการสนทนากันระหว่างมนุษย์ (ด้วยเหตุด้วยผล) [2]

ลักษณะของคุณค่าและจักรวาลทัศน์แบบประชาธิปไตย [3]

1) เห็นว่าสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ปัจเจกบุคลเห็นว่าสังคมเป็นความสัมพันธ์ที่เปิดกว้าง และพร้อมเสมอต่อการปฏิสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงที่เปิดกว้างนั้น

2) ถือว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลจากความพยายามของมนุษย์

3) ถือว่าอำนาจเป็นสิ่งที่ลื่นไหลเนื่องจากอำนาจเกิดจากการยินยอมของคนในสังคม อำนาจเปลี่ยนแปลงได้ อำนาจแสดงถึงการเป็นตัวแทนทางอำนาจของคนในสังคม

4) เชื่อมั่นในเหตุผลและความเป็นเหตุเป็นผลว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำทางมนุษย์ในการจัดการความสัมพันธ์ในสังคม และมันเป็นเครื่องมือไปสู่ความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความก้าวหน้า  

 

อิสลามกับประชาธิปไตย

เนื้อหาสาระสำคัญของประชาธิปไตยคือ เป็นการเมืองการปกครองที่สะท้อนความต้องการของผู้คน วิธีการการสะท้อนความต้องการของผู้คน ชุมชน หรือสังคมได้อย่างตรงจุดที่สุดคือการที่จะต้องปรึกษาหารือในกิจการของพวกเขาอย่างใกล้ชิด หลักการ “ปรึกษาหารือ” จึงเป็นหลักการที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย หากแต่รูปแบบการปรึกษาหารือนั้นมีหลากหลายรูปแบบ กล่าวเฉพาะในปัจจุบัน การปรึกษาหารือในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะกระทำผ่านกระบวนการทางรัฐสภา (การจัดตั้งพรรคการเมือง การสร้างและถกเถียงในเรื่องนโยบาย การหาเสียง การเลือกตั้ง การประชุมรัฐสภา การอภิปราย การตั้งกระทู้ การตรวจสอบ การคานอำนาจฯลฯ) การปรึกษาหารือในเรื่องของกิจการงานของผู้คนในชุมชนเป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮได้ตรัสไว้ในคำภีร์อัลกรุอ่าน (42:38) ดังความว่า: والذين استجابوا لربهم وأقاموا الصلاة وأمرهم شورى بينهم ومما رزقناهم ينفقون

“และ (เช่นเดียวกัน) บรรดาผู้สนองตอบต่อ (คำบัญชาแห่ง) องค์อภิบาลของพวกเขาและดำรงการละหมาด อีกทั้งการงานของพวกเขามีการปรึกษาหารือกันในระหว่างพวกเขา และพวกเขาเสียสละทรัพย์สินบางส่วนที่เราได้ประทานแก่พวกเขา”

แม้ประชาชนทั่วไปโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้และมีข้อผิดพลาดอยู่ตลอดเวลาแต่อัลกรุอ่านได้สั่งใช้ให้มองข้ามความผิดพลาดและให้ขออภัยต่อพระองค์อัลเลาะห์ในข้อผิดพลาดดังกล่าวแก่พวกเขา อีกทั้งให้มีการปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการงานอีกด้วย ดังอัลกุรอ่าน (3:159) ความว่า: فبما رحمة من الله لنت لهم ولو كنت فظا غليظ القلب لانفضوا من حولك فاعف عنهم واستغفر لهم وشاورهم في الأمر فإذا عزمت فتوكل على الله إن الله يحب المتوكلين

“แท้จริงด้วยพระเมตตาธิคุณจากองค์อัลเลาะห์ เจ้าจึงสุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา และมาดแม้นเจ้าเป็นผู้หยาบคาย อีกทั้งมีหัวใจอันกักขฬะ แน่นอนที่สุดพวกเขาต้องเตลิดออกไปจากรอบๆเจ้า ดังนั้นเจ้าจงให้อภัย (อย่าถือสาความผิดของ) พวกเขา เจ้าจงขออภัยให้แก่พวกเขา และจงปรึกษาพวกเขาในการงาน (ต่างๆที่คิดกระทำ) ครั้นเมื่อเจ้าตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว เจ้าก็จงมอบหมาย (การงานนั้น) แด่อัลเลาะห์เถิด แท้จริงอัลเลาะห์ทรงรักบรรดาผู้ (มีจิต) มอบหมาย (ในพระองค์)”

