Skip to main content

 

ปรัชญเกียรติ  ว่าโร๊ะ

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้

         “หมอนิรันดร์” จี้เลิกโฆษณาชวนเชื่อท่าเรือปากบารา หวั่นจุดชนวนสร้างความขัดแย้งรุนแรง “อาจารย์มอ.” ยันข้อมูลประชาสัมพันธ์ทั้งหมด ได้มาจากกรมเจ้าท่า

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน

           นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ กำลังตรวจสอบการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนในพื้นที่โครงการฯ อีกหรือไม่ โดยจะเชิญตัวแทนกรมเจ้าท่ามาชี้แจงกระบวนการทำงาน

           โดยเฉพาะโครงการงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ระยะก่อนการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราระยะที่ 1 จังหวัดสตูล

                       นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์ต้องให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเป็นจริง เป็นกลางบอกทั้งผลดีและผลเสีย ถ้าบอกผลดีอย่างเดียว เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการดำเนินโครงการฯ ใช้ข้อมูลที่ไม่เป็นกลาง

            มีเจตนาโน้มน้าวชาวบ้านเพื่อให้สนับสนุนโครงการฯ ทั้งๆ ที่ยังไม่เข้าใจรายละเอียดในรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านทะเลาะกันจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม

            ผศ.ดร.ธนิยา เกาศล ผู้จัดการโครงการงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ระยะก่อนการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราระยะที่ 1 จังหวัดสตูล เปิดเผยว่า เนื้อหาข้อมูลทั้งหมดที่ใช้ประชาสัมพันธ์ ผ่านช่องทางโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น, สปอตสถานีวิทยุในพื้นที่, แผ่นพับและเว็บไซต์ จะต้องผ่านการพิจารณาของกรมเจ้าท่าก่อนว่า มีเนื้อหาอย่างไร ทีมประชาสัมพันธ์ไม่มีสิทธิ์นำเสนอข้อมูลโดยพลการ

            ผศ.ดร.ธนิยา เปิดเผยต่อไปว่า ศูนย์ข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชนระยะก่อนการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา สามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการฯ ลักษณะของท่าเรือได้ แต่ถ้าถามว่ามีนิคมอุตสาหกรรม, รถไฟรางคู่ฯลฯ ทางศูนย์ฯ ไม่สามารถให้คำตอบได้ ศูนย์ฯ จะรับคำถามไปสอบถามกับกรมเจ้าท่าว่า

            มีโครงการดังกล่าวหรือไม่ เมื่อได้รับคำตอบจากกรมเจ้าท่า ศูนย์ฯ ถึงจะให้คำตอบได้ กรณีการถามผ่านทางเว็บไซต์ก็เป็นลักษณะเดียวกัน

            ผศ.ดร.ธนิยา เปิดเผยอีกว่า ทางศูนย์ฯ ต้องทำรายงานเสนอกรมเจ้าท่าทุกเดือน เช่น เดือนกุมภาพันธ์ 2554 จะนำเสนอประเด็นความวิตกกังวลของชาวบ้านว่ามีการระเบิดภูเขา 7 ลูกหรือไม่ ขุดทรายที่ไหน อย่างไร จะนำข้อมูลนี้ไปถามกรมเจ้าท่า ว่าจริงหรือไม่ ถ้ากรมเจ้าท่าตอบกลับมาว่าไม่มี เพราะสัมปทานเหมืองหินในจังหวัดสตูลมีเพียงพอ ทีมมอ.ก็จะนำข้อมูลที่ได้จากกรมเจ้าท่าไปประชาสัมพันธ์

            ผศ.ดร.ธนิยา เปิดเผยอีกว่า ในส่วนของ EIA ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตนได้คุยกับกรมเจ้าท่า ทางกรมเจ้าท่าเองก็ไม่รู้โครงการต่อเนื่องว่ามีหรือไม่อย่างไร กรมเจ้าท่าเองรับผิดชอบแต่โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราเท่านั้น ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม, รถไฟรางคู่, แนวท่อขนถ่ายก๊าซและน้ำมันจะเกิดหรือไม่ กรมเจ้าท่าเองก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่เกี่ยวกับกรมเจ้าท่า ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล

            ผศ.ดร.ธนิยา เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ทีมประชาสัมพันธ์เตรียมจะลงพื้นที่จัดเวทีประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านในตำบลปากน้ำและตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาชัดเจน เพราะต้องรอให้กรมเจ้าท่าอนุญาตก่อน

            เท่าที่ทราบชาวบ้านต้องการให้ตัวแทนกรมเจ้าท่าร่วมชี้แจงด้วย ส่วนปัญหาในการลงพื้นที่ตนได้รายงานให้กรมเจ้าท่าทราบแล้ว พร้อมกับแก้ปัญหาด้วยการหาคนในพื้นที่นั้นๆ นำทีมประชาสัมพันธ์ลงหมู่บ้านต่างๆ คาดว่าต่อไปจะลงพื้นที่ได้บ่อยขึ้น

           “เรามีหน้าประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เราไม่ได้สนับสนุนเห็นชอบหรือผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เรามีหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ชาวบ้านทราบ และพร้อมจะรับฟังความคิดเห็น ไม่ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ เราไม่ได้มาโน้มน้าวให้ชาวบ้านเห็นด้วยกับโครงการ กรมเจ้าท่ายืนยันกับเราว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะสร้างหรือไม่ขึ้นอยู่กับคนสตูล” ผศ.ดร.ธนิยา กล่าว