Skip to main content

 

ภาคประชาชนเผยผลการศึกษายุติธรรมทางเลือก ขอระงับใช้ พ.ร.บ. 3 ฉบับ เหตุกฎหมายไม่เท่าทันความขัดแย้ง-ขยายวงความรุนแรง พร้อมเสนอให้คนชายแดนใต้มีส่วนปรับแก้กฎหมายฉบับใหม่

 

 

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ระหว่างการจัดการสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “พื้นที่ปลอดภัยและกระบวนการยุติธรรมทางเลือก: วาระแห่งชาติเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่จัดโดย วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และมูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation) มีการนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย 2 ฉบับ “ยุติธรรมทางเลือก” มุมมองจากภาคประชาชน ที่จัดทำขึ้นโดยเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี-กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายชาวไทยพุทธเพื่อสันติภาพ

สำหรับข้อเสนอดังกล่าวมาจากการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของคนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ ต่อกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่ 3 ฉบับ คือ 1. การสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการสูงสุด ตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)องค์กรอัยการ พ.ศ.2553 2. การพักโทษ ตามมาตรา 32(5) พ.ร.บ.ราชฑัณฑ์ พ.ศ.2479 3.การเข้ารับการอบรมแทนการดำเนินคดีอาญา ตามมาตรา 21 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551

นายรักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายไทยพุทธเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า จากการลงไปจัดเวทีเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของคนไทยพุทธและพระสงฆ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งถือเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ทำให้พบว่า ที่ผ่านมาคนเหล่านี้ต้องดำเนินชีวิตอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งอย่างยากลำบาก และไม่มีความกล้าที่จะนำเสนอปัญหาต่างๆ ในเวทีหรือพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากยังขาดความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมและการพูดคุยสันติภาพ ดังนั้นจึงได้ลงไปเปิดพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายยุติธรรมทางเลือก หรือ พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ จนนำมาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ต้องการให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายยุติธรรมทางเลือกไว้ก่อน เพื่อให้คนในพื้นที่ทั้งคนไทยพุทธและมลายูมุสลิมได้มีโอกาสสื่อสารทำความเข้าใจถึงข้อดีข้อเสียและมีส่วนร่วมเสียก่อน ซึ่งจะเป็นกระบวนการแบบสันติธรรมชาติ ที่ชาวบ้านไม่ต้องการโดนบังคับจากด้านบนมากเกินไป

นายรักชาติ สุวรรณ กล่าวว่า อาจเป็นเสียงจากคนพุทธในพื้นที่ที่กำลังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ที่เป็นผู้สูญเสีย บาดเจ็บ ล้มตาย ย้ายหนี บางหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านร้าง วิถีคนพุทธหายไป การไปวัดเริ่มไม่สะดวก จนถึงขนาดเกิดข่าวลือซุกซ่อนระเบิดจนทำให้กลัวการไปวัด บางวัดต้องไปนิมนต์พระมาจากจังหวัดอื่น บางพื้นที่ 3 วัดมีเจ้าอาวาสรูปเดียว เรื่องราวเหล่านี้เป็นความทุกข์ของคนในพื้นที่ แต่เมื่อยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นทุกวัน การทำความเข้าใจกับคนพุทธก็ทำได้ลำบาก มีข่าวลือว่าผู้ก่อเหตุเป็นผู้ที่ผ่านกระบวนการพาคนกลับบ้าน ต่อให้มีการใช้กฎหมายอย่างไรก็ยังลำบาก เพราะการเสพสื่อเหล่านี้กระทบต่อทั้งคนพุทธและมุสลิม

ดร.อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ปกติสังคมคิดว่าคนไทยพุทธในพื้นที่ชายแดนใต้มีปัญหาด้านเดียว คือเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง แต่อันที่จริงแล้วปัญหาที่ประสบมีความซับซ้อนทางด้านสังคมในมิติต่างๆ และต้องเผชิญหน้ากับความไม่ยุติธรรวมถึงการละเมิดสิทธิ์ ซึ่งสภาพปัญหาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นคนไทยพุทธ พบว่า ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านชีวิต ทรัพย์สิน โอกาสทางเศรษฐกิจ-สังคม และสุขภาพ มีการอพยพย้ายถิ่นฐาน เกิดบาดแผลทางใจ หดหู่ ซึมเศร้า ความหวาดกลัว จนทำให้ชุมชนพุทธและชุมชนมุสลิมมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง จนขาดพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความไม่เป็นธรรมทางสังคม ซึ่งไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐอย่างไม่ทั่วถึง ไม่โปร่งใส และไม่ต่อเนื่อง