อัลกรุอ่านมิได้บอกถึงรายละเอียดและวิธีการหากแต่บอกมนุษย์ถึงหลักการของการดำเนินกิจการของชุมชนด้วยการปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน และเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องคิดค้นและ สร้างระบบการปรึกษาหารือที่สะท้อนความต้องการของชุมชนมากที่สุด เช่นเดียวกับที่คัมภีร์อัลกรุอ่านได้บอกแค่หลักการเรื่องการค้าขายและห้ามการมีดอกเบี้ย ซึ่งต่อมามนุษย์ได้คิดค้นระบบค้าขายและการเงินการธนาคารที่ปราศจากดอกเบี้ยออกมาเป็นสหกรณ์หรือธนาคารอิสลาม หรือในกรณีของการศึกษา อัลกรุอ่านบอกแต่เพียงว่าการศึกษาหาความรู้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด ผู้รู้ย่อมดีกว่าผู้ไม่รู้ ฯลฯ แต่อัลกรุอ่านมิได้บอกรูปแบบหรือวิธีการการศึกษาหาความรู้ เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องสร้างระบบการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพที่สุดซึ่งต่อมา ระบบการเรียนรู้ได้พัฒนาเป็นโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเป็นต้น

ในอดีตนักคิดมุสลิม มิได้คิดในเชิงสถาบัน (เช่นการจัดตั้งสถาบันทางการเมือง เพื่อตรวจ เช็ค คานอำนาจ ฯลฯ) แต่คิดในเชิงตัวบุคล กล่าวคือ นักคิดมุสลิม เช่น อัลฟาราบี ผู้เขียน อัลมะดีนะฮอัลฟาดีละฮ (เมืองแห่งความสุขสมบูรณ์) อัลมาวาร์ดี ผู้เขียน อัลอะฮกาม อัลซุลตอนียะฮ (ระเบียบการปกครองแบบซุลต่าน) อิบนุ ญะมาอะฮ ผู้เขียน ตะฮริร อัลอะฮกาม (ระเบียบการเพื่อการปลดปล่อย) อิบนุตัยมียะฮ ผู้เขียน อัลซีญาซะอ อัลชารีอะฮ (ชารีอะฮว่าด้วยการเมือง) อัล อิสฟาฮานี ผู้เขียน ซูลูก อัลมูลูก (กระจกเงาแห่งซุลต่าน) เป็นต้น ล้วนแต่คำนึงถึงตัวบุคลโดยเฉพาะผู้ที่จะมาเป็นผู้ปกครองว่าจะต้องเป็นผู้ที่ดำรงตนอยู่ในหลักการอิสลามอย่างเคร่งครัด เป็นผู้รู้ทางศาสนาในระดับที่สามารถวินิจฉัยประเด็นปัญหาทางสังคม-ศาสนา ที่ลึกซึ้งและสลับซับซ้อนได้ (ระดับมุญตาฮิด) อัลมาวาร์ดีกล่าวเฉพาะเจาะจงลงไปเลยว่าผู้ที่จะมาเป็นผู้นำหรือคอลีฟะฮในระบอบการเมืองอิสลามต้องมาจากเผ่ากุเรชเท่านั้น

ต่อมาเมื่อเกิดการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างราชวงศ์ต่างๆ ที่สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นมาปกครองและ เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ ในชุมชนมุสลิม แนวคิดเกี่ยวกับความชอบธรรม (legitimacy) ของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้นำได้ขยายคลอบคลุมไปจนกระทั่งทั้ง อิหม่ามฆอซาลี ผู้เขียน หนังสืออิฮญา อูลูมุดดีน (การฟื้นฟูศาสนศาสตร์) และ อัลอิสฟาฮานี [4] เห็นว่า ผู้ที่มีความชอบธรรมในการเป็นผู้นำในชุมชนทางการเมืองมุสลิม คือใครก็ได้ที่มีกำลังทางทหารที่เข้มแข็งพอและสามารถยึดอำนาจมาได้ [5] แนวคิดดังกล่าวเกิดจากบริบทของความกลัวความเสียหาย (ฟิตนะฮ) และภาวะความไร้ระเบียบ (anarchy) อันเกิดจากการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มต่างๆ การมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีกำลังทางทหารที่สามารถสถาปนาความมั่นคงและเสถียรภาพแก่ชุมชนมุสลิม (Ummah) จึงเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกของอูลามาอ์เหล่านี้ โดยถึงกับมีคำกล่าวว่า “มีชีวิตอยู่ภายใต้ผู้ปกครองที่อธรรม [แต่มีอำนาจที่เข้มแข็งสามารถสร้างเสถียรภาพในสังคมได้] 60 ปี ดีกว่ามีชีวิตอยู่ภายใต้ความไร้ระเบียบเพียง 1 วัน”  แต่ความคิดของอูลามาอ์ดังที่กล่าวมายังคงใช้ได้หรือไม่ในปัจจุบัน หรือว่าอูลามาอ์ได้ทำหน้าที่ของพวกเขาอย่างดีที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมการเมืองที่พวกเขาเผชิญอยู่เบื้องหน้าในยุคสมัยของพวกเขา?    

