Skip to main content

 แถลงการณ์ กลุ่มด้วยใจ และ Children Voice for Peace Project

เผยแพร่วันที่  6 กันยายน  2559

เรื่อง      การระเบิดในที่สาธารณะและสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองของเด็กในจังหวัดชายแดนใต้

เรียน       ผู้ก่อเหตุความรุนแรง ,เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และ ประชาชน

            เด็กชายน้อยจะไม่ได้ใช้คำนี้อีกแล้ว คำว่า กะ (คำที่ใช้เรียกพี่สาว) กับคำว่า อาบะ(คำที่ใช้เรียกพ่อ) ในภาษามลายู เด็กชายน้อย จะไม่ได้กอดอาบะ อีกแล้ว เด็กชายน้อยจะไม่ได้เล่นกับ กะอีกแล้ว            เพราะเหตุการณ์ลอบวางระเบิดหน้าโรงเรียนตาบา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสเมื่อเวลา 8:00 นาฬิกาเศษ ของวันที่ 6 กันยายน 2559 ได้พรากอาบะ และ กะ ของเขาที่มีอายุเพียง 4 ปี  ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตระหนก ตกใจ หวาดกลัว แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในสังคม

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สะท้อนถึงปัญหาการละเมิด ในหลักสิทธิมนุษยชน ข้อ 3  บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในเสรีธรรมและในความมั่นคงแห่งร่างกาย และ ที่สำคัญได้มีการละเมิดในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก  คือ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival) สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development)  สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง (Right of Protection)   

การก่อเหตุระเบิดหน้าโรงเรียนที่มีเด็กอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุจำนวนมากไม่เพียงแต่ทำให้เด็กได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจเท่านั้น แต่ยังไปหยุดยั้งการศึกษาของพวกเขาด้วย จากการที่ต้องปิดโรงเรียน และ ความรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในบริเวณใกล้โรงเรียน การก่อเกิดความรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน  ทางกลุ่มด้วยใจและโครงการ Children voice for peace ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้สูญเสียและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งที่เป็นประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่และขอสื่อสารไปยังทุกฝ่ายดังนี้

1.     เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่ามีการพูดถึงพื้นที่ปลอดภัยในกระบวนการพูดคุยของรัฐบาลไทยและ มาราปัตตานี  โรงเรียนเป็นหนึ่งสถานที่ที่ทุกคนต้องการให้มีความปลอดภัย แต่การพูดคุยอาจมีทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วยจึงเป็นหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายต้องเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงในบริเวณโรงเรียนโดยอาศัยความร่วมมือจากประชาชนและ มาราปัตตานี

2.     การกระทำนี้เป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ  และ ที่สำคัญ เป็นการกระทำที่ประชาชนทั่วไปไม่อาจรับได้ ผู้กระทำจึงควรพิจารณาการกระทำในครั้งนี้ว่าบรรลุเป้าหมายที่ต้องการหรือเกิดผลในทิศทางตรงกันข้าม

3.     ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทั่วโลกเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าสามารถยุติได้ด้วยการเจรจาสันติภาพ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนหรือหลังการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและมาราปัตตานีไม่ควรเป็นเหตุผลในการยกเลิกกระบวนการสันติภาพ ดังนั้นทุกคน ทุกฝ่าย จึงควรอดทน อดกลั้น ต่อการใช้ความรุนแรง และควรใช้กระบวนการยุติธรรมในการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

แถลงการณ์ฉบับนี้คงไม่สามารถนำชีวิต ของ กะ และ อาบะ ของเด็กชายน้อย ได้ แต่ขอให้เป็นแถลงการณ์ที่ทำให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในทางปฏิบัติที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับเด็กในพื้นที่นี้ต่อไป

กลุ่มด้วยใจและโครงการ Children voice for peace