Skip to main content

ลุกมาน มะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

นายอำเภอเสนอชาวบ้านดาโต๊ะย้ายที่ตั้งหมู่บ้าน หนีพื้นที่เสียงภัยพายุถล่ม พร้อมหาที่ดินและสร้างบ้านให้ ชาวบ้านค้าน ชี้ที่เดิมเหมาะกับอาชีพประมง

 

 

ที่สาธารณะ : บ้านของนางนางกามาลอ สือนิ หมู่ที่ 4 บ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ที่ได้รับความเสียหายจากพายุ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอีกหลายสิบหลังในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณะ

นายบอรอเฮง ลาเต๊ะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ผรส.) หมู่ที่ 4 บ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี พายุถล่มเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวบ้านยังมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยอยู่ เนื่องที่ตั้งบ้านที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด ตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณะ แม้ว่าได้มีการสร้างบ้านหลังใหม่และซ่อมแซมบางส่วนที่เสียหายแล้วก็ตาม

นายบอรอเฮง เปิดเผยต่อไปว่า ที่ผ่านมา นายอำเภอยะหริ่งเสนอให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบทางภัยพิบัติย้ายไปอยู่ที่ใหม่ โดยจะหาที่ดินแห่งใหม่ และสร้างบ้านใหม่ให้ เนื่องจากที่ตั้งชุมชนปัจจุบัน เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ ซึ่งมีบางคนที่เห็นด้วยและบางคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ยังไม่ทราบว่าที่ตั้งชุมชนแห่งใหม่จะอยู่ที่ไหน

นายบอรอเฮง เปิดเผยอีกว่า พื้นที่ประสบภัยของบ้านดาโต๊ะ ตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณะ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ถมตะกอนจากการขุดลอกอ่าวปัตตานีเมื่อหลายปีก่อน หลังจากนั้นมีประชาชนมาจับจองเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย จนกลายเป็นชุมชนแห่งใหม่นี้มา

นายบอรอเฮง เปิดเผยด้วยว่า บ้านดาโต๊ะ มีประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 1,200 คน ทั้งหมู่บ้านเกือบ 2,000 คน พื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านที่มีผู้สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมีทั้งที่เป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ และที่ดินสาธารณะ โดยที่ดินสาธารณะจะอยู่พื้นที่แถบชายฝั่งอ่าวปัตตานี ที่ผ่านมายังไม่มีใครมาไล่ชาวบ้านออกนอกเขตที่ดินสาธารณะ

นางกามาลอ สือนิ ชาวบ้านดาโต๊ะ วัย 63 ปี ซึ่งปลูกบ้านอยู่บนที่ดินสาธารณะใกล้ทะเลอ่าวปัตตานีที่บ้านดาโต๊ะ และพังเสียหายจากพายุด้วย เปิดเผยว่า ตนเข้ามาสร้างบ้านอาศัยอยู่ที่นี่ 5 ปีแล้ว เดิมตนพักอยู่ที่บ้านเลขที่ 148/2 หมู่ที่ 4 บ้านดาโต๊ะ ซึ่งเป็นบ้านเดิม จากนั้นได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังใหม่พร้อมกับลูกชายและหลาน อีก 5 คน รวมเป็น 7 คน โดยประกอบอาชีพประมงในอ่าวปัตตานี

นางกามาลอ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการย้ายชุมชนไปสร้างที่ใหม่ ตามที่นายอำเภอยะหริ่งต้องการ แม้จะสร้างบ้านใหม่ให้ด้วยก็ตาม เพราะไม่รู้ว่าชุมชนแห่งใหม่จะอยู่ที่ไหน ถ้าย้ายไปแล้วจะทำอาชีพอะไร การทำประมงจะลำบากมากขึ้นหรือไม่ ถ้าย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ไกลทะเล

“คนที่ไม่ต้องการย้ายออกไป ส่วนใหญ่เป็นคนที่ประกอบอาชีพประมง มีความถนัดด้านการทำประมง มากกว่าทำอาชีพอย่างอื่น ถ้ายอมย้ายไปอยู่ที่ใหม่ แต่ยังต้องทำประมงอยู่ ก็จะลำบาก เพราะเรือก็ต้องจอดไว้ที่ทะเล เวลากลับบ้านแล้วก็จะเป็นห่วงเรือ มาดูแลลำบาก แต่ตอนนี้เรือก็จอดอยู่ใกล้บ้าน ดูแลก็ง่าย” นางกามาลอ กล่าว

นางกามาลอ เปิดเผยอีกว่า ส่วนคนที่เห็นด้วยกับการย้ายชุมชน ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอาชีพประมง แต่ทำงานในประเทศมาเลเชีย โดยปลูกบ้านทิ้งไว้ แล้วเข้ามาอยู่ตอนเดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซียเท่านั้น ส่วนใหญ่ไม่มีใครอยู่บ้านตลอด

 นางกามาลอ กล่าวว่า สาเหตุนายอำเภอยะหริ่ง เสนอให้ย้ายชุมชนแห่งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่อันตรายทางภัยพิบัติ เสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก แต่ภัยพิบัติลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ตนอยู่ที่นี่มา 5 ปี แล้ว ยังไม่เคยเจอภัยพิบัติรุนแรงและมีน้ำขึ้นสูงถึงบันไดหน้าบ้านอย่างครั้งนี้ เพราะฉะนั้น คิดว่า น่าจะนานๆ ครั้งกว่าจะเกิดภัยพิบัติรุนแรงอย่างนี้อีก