 

สรุป

แม้คำว่า “ประชาธิปไตย” ไม่มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกรุอ่านและฮาดิษ แต่ความคิดเกี่ยวกับการปรึกษาหารือ (ชูรอ) ซึ่งเป็นสาระสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย (Democratic government) เป็นความคิดหรือหลักการที่มุสลิมมีร่วมกันกับสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่โดยอัลกรุอ่านได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญทางด้านการเมืองการปกครองในอิสลาม ส่วนรูปแบบและวิธีการนั้นสังคมมุสลิมอาจเรียนรู้จากสังคมอื่นๆที่พวกเขาได้ใช้หลักการนี้ กระทั่งพัฒนารูปแบบเฉพาะที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด ในการปรึกษาหารือที่สะท้อนความเห็นของผู้คนได้ดีที่สุดในสังคมมุสลิม การปรึกษาหารือเป็นกระบวนการ (Process) ที่ต้องการหาหนทางที่ดีที่สุดในการทำให้สังคมเกิดความสงบสุข มันยังเป็นกระบวนการที่ทำให้เสียงและความต้องการของผู้คนได้รับการพิจารณาในการขับเคลื่อนกิจการของสังคมซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในสังคมเอง การละทิ้งการรับฟังเสียงสะท้อนอาจนำไปสู่ความ อยุติธรรม (Injustice) แก่เสียงนั้นได้ มองในแง่นี้การปรึกษาหารืออย่างเข้มข้นผ่านกระบวนการต่างๆจึงเป็นวิธีการที่นำไปสู่การสร้างความยุติธรรมแก่สมาชิกในสังคม อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของระบอบการเมืองอิสลาม การปรึกษาหารือยังทำให้เกิดการหาวิธีการในการร่วมมือกัน เกิดศึกษาเรียนรู้ความแตกต่างทางความคิด วิถีชีวิตซึ่งกันและกันของกลุ่มคนต่างๆในสังคม อันนำไปสู่การเคารพและรักษาอัตลักษณ์ของกันและกันอีกด้วย  แน่นอนว่าในกิจการที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนาตลอดจน กฎเกณฑ์ที่ได้มีการกำหนดอย่างชัดเจนตายตัวในเรื่องของอิบาดะห์ เช่นการละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซะกาต ระบบการยึดมั่นต่อพระเจ้า (เอี๊ยะติก้อด) ฯลฯ มนุษย์จำเป็นต้องดำเนินตามอย่างเคร่งครัด การปรึกษาหารือในเรื่องเหล่านี้ต้องกระทำในบรรดาผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ กระนั้นก็ตามสังคมโดยรวมทั้งผู้ที่ไม่มีความรู้เฉพาะทางศาสนาและผู้ที่มีความรู้ทางศาสนาจำเป็นจะต้องมีการปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน ตามที่อัลกรุอ่านได้กล่าวไว้ดังที่ยกมาข้างต้น    

 

อ้างอิง  

[1] อ้างใน Majid Fakhry, A History of Islamic Philosophy (New York: Columbia University Press, 1983), 70.  

[2] Zevedei Barbu, Democracy and Dictatorship: Their Psychology and Patterns of Life, 1956, p.9  

[3] Ibid.  

[4] Ann Lambton, “Changing Concepts of Authority in the Late Ninth/Fifteenth and Early Tenth/Sixteenth Centuries” in Alexander S. Cudsi and Ali E. Hillal Dessouki (eds.), Islam and Power (Baltimore and London: The Johns Hopkins University Press, 1981), 63.   

[5] อ้างโดย H.A.R. Gibb ใน “Constitutional Organization” ใน Majid Khadduri and J. Liebesny (eds.), Law in the Middle East (Washington, DC, 1995), 19.  

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ เพจ ชวนอ่าน

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

"จากอิสลามการเมือง...สู่...ประชาธิปไตยอิสลาม" (ตอนที่ 1) โดย ชัยค์รอชิด ฆอนนูชีย์

"จากอิสลามการเมือง...สู่...ประชาธิปไตยอิสลาม" (ตอนที่ 2 ตอนจบ) โดย ชัยค์รอชิด ฆอนนูชีย์

ประชาธิปไตยกับแนวคิดการเมืองการปกครองแบบอิสลาม