ดร.อันธิฌา กล่าวต่อว่า ความรุนแรงในชายแดนใต้เป็นความขัดแย้งที่มีความซับซ้อน แต่กลไกยุติธรรมทางเลือกที่รัฐนำมาใช้ยังมีช่องโหว่และไม่ทันสมัยกับปัญหา เนื่องจากกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ยังเอื้อประโยชน์ให้ผู้กระทำผิดเท่านั้น โดยละเลยผู้เสียหาย ซึ่งทั้งคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมมีข้อเสนอที่ตรงกันว่า ควรชะลอกฎหมายทั้ง 3 ฉบับออกไปก่อน จนกว่าจะมีการสื่อสารทำความเข้าใจถึงข้อดีข้อเสียกับประชาชนในพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง และต้องการให้มีการร่างกฏหมายฉบับใหม่ให้เหมาะสมกับบริบทปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้

ด้านนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ผู้อำนวยการกลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า คนมลายูมุสลิมมีข้อกังวลสำคัญที่สอดคล้องกับคนไทยพุทธ คือ 1.มีความไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเกิดเหตุความรุนแรงกับครอบครัวตนเอง ซึ่งเป็นความรู้สึกของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อที่ถึงแม้รัฐจะเยียวยาด้วยเงินแต่ไม่อาจตอบคำถามในใจได้ว่า ใครเป็นผู้ก่อเหตุและกระทำด้วยเหตุผลใด 2.ไม่มั่นใจรัฐว่าจะสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ หรือผู้ก่อเหตุผ่านกระบวนการยุติธรรมแล้วจะกระทำผิดอีกหรือไม่ และไม่มั่นใจว่าจะมีการจับแพะ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่เกิดการล้างแค้นเพราะรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมจากการตัดสินคดี

นางสาวอัญชนา กล่าวต่อว่า รัฐจำเป็นต้องยอมรับในตัวผู้กระทำผิดว่ามีเหตุผลในเรื่องอุดมการณ์ทางการณ์เมือง เพราะการใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่ให้มีการยอมรับผิดว่าเป็นผู้หลงผิดแล้วไม่มีการดำเนินคดี ที่แม้จะมีการเยียวยาแก่ผู้เสียหายแต่ก็ไม่อาจจัดการกับความโกรธแค้นของเหยื่อ จนเกิดการแก้แค้นจากผู้สูญเสียและอำนาจมืดของรัฐ

นายสุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า ผู้เสียหายหรือเหยื่อไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมว่าจะสามารถนำคนผิดมาลงโทษได้จริงหรือจะสร้างสันติสุขได้จริง เพราะอาจมีการกระทำผิดซ้ำที่นำไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้นและกลัวว่าจะมีการจับแพะ ที่จะเป็นเรื่องที่ยากที่จะให้อภัย อีกทั้งการเยียวยาก็ไม่เพียงพอทั้งในแง่ตัวเงินและจิตใจ ส่วนอดีตนักโทษได้สะท้อนว่ารัฐต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจก่อนจึงจะได้รับการตอบสนอง เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมยังมีอคติทางชาติพันธุ์ และยังมีความกังวลใจการถูกตามเก็บภายหลังผ่านพ้นกระบวนการยุติธรรม ในส่วนอดีตผู้ต้องหาที่พ้นผิดหรือศาลสั่งไม่ฟ้อง แต่ยังถูกบังคับให้เข้าสู่กระบวนการเพื่อทำยอด ซึ่งจะเป็นการทำลายความไว้วางใจ ที่มีความกังวลว่าอาจนำไปสู่การแก้แค้นแบบศาลเตี้ย เนื่องจากคนกลุ่มนี้ยังตกเป็นตัวละครเดิมๆ ของกระบวนการยุติธรรม ที่เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ก็จะถูกค้นบ้านหรือตกเป็นผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่และสังคม

นายสุทธิชัย กล่าวอีกว่า ควรมีการพัฒนากฎหมายยุติธรรมทางเลือกฉบับใหม่ที่สอดคล้องกับบริบท และพิจารณาที่มุ่งไปสู่สันติภาพที่อย่างมีส่วนร่วม หรือาหากต้องการผลักดันกลไกเดิมที่มีอยู่ อย่างน้อยควรบังคับใช้กฎหมายอย่างตระหนักถึงข้อจำกัดของกฎหมายและข้อกังวลของประชาชน โดยเฉพาะการทำความจริงให้ปรากฏและเยียวยาผู้เสียหาย รวมถึงการประเมินผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://transbordernews.in.th/home/?p=